นี่ไม่ใช่แค่การบ่น แต่พูดเพื่อไปข้างหน้า ไม่งั้นฝุ่นควันอาจช่วงชิงชีวิต

“หากพูดถึงความ​คืบหน้าในการแแก้ปัญหา​ ไม่ใช่การมาบ่นหรือทำเป็นประเพณีที่พอถึงฤดูหนาวเข้าสู่หน้าแล้ง คนก็มาตั้งวงคุยกันแต่เรื่องฝุ่น เพราะจริง ๆ แล้วการผลักดันเรื่อง PM2.5 ถูกทำมาตลอดทั้งปีและต่อเนื่องหลายปีแล้ว เราเพียงใช้โอกาส​นี้ในการมาพูดคุยเพื่อเน้นย้ำ​ถึงความสำคัญ​ของปัญหา และนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ในระดับของนโยบายของประเทศไปจนถึงงานของภาคประชาสังคม​ที่ร่วมกันจัดทำเพื่อให้เกิดการขยับขับเคลื่อน ให้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์โดยทั่วกัน”

พิสิษฎ์ นาสี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินเสวนาฝุ่นควันภาคเหนือ พูดเปิดประเด็นว่าการพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การมาบ่นแล้วก็จบ แต่มันคือการแถลงความคืบหน้าของทุกภาคส่วนที่คิดและแคร์กับปัญหาฝุ่นควันที่กำลังคืบคลานมาในขณะนี้

27 มกราคม 2567 เวลา 17.00 – 20.00 น. ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้เปิดพื้นที่ในการพูดคุยในประเด็นฝุ่นควันภาคเหนือ พร้อมกับการสื่อสารสาธารณะ ภายใต้งาน “Breath Dust In The Air” ที่ประกอบไปด้วย นิทรรศการศิลปะ และการแสดง Performance Art เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดย ประภัสสร คอนเมือง ที่เริ่มแสดงตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เวลา 19.00 น. จนถึงวันที่ 28 มกราคม

ในส่วนของเสวนาฝุ่นควันภาคเหนือ มีผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วนที่พยายามผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควันในทางที่ถนัดแต่ปลายทางเดียวกัน แน่นอนว่ามันไม่ใช่การย้อนความ แต่คือการช่วยกันมองไปข้างหน้า โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ เขต 1, ศุภเกียรติ เมืองแก้ว สภาลมหายใจเชียงใหม่, วัชลาวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ปิยชัย นาคอ่อน Journer For Air และประภัสสร  คอนเมือง KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย​ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

ความคืบหน้าใต้กลไกรัฐสภา

เพชรรัตน์ ใหม่ชมพู เปิดประเด็นด้วยสถานการณ์ พรบ.อากาศสะอาด และทิศทางการแก้ปัญหาหมอกควันภายใต้กลไกรัฐสภา โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม​ที่ผ่านมา ร่างพรบ.อากาศสะอาดที่เข้าสู่สภา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์​ รับร่างพรบ.ทั้ง 7 ฉบับ ผ่านวาระที่ 1 หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ​ฯ จะพิจารณา​ในวาระที่ 2 เพื่อรวมรายละเอียดจุดเด่น และตัดจุดด้อยของแต่ละร่างที่แตกต่างกันออกไปให้เหลือเป็นร่างเดียวที่เหมาะสมและครอบคลุมที่สุด โดยใช้ร่างที่เสนอโดยครม.เป็นหลัก ซึ่งในขั้นตอนนี้คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 -​ 4 เดือน หากผ่านไปจนถึงการบังคับใช้แล้ว จะทำให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ มีความเป็นรูปธรรม​มากขึ้น

ทั้งนี้เพชรรัตน์ได้อธิบายถึงความแตกต่างของร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ว่ามีความเจาะจงเพิ่มเติมไปที่การก่อมลพิษ​ข้ามพรมแดน​ ที่จะมีการให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อของผู้ประกอบการ​ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง​กับผลผลิตที่มาจากการเผา ให้นายกองค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​ที่มาจากการเลือกตั้ง​เป็นประธานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นระดับจังหวัด เนื่องจากมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ทำให้การบริหาร​จัดการ​สามารถเป็นไปได้​อย่างต่อเนื่อง

นอกจากการดำเนินการเชิงนโนบายที่คลอบคลุมการแก้ปัญหา​ทั้งประเทศแล้ว ในระดับพื้นที่ ภาคประชาสังคมเองก็มีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะการทำงานในส่วนของภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลจากภาคประชาชนเพื่อให้มิติการแก้ปัญหาคลอบคลุมมากขึ้น

ประชาชนชนะคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ศาลปกครองเชียงใหม่สั่งทำแผนภายใน 90 วัน

วัชลาวลี คำบุญเรือง จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)​ พูดถึงกรณีการฟ้องร้องคดีฝุ่นควันภาคเหนือที่ผ่านมาว่าเป็นการเริ่มต้นจากไฟแห่งความโกรธของประชาชนที่ได้พยายามส่งเสียงถึงภาครัฐแล้วแต่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาเสียที โดยมองว่าเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้ภาครัฐตระหนักได้ว่าชีวิตของคนภาคเหนือก็สำคัญเช่นกัน จึงได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี​ที่ขณะนั้นคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์​โอชา​ และคณะกรรมการ​สิ่งแวดล้อม​แห่งชาติ​ ตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 9 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีสภาวะมลพิษ​ที่รุนแรง ทำให้เกิดอันตราย​หรือเสี่ยงภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน​ สุขภาพของประชาชน นายกรัฐมนตรี​มีอำนาจ​สั่งการ​ในการเยียวยา​แก้ไขปัญหา​ ซึ่งกรณีของเชียงใหม่​ยังมีปัญหามลพิษข้ามพรมแดน​ด้วย จึงฟ้องร้องคณะกรรมการ​กำกับหลักทรัพย์​และ​ตลาดหลักทรัพย์​ และคณะกรรมการ​กำกับตลาดหลักทุน เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมาย​ควบคุม​มลพิษ​ข้ามพรมแดน​ แต่หน่วยงานรัฐเหล่านี้​มีหน้าที่ในการควบคุม​บริษัท​ในตลาดหลักทรัพย์​ และปัญหาฝุ่นนี้มีต้นตอจากการเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน จึงหวังว่าการฟ้องร้องนี้จะมีผลให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เปิดเผย​ข้อมูลสินค้าว่าเป็นผลผลิต​ที่มีที่มาจากการเผาหรือไม่

“แม้ว่าบทสรุปของคดีนี้ ผู้ชนะคือประชาชน และการฟ้องร้องคดีอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งเรายังคงต้องรอดูการเคลื่อนไหวจัดการของทางภาครัฐต่อไป เนื่องจากคำพิพากษา​นี้จะบังคับใช้ได้หลังนับไปอีก 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งหากในช่วงระยะเวลานี้ หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้องร้องยื่นอุธรณ์​ต่อศาล ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหายืดเยื้อออกไปอีก”

บทบาทของประชาชนกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ

ศุภเกียรติ เมืองแก้ว จาก สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า “บทบาทของสภาลมหายใจจะเน้นไปที่การผลักดันให้เกิดนโยบายในแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ ขณะนี้ในจังหวัดเชีบงใหม่มีการทำงานอยู่ 2 พื้นที่คือ ภาคพื้นที่ป่า และภาคในเมือง เกิดแล้วคือ คณะกรรมการบริหารจัดการ 7 กลุ่มป่า ที่เกิดไฟป่าซ้ำซากทุกปี โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่รับผิดชอบกลุ่มป่าดอยสุเทพ ส่วนภาคพื้นที่ในเมืองได้มีการผลักดันการลดฝุ่นมลพิษในเมืองโดยการใช้ขนส่งสาธารณะ​ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสื่อสารเพื่อลดอคติ สร้างความเข้าใจระหว่างคนเมืองและคนพื้นที่ป่า ผ่านโครงการ Journer for Air ร่วมกับสำนักข่าว Lanner ที่ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาส่วนร่วมในการสร้างการสื่อสารเพื่อความเข้าใจถึงวิถีชีวิต บทบาทของชาวบ้านพื้นที่ป่าในการบริหารจัดการไฟ และอนุรักษ์​ป่าที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเขา รวมไปถึงสร้างความเข้าใจถึงกลุ่มเปราะบางในเมืองที่ขาดโอกาสในที่อยู่อาศัยที่ดีและปลอดภัยจากฝุ่น” และเพิ่มเติมว่า นอกจากพื้นที่จังหวัด​เชียงใหม่​แล้ว เครือข่ายของสภาลมหายใจเริ่มมีการขยายให้ครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคเหนือ เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดตนเองได้มากขึ้น

