เพราะเฮามีลมหายใจ๋เดียวกั๋น : ประชุมระดับชาติ PM2.5 ครั้งแรกของประเทศ เปิดเวทีถกประเด็น “อากาศสะอาด” หวังผลักดันเชิงนโยบายคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากฝุ่นพิษ

3 ธันวาคม 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ จัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแทบทุกพื้นที่ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการวางแผนรับมือป้องกัน และแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี

“เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. 2567 และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 พบว่า เฉพาะปีนี้ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 9 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพประชาชนชัดเจน สสส. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574)” ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยพลังปัญญา สังคม และนโยบาย

“การประชุมครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันของประเทศร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน วิชาการ ประชาสังคม ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ บูรณาการภายใต้เจตจำนงร่วมกันมุ่งมั่นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในระยะยาว และยั่งยืน” ดร. สุปรีดา กล่าว

ภายในงานจะระดมนวัตกรรมทางสังคม การบริหารจัดการฝุ่นควันไฟป่าร่วมของรัฐ และประชาสังคม คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมจัดการมลพิษอากาศ สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นควันข้ามแดน เพื่อพร้อมรับมือผลกระทบจากมลพิษอากาศ ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ทั้งเทศกาลเพื่อลมหายใจ จัดแสดงงานศิลปะ ละคร สารคดี เวทีเสวนา ดนตรี  Workshop เพื่ออากาศสะอาด นิทรรศการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ บูธสินค้าชุมชนปลอดการเผา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง