วันนี้ (3 ก.ย. 2566) เวลา 09.00 น. ภาคประชาชนในจังหวัดลำปางจัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านแม่เลียง บ้านแม่เลียงพัฒนา บ้านแม่ผึ้ง และบ้านทุ่งไผ่ ในพื้นที่ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จากกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวงต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ณ วัดศรีทรายมูล บ้านแม่เลียง โดยมีประชาชนจากชุมชนดังกล่าวและชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200 – 300 คนเข้ารับฟังและแสดงความคิดเห็น
หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชนได้ขึ้นมากล่าวก่อนเริ่มการเสวนาว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่การประท้วง แต่เป็นการพูดคุย ปรึกษาหารือกันเพื่อสรุปเหตุผลการคัดค้าน ก่อนที่จะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมของบริษัทที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางที่จะมีการจัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ ตนจึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่มาร่วมรับฟังทุกท่านอย่าได้ใช้ถ้อยคำหรือกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในวันนี้ต่อไปได้
ชาวบ้านในพื้นที่คนหนึ่งกล่าวโดยสรุปสาระสำคัญว่า “แม้ว่าตามกฎหมายจะกำหนดเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่สามารถแสดงความคิดเห็นคัดค้านการทำเหมืองแร่ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นได้ ตนในฐานะที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 3 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบคือ บ้านแม่เลียง บ้านแม่เลียงพัฒนา และบ้านแม่ผึ้ง แต่ตนมองว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พี่น้องทั้งอำเภอเสริมงามกำลังจะได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นประเด็นที่พี่น้องอำเภอเสริมงามกังวลมากที่สุด เพราะจากเดิมอำเภอเสริมงามเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว หากมีการทำเหมืองแร่บ้านแม่เลียงซึ่งอยู่บริเวณต้นน้ำ สารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาตามลำน้ำแม่เลียงจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำลงมาเป็นทอด ๆ เนื่องจากลำน้ำแม่เลียงมีต้นน้ำไหลมาจากแนวเขาที่แบ่งเขตระหว่างอำเภอเสริมงามกับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน แล้วไหลลงมาบรรจบกับลำน้ำอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบลเสริมขวา ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๋ำซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของอำเภอเสริมงาม เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้มีการทำเหมืองแร่โดยไม่คัดค้านจนถึงที่สุด ผลกระทบดังกล่าวก็จะเหมือนกับการซ้ำเติมปัญหาน้ำของพี่น้องอำเภอเสริมงามด้วย”
ชาวบ้านในพื้นที่อีกคนหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมอีกโดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า “นอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หากพูดถึงผลกระทบทางสาธารณูปโภค เรื่องถนนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบที่ตามมา เพราะเส้นทางขนส่งเหมืองแร่กับเส้นทางสัญจรไปมาของชาวบ้านเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ร่วมกัน แต่ข้อแตกต่างระหว่างบริษัทเหมืองแร่กับชาวบ้านจะอยู่ที่ ถ้ารถบรรทุกของบริษัทเหมืองแร่มีการสัญจรและขนส่งเป็นประจำทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง แล้วผลกระทบที่ตามมา ยกตัวอย่างเช่น เศษวัสดุที่อาจตกลงมายังพื้นถนนตามระหว่างทางได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ถนนหรือไม่ หรือรถบรรทุกที่เกินพิกัดอาจทำให้พื้นผิวถนนทรุดตัวลงเร็วกว่าระยะเวลาการใช้งานที่ควรจะเป็น ทางบริษัทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะวางมาตรการและเตรียมแผนการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร เสียงจากชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญอย่างใส่ใจ และนำไปสู่ทางออกร่วมกันได้”
เชาว์ทวีพัฒน์ ดนัยนันท์ นายอำเภอเสริมงาม กล่าวว่าการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นกระบวนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว ดังนั้น หากความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปในทางคัดค้านแม้แต่คนเดียว ผู้นำทุกระดับตั้งแต่ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปจนถึงนายอำเภอ ย่อมต้องฟังเสียงประชาชน และร่วมกันหาหนทางบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ที่ตนมาในวันนี้เพื่อมารับฟังว่าประชาชนในพื้นที่คิดเห็นอย่างไร แม้ว่าเวทีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะจัดขึ้นโดยภาคประชาชน และหากมีการยื่นหนังสือ ตนก็จะนำเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนให้พิจารณาและหาทางแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยเสวนาและปรึกษาหารือ ภาคประชาชนและชาวบ้านได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านและยื่นหนังสือคต่อผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสุภชัย ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และนายเชาว์ทวีพัฒน์ ดนัยนันท์ นายอำเภอเสริมงาม ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อแสดงเจตนารมณ์และเหตุผลคัดค้านการทำเหมืองแร่พลวงในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่เลียง หมู่ 7 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จากนั้นเป็นการอ่านแถลงการณ์ ความว่า
“คำประกาศเจตนารมณ์ ห้ามหน่วยงานภาครัฐ ที่ปรึกษาบริษัทเหมืองแร่ และหน่วยงานอื่นใดที่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ จัดการประชุมขึ้นในพื้นที่ และคัดค้านการทำเหมืองแร่พลวง บ้านแม่เลียง หมู่ 7 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง”
เนื่องด้วย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ได้ออกประกาศเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดลำปาง เรื่องขอเรียนเชิญเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยบริษัท ทรัพย์ธรณี ล้านนา จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวง ซึ่งเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่รับจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 1/2565 มีเนื้อที่ประมาณ 52 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ตามความทราบแล้วนั้น
บัดนี้ เครือข่ายต่อต้านการทำเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านแม่เลียง บ้านแม่เลียงพัฒนา บ้านแม่ผึ้ง บ้านทุ่งไผ่ และชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง เล็งเห็นว่าการจัดเวทีดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เกิดขั้นตอนในการทำเหมืองแร่ขึ้น อันนำไปสู่ความเดือดร้อนเสียหายและผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ วิถีชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ดังนั้น จึงมีมติห้ามหน่วยงานของรัฐ ที่ปรึกษาบริษัทเหมืองแร่ และหน่วยงานอื่นใดที่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ จัดการประชุมขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันความเดือดร้อนเสียหาย และผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ วิถีชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ประกาศ ณ วันที่ 3 กันยายน 2566
เครือข่ายต่อต้านการทำเหมืองแร่บ้านแม่เลียง”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...