เมษายน 27, 2024

    สวัสดีคุณผู้ฟังทุกท่าน เสียงที่ได้ยินอยู่ขณะนี้คือเสียงของ ‘ดีเจลูกหมู’ นิพนธ์ สุวรรณรังษี กับรายการมาลัยลูกทุ่ง

    Share

    เรื่อง: ธันยชนก อินทะรังษี

    “มาลัยลูกทุ่ง” คำนี้อาจจะฉายภาพอดีตของแห่งความหลังของใครบางคน ให้นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาเมื่อครั้งยังเยาว์ รายการวิทยุชื่อดังที่เป็นตำนานของจังหวัดเชียงใหม่ กับนิพนธ์ สุวรรณรังษี หรือ “ดีเจลูกหมู” คนที่เราได้ยินชื่อเสียงมานาน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ชวนคุยกันเสียที ในวันที่สื่อวิทยุไม่มีอิทธิพลเหมือนในอดีตมากนัก หากคุณเติบโตในจังหวะที่สื่อวิทยุได้รับความนิยมอย่างมาก บรรยากาศของการโทรไปขอเพลง หรือการเขียนจดหมายเป็นหน้า ๆ ส่งไปรษณีย์ติดสแตมป์ ความรู้สึกตื่นเต้นกับการตอบกลับจดหมายหน้าไมค์จากดีเจ เสน่ห์แบบนี้ที่คุณคงคิดถึงไม่น้อย ในวันวานที่คิดถึง

    จากความที่หลงใหลในดนตรีเป็นจริงเป็นจัง จนผันตัวมาทำอาชีพดีเจ และถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลเบื้องหลักที่ผลักดันนักดนตรีลูกทุ่งคนนึงเลยก็ว่าได้ น้ำเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย บวกกับความผูกพันที่ส่งผ่านการกระจายเสียงที่คนเชียงใหม่ที่รักและชื่นชอบการฟังวิทยุ และเพลงลูกทุ่ง ยากที่จะลืมกันได้ง่าย ๆ การพูดคุยกับดีเจลูกหมูแม้จะไม่ได้เจอตัวกันเป็น ๆ แต่สื่อสารกันในออนไลน์ก็มีความคล้ายกับโทรไปขอเพลงกับดีเจเหมือนกันนะเนี่ย

    ภาพ: นิพนธ์ สุวรรณรังษี

    จัดรายการวิทยุมากี่ปี

    จัดมาได้ 32 ปี เป็นยุคค่อย ๆ มาเรื่อย ๆ จากยุคที่เริ่มมีมือถือ แต่มีความสิ้นเปลืองมาก ไปจนถึงยุคที่ใช้เพจเจอร์ ในการใช้ขอเพลง จนมายุคนี้ที่ไม่ได้จัดสด จัดเป็นออนไลน์แทน

    มีแรงบันดาลใจอะไร ในการอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุ 

    น่าจะเป็นไปตามยุคสมัย ในตอนนั้นใคร ๆ ก็อยากเรียนการสื่อสารมวลชน เพราะได้รับความนิยมและมีแข่งขันสูงกันอย่างมาก  ตอนนั้นสื่อสาธารณะ จะมีแค่วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ยังเป็นยุคที่มีแค่โทรศัพท์เครื่องใหญ่ ๆ ยังไม่ได้มีโซเชียลมีเดียเหมือนปัจจุบัน เหตุผลที่อยากเป็นนักจัดรายการวิทยุ เพราะชอบเพลงลูกทุ่ง และเป็นอาชีพที่ท้าทายดี

    แล้วอู้กำเมืองได้ก่อ

    คือเราไม่ใช่คนเมือง เป็นคนภาคกลาง อยู่จังหวัดสิงห์บุรี ก็จะพูดออกเหน่อ ๆ แต่ว่าถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะว่าเราได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเป็นสื่อกลางของเรื่องนั้น ทำให้เป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นเอกลักษณ์ ในการจัดรายการวิทยุที่เชียงใหม่ อู้ภาษาไทยกลาง บางครั้งถ้ามีคนขอเพลงกำเมือง เพลงบางเพลงเราไม่เข้าใจ แทนที่จะเป็นเรื่องอึกอัดใจคนฟัง แต่กลับเป็นเรื่องที่คนฟังสนุกที่จะสื่อสารกับเรา เป็นการสื่อสารสองทาง ถ้าเราไม่เข้าใจ คนฟังก็จะบอกเราว่า “คำนี้แปลว่าอันนี้นะ” มันเลยมีความรู้สึกร่วมกัน และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นข้อบกพร่องตรงนี้ ในการจัดเพลงคำเมือง มันมีแต่จะสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันเสียมากกว่า

