เมษายน 27, 2024

    Gorvernless depression: คนไร้สวัสดิการ

    Share

    เรื่องและภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ผู้เขียนได้ร่วมเดินกับ คุณทราย แอคทวิตเตอร์ชื่อ Thamboon888 โดยเริ่มจากตรอกสาเกไปจนถึง สวนลุมพินี เพื่อสังเกตและช่วยนำของไปแจกให้กับคนไร้บ้านซึ่งตลอดการเดินทางได้มีการ พูดคุยถึงจุดเริ่มต้น ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองถึงอนาคตในการขับเคลื่อนในประเด็นช่วยเหลือคนไร้บ้านของคุณทราย คุณทรายเล่าว่า วิตกกังวลในเส้นทางอนาคตนี้หากนโยบายของภาครัฐยังนิ่งเงียบต่อไปเรื่อย ๆ แต่ยังคงยืนยัน เจตนารมณ์ หนักแน่นที่จะทำช่วยเหลือและเดินทางในสายนี้ต่อไป

    คุณทราย (ซ้าย) แอคทวิตเตอร์ Thamboon888 รับทำข้าวกล่อง ร่วมโปรเจคทำบุญลงพื้นที่ แจกข้าว ของใช้ต่าง ๆ แก่กลุ่มคนไร้บ้านทั่วราชอาณาจักร กทม. /ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ในขณะที่สังคมทุนนิยมดัดจริตยังคงหมุนเวียน ผู้เขียนเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับโลกของคนไร้บ้านรวมไปถึงเรื่องของภาวะซึมเศร้า ใคร่สงสัยอยากรู้ว่าเขาจะออกจากภวังค์เหล่านี้ได้อย่างไรกัน หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสวัสดิการในการเยียวยารักษาจากทางภาครัฐก็ตาม แน่นอนว่าหากทิ้งระยะเป็นเวลานาน ภาวะซึมเศร้าก็สามารถเป็น โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว ‘โรคซึมเศร้า’ จึงไม่ได้เพียงแต่เป็นเฉพาะแค่ในหมู่ชนชั้นกลาง แต่มันเกิดขึ้นได้กับคนทุกกลุ่มในสังคม

    อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้อยากให้งานที่ผลิตชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำของวาทกรรมโรแมนติไซส์ความยากจน (romanticizing the poverty) และประเด็นอื่น ๆ ที่จะตามมาทีหลัง แต่อยากนำเสนอผ่านมุมมองและเสียงของคนไร้บ้าน และบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเขาไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม (NGOs) หรืออาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งกรณีนี้ยกเป็นคุณทราย แอคทวิตเตอร์ที่ลงพื้นที่ไปแจกข้าวและของใช้ต่าง ๆ ให้กับคนไร้บ้าน 

    ลุงชัย (นามสมมุติ) วัย 71 ปี อดีตทหารเกณฑ์เก่าที่สูญเสียทรัพย์สินจากการโดนโกงรวมถึงเคยตัดสินใจที่จะปลิดชีวิตตนเองลง /ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    อิสระที่ผมจะเลือก

    ชายวัยชรา รูปร่างผอม สวมเสื้อผ้าโคร่ง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้านอนหันมายิ้มแย้มดีใจที่ได้เจอคุณทรายอีกครั้ง คุณทรายได้แนะนำผู้เขียนให้ลุงชัย (นามสมมุติ) วัย 71 ปี ผู้ซึ่งเป็นอดีตทหารเกณฑ์เก่า ที่สูญเสียทรัพย์สินจากการโดนโกงรวมถึงเคยตัดสินใจที่ต้องการจะปลิดชีวิตตนเองลงได้รู้จัก และเริ่มพูดคุยกับลุงชัยในเรื่องของการเลือกที่อยู่อาศัยและมุมมองการอยู่ที่พักภายใต้สังกัดของบ้านสังคมสงเคราะห์ 

    “ผมอยากมีอิสระที่จะเลือกนอน ถ้าไปตรงนั้นอิสระของผมจะหายไป การอยู่ภายใต้บ้านสังคมสงเคราะห์ไม่ต่างจาก คุก ยังไม่รวมถึงการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ที่มีมุมมองต่อคนไร้บ้าน”

    ประโยคลุงชัยได้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงข้อความของบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากล่าวไว้ว่า

    “คนก็เข้าใจใหม่ว่าวิธีการที่จะจับคนไร้บ้านเข้าสถานสงเคราะห์เป็นวิธีการที่คนไร้บ้านไม่ชอบเลย ซึ่งสมัยก่อนไม่มีใครเข้าใจ คนคิดว่าก็ไปอยู่สิ มีที่อยู่ทำไมไม่ยอมอยู่ แต่ผมเป็นคนแรกๆ ที่พูดว่า เขาไม่อยากอยู่ เขาต้องการดำรงชีวิตอิสระ

    ในบทสัมภาษณ์บทเรียนชีวิตข้างถนน บุญเลิศ วิเศษปรีชาได้ทดลองใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 14 เดือน เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับคนไร้บ้านก็พบว่าคนไร้บ้านยังคงสะท้อนความกังวลในเรื่องของการทำงานของรัฐไม่แปรเปลี่ยนไปจากข้อความข้างต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วเท่าใดนัก…

    ผมไม่เป็นไร ผม “โอเค” 

    มีอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดคือ ‘ไม้ค้ำ’ ที่วางโดดเด่นผูกไว้เสมือนเป็นของที่คอยอยู่ข้างกายลุงชัยเสมอ ผู้เขียนมองอย่างครุ่นคิดและถามคำถามในเรื่องของบาดแผลทางจิตใจที่ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Trauma) จากเหตุการณ์โดนโกงทำให้หมดเนื้อประดาตัวและสุขภาพการเข้ารับบริการรักษาจากทางโรงพยาบาล

    “ถ้าผมป่วย ผมเลือกที่จะนอนและปล่อยให้อาการหายไปเอง ไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะผมไม่ชอบในเรื่องระบบการยืนยันตัวตนของหน่วยงานภาครัฐ การทำงานที่ทับซ้อนไม่เป็นระบบ รวมไปถึงอคติของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาล”“ทุกวันนี้ที่ผมอยู่ที่นี้ผมก็ใช้ชีวิตอยู่ไปเรื่อย ๆ ถ้าอาการป่วยหายเองได้ก็ดี ถ้าไม่หายก็ต้องปล่อยไปตามนั้น ส่วนในเรื่องที่ถามว่าเศร้าไหม ผมไม่เศร้านะความจริงที่ผมก็พึ่งรู้คือ พระเทพเขารู้เรื่องราวของผมผ่าน GPS ท่านค่อยดูจากจานดาวเทียมข้างใน ทำให้สามารถทราบได้ว่าผมนอนอยู่ที่ไหน ผมก็เลยรู้ว่าท่านก็เป็นห่วงผมเหมือนกัน เพราะจะมีรถขับยนต์ส่วนพระองค์ขับจอดผ่านไปผ่านมาเพื่อมาดูผมตลอด ซึ่งมันเกิดจากความผูกพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อกันมา”

    สาว (นามสมมุติ) /ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    จากเวียงจันทร์สู่เมืองกรุง ร่องรอยที่เห็น ยังห่างไกลความจริงที่เป็น

    สาว (นามสมมุติ) วัย 35 ปี หนึ่งใน LGBTQAI+ ที่อาศัยอยู่ในย่านหัวลำโพง เล่าว่าตนเป็นสาวเวียงจันทร์ เข้ามาทำงานหาเงินในกรุงเทพฯ ทำงานได้สักระยะหนึ่งโดนปล้นโดนโกงเงินหมดตัว ตนไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใครในเวลานั้น แต่โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากแฟนหนุ่มชาวต่างชาติในการช่วยประสานดำเนินเรื่องให้ 

    “เรื่องของเราก่อนหน้านี้ เรามีการแจ้งความในประเด็นโดนปล้นแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ โชคดีมากที่ได้แฟนต่างชาติเข้ามาช่วยไว้ ปัจจุบันนี้ก็เลยรอเรื่องดำเนินคดีอยู่ซึ่งถ้าเคลียร์เสร็จหมด ก็จะไปอยู่กับแฟนที่ต่างประเทศแล้ว จะไปแต่งงานกับเขาและมีลูกเพราะเขาอยากมี” 

    ภายใต้ผ้าคลุมหน้าเห็นรอยช้ำม่วงเขียวบวมตรงบริเวณตาข้างขวาของสาวที่เด่นชัด ใจหนึ่งไม่กล้าถามว่าสาเหตุของบาดแผลมาจากอะไร อาจจะเพราะสีหน้าของผู้เขียนแสดงออกชัดเจนท่าทีที่อยากกรู้อยากเห็น ทำให้สาวเปิดประเด็นและอนุญาตให้ถามถึงเหตุการณ์นั้นได้

    สาวเล่าว่า เขารับเครื่องดื่มแอลฮอล์มา (ไม่ได้บอกว่าระบุว่ารับมาจากใคร) ปรกติเป็นคนดื่มเก่งมากคนหนึ่งเลยทีเดียว แต่ในครั้งนั้นเมาหลับไปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รู้สึกตัวอีกทีตื่นขึ้นมาเห็นหน้าตนเองก็เห็นรอยฟกช้ำดำเขียวตาบวมไปแล้ว

    หลังจากที่ฟังจนจบ ผู้เขียนเริ่มสังเกตบริเวณย่านหัวลำโพงว่ามีกล้องวงจรปิดสักตัวไหม ผลคือไม่มีกล้องวงจรปิดเลย คนไร้บ้านที่อยู่แถวนี้หากเกิดเหตุอันตรายจะทำอย่างไร จะสามารถป้องกันตัวและรักษาสิทธิไปแจ้งความกับตำรวจได้อย่างไรหากไม่มีหลักฐาน สาวสูบบุหรี่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นความปลอดภัย

    “ไม่แจ้งความกับตำรวจหรอก แจ้งไปก็ไม่มีอะไรขึ้นมาในเชิงของการดำเนินคดี เขามองว่าเราเป็นคนไร้บ้าน อีกอย่างหนึ่งเราเคยมีประวัติในกระทรวงยุติธรรมหลัก 4 ที่แฟนชาวต่างชาติได้ช่วยดำเนินเรื่องให้แล้ว และแฟนชาวต่างชาติได้ทำเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะฉายบนจานไม่ต้องใช้กล้อง ระบบจะดึงข้อมูลมาเอง เลยไม่ต้องแจ้งกับตำรวจแล้วที่เหลือกระทรวงยุติธรรมจะเป็นคนจัดการทั้งหมด เพราะมันผ่านระบบเรียลลิตี้ทั้งหมดแล้ว ก็เลยปล่อยมันไม่ซีเรียสอะไร” 

    ใกล้ แต่เหมือนไกล

    หลังจากที่สาวได้ตอบคำถามของผู้เขียนจบลงก็สูบบุหรี่ต่อด้วยท่าทีที่สงบและหันไปมองกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านที่จับกลุ่มคุยกับคุณทรายใกล้ ๆ บริเวณจอดรถอยู่เนือง ๆ ผู้เขียนเรียกสาวอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำไปสู่คำถามในเรื่องประเด็นการรับบริการรักษาในโรงพยาบาล

    “จริง ๆ ถ้าเราป่วย เราก็เดินไปโรงพยาบาลเพื่อใช้สิทธิของเรานะ” 

    ผู้เขียนย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่ลงมาแจกข้าวกับคุณทรายวันแรก ๆ น่ามหัศจรรย์มากที่รถยนต์ของทรายเสมือนเป็นกระเป๋าโดราเอมอนเลยก็ว่าได้ อยากได้อะไรก็หาเจอ ข้าวกล่อง น้ำ ขนม สมุดระบายสี ยากันยุง ถุงยางอนามัย และอีกไอเทมยอดฮิตหนึ่งคือ ยาระงับอาการปวด ที่คนไร้บ้านทุกคนต้องการ

    แสงศิริ ตรีมรรคา (ตุ้ย) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ Aids Access Foundation หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายรัฐสวัสดิการ

    คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการรักษาในโรงพยาบาลไหม?

    “ถ้าในตอนนี้ก็ยังมีข้อปัญหานะในประเด็นหลักประกันสุขภาพน่ะ เพราะว่าถูกบัญญัติกฤษฎีกาว่า “ต้องรักษาคนไทยเท่านั้น” กรณี คนไร้สิทธิอย่าง เช่น คนไร้บ้าน เขาออกมาจากบ้านมานานแล้ว ไม่มี ID เลขบัตรประชาชน 13 หลัก หาตัวตนไม่ได้ซึ่งพอเขาพูดแบบนี้ปุ๊บ มันเลยทำให้เขาเอาบัตรประชาชนเป็นตัวตั้ง  ดังนั้นแล้วตอนนี้ในประเด็นของการเข้าถึงสุขภาพของ คนไร้บ้านที่ไร้บัตรประชาชนก็จะลำบาก” 

    ตุ้ย-แสงศิริ ตรีมรรคา อธิบายว่า ปัจจุบันนี้ใช้วิธีการผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขมีกองทุนเรียกว่า “กองทุนคืนสิทธิ” คนที่อยู่ในระหว่างขอสัญญาที่ไม่รู้ว่าต้องยืนยันตัวตนยังไง กองทุนนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานสปสช. ได้พยายามผลักดันพาคนที่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์ สัญชาติไปตรวจ DNA โดยทำงานร่วมกับมหาดไทย หากคนไร้บ้านที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานสังคมสงเคราะห์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะทำเรื่องขออนุเคราะห์กับทางโรงพยาบาลได้ แต่ถ้าในกรณีคนไร้บ้านไม่ได้อยู่ในสังกัดการดูแลของหน่วยงานใดเลย และไร้บัตรประชาชนเดินเข้าไปรับบริการรักษาก็จะต้องเสียเงินเอง แต่ก็มีหลายโรงพยาบาลถ้าคนไม่มีบัตร เข้าไปรับบริการรักษาแล้วมีความจำเป็นโรงพยาบาลก็รักษาและถือเป็นเรื่องสงเคราะห์ ซึ่งถ้าคนไร้บ้าน ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ก็จะลำบากเหมือนกัน

    “แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็จะกลายเป็นว่าคนไร้บ้าน ต้องเข้าสู่กระบวนการยืนยันสัญญา ถ้าคนไหนยืนยันได้ แต่บัตรประชาชนหายไปก็จะไม่ลำบากเท่าไร แต่ในกรณีที่ไม่มีบัตรประชาชนอยู่คนเดียว ไม่มีสังกัดหน่วยงาน และไม่ทราบข้อมูลที่พูดไปก่อนหน้านี้ นั้นล่ะจะยากล่ะ”

    แสงศิริ ตรีมรรคา (ตุ้ย) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ Aids Access Foundation หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายรัฐสวัสดิการ

    สวัสดิการสุขภาพครอบคลุมรักษาโรคจิตเวชด้วยไหม?

    “สวัสดิการสุขภาพค่อนข้างที่จะครอบคลุมแต่มีเงื่อนไขบางอย่างด้วยเช่นกัน เพราะประเภทของจิตเวชมีหลากหลายแบบ คนไข้เคสโรคจิตเวชแต่ล่ะคนอาการไม่เหมือนกันถึงแม้ว่าจะเป็นประเภทจิตเวชเดียวกันก็ตาม ดังนั้นแล้วการจ่ายยาของคนไข้จิตเวชจึงมีหลายชนิดเพื่อที่จะสามารถปรับให้เข้ากับอาการของคนไข้”

    แสงศิริเสริมต่อว่าปัญหาต่อมาคือยาบางชนิดไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักตามประกันสุขภาพ ถ้าวงในเขาจะใช้คำว่า ‘ยาใหม่’ เป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาที่จะใช้ตามมาตรฐานของการรักษา ซึ่งถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าต้องใช้ยาตัวนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักตามประกันสุขภาพ แต่ยังไงก็ต้องจ่ายยา ซึ่งก็จะเจอบางเคสโรงพยาบาลจะเห็นว่าเขามาบอกให้เราต้องเป็นคนจ่ายเอง สิ่งที่เราต้องยืนยันในฐานะของคนไข้ คือ แจ้งบอกกับทางโรงพยาบาลว่าหมอวินิจฉัยต้องใช้ยาดังกล่าว เรามีสิทธิที่จะไม่จ่ายได้

    “ถ้าในระบบประกันจะมีในส่วนของรับเรื่องให้โทรไป 1330 เพื่อให้เป็นคนเจรจาต่อรองกับทางโรงพยาบาลกรณีที่เราไม่จ่าย แต่ก็ยังเป็นปัญหาเพราะหลายคนไม่รู้ข้อมูล ถ้าทางโรงพยาบาลหรือหมอบอกให้จ่ายยาเราก็จ่ายไป ปัญหาก็จะเป็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจระหว่างหมอกับคนไข้ด้วย”

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ความยาก – ง่ายในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของคนไร้บ้าน (Homeless) ในเคสจิตเวชมีประเด็นใดบ้าง?

    “อืม… มันก็ซับซ้อนนะ ถ้าเป็นคนไร้บ้านที่ป่วยเคสจิตเวชด้วย เขาต้องได้รับการดูแลในแง่มุม หลากหลายมิติเลยนะ อย่างที่บอกว่าอาการจิตเวชเองก็มีหลายแบบ ที่นี่ในมุมมองของเองคนไร้บ้าน จำนวนมากคิดว่าเขาไม่ได้มีครอบครัวหรือคนที่ช่วยดูแลเขากรณีที่อยู่คนเดียวอ่ะนะ แต่ถ้าอยู่ ในเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พอดูแลถูไถกันได้อยู่ ความยากต่อมาจะเป็นในเรื่องของ การเข้าถึงระบบ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินได้รับบริการที่ดีก็จะยากอีก ถ้าไม่มีบัตรประชาชน” 

    จากบทสัมภาษณ์ที่ได้พูดคุยกับแสงศิริ ตรีมรรคา ไปในประเด็นของการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิการรับบริการรักษาของโรคจิตในกรณีของคนไร้บ้านที่ไร้บัตรประชาชนจะมีทิศทางเป็นไรแล้วอีกประเด็นที่สำคัญคือ ยาจิตเวช มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากถึง 21% ของรายได้ของประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อคิดอัตราส่วนของประชากรผู้ไม่มีรายได้ 15.2% ประชากรในส่วนนี้นั้นแสดงให้เห็นถึงความยากที่จะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง รวมถึงในประเทศไทยกลับให้ประเด็นของงานในด้านสุขภาพน้อย เมื่อเทียบกับอัตราคนที่ใช้บริการและอยู่ในระบบการรักษา มันจึงแสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกมากที่โดนทำให้กลายเป็น “คนชายขอบ” ที่เข้าไม่ถึงสิทธิการรับบริการ รวมถึงอัตราการจ้างงานของบุคคลากรทางด้านจิตเวช, นักจิตวิทยา ฯลฯ ในไทยมีจำนวน 1.89% ของจำนวนประชากร 1 แสนคน

    เสียงของรัฐ

    สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้น

    ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ กุลยา พงษ์เจริญ และคุณภิรญา จารุโชคนภธร ว่า พม. มีส่วนในการช่วยเหลือ จัดระเบียบ หรือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มคนไร้บ้านหรือไม่ อย่างไร?

    กุลยา พงษ์เจริญ เล่าว่า ในส่วนของพม. ในประเด็นของคนไร้บ้านที่ทำอยู่จะเป็นการชวนให้เข้ามารับการคุ้มครองที่รัฐเป็นคนจัดให้โดยทั้งนี้จะยึดเอาตามความสมัครใจของปัจเจกซึ่งก็คือคนไร้บ้านเป็นหลัก และมีบริการปัจจัย 4 ครอบคลุมรวมทั้งมีบริการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำด้านสิทธิต่าง ๆ ที่เขาควรจะได้รับ การจัดสรรหางาน การส่งกลับภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนถึงหาแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจิตเวชดูแลฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับสู่สังคมได้

    “ปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางกลุ่ม/คน ที่ยังไม่สามารถส่งกลับสู่สังคมได้มาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของเขาที่ยังไม่พร้อมกลับเข้าสู่สังคมและประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าสู่สังคมการทำงาน การหาเงิน การดูแลตนเอง ฯลฯ”

    คนไร้บ้านบางคนไม่มีเอกสารในการยืนยันตน เช่น บัตรประชาชน ทาง พม. มีความคิดเห็นอย่างไร ในส่วนของเรื่องนี้ และมีแนวโน้มจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

    กุลยา ได้สะท้อนในส่วนของ พม. ว่าคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก ไม่มีตัวตนในระบบทะเบียนราษฎร ไม่มีทะเบียนบ้านรองรับหรือกรณีที่คนไร้บ้านพกบัตรประชาชนไว้แต่ไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการสาธารณาสุขได้เนื่องจากขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ไกลจากละแวกพัก รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ด้อยโอกาสอื่น ๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพจากรัฐได้เนื่องจากต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสิทธิ และนอกจากนี้งบประมาณที่ภาครัฐนำมาจัดทำระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ล่ะปีนั้น ก็ไม่สามารถจัดสรรบริการให้แก่ประชาชนทุกคนได้อย่างทั่วถึงเช่นกัน

    ทั้งนี้ทั้งนั้นมีแนวทางแก้ไขอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือ ระดับนโยบายภาครัฐ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยสร้างระบบข้อมูลและกำหนดระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีของคนไทยไร้สิทธิ ซึ่งข้อมูลจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสปสช. ต่อมาคือ ระบบลงทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสิทธิสถานะ โดยเฉพาะในแผนกสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะถูกบันทึกลงในระบบที่เข้าถึงได้โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทในการดึงคนไทยที่ไร้สิทธิเข้าสู่สวัสดิการอีกที เมื่อลงทะเบียนแล้วก็ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยายาบาลจากกองทุน เมื่อลงทะเบียนก็จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยายาลจากกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิในระหว่างที่กำลังรอพิสูจน์สถานะโดยการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) และการสืบค้นหลักฐานยืนยันประวัติชีวิตจะได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงคณะทำงานด้านกฎหมายสิทธิสถานะสำหรับ กระบวนการพิสูจน์สถานะ และจะต้องสามารถสืบค้นข้อมูลและจัดส่งเอกสารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อที่จะลดขั้นตอนในการต้องเดินทางไปมาเพื่อดำเนินการผ่านเอกสารฉบับจริง ระดับที่ 2 ระดับท้องที่ จะอาศัยหน่วย งานภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่ทำในประเด็นงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องสำหรับทดลองกลไกประกอบด้วย สงขลา ตรัง กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ซึ่งภายใน 6 จังหวัดที่ถูกเลือก เครือข่ายที่ดูแลคนไทยไร้สิทธิ ในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานเคียงคู่ไปกับโรงพยาบาล หน่วยทะเบียน ขององค์การปกครองท้องถิ่น และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อที่หน่วยงานและแกนนำชุมชนจะได้มีแนวทาง ในการผลักดันสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และสามารถให้ความช่วยเหลือบุคคลที่กำลังเผชิญปัญหานี้ในท้องที่ตัวเองได้  ซึ่งในระยะ 2 – 3 ปี ให้หลังมานี้ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นในการรับประชาชนเข้ามาสู่ ในระบบเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    