นักผจญเพลิง: ดั่งพิษควันโหมกระหน่ำ ซ้ำเติมในฐานะคนใช้แรง

กลิ่นควันคละคลุ้งลอยไปในห้วงอากาศ นัยต์ตากลับพาภาพเบื้องหน้าให้เลือนรางมืดมนยิ่ง ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อต้องเผชิญอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับนิรย- กำลังเรียกหา สองมือประคองอุปกรณ์สื่อสารอย่างทุลักทุเล นิ้วเรียวรีบกดไปที่เบอร์ 199 ด้วยความหวังสุดท้ายของชีวิต “ฮัลโล แจ้งเหตุไฟไหม้ค่ะ ได้โปรดรีบมานะคะ”

แสงเปลวไฟลุกโชนอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดยั้ง เฉกเช่น อุดมการณ์ของนักผจญเพลิง หรือนักดับเพลิง เหล่านักสู้ที่พร้อมผจญ พุ่งชนกับไฟไหม้ ควันไฟ สารเคมี และอีกอย่างมากมายกว่าที่พวกท่านทราบ ด้วยความทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ถึงแม้ความปรารถนาแรงกล้าจะไม่มอดม้วยไปตามความหนักเบาของงาน แต่ร่างกายของคนเรากลับไม่โกหก ความอ่อนแรงเหนื่อยล้า เข้ามาปกคลุมกาย “คนใช้แรง” อย่างจัง ความลำบาก ความอันตราย และความเสี่ยง ที่พบเจอในการลงพื้นที่แทบทุกครั้ง แต่เหตุไฉน ถึงได้รับค่าตอบแทนสวนทางค่าครองชีพของประเทศไทย ที่อัตราเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี “นักดับเพลิง” จึงถูกจัดอันดับ 1 ใน 10 อาชีพที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด ในปี 2016 จากข้อมูลของ เว็บไซต์ CareerCast.com

บทที่ 01 มนุษย์ดับเพลิง

“สิ่งที่ตอบแทนมากกว่าเงินเดือน สำหรับผมคือการได้ช่วยเหลือ”

ประโยคดังกล่าวถูกเอ่ยจากปากของ กฤษดา เกิดงาม หรือ “กิ๊ฟ” ชายหนุ่มผิวสีเข้ม ปัจจุบัน อายุย่างเข้าปีที่ 37 ประกอบอาชีพ “นักดับเพลิง” หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในพื้นที่เทศบาลตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ “ข้าพเจ้า” เริ่มสนทนามากับเขามาเพียงครู่หนึ่ง จึงได้ทราบช่วงชีวิตของเขาบ้างบางส่วน “กฤษฎา” เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด
ในอดีตเคยทำงานด้านจิตอาสาด้านกู้ชีพกู้ภัย ระยะเวลากว่าหนึ่งช่วงทศวรรษ จวบจนมาสนใจอาชีพนักดับเพลิง จึงเริ่มมาทำงานในส่วนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี

“พี่กิ๊ฟ นิยามคำว่าอาชีพนักดับเพลิงว่ายังไงคะ ?” ข้าพเจ้าถาม
ชายตรงหน้า พินิจในคำถาม “พี่ว่ามันเหมือนเป็นผู้เสียสละคนนึง เพราะเราเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง” 

“ชายวัยกลางคน ได้เล่าเพิ่มเติมว่า ค่าตอบแทนของอาชีพพนักงานดับเพลิงนั้น ถือว่ายังน้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ที่เขายังทำอยู่ เป็นเพียงเพราะใจรัก ชอบที่จะช่วยเหลือมนุษย์ และสังคม ส่วนในด้านความเสี่ยงนั้น
เขาตอบอย่างมั่นใจเลยว่า “มีอย่างแน่นอน” หากเป็นนักดับเพลิง ล้วนเสี่ยงทั้งควันพิษ ควันไฟ อาคารสิ่งก่อสร้าง เมื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ป้องกันได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  จึงต้องป้องกันตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อเลี่ยงปัญหาสุขภาวะที่อาจตามมา”



จากบทความของ EU-OSHA ปี คศ. 2011 ให้ความหมายของอาชีพนักดับเพลิงไว้ว่า “นักดับเพลิงเป็นอาชีพที่ให้บริการ ประชาชนในด้านการป้องกัน และระงับอัคคีภัย รวมทั้งบริการด้านสาธารณภัยอื่นๆ ช่วยลดการ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและของ ประเทศชาติ ลักษณะงานเป็นการปฏิบัติงานที่ เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน และไม่สามารถควบคุมได้ และ ต้องเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต โดยต้องปฏิบัติงานท่ามกลาง สิ่งแวดล้อมที่คุกคามต่อสุขภาพและชีวิต ทั้งในด้าน เคมี กายภาพ ชีวภาพ การยศาสตร์และจิตสังคม นอกจากนั้นการสัมผัสสารเคมีจากการเผา ไหม้ ส่งผลต่อระบบประสาท และพฤติกรรมทาง ระบบประสาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสาร สื่อสมอง เกิดอาการและอาการแสดงต่างๆ ได้แก่ แสบร้อนบริเวณแขนขา อาการเหน็บชา ชา สูญเสีย ความจำชั่วคราว และซึมเศร้า 
สิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพ”

บทที่ 02 พื้นที่ปลอดภัย คุณปลอดภัย

“จากบทความวิชาการของ สกุลพร สงทะเล พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ได้กล่าวถึง พนักงานดับเพลิงไว้ว่า
เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเสี่ยงในการได้รับอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดเนื่องจาก ลักษณะการทำงานที่ต้องสัมผัสปัจจัยคุกคามสุขภาพจากทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยเฉพาะขั้นตอนการ ผจญเพลิงที่ต้องสัมผัสสิ่งคุกคามด้านเคมีประกอบด้วยควันไฟ ไอระเหย ฟูม (Fume) และสารเคมีผลิตภัณฑ์ที่ เกิดจากการเผาไหม้ทำให้ได้รับผลกระทบต่อการเกิดปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจส่งผล อันตรายถึงแก่ชีวิตได้”

ข้าพเจ้าพบเห็นข่าวตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง ถึงเหตุการณ์ นักดับเพลิงที่เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งเกิดจากการเข้าไปเสี่ยงอันตราย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอุปกรณ์ที่ไม่สามารถป้องกันอันตรายได้พอสมควร  โดยส่วนใหญ่มักมีพาดหัวทำนอง “วีรบุรุษนักดับเพลิง ผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดและเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรงที่โรงงานแห่งหนึ่ง” เมื่อนานเข้า เวลาล่วงเลยผ่านไป คนใช้แรงใจกล้าหาญ ได้สูญสิ้นไปอย่างน่าใจหาย ตามมาด้วยรางวัลปลอบใจด้วยการยกย่องผู้วายชนม์

ในความเห็นของข้าพเจ้า มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะวายชีพ เพราะอยากเป็นวีรบุรุษ หรือวีรสตรีหรอก แต่เพราะด้วยใจรัก ชอบช่วยเหลือมวลมนุษย์อย่างเหลือล้น ซึ่งแน่นอนว่าภาพจำของอาชีพนักดับเพลิงคือ “ความเสี่ยง” เสี่ยงในด้านของสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของผู้ใช้แรง ทำให้พวกเขาถูกมองว่า ควรเป็นงานที่ทำเพื่ออาสาเท่านั้น จึงเกิดวาทกรรมไร้ความคิดที่ว่า “อาสา ไม่ใช่อาชีพ” “พวกเขาไม่ต้องได้ค่าตอบแทนมักนักหรอก” ความคิดเห็นมากมายถูกส่งผ่านมายังสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง ข้าพเจ้าได้แต่คิดในใจว่า “เหตุใดมนุษย์จึงกล่าวเช่นนี้เล่า ทุกอาชีพล้วนมีความงดงามด้านคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ”

เนื่องด้วยจากสภาวะแวดล้อมของการทำงานบนเส้นทางชีวิตความเป็นความตายนี้ ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นสูงเรื่อย ๆ ทั้งความเครียดในการทำงานหนักมากจนเกินไป การนอนไม่เพียงพอ การทำงานที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพื่อรับแจ้งเหตุ และความรวดเร็วในการช่วยเหลือ นักดับเพลิงจำเป็นต้องอยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง และโดยเช่นกัน ค่าตอบแทนกลับไม่เหมาะสมเอาเสียเลย

บทที่ 03 ภาวะเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

ความเสี่ยงของอาชีพนักดับเพลิง ที่เป็นภาพจำใครหลาย ๆ นั่นความจริงโดยแท้ กฤษฎาตอบข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงทุ้มแฝงรอยความอัดอั้น “ความเสี่ยงนั้นมีอย่างแน่นอน ความเสี่ยงที่ทั้งผลักให้เราเผชิญกับควันพิษ ควัน ไฟ อาคารสิ่งก่อสร้างที่เขาได้ไปช่วยเหลือ จึงมักมีการอบรม และฝึกซ้อมแผนเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ”

“เพราะว่าเป็นลูกจ้างทั่วไปสวัสดิการมันไม่มีอะไรเลย” เขากล่าว

“จากข้อมูลของทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชี้แจงเรื่อง “รายละเอียดเกี่ยวกับความรับผิดชอบ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และอัตราค่าตอบแทนของพนักงานราชการ” ของปี 2561 มีข้อมูลที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้ 
ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักดับเพลิง มีตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งมีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 10,430-18,000 บาท แบ่งตามตำแหน่งงาน ความรับผิดชอบ จากระดับสายงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย

พนักงานป้องกัน ฯ ระดับปฏิบัติการ: 11,500 บาท/เดือน
พนักงานป้องกัน ฯ ระดับชำนาญงาน: 24,300 บาท/เดือน
เจ้าพนักงานป้องกัน ฯ ระดับปฏิบัติการ: 15,000 บาท/เดือน
เจ้าพนักงานป้องกัน ฯ ระดับชำนาญการ: 33,400 บาท/เดือน
เจ้าพนักงานป้องกัน ฯ ระดับชำนาญการพิเศษ: 44,300 บาท/เดือน”



ชายวัยกลางคน  เริ่มอธิบายวิธีการทำงานของเขาเป็นฉาก ๆ โดยเน้นย้ำว่า ความปลอดภัยสำคัญที่สุด จึงต้องประเมินดูสถานการณ์ปลอดภัยหรือไม่ เพื่อสำรวจว่าผู้ประสบภัยอยู่ในพื้นที่นั้น ถ้าหากไม่มี จึงจะดับไฟตามขั้นตอนตามที่เคยตั้งใจอบรมมา หากถามว่าเขาดับเพลิงเพียงอย่างเดียวหรือ คำตอบคือ “ไม่” เพราะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มักเกิดไฟไหม้ป่า ที่สามารถลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมถึงสัตว์เล็กใหญ่ที่ควรรักษาชีวิตพวกเขาไว้ อีกทั้งไฟไหม้อาคารบ้านเรือน หญ้า สายไฟสื่อสาร น้ำท่วม ลากรถติดหล่ม กิ่งไม้หัก รวมไปถึงจับสัตว์เลื้อยคลาน อีกอย่างที่ข้าพเจ้านึกไปแล้วขบขันในใจคือ การได้รับแจ้งเหตุ ให้ไปจับแมวบนต้นไม้ กฤษฎาหัวเราะในลำคอ พร้อมกล่าวต่อว่า “นักดับเพลิง เป็นทุกอย่างแล้วจริง ๆ” เพราะนั่นคือการ ช่วยเหลือประชาชน บรรเทาสาธารณภัย



ไม่นาน แววตาของกฤษฎา เริ่มเบ่งประกายอย่างเห็นได้ชัด เขานำอุปกรณ์ถังอัดอากาศออกซิเจน น้ำหนักราว 10 กิโลกรัม ไว้บนโต๊ะสีขาว ที่เจ้าตัวบอกว่า มีราคาถึงหลักแสน ซึ่งพึ่งได้รับการจัดสรรไม่นานมานี้ จากงบของเทศบาลตำบ
สุเทพ มือสีน้ำตาลเข้ม เปิดถุงสีส้มขนาดใหญ่ออกมาให้ข้าพเจ้าดู ลักษณะมันคล้าย ๆ ถังออกซิเจนดำน้ำที่เคยเห็นเช่นปกติ จึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่ทำให้เขาท้าทายที่สุดของการทำงานดับเพลิง นั่นคือการใช้เจ้าเครื่องตัวนี้ครั้งแรก เพราะหากเกิดเหตุไฟไหม้ในอาคาร เขาสามารถใส่เจ้าเครื่องนี้ไว้ด้านหลังเพิ่มเข้าไปปฏิบัติงานอันตรายด้านในได้ในระยะเวลา 30 นาที อีก 15 นาทีคือ จำนวนเวลาเข้าออกจากพื้นที่ จึงต้องมีความรอบคอบ และไหวพริบตลอดเวลา

เพราะช่วงที่ข้าพเจ้ารอคอย คือการได้เห็นอุปกรณ์ของจริง บุรุษเพศที่สนทนากับข้าพเจ้ามามากกว่าหนึ่งชั่วโมง เริ่มที่จะพาข้าพเจ้าไปสำรวจ ในส่วนของรถดับเพลิง อุปกรณ์มากมาย ถูกจัดไว้อย่างมีระเบียบ จำนวนน้ำราว 5,000 ลิตร ถูกบรรจุไว้รถ ตัวถังมีการผสมโฟม เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เขาบอกเล่า และอธิบาย “สิ่งนี้ ควรใช้เมื่อใด” “เหตุการณ์ที่เคยเจอ” “วิธีการใช้งาน” ราวกับพิพิธภัณฑ์รถดับเพลิงขนาดย่อม ที่มีมัคคุเทศก์ที่ชื่อ กฤษฎา ผู้มีข้อมูลที่แน่น และมากด้วยประสบการณ์

บทที่ 04 รอวันเบ่งบานของดอกไม้ไฟที่สว่างชัชวาลอย่างดงาม

“สำหรับผม เขาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของนักดับเพลิงมาก”

ภาพที่กฤษฎาวาดฝันถึงอาชีพนักดับเพลิงในอนาคต ประกอบด้วย การพัฒนาด้านสวัสดิการเงินเดือน อุปกรณ์ที่สามารถช่วยประชาชนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเพิ่มอัตราจ้างอพนักงาน เพื่อมีประสิทธิ์ในการทำงาน เพราะหน่วยที่เขาอยู่นั้นมีเพียง 2 คน ผลัดกันเข้าเวร 8 โมงเช้า ถึง 8โมงเช้าของอีกวัน เรียกได้ว่าต้องเตรียมตัวกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด ตลอด 24 ชั่วโมง เขายกตัวอย่าง “อย่างอเมริกาพอเกิดเหตุเพลิงไหม้ ลงพื้นที่ไป 10 กว่าคน” เขาหัวเราะปตัดพ้อ “นั่นประเทศเขา แต่ของเราก็เท่าที่มี”

“นายธีรยุทธ ภูมิศักดิ์ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดเผยว่า เรื่อง เบี้ยเสี่ยงภัยให้กับเจ้าหน้าที่นักผจญเพลิง เพื่อให้ได้รับค่าเสี่ยงภัยจำนวน 7,000 บาทต่อเดือน จากเดิม 5,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากงานบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นงานที่มีความอันตรายถึงแก่ชีวิต รวมทั้งเป็นค่าเสี่ยงภัยที่เป็นอัตราเก่า และไม่ได้มีการเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี พศ.2546 ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายค่าครองชีพต่างก็สูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับเจ้าหน้าที่นักผจญเพลิง ซึ่งถือเป็นการให้สวัสดิการ รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักผจญเพลิง เนื่องจากงานผจญเพลิงมีความเสี่ยงสูง และอันตรายถึงชีวิต”

มาถึงบทสุดท้ายของหน้ากระดาษของ “กฤษฎา” ผู้ประกอบอาชีพนักดับเพลิง ผู้ผจญกับความเสี่ยง และค่าแรงที่สมควรได้รับ เขาสัญญากับตัวเองด้วยจิตวิญญาณ ว่าในอนาคตนั้นจะประกอบอาชีพนักดับเพลิงไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ค่าตอบแทน รัฐสวัสดิการจะไม่คุ้มค่า “ทั้งค่าเสี่ยงภัยที่ไม่เพียงพอ เงินเดือนก็มีประมาณหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยอาศัยว่า ใจรัก เลยเข้าไปช่วยงาน สวัสดิการก็มีเแค่เงินเดือน ประกันสังคม” ชายวัย 36 ปี ในชุดนักดับเพลิงสีกรมท่า หมวกสีแดงเพิ่มความความปลอดภัย ภาพตรงหน้าของข้าพเจ้าเป็นคุณค่าของ ”คนใช้แรง” นักผจญเพลิงที่แสนงดงามหาใครเทียมไม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง