“ศาสตร์และศิลป์ในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติด้วยแนวคิด ‘หมุนเวียน’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่บรรพบุรุษของเราให้ความสำคัญ ได้ส่งต่อมาจนถึงรุ่นของเรา จนในวันนี้ แนวคิดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในชุมชนกะเหรี่ยงทั่วประเทศไทย เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ ความเชื่อและส่งต่อเรื่องราวนี้สู่ทุกคน เป็นดั่งการหมุนและเวียนต่อไปไม่รู้จบ”
ข้อความสื่อสารส่วนหนึ่งในนิทรรศการวิถีหมุนเวียน ในเทศกาล The Rotate Festival: เทศกาลหมุนเวียนชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ได้เชิญชวนทุกคนมาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุย แบ่งปัน เรียนรู้ และ “อ่อเส๊อะเกอะเม – กินข้าวด้วยกันกับเรา” เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานกว้าง Get Farmily-เกษตรในสวนเพื่อน จ.เชียงใหม่
งานนี้เป็นครั้งแรกกับการเปิดตัว The Rotate ดิจิตอลคอนเทนท์แชนแนล ที่สะท้อนมุมมอง วิธีคิด วิธีลงมือทำ จากชุมชนชาติพันธุ์บนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง โดยถอดองค์ความรู้จากการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน ชนเผ่าพื้นเมือง สร้างการหมุนเวียนทางความคิด เป็นพื้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือ นำเสนอมุมมอง ที่แตกต่าง นำไปสู่ ความหลากหลายและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนสู่ผู้คนแต่ละยุคสมัย
นอกจากการเปิดตัว The Rotate แล้ว ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านหลากหลายกิจกรรม อาทิ การรวบรวมผลผลิตจากไร่หมุนเวียนจากทั่วประเทศที่มารังสรรค์ใน ‘ครัวกะเหรี่ยง’, นิทรรศการวิถีหมุนเวียน ‘Road to The Rotate’, เวิร์คชอปจากภูมิปัญาชุมชนในการสื่อสารผ่านอาหาร ผลผลิตและนวัตกรรมในพื้นที่, วงเสวนาถึงแนวคิด วิถีชีวิตแบบหมุนเวียนของชนเผ่าพื้นเมือง, สินค้าแบรนด์ชุมชนใน ‘The Rotate Market’, ซุ้มเครื่องดื่มหมักดอง ภูมิปัญญาชุมชนกะเหรี่ยงใน ‘Karen Fermentation Station’ และ Mini Concert จากศิลปินกะเหรี่ยง ปกาเกอะญออีกคับคั่ง และอีกหลายกิจกรรม
หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของงานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของวิถีหมุนเวียนนั่นคือ ‘ครัวกะเหรี่ยง’ ซึ่งเป็นการใช้ผลผลิตจากไร่หมุนเวียนของแต่ละชุมชนมาสร้างรังสรรค์อาหารที่มีเสน่ห์ท้องถิ่นฉายชัดผ่านหน้าตาและเปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานได้ลิ้มรสชาติ
ครัวกะเหรี่ยง ได้รวบรวมทั้งวัตถุดิบและกำลังพลผู้ชำนาญทางอาหารพื้นถิ่นทั้งจากทีมแม่บ้าน ครัวกะเหรี่ยง “ไล่โว่” อ.สังคละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่อาหารจะมีความจัดจ้านทั้งรสชาติ หน้าตาซึ่งมาจากเครื่องเทศและการรวมกันของพริกแกงของกะเหรี่ยงไล่โว่ที่มีพริกกะเหรี่ยงเป็นตัวเอก แต่ความเผ็ดเป็นแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ เพราะส่วนสำคัญคือการผสมผสานของรสชาติจากการผสมผสานวัตถุดิบอย่างเข้าใจผ่านการทำอาหารทุกวันในบ้าน
ทีมแม่บ้านจากชุมชน “คลิตี้ล่าง” อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่วัตถุดิบทั้งหมดของคลิตี้นั้นได้ถูกปลูกในไร่หมุนเวียนและสวนหลังบ้านที่ดูแลจากคนในพื้นที่ ผ่านองค์ความรู้และการใช้ชีวิตตามวิถีคนกะเหรี่ยงซึ่งปลอดจากสารพิษ สารเคมี ทำให้มีการสร้างภูมิปัญญาในการจับคู่อาหารของชุมชนตนเองได้อย่างหลากหลายเพื่อให้ได้รสชาติที่ทั้งส่งเสริมและตัดกันไปมาอยากกลมกลืน
และทีมแม่บ้านแม่ครัวจาก “บ้านห้วยอีค่าง” อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่มีคติกันว่า ‘ผู้หญิงปกาเกอะญอ คือเจ้าของครัวและบ้านที่ครอบครัวได้อยู่ได้กิน เปรียบเสมือนหัวใจของครอบครัวคนปกาเกอะญอ’ เพื่ออธิบายบทบาทของผู้หญิงปกาเกอะญอที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากการทำอาหารแล้ว ยังต้องเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล ควบคู่ไปกับการดูแล สิ่งนี้จึงทำให้ยังคงรักษาทั้งวิถี ความคิด ความเข้าใจที่คนปกาเกอะญอสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
รวมไปถึงชุมชนอื่น ๆ ที่ได้นำวัตถุดิบมาเสริมทัพกันอย่างท่วมท้น ทำให้ท้ายที่สุดหลังผ่านการร่วมลงแรงของทีมแม่บ้านจากทุกชุมชน งานนี้จึงมีเมนูอาหารทั้งแบบท้องถิ่นชุมชน และเมนูฟิวชั่นออกมาอย่างล้นหลาม สามารถเสิร์ฟคนที่มาร่วมงานได้อย่างครบถ้วนแบบมือต่อมือ แม้จะมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวพื้นที่เขตเมือง รวมไปถึงชาวต่างชาติ ก็สามารถตอบโจทย์ได้อย่างคลอบคลุม
นอกจากอาหารที่มีเสน่ห์ของรสชาติแต่ละชุมชนแล้ว วัตถุดิบในแต่ละเมนูยังเป็นชิ้นส่วนของเรื่องราวของแต่ละชุมชนได้ด้วยเช่นกัน เพราะผลผลิตที่ได้จากไร่หมุนเวียนแต่ในแต่ละพื้นที่ก็มีการปลูกพืชหมุนเวียนที่แตกต่าง
เช่นเดียวกันกับวงเสวนา “คุยให้ถึงรากกับคนขี้เกียจ” ของปกาเกอะญอ ที่ แซวะ-ศิวกร โอ่โดเชา และพะตีจอนิ โอ่โดเชา ได้เล่าเรื่องราวคนขี้เกียจทั้งแนวคิด ปฏิบัติการและยังสร้างพื้นที่อย่างสวนคนขี้เกียจ’ หรือ ‘สวนจอเกอะโดะ’ ไว้ว่า ครั้งหนึ่งกระแสของโลกยุคทุนนิยมเองก็เคยตีกระทบเข้ามาถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ชัดเจนที่สุดคือการถูกเสนอแนะให้นำพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกในพื้นที่ป่าชุมชนเพราะผลิตนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดและมันจะช่วยให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง แต่ท้ายที่สุดกลับพบว่าสิ่งที่แลกไปคือพื้นที่ความหลากหลายของพืชพรรณซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตตัวตน แม้จะดูเป็นวิกฤตแต่อีกด้านหนึ่งคือการได้ทบทวนทำความเข้าใจว่าการอาศัยอยู่กับป่าและธรรมชาติที่มีความหลากหลายต่างหากที่เป็นวิถีที่เหมาะสมกับชนเผ่าพื้นเมือง
“ถ้าเปรียบเทียบกับโลกทุกนิยมแล้ว ชุมชนเราถือว่ามีความมั่งคั่งมาก เพียงแต่ความมั่งคั่งของเราไม่ได้อยู่ในรูปแบบเม็ดเงิน แต่มันคือความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เราจึงเปลี่ยนแนวคิดที่จะแข่งขันกับคนอื่น แต่อยู่แบบขี้เกียจร่วมไปกับธรรมชาติ และการดำเนินวิถีชีวิตแบบหมุนเวียนเองก็จะเป็นเครื่องมือที่เราใช้เพื่อรักษาความมั่งคั่งของเราให้มีความยั่งยืนต่อไปไม่สิ้นสุด”
งานนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการเป็นพื้นที่สื่อสารให้คนทั่วไปได้มีโอกาสในการรับรู้และเข้าใจถึงวิถีการหมุนเวียนของชนเผ่าพื้นเมือง แต่ทุกกระบวนการในการออกแบบ วางแผนและทำงาน เพื่อให้เกิดเป็น The Rotate Festival ยังเป็นการที่ทำให้คนในชุมชนเองได้มีการทบทวนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของตนเอง สื่อสารต่อกันและกันในชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตแห่งการหมุนเวียน จนสามารถนำมาสื่อสารต่อโลกได้ สิ่งนี้จึงเป็นการย้ำชัดให้เห็นว่า วิถีการหมุนเวียนนั้น ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในทุกกระบวนการอย่างแท้จริง