ขณะที่ ปิยชัย นาคอ่อน ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากโครงการ Journer for Air ได้เล่าถึงความสำคัญของบทบาทคนรุ่นใหม่ต่อการมีส่วนร่วมเพื่อผลักดัน ขับเคลื่อน และสร้างการตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะ​ต่าง ๆ ผ่านการใช้สื่อในยุคปัจจุบันเป็นเครื่องมือในการ โดยหลังจากการเข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมได้รวมไอเดียและสร้างการสื่อสารออกมาทั้งในรูปแบบบทความ สารคดีเชิงข่าวและวิดีโอข่าว เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการฝุ่นและมลภาวะในพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งสามารถติดตามการเผยแพร่ผลงานได้ที่เว็บไซต์แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Lanner และ สภาลมหายใจเชียงใหม่

ทั้งนี้ปิยชัยยังเพิ่มเติมความคิดเห็นว่าประชาชนทุกคนเองก็สามารถสื่อสารปัญหาฝุ่นควันได้เหมือนกัน เพราะนี่คือปัญหาร่วมกันของเราทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยก

ในช่วงท้าย ประภัสสร  คอนเมือง ศิลปินจาก KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย​ที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ได้พูดถึงการนำศิลปะมาเข้ามาร่วมผลักดันปัญหาฝุ่น โดยกล่าวว่า “ในฐานะศิลปินที่ทำงานศิลปะและไม่สามารถทำในสิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคม หรือหน่วยงาน หรือผู้มีอำนาจในระดับบริหารทำได้ เราไม่ได้มีข้อมูลหรือพลังมากพอที่จะทำเป็นเรื่องเป็นราวเข้าสภาหรือสร้างข้อเรียกร้อง สิ่งเดียวที่เรามีคือ งานศิลปะ ที่เรายังเชื่อว่ามันจะสามารถสร้าง Awareness ให้กับคนในสังคมได้ มันเลยเกิดเป็นงานชิ้นนี้ ภายใต้ชื่อ ‘Breath Dust In The Air’ 24 hour durational performance art ซึ่งเราตั้งใจว่าไม่ใช่แค่ให้คนมาดู แต่ให้พื้นที่เขาได้มามีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการสื่อสารกันทั้งไปและกลับ และช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาฝุ่นควันที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น”

ทั้งนี้ พิสิษฎ์ นาสี ผู้ดำเนินเสวนาได้กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้า การจัดการปัญหาในภาคเหนือและในระดับประเทศ ว่าปัญหาฝุ่นควันไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะคนในเชียงใหม่​และภาคเหนือเพียงอย่างเดียว แต่มันกลายเป็นปัญหา​ระดับชาติ​และนานาชาติ​ ที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ​ การเกษตร​ มาจนถึงความสัมพันธ์​ระหว่างผู้คนที่ภายในประเทศเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง​ระหว่างคนในเมืองและคนบนพื้นที่สูง และลามไปถึงการกล่าวโทษกันระหว่างประเทศ​เพื่อนบ้าน​ การพูดคุยกันในวันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในความคืบหน้าที่เราต้องติดตามกันต่อไป รวมไปถึงภาครัฐเองในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนก็ต้องรีบจัดการให้ทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง