เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว
จากสถานการณ์คอขวดของวงการภาพยนตร์ของไทยที่เกิดขึ้นมาร่วมหลายปี ทั้งที่มีผู้ผลิต ผลิตหนังออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งหนังไทยและต่างประเทศที่โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ระดับโลกอีกหลายเรื่อง แต่ปลายทางของการฉายหนังอย่างโรงภาพยนต์ในไทยนั้นถูกจำกัดอยู่แค่ 2 เจ้าใหญ่ในไทยที่มีการเลือกและคัดสรรหนังมาให้ผู้บริโภคได้รับชมนั้นมีอย่างจำกัด เพียงแค่หนัง ตลก แอคชั่น สยองขวัญ หรือหนังฟอร์มยักษ์เพียงเท่านั้นที่สามารถยืนระยะได้ในโรงภาพยนตร์ แต่หนังนอกกระแสกลับมีชีวิตอยู่บนโรงหนังในห้างแค่ระยะเวลาสั้น ๆ หรือบางทีก็ไม่มีชีวิตอยู่เลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ข้อมูลจาก ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ธุรกิจโรงหนังในไทยนั้นมีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าใหญ่ทั้งหมด 2 เจ้า ได้แก่ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท เมเจอร์ฯ ครองส่วนแบ่งตลาดถึงประมาณ 70% วัดจากยอดขายตั๋วภาพยนตร์แต่ละเรื่องเฉพาะในรอบสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย หากอิงข้อมูลตามรายงานประจำปี 2566 บริษัท เมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 50 สาขา ในเขตต่างจังหวัด 125 สาขา และในต่างประเทศทั้งหมด 9 สาขา รวมกันทั้งหมด 184 สาขา
ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในไทยนั้นมีลักษณะเป็นธุรกิจแบบกึ่งผูกขาด เนื่องจากลักษณะธุรกิจที่ต้องมีเงินลงทุนสูง รวมไปถึงการหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการทำโรงภาพยนตร์ ทำให้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านโรงภาพยนตร์ยังคงเป็นรายเดิมที่อยู่ในธุรกิจนี้มายาวนาน และแทบจะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน
Micro Cinema หนังโรงเล็ก บทสนทนาใหญ่
จากการที่ผู้บริโภคถูกจำกัดให้ดูหนังไม่กี่ประเภท ผู้ที่ต้องการรับชมหนังทางเลือกและหนังนอกกระแสก็ไม่ได้มีพื้นที่รับชมมากเพียงพอ ส่งผลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โรงหนังนอกกระแสหรือโรงหนังนอกห้างสรรพสินค้าได้รับความนิยมมากขึ้นและเติบโตเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากเพจ ONCE รวบรวมพื้นที่และกลุ่มคนฉายหนังอิสระในไทยที่มีมากกว่า 30 แห่ง โดยกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ มีอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย กลุ่ม พก: ร้านหนังสือและโรงหนัง, จังหวัดพะเยา คือโรงหนังเมืองทองรามา และจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม ชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้, กลุ่ม Untitled for film และ กลุ่ม Dude, Movie ทั้งหมด 5 แห่ง
หรือแม้แต่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย อย่าง ชมรม SOC ANP CMU MOVIE CLUB ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีการจัดกิจกรรม #ดูหนังกับสังวิท ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือ กลุ่ม Untitled for film ที่มีการใช้พื้นที่ของภาควิชา Media Arts and Design มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการฉายหนังมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากพื้นที่เหล่านี้การฉายหนังนอกห้างยังเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ตามวาระและโอกาสซุกซ่อนอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ณัฐกุล คำพินิจ จาก Dude, Movie หนึ่งในกลุ่มคนที่พยายามขับเคลื่อนพื้นที่ในการฉายหนัง เผยว่าปัจจัยที่ทำให้ปรากฎการณ์เหล่านี้มีสาเหตุมาจากการดูหนัง ที่ผ่านมานั้นจำกัดอยู่แค่ในโรงไม่กี่เจ้าที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น
ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดการฉายหนังนอกห้างมากขึ้นนั้นเกิดจากความเบื่อหน่ายการผูกขาดการฉายหนัง ทั้งที่ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์นั้นมีหลากหลายมากมายในไทย หรือแม้แต่หนังบางเรื่องที่ผู้สร้างนำมาจัดฉายหรือจัดจำหน่ายเอง ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เหล่านี้ก็ต้องเข้าไปอิงแอบกับกลุ่มทุนหรือโรงหนังในห้าง
แต่ก็ยังมีผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่ต้องการนำหนังนอกกระแสที่น่าสนใจ นำหนังเหล่านั้นมาฉายกับกลุ่มที่ฉายหนังนอกห้างหรือโรงหนังอิสระ การมีผู้ประกอบกิจกรรมฉายหนังในวงการภาพยนตร์ที่ไม่หลากหลายส่งผลให้ประเภท (Genre) ของหนังที่ถูกฉายในโรงแคบไปตามผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่ต้องการรับชมหนังที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากความเบื่อหน่ายกับประเภทหนังที่จำกัดอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือหนังที่จัดพื้นที่ฉายเพียงแค่ในกรุงเทพมหานคร
ซึ่งประจวบเหมาะกับ Distributor หรือคนนำเข้าภาพยนตร์ที่ต้องการนำเข้าหนังแปลกใหม่ ทำให้การกระจายหนังที่ถูกลิขสิทธิ์ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้การฉายหนังนอกห้าง/นอกกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากภาพยนตร์ที่นำมาฉายยังถูกจำกัดความว่าเป็น ภาพยนตร์ทางเลือกที่เชื่อว่ามีผู้เสพน้อย
Micro Cinema คือนิยามของโรงหนังอิสระขนาดเล็กที่มักมีจำนวนที่นั่งน้อยกว่าร้อยที่นั่ง รวมทั้งยังเป็นชื่อที่กลุ่มคนฉายหนังอิสระใช้นิยามตนเองอีกด้วย ภาพการเป็นโรงหนังขนาดเล็กทำให้การก้าวเข้ามาดูหนังในโลกเล็ก ๆ นี้ เสมือนกับเป็นพื้นที่ที่สร้างบทสนทนาในการแลกเปลี่ยน ขยับขยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนจอสี่เหลี่ยม ว่ามีความรู้สึก ความคิดเห็นอย่างไร เป็นการเข้ามาในคอมมูนิตี้คอหนังที่แน่นแฟ้นและแข็งแรง เป็นการรับชมภาพยนตร์ที่มากกว่าความบันเทิงหรือแค่ดูหนังแล้วจบไป
“เก้าอี้อาจจะไม่สบาย หรือเราอาจจะได้ไปดูหนังกันในห้อง Lecture ของมหา’ลัย” ณัฐกุล กล่าว
ณัฐกุล เล่าว่าข้อจำกัดในการฉายหนังนอกห้าง หรือ Micro Cinema นั้นคือ เรื่องคุณภาพในการฉายและความสะดวกสบายในการรับชม ที่ไม่สามารถสู้กับโรงภาพยนตร์ใหญ่ในห้างสรรพสินค้าได้ นอกจากข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพในการฉายหนังแล้ว การฉายหนังประเภทนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถนำหนังบางเรื่องมาฉายได้ในพื้นที่การฉายหนังแบบ Micro Cinema เนื่องจากปัจจัยทางเทคนิค ซึ่งเป็นความน่าเสียดายที่เกิดขึ้น แม้จะมีการสนับสนุนหนังจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายหรือกลุ่มผู้จัดเทศกาลหนัง ที่อยากนำหนังเหล่านั้นมานำเสนอในพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น
โรงภาพยนตร์ ปลายทางของหนัง กับความหลงลืมของรัฐ
หากดูตามนโยบายในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันที่มีนโยบายเพื่อภาพยนตร์ พบว่าอยู่ในเรื่องของการผลิต การเลิกเซ็นเซอร์ หรือการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยล่าสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประกาศจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ภายในงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ได้มีการวางแนวทางนโยบายและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไว้ทั้งหมด 3 นโยบายหลัก คือ
1.กฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ (ฉบับใหม่) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกันเอง (Self-Regulation) โดยเอกชน จัดตั้งสภาการภาพยนตร์ไทย (Film Council) ในการผลักดันนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม รวมทั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและการ Co-Production ให้ทั้งกับผู้ผลิตไทยและต่างประเทศ สนับสนุนงานเทศกาล งานฉายหนังในประเทศไทย การสอดแทรกการเล่าเรื่องของคนในท้องถิ่น นำไปสู่การเปิดกว้างทางด้วยความคิดสร้างสรรค์ สร้างความหลากหลายของภาพยนตร์เกิดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
2.อํานวยความสะดวกกองถ่ายทำ One Stop Service ลดขั้นตอนและความยุ่งยากของการยื่นเอกสาร โดยใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยขออนุญาตถ่ายทำง่ายขึ้น รัฐเอื้ออํานวยความสะดวกต่อกองถ่าย รวมถึงการขออนุญาตถ่ายทำของกองถ่ายต่างประเทศ
3.ส่งออกผลงานไทยสู่ระดับโลก ด้วยสนับสนุนการส่งออก แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และองค์ความรู้กับต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนผู้ผลิตไปร่วมเทศกาลและตลาดต่างประเทศ (Film Festival / Film Market) และการสนับสนุนศิลปิน นักแสดง ไปโรดโชว์ในต่างประเทศ
ถึงแม้การผลักดันให้หนังไทยไปสู่เวทีระดับนานาชาติ การให้กองทุนสนับสนุนคนทำหนัง รวมไปถึงการอำนวยสะดวกในด้านเอกสารจะเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ ซึ่ง 3 นโยบายที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ได้ประกาศไปนั้น ถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพของวงการภาพยนตร์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากมาย้อนดูปลายทางของหนังอย่างโรงภาพยนตร์ หรือพื้นที่ฉายหนังอิสระ นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่มีการพูดถึงหรือผลักดันเท่าที่ควร
“คนทำหนัง/ดูหนังนอกกระแสอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรมหนังไทย? — คนเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นคนนอกที่ไม่ใช่เพราะรสนิยมพาพวกเข้าไปยืนตรงนั้น แต่อาจเป็นเพราะทิศทางการผลักดัยนโยบายของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับผู้สร้าง/คนดูหนังกลุ่มเล็กๆนี้ ที่ผลักให้พวกเขาหลุดออกไปจากทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังและไม่ได้ถูกคิดอยู่แผนการพัฒนาอะไรเลย ถูกหลงลืมและต้องต่อสู้ดิ้นรนกันเอง” ณัฐกุล
ณัฐกุลให้ความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากมามองที่รัฐ รัฐควรจะมองเห็นถึงคนกลุ่มนี้ (คนชอบดูหนังนอกกระแส) พวกเขาเหล่านี้เป็นหนึ่งในฟันเฟื่องเล็กๆที่ยับอุตสาหกรรมหนังในไทยไม่ต่างกันกับคนทำหนังหรือการมีเทศกาลหนังใหญ่ระดับชาติ การพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับคนดูหนังหนังนอกกระแส ที่แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ”
ณัฐกุล ยังเพิ่มเติมอีกว่า พื้นที่ในการฉายหนังยังมีจำกัดและกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพมหานคร และไม่มีการกระจายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่าที่ควร ซึ่งรัฐควรสร้างพื้นที่ฉายหนังที่ให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Micro Cinema หรือ การสร้าง Film Festival ที่ประชาชนซึ่งมีความสนใจทั้งคนทำหนังและคนฉายหนังตัวเล็กได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม รวมไปถึงทรัพยากร ‘คน’ ที่สามารถจัดการบริหารให้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ ณัฐกุล ยกตัวอย่าง หอศิลป์กลางเวียงในจังหวัดเชียงใหม่ มีห้องที่ถูกออกแบบมาให้ฉายหนังได้ แต่ติดข้อจำกัดคือไม่มีคนหรือบุคลากรที่มาดูแลให้มีการฉายภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง
“รัฐบาลในยุโรปมีการสนับสนุนโรงหนังอิสระที่อยู่รอบนอกพื้นที่เมือง มีการผลักดันให้มีกลุ่มฉายหนังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างองค์ความรู้ในการฉายหนังให้กับคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Micro Cinema หรือ การสร้าง Film Festival ที่ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในวงจรอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีความครึกครื้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างพื้นที่ฉายหนังของคนตัวเล็กๆ” ณัฐกุล กล่าว
อ้างอิง
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์. (2566). ธุรกิจโรงภาพยนตร์. ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์. https://www.lhbank.co.th/getattachment/6eebe2a7-89fe-4cb4-8c7a-a8494c5ac845/economic-analysis-Industry-Outlook-2023-Thai-Cinema-Business
- https://major.listedcompany.com/misc/flipbook/index.html?id=277170
- https://www.facebook.com/photo?fbid=805845050911146&set=pcb.805376184291366
- https://pathumthani.prd.go.th/th/content/category/detail/id/38/iid/298495
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