    ยังจำวันแรกที่จัดรายการวิทยุได้ไหม

    รู้สึกว่าจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นวันที่ปลดประจำการทหารเกณฑ์ มีการเปิดสอบแข่งขันนักจัดรายการวิทยุ เราได้รับเลือกก็เลยเดินทางขึ้นมาที่จังหวัดเชียงใหม่ วันแรกเช้ามาจัดรายการ จำได้เลยว่าขับมอเตอร์ไซค์มา ระหว่างนั้นใจนี่ก็นึกแต่ว่าจะจัดเพลงนั้น เพลงนี่ มาก่อนเวลาเป็น 2 ชั่วโมง มานั่งคัดเพลง เป็นความรู้สึกตื่นเต้น เหมือนเรามีพลัง มีแรงกระตุ้น และมีแรงบันดาลใจ ที่จะทำมัน

    ภาพ: นิพนธ์ สุวรรณรังษี

    แล้วเลือกเพลงมาเปิดในรายการยังไง

    เลือกเพลงที่เรารู้จัก ที่ชอบก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราฟังเพลงลูกทุ่งอยู่แล้ว ตั้งแต่จำความได้ ทุนในการรู้จักเพลง ทุนในเรื่องความเข้าใจ ด้านดนตรีต่าง ๆ เรามีพื้นฐานตรงนี้ค่อนข้างจะสมบูรณ์อยู่แล้ว

    วิธีการเลือกก็จะเลือกตามอารมณ์ เนื้อหา เพลงรัก เพลงเศร้า เพลงสนุก เรื่องบีท (Beat) ไทม์มิ่ง (Timing) ทุก ๆ อย่าง รวมถึงมิติทางสังคม กำหนดว่าเราจะเลือกเพลงนี้ ในบรรยากาศแบบนี้ เป็นลักษณะการวางแผนในใจ

    ความท้าทายในการจัดรายการวิทยุสมัยนั้น เป็นยังไง

    ให้นึกถึงว่าคนฟังเราเป็นหลักหมื่นหลักแสน ซึ่งเราไม่รู้ แต่รู้ว่ามันเยอะมาก ๆ มหาศาล เพราะว่าไม่ว่าไปที่ไหน ก็ได้ยินว่าคนกำลังเปิดฟังรายการของเรา ถ้าพูดถึงว่าเป็นความกดดันไหม มันก็กดดันนะ เราต้องเลือกเพลงที่ดี และได้รับความนิยม ที่สำคัญคือเรื่องของการคัดกรองคุณภาพอย่างเข้มข้นมากกว่าปัจจุบัน ไม่ว่าจะการสื่อสารคำพูดคำจา ไม่พูดคำหยาบ การออกเสียงควบกล้ำ ล.ลิง ร.เรือ ห้ามสื่อหมิ่นเหม่ และที่เราจัดอยู่ FM100 ก็เหมือนการแบกรับในสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย นี่จึงเป็นข้อดีและข้อจำกัด

    จัดรายการวิทยุ FM100 แปลว่าเคยเรียนที่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ใช่ การสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุกระจายเสียง เป็นสาขาที่คนในรุ่นนั้นเลือกเยอะมาก ๆ

    ภาพ: นิพนธ์ สุวรรณรังษี

    กลุ่มคนฟังเป็นใคร

    โดยปกติคนที่มีความรู้สูง คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน หน่วยงานราชการ จะไม่ค่อยฟังเพลงลูกทุ่ง แต่ว่ายกเว้นรายการที่เราจัด ถ้าให้พูดตามตรงก็เพราะว่าเราเป็นสื่อของมหาวิทยาลัย และได้รับการยอมรับ เราคิดว่าเป็นรายการที่ลดช่องว่างระหว่างชาวบ้าน ชุมชน เพลงลูกทุ่งกลายเป็นสิ่งที่ลดรอยต่อไปเยอะมาก ทำให้การฟังเพลงลูกทุ่งมช. FM100 มช. เป็นเอกลักษณ์ของสื่อมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ที่นำเสนอเพลงลูกทุ่ง เราเลยได้รับการยอมรับ และการเอ็นดูค่อนข้างดี

    แล้วในยุคนั้นคนเชียงใหม่เขาชอบโทรมาขอเพลงอะไรกัน

    โทรศัพท์ โทรมาขอเพลงเยอะ ๆ มาก จนบอกว่าพอแล้ว ระยะรายการไม่พอที่จะเปิด เป็นยุครอยต่อระหว่างโทรศัพท์มือถือ ก่อนหน้าก็จะมีคนส่งจดหมาย ไปรษณียบัตรมาให้ ถือว่าเป็นยุคที่คลาสสิคมาก ๆ ที่คนธรรมดาทำงานหากินทั่วไป หยิบจับกระดาษ เขียนจดหมายเป็นหน้า ๆ สอดซอง ติดแสตมป์เดินมาส่งตู้ไปรษณีย์ แล้วนั่งรอในการที่เราจะตอบกลับออกอากาศ เป็นสิ่งที่คลาสสิคและเป็นจุดที่ประทับใจ 

    เพลงฮิตที่คนฟังขอบ่อยนี่มีเพลงอะไรบ้าง

    โห อาจจะมีเป็นร้อยเป็นพันเพลงเลยนะ อย่างเพลงสมศรี 1992 ของยิ่งยง ยอดบัวงาม เพลงสั่งนาง มนต์สิทธิ์ คำสร้อย  เสียน้ำตาที่คาเฟ่ ศรเพชร ศรสุพรรณ และเพลงลอยแพ พรศักดิ์ ส่องแสง เพลงที่คนขอคือมันเยอะจริง ๆ 

    บริบทในสังคมตอนนั้น คนฟังเยอะมาก ๆ ยังไงบ้าง

    พูดให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างมีเหตุการณ์หนึ่ง มีผู้ใหญ่คนนึงของวงการบันเทิงเชียงใหม่ถึงแก่กรรมช่วงบ่าย เป็นที่รู้กันเฉพาะคนที่ใกล้ชิด แล้วตอนนั้นเราจัดรายการก็ได้พูดว่ร “ขอแสดงความเสียใจ บุคคลสำคัญท่านนี้ ที่ได้จากเราไป ส่วนศพของท่านจะนำไปที่วัดนี้” คือตอนนั้นคนมาเต็มวัด ตอนนั้นมีแค่เราสื่อเดียวเลยที่ส่งเสียงออกไป แสดงให้เห็นว่าเรามีความเป็นเอกภาพและพลังที่ยิ่งใหญ่

    มีคนรู้จักหน้าตาเราไหม

    มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนักจัดรายการวิทยุ ที่จะแตกต่างจากสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ที่จะได้เห็นหน้าเห็นตา เพราะคนฟังจะได้จินตนาการ สมมุติคนฟังอยู่แสนคน อาจจะมีสักกี่พันกี่ร้อยคน ที่เคยเห็นหน้าเรา รู้จักเราส่วนตัว ไปไหนมาไหนก็จะเป็นเรื่องที่เราตื่นเต้น เพราะแต่ละเดือนเราจะได้รับเชิญให้ไปงานวัด งานปอยหลวง งานแต่ง หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร ถ้ามีป้ายขอยินดีต้องรับนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ก็จะมีคนพูดว่า “ฟังอยู่ เห้ย หน้าตาเป็นแบบไหนเหรอ คนไหนอะ” เราคิดว่าเป็นเสน่ห์ และก็รู้สึกดี กลายเป็นเรื่องราวที่เล่ากี่ครั้งก็ยังคงน่าจดจำเสมอ

    ความสุขของการจัดรายการวิทยุ

    ความสุขของการจัดรายการวิทยุ คือการที่เราสุขไปกับเพลงเหล่านั้น เหมือนกับคนที่ทำอาหาร ถ้าเราเป็นเชฟ แล้วเราเห็นคนที่มากินแล้วมีความสุข ยิ้มด้วยอร่อย เรารู้สึกว่ามันคล้าย ๆ กัน เรารู้สึกว่าเพลงที่มันเพราะ เราเปิดออกอากาศไป แล้วมีคนฟังบอกว่า “เพลงนี้ดีจังเลย ชอบจังเลย” มันให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรามีความสุขไปด้วย และในตลอดระยะเวลาการทำงานนั้น ผ่านไปเร็วมาก ๆ โดยปกติช่วงนั้นจะจัดวันละ 3 ชั่วโมง เวลาเราอยู่นิ่ง ๆ ปกติถือว่านานมาก แต่ถ้าเป็นช่วงที่เราจัดรายการเรามีความสุข เลยรู้สึกว่าว่าเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนรู้สึกว่า “เอ้า จบรายการแล้วเหรอ” 

