พฤษภาคม 20, 2024

    แก้ที่ต้นตอ ย้อนมองทั่วโลกแก้ปัญหาคนจมฝุ่นกันยังไง?

    Share

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

    พื้นที่ภาคเหนือของไทยนั้นต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นควัน PM2.5 ที่เรื้อรังมานานหลายทศวรรษ ในช่วงหน้าร้อนของทุกปีค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงพุ่งทะยานติดอันดับโลกอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน และมีผลกระทบต่อสุขภาพมากทุกจังหวัดในภาคเหนือ ข้อมูลจาก HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 2 เมษายน 2024 (พ.ศ.2567) พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจทั่วประเทศจำนวน 2,546,362 คน จากการสำรวจประชากรทั้งหมด 45,432,188 คน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวน 511,315 คน 

    ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในแต่ละปีที่ออกมานั้นเหมือนการเกาไม่ถูกที่ มาตรการที่ออกมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน รวมไปถึงการมองไม่เห็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ดูเหมือนที่จะหลบเลี่ยงที่ไม่พูดถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง อย่างกรณีที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีฟ้องฝุ่นของประชาชนภาคเหนือ ไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 (พ.ศ.2567) หลังศาลปกครองปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้นายกฯ และคกก.สิ่งแวดล้อมฯ เร่งจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ นี่อาจตีความได้ว่ารัฐบาลไม่มีวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริงราวกับว่าฝุ่นพิษนี้จะปลิวหายไปกับสายลมหลังฤดูแล้งหมดไปเฉกเช่นทุกปีวนเวียนไปแบบนั้น

    วิกฤตฝุ่น PM2.5 นั้นไม่ได้เกิดเพียงแค่พื้นที่ภาคเหนือของไทยเท่านั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เฉกเช่นเดียวกัน แต่นโยบายหรือมาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนั้นเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ทำให้อากาศในหลาย ๆ ประเทศทยอยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่มาตรการที่ออกมาแก้ไขนั้นไม่เพียงแต่ต้องการแก้ไขแค่ฝุ่น PM2.5 แต่ยังครอบคลุมไปถึงมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

    ประเทศจีน

    จีนประสบปัญหาฝุ่นพิษมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตง ตั้งแต่ปี 1945-1976 ส่งต่อมายัง เติ้ง เสี่ยวผิง ในยุคการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนช่วงปี 1981-1987 ภายใต้นโยบาย “สี่ทันสมัย” (Four Modenization) ที่เน้นการปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ การเกษตร การอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ รวมไปถึงในช่วง 20 ปีให้หลัง จีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์รวมเป็นถึงผู้บริโภครายใหญ่ของโลกทำให้มีการบริโภคน้ำมันสูงขึ้นตามมา นอกจากนี้มีปริมาณการใช้ถ่านหินในระดับที่สูงมากโดยเฉพาะฤดูร้อน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีแผนในการรองรับด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

    ฝุ่นควันในเมืองปักกิ่ง ปี 2015 (ภาพ: CNN)

    ด้วยปัญหาทางด้านมลพิษที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ในปี 2014 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้ประกาศ “สงครามต่อต้านมลพิษ” โดยมีแผนปฏิบัติการคุณภาพอากาศแห่งชาติเพื่อลด PM10 ลงร้อยละ 10 ภายใน 5 ปี มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์ ในพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในจีน ได้แก่ ปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ในปีเดียวกันมีการเผยแพร่ ร่างการแก้ไขกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศแห่งชาติ (National Air Pollution Prevention and Control Law) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1987 มีการยกประเด็นฝุ่นควันให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการยกบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นในการประเมินการปฏิบัติงานและเผยแพร่ผลการวิจัยสู่สาธารณะ มีการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ มีมาตรการแก้มลพิษจากถ่านหินยานยนต์ อุตสาหกรรม และฝุ่นละออง โดยร่างดังกล่าวผ่านพิจารณาและถูกประกาศใช้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2014

    China’s State Council (ภาพ: China Daily) 

    โดยเมื่อปลายปี 2023 China’s State Council ได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ แผนดังกล่าวมีมาตรการเพื่อทำให้ท้องฟ้าในจีนกลับมาสีฟ้าภายในปี 2025 เช่น ผลักดันในด้านอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการใช้ฟอสซิลลงร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งให้มีการผลิตคาร์บอนต่ำมากขึ้นและผลักดันให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อลดความหนาแน่นของ PM2.5 ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง ลง 10 เปอร์เซ็นภายในปี 2025 และขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม

    สหราชอาณาจักร

    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5-9 ธันวาคม 1952 กรุงลอนดอนเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันหนาทึบไปทั่วเมือง สาเหตุของควันพิษนี้เกิดจาก โรงงานถ่านหินในลอนดอนและเมืองใกล้เคียง รวมไปถึงการใช้ถ่านหินในครัวเรือนของประชาชนทั่วไป ปล่อยมลพิษทางอากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซอันตรายอย่างเช่น กรดไฮโดรคลอริกและซับเฟอร์ไดออกไซด์ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนมากนัก เนื่องจาก ณ ช่วงเวลานั้นเป็นฤดูหนาวทำให้ประชาชนคิดว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นหมอกธรรมชาติ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็คิดว่ามันเป็นแค่หมอกทั่วไป ทำให้ไม่ได้มีมาตรการออกมาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

    ภาพ: American Lung Association

    แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่วัน ประชาชนกว่า 12,000 คนเสียชีวิต และป่วยจากระบบทางเดินหายใจกว่า 100,000 คน ซึ่งรู้จักกันในนาม “The Great Smog of London 1952” ถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางมลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตประชาชนไปมากที่สุดในสหราชอาณาจักร ทำให้หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว มีการสนับสนุนเงินทุน เจ้าหน้าที่ และเครื่องมือแก่โรงพยาบาล รวมไปถึงยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการเรื่องนี้ ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อีก 5 ปีให้หลัง ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1956 รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายจัดการมลพิษทางอากาศ (Clean Air Act 1956) ฉบับแรก ขึ้นมา

    วินสตัน เชอร์ชิล (ภาพ: ซีรีย์ The Crown)

    Clean Air Act 1956 เป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหามลพิษในสหราชอาณาจักร ซึ่งในปี 1968 มีการปฏิรูป Clean Air Act ครั้งแรกเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหามลพิษของสหราชอาณาจักรที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเพิ่มโทษแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันจากปล่องควันสูงที่เกิดจากการเผาไหม้อย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งควบคุมมาตรฐานการติดตั้งปล่องควัน และในปี 1993 รัฐบาลอังกฤษก็ได้มีการตรา Clean Air Act 1993 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้น อาทิ การนิยามความหมายของควันดำ ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทั้งจากการปล่อยควันดำอันเป็นมลพิษทางอากาศจากปล่องควันสูงของภาคอุตสาหกรรมและเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ การกำหนดเกณฑ์ของการวางพื้นที่ควบคุมหมอกควัน (SCAs) การกำหนดประเภทของมลพิษทางอากาศประเภทใหม่ ๆ เอาไว้ในกฎหมาย และการกำหนดให้ภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชน รวมไปถึงสิทธิพื้นฐานในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

    สหรัฐอเมริกา

    ในอดีตสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันที่ส่งผลให้ประชาชนกว่า 1 ใน 3 ของ เมืองโดโนรา รัฐเพนซิลวาเนีย ต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ย้อนกลับไปในวันที่ 27 ธันวาคม 1948 ท้องฟ้าของเมืองโดโนรา รัฐเพนซิลวาเนีย ได้เกิดเหตุการควันพิษปกคลุมไปทั่วเมือง เกิดจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นพิษโลหะ จากกระบวนการผลิตของโรงงานสังกะสีและเหล็ก หรือที่รู้จักในเหตุการณ์ The Donora Smog เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ประชาชนในเมืองเสียชีวิตกว่า 20-50 คน และป่วยจากโรคทางเดินหายใจกว่า 7,000 คน ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา

    เมืองโดโนรา (ภาพ: AccuWeather)

    หลังจากเหตุการณ์นั้น ประชาชนและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีการหารือกันว่ามลพิษทางอากาศนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไข หลายรัฐได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อลดมลพิษทางอากาศ จนกระทั้งสภาคองเกรสได้มีการประกาศ The Air Pollution Control Act of 1955 จากการหารือและถกเถียงกันมาหลายปี ถือว่าเป็นการตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา และได้มีการออก Clean Air Act (กฎหมายอากาศสะอาด) ฉบับแรกในปี 1963 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้อีกหลายครั้ง ในปี 1970, 1977 และ 1990 ซึ่ง กฎหมายอากาศสะอาดในแต่ละปีมีการปรับปรุงให้ครอบคลุมมลพิษทางอากาศมากขึ้นทุกครั้งที่มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ อาทิ การกำหนดงบประมาณในการลดมลพิษ เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง แก้ไขปัญหาฝนกรดและการทำลายชั้นโอโซน ตั้งกองทุนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

    ลินดอน บี. จอห์นสัน ลงนามใน พ.ร.บ.อากาศสะอาด 1967 ที่ทำเนียบขาว (ภาพ: LBJ Presidential Library)

    นอกจากกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ยังมีหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (United States Environmental Protection Agency หรือ EPA) ที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพของประชาชนและปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่ง EPA มีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา National Ambient Air Quality Standards: NAAQS สำหรับสารพิษทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์  ฝุ่นละออง (PM2.5 และ PM10) ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และตะกั่ว ซึ่งครอบคลุมมาตรฐานเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางสุขภาพ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของดิน น้ำ พืชผล อาคาร และความเสียหายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ด้านสาธารณสุข

    ประเทศญี่ปุ่น

    ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาฝุ่นควันมาตั้งแต่ต้นยุคสมัยเมจิ (1868-1912) โดยในช่วงปี 1870-1890 ได้เกิดกรณีเกิดมลพิษทางอากาศจากเหมืองแร่ของเหมืองทองแดงอาชิโอะ ที่เป็นที่รู้จักในนาม ‘การเกิดมลพิษครั้งแรกในญี่ปุ่น’ ส่งผลให้น้ำและพืชพรรณที่อยู่บริเวณเหมืองแร่อาชิโอะ ล้มตาย ส่งผลให้คนงานและชาวประมงตกงานกว่า 3,000-4,000 คน นอกจากกรณีเหมืองแร่อาชิโอะแล้วช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ผ่านการเพิ่มกำลังการผลิตในระบบอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 50 ถึงแม้เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กลับไร้มาตรการในการรองรับการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้มลพิษจำนวนมากถูกปล่อยออกมา มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากมลภาวะที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม อาทิ กรณีโรคหอบหืดเมืองยกกะอิจิ จังหวัดมิเอะ หรือเหตุการณ์ชื่อดังอย่าง โรคมินามาตะ ในเมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต และเมืองคาโงะชิมะ จังหวัดคาโงะชิมะ ที่ทำให้เกิดผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

    เหมืองทองแดงอาชิโอะในปี 1895 (ภาพ: Pictorial History of Modern Japan Vol.5)

    ช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายพื้นฐานเพื่อควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมมาตรการในการควบคุมมลพิษอย่างเป็นระบบ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้หน่วยงานระดับชาติและท้องถิ่นนั้นต้องนำผู้ที่ผลิตมลพิษแสดงความรับผิดชอบในการสร้างมลพิษสู่อากาศ และในช่วงทศวรรษ 70 ก็มีการประชุมรวมถึงการหารือร่วมกันของหลายภาคส่วนในการแก้ไขและออกกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศหลายฉบับ จนกระทั้งปี 1971 ได้มีการก่อตั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมขึ้น ที่กลายมาเป็นกระทรวงสิ่งแวดล้อมในปี 2001 ซึ่งมีหน้าที่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมไปถึงควบคุมมลพิษในญี่ปุ่น

    กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่ย

    ในปลายปี 2013 ญี่ปุ่นได้มีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 รวมไปถึงมาตรการลดการปล่อย PM2.5 อย่างจริงจัง มีการวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ มีการออกมาตรการหลายอย่างที่เป็นการลดการปล่อย PM2.5 รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการลดมลพิษทางอากาศให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการรวมมือทั้งในประเทศและนอกประเทศ อาทิการร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชีย มีการเพิ่มการติดตาม และควบคุมการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเป้าไปที่ NOX, VOCs โดยผลจากการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปี 2013-2017 ค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ลดลงอย่างต่อเนื่อง

    ระบบการจัดการ PRTR ของประเทศญี่ปุ่น (ภาพ: กระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น)

    นอกจากนโยบายเพื่อลด PM2.5 ของญี่ปุ่น ยังมีระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ที่ประกาศใช้ในปี 1999 และประกาศเป็นกฎหมายในปี 2001 ที่ทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสารเคมี ว่าเป็นสารเคมีชนิดใด จากแหล่งไหน และมีปริมาณสารเคมีที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากเท่าไหร่ เพื่อส่งเสริมในการปรับปรุงระบบการจัดการสารเคมีในภาคอุตสาหกรรมและป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หากเอกชนปล่อยสารเคมีอันตรายที่อยู่ในบัญชีของกฎหมายควบคุมจะต้องรายงานรายชื่อและปริมาณของสารเคมีนั้นต่อหน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม  และกระทรวงสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระทรวงที่สามารถควบคุมกำกับสถานประกอบการ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่สาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถตรวจสอบการรั่วไหลของสารเคมี สามารถการจัดการสารเคมีภายในสถานประกอบการให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยหลังดำเนินตามแผน PRTR ญี่ปุ่นได้ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม จาก 219,000 ตัน ในปี 2001 เหลือ 196,000 ตัน ในปี 2010

    ประเทศสิงคโปร์

    สิงคโปร์ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนภายประเทศ  ปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นเกิดจาก หมอกควันข้ามพรมแดนจากการเผาป่าและพืชไร่ ในพื้นที่ เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันที่ไม่ได้เกิดในสิงคโปร์โดยตรงแต่เกิดในประเทศใกล้เคียงหรือที่เรียกว่าฝุ่นควันข้ามแดน เหตุการณ์ดังกล่าวมีการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ อาทิ โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมและกิจกรรมกลางแจ้งจำนวนมาก รวมไปถึงการยกเลิกเที่ยวบินหลายเที่ยว ทำให้สิงคโปร์ต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาจากหมอกควันกว่า 700 ล้านดอลลาร์สิงค์โปร์ หรือคิดเป็น 19,000 ล้านบาท

    (ภาพ: Chartered Institute of Arbitrators Singapore)

    ด้วยเหตุนี้ประเทศสิงคโปร์จึงมีการมาตรการในการลดมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนผ่านการออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Haze Pollution Act ในวันที่ 25 กันยายน 2014 กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาแก่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นสาเหตุของมลพิษในสิงคโปร์ ส่งผลให้บริษัทหลายบริษัทที่มีส่วนในการสร้างหมอกควันในสิงคโปร์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิด รวมไปถึงประชาชนสิงคโปร์สามารถฟ้องได้อีกด้วย

    นอกจากกฎหมายควบคุมหมอกควันที่มาจากต่างประเทศแล้ว กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ประเทศสิงคโปร์ ยังมีแผนในการวางผังเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการนำแนวทางแบบบูรณาการหลายหน่วยงานมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผังเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การวางแผนการใช้ที่ดิน การควบคุมการพัฒนา รวมไปถึงการกำหนดเขตที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ให้มีการสร้างกันชนหรือบัฟเฟอร์เพื่อไม่ให้กระทบในเขตที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการกำหนดค่ามาตรฐานให้กับยานพาหนะไม่ปล่อยควันมากจนเกินไป

    ทิศทางการแก้ไข PM2.5 ของประเทศไทย 

    จากมาตรการ นโยบาย รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ของ 5 ประเทศที่ยกตัวอย่างมาชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยนั้นถึงแม้ที่ผ่านมาเคยมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง” ตั้งแต่ปี 2019 โดยมีแผนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นควัน PM2.5 ต้องมีแผนงาน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แต่ดูจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบันกับเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ 

    แต่จากการผลักดันของภาคประชาชนในการเรียกร้องให้มีมาตรการรวมไปถึงการผลักดันให้มีกฎหมายออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน วันที่ 17 มกราคม 2024 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จากภาคประชาชน และพรรคการเมือง รวมทั้งหมด 7 ฉบับ ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 

    จำนวนผู้ลงมติเห็นด้วยต่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง ทั้งหมด 438 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง 

    โดยร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่างมีความน่าสนใจตรงที่มีการระบุถึงมาตรการในของปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ จากภาคประชาชน ที่สามารถเอาผิดต่อผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดน เช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ของคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท เป็นต้น

    ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

    นอกจาก การมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง ที่เกิดขึ้นในต้นปี วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา (14 กุมภาพันธ์ 2024) ตัวแทนจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นรายชื่อประชาชนจากการเข้าชื่อกว่า 12,165 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) แก่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สัปปายะสภาสถาน ขอให้ เศรษฐา ทวีสิน พิจารณาร่างฯดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของรัฐสภา 

    จะเห็นได้ว่าจากการเคลื่อนและการรวมตัวกันของภาคประชาชนและพรรคการเมือง ทำให้เห็นถึงความหวังในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และพวกเราในฐานะประชาชนก็ควรจับตาความเคลื่อนไหวของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดและ ร่าง PRTR กันต่อไป เพื่อที่ปัญหาเรื้อรังที่สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนที่มีมาอย่างยาวนี้จะได้ถูกแก้ไขเสียที…


    อ้างอิง


    ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...