พฤษภาคม 17, 2024

    ‘เชียงใหม่เมืองสวยไร้สาย’ ความเจริญ ปลายทาง ที่แลกกับเสียสละ “ระหว่างทาง” ของคนใช้ถนนและคนในพื้นที่

    Share

    เรื่อง: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

    16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ภายใต้ชื่อโครงการ “เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย” โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เทศบาลนครเชียงใหม่  รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน ที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด อ.เมืองเชียงใหม่

    ภาพจาก Facebook: Worapoth Kongngern

    โครงการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงใต้ดินนี้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ วงเงินลงทุน 3,978 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ประกอบไปด้วยงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 2 สถานี, งานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 KV แบบเคเบิลใต้ดิน, งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน และงานปรับปรุงระบบจำหน่ายเหนือดิน โดยจะดำเนินการบริเวณถนนรอบคูเมือง และถนนสายหลักในพื้นที่คูเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมและโบราณสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ระยะทางดำเนินการรวม 23.70 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยการก่อสร้าง 5 ระบบ คือ

    1. ระบบไฟฟ้าแรงสูง 24000 โวลต์ 115,000 โวล์ต ขุดเปิดถนนสร้างบ่อพักสายไฟขนาด 3.15*1.9 เมตร ลึก 3 เมตรจำนวน 290 จุด

    2. ระบบไฟฟ้าแรงต่ำ 230,400 โวลต์ ขุดเปิดถนนสร้างบ่อพักสายไฟขนาด 1.65*1.2 เมตร ลึก 1.7 เมตร จำนวน 820 จุด

    3. หม้อแปลงไฟฟ้า

    4. ระบบสายสื่อสาร

    5. สถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 6 ถนนทิพย์เนตร, สถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 7 ถนนหัสดิเสวี

    โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 7 ล็อต และเพิ่มเติมอีก 1 ล็อต ได้แก่ ล็อตที่ 1 ถนนคชสาร, ถนนมูลเมือง และถนนชัยภูมิ ล็อตที่ 2 ถนนช้างหล่อ, ถนนราชเชียงแสน, ถนนมูลเมือง และถนนบำรุงบุรี ล็อตที่ 3 ถนนราชภาคินัย และถนนราชมรรคา ล็อตที่ 4 ถนนพระปกเกล้า, ถนนเวียงแก้ว, ถนนมูลเมือง, ถนนจาบาน และถนนราชมรรคา ล็อตที่ 5 ถนนราชดำเนิน และถนนสามล้าน ล็อตที่ 6 ถนนอารักษ์, ถนนบำรุงบุรี และถนนศรีภูมิ ล็อตที่ 7 ถนนอัษฎาธร ถนนมณีนพรัตน์, ถนนช้างเผือก, ถนนหัสดีเสวี, ถนนบุญเรืองฤทธิ์, ถนนมหิดล ถนนทิพย์เนตร และเพิ่มเติมอีก 1 ล็อต บริเวณถนนทิพย์เนตร แยกประตูแสนปุง ถึงสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 6 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2568

    รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, แผนที่, ภาพหน้าจอ, แผนภาพ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
    ภาพจาก: การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

    ช่วงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามีการขุดเปิดถนนสร้างบ่อพักสายไฟในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ตกหลุมบ่อพักสายไฟที่กำลังก่อสร้าง บนถนนรอบคูเมืองฝั่งด้านใน บริเวณหน้าร้านโจ๊กสมเพชร เวลาประมาณ 03.00 น. ซึ่งเป็นเวลากลางคืนแต่จุดก่อสร้างมีแสงสว่างไม่เพียงพอทำให้ผู้สัญจรที่ไม่ทราบว่ามีการขุดเปิดถนนตกหลุมจนได้รับบาดเจ็บ โดยบริษัทผู้รับเหมาตามสัญญาเป็นผู้รับผิดชอบในการเยียวยาค่ารักษาพยาบาล ต่อมา ด้านเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าได้รับแจ้งร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่โครงการจำนวนมากในเรื่องการวางแผ่นเหล็กปิดบ่อพักสายชั่วคราวหรือวางแบริเออร์กั้นไม่เรียบร้อย รวมไปถึงการติดตั้งหลอดไฟเพื่อให้ความสว่างน้อยเกินไป อาจทำให้ผู้สัญจรในเส้นทางเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เนื่องจากการก่อสร้างมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นการยืนยันว่าประชาชนได้รับผลกระทบความเดือดร้อน

    ภาพจาก Facebook: พลอย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู – Phetcharat Maichompoo

    จากการสอบถาม จีรวัสส์ ธันวรักษ์กิจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พบว่า ทราบข่าวโครงการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงดินมาก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่ทราบแผนการดำเนินงานว่ามีการขุดเจาะหรือไม่ ทำอย่างไร เริ่มจากจุดใดไปจุดใด

    “รู้ตัวอีกทีก็มีเสียงขุดเจาะถนนหน้าบ้านแล้ว ถึงได้รู้ว่าเขาทำมาถึงตรงนี้ ถ้าเป็นถนนรอบคูเมืองก็พอเดินทางได้อยู่ แต่ในซอยเล็กๆ ที่ปกติรถจักยานยนต์สวนกันก็ยากแล้ว พอมีขุดถนนด้วยบางจุดก็ผ่านไม่ได้เลย ขุดทีนึงก็เต็มถนนแล้ว ต้องอ้อมไปใช้ทางอื่น จริงๆ แต่ละจุดก็เห็นทำอยู่ประมาณ 2 – 3 วัน ขุดเสร็จแล้วก็เอาแผ่นเหล็กแปะไว้ เอากรวยจราจรกั้นบ้าง บางที่เป็นหลุมต่ำกว่าผิวถนน บางที่ถมปูนสูงกว่าผิวถนน เข้าใจว่ายังไม่เสร็จสิ้นทั้งหมดแต่น่าจะเก็บงานระหว่างการก่อสร้างให้เรียบร้อยกว่านี้ อันตรายกับคนกับรถน้อยกว่านี้”

    จีรวัสส์ ธันวรักษ์กิจ ยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า บริเวณที่มีการขุดเปิดถนนมีเจ้าที่มาคอยอำนวยความสะดวกแนะนำเลี่ยงเส้นทางก่อสร้างไปใช้เส้นทางอื่นๆ ให้ในบางครั้ง โดยมองว่าเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการสัญจรของคนในพื้นที่ แต่จะดีกว่านี้หากมีการจัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกทุกวันตลอดการก่อสร้างแต่ละจุด

    “ไม่ได้อยากรู้สึกต้องเคยชินกับระบบการทำงานของหน่วยงานไทย แต่การทำงานที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างการขุดเจาะถนน ควรจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่รอบคอบและอำนวยความสะดวกอย่างสม่ำเสมอ ส่วนตัวไม่ได้ถึงขั้นลำบากในการใช้ชีวิต แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้าหรือโรงแรมเขาอาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมต่อธุรกิจด้วย อีกอย่างคือการประชาสัมพันธ์ อยากให้ชัดเจนมากกว่านี้ จริงๆคิดว่าอาจจะมีการประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แต่เราไม่รู้ เพราะมันมาไม่ถึงเรา”

    สุรเดช สุวรรณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ควบคุมงาน ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ในทุกๆเดือนจะมีการประชุมติดตามงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ กลุ่มงานจราจร บริษัทผู้รับเหมาตามสัญญา ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานเทศบาลนครเชียงใหม่ แจ้งแผนการทำงานผ่านผู้นำชุมชนก่อนลงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง เพื่อวางแผนการจราจรและดูแลความปลอดภัย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่ผ่านมา ทางโครงการมีการช่วยเหลือเยียวยาแล้วอย่างเหมาะสม และยังระบุเพิ่มเติมว่า หากพบพื้นที่ก่อสร้างจุดใดไม่เรียบร้อยหรือมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ สามารถแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานเทศบาล กลุ่มงานจราจร หรือแจ้งมายังผู้ควบคุมงานได้โดยตรงตลอดเวลา

    ภาพจาก Facebook: Worapoth Kongngern

    “ตัวเราก็คาดหวัง และเชื่อว่าหลายคนก็คงคาดหวังและรอคอยความเจริญที่จะมาถึง เพราะจริงๆบ้านเมืองเราสวยแต่ติดที่สายไฟมันทำให้ทุกอย่างดูแย่ หลังเสร็จโครงการนี้ก็คงจะได้เห็นความสวยงามแบบไม่มีอะไรมากั้นจริงๆสักที เข้าใจนะว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมันก็คงจะทุลักทุเลแบบนี้แหละ แต่ถ้าปลายทางแฮปปี้ก็ยินดีที่จะอดทน” จีรวัสส์ ธันวรักษ์กิจ กล่าว

    แม้เป้าหมายของโครงการจะเป็นไปเพื่อความเจริญ ความสะดวก และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ความปลอดภัย และผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่ ที่ภาครัฐควรต้องวางแผนการจัดการอย่างรอบคอบเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ทั้งระหว่างทางก่อสร้าง และระหว่างทางไปสู่ความเจริญ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย

    อ้างอิง

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...