    ภาพ: นิพนธ์ สุวรรณรังษี

    ด้วยกระแสของวิทยุที่ลดบทบาท ไม่มีอิทธิพลเท่าเมื่อก่อน ในฐานะดีเจ ท้อบ้างไหม

    อยากทำตลอด เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกชอบ อย่างคนที่ชอบฟุตบอล ถึงแม้จะเลิกลงเตะแล้ว เขาอาจจะเป็นโค้ช หรือคนดูแทน มันคือทั้งชีวิตอะ คนที่ชอบอะไรมาก ๆ ก็จะทำสิ่งนั้นได้ยาวนาน อย่างทุกวันนี้ถ้าอะไรต่าง ๆ ลงตัวให้ไปนั่งจัดรายการได้ ก็ทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่ในสายเลือด แม้ตอนนี้จะได้ได้จัดสด แต่ก็ยังจัดอยู่ คนฟังก็ยังคงฟัง แต่อาจจะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว

    สุดท้ายให้ดีเจลูกหมูฝากอะไรถึงคนฟัง

    ถ้าคิดถึงกันก็วันเสาร์กับวันอาทิตย์ เที่ยงวันถึงบ่ายโมง ถึงไม่ได้เรียลไทม์แบบสมัยก่อน แต่เต็มไปด้วยบรรยากาศเก่า ๆ ชื่อรายการยังรายกายเดิมอยู่เลย “มาลัยลูกทุ่ง” เพลงที่ยังเปิดรายการ ก็เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่มันเคยโด่งดังหรือประทับใจ จะถูกคัดสรรมาอย่างดี ยังฟังได้ที่เดิม ชื่อรายการเหมือนเดิม พยายามจะทำบรรยายโดยอาศัยแก่นของเพลงคล้าย ๆ เดิม FM100 มช. “ถ้าคิดถึงกันก็ยังมีให้ฟังอยู่” จากวันนั้นปี 2534 ถึง 2566 ยังสามารถติดตามรับฟังกันได้

    เพลลิสท์เพลงฮิตไว้ฟังตอนปีใหม่ 

    จากรายการมาลัยลูกทุ่ง FM100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยดีเจลูกหมู นิพนธ์ สุวรรณรังษี

    1.เด็ดดอกหญ้า – เสรี รุ่งสว่าง 

    https://youtu.be/WvbN44Eswjk?si=B_0vdFSvvKO2_Eu8

    2.ติด ร. วิชาลืม – แอร์ สุชาวดี 

    https://youtu.be/FHvBh69Xcz0?si=qLIfPubHuz_XEGJY

    3.กำแพงปริญญา – ต่าย อรทัย

    https://youtu.be/7Jg6cr6l7V4?si=3mA28K4kzWiW75he

    4.กระถ่อมสาวเมิน – ลูกแพร ไหมไทย

    https://youtu.be/GBv3gXEyrxM?si=71v1HCMCfGIywF4g

    5.กระท่อมทำใจ – ศร สินชัย

    https://youtu.be/LhSqYVwgVDE?si=jq8kJUonx9DVMKal

    6.สาว ม.ปลายยังฮักอ้าย – ข้าวทิพย์ ธิดาดิน

    https://youtu.be/tZSmfAu6MZ8?si=vENh6EWsN0sOLk6s

    7.จิรักหรือจิหลอก – ตั๊กแตน ชลดา

    https://youtu.be/LQ_ybDVIB0U?si=mytJWLHp2EDTS2VX

    8.ดอกไม้ในป่าช้า – อัมพร แหวนเพชร

    https://youtu.be/nFDE5r3Z3MM?si=JFZfz0MWK0ZRD7-M

    9.อะไรจะเกิดให้มันเกิด – คัฑลียา มารศรี

    https://youtu.be/yykJhlag9-E?si=7cLaAuBNHd4Dx0Yc

    10.ขอแค่มอง – ธนา พาโชค

    https://youtu.be/vNXIf4Sq9TY?si=VYDmRvznA1Mhg0Ml

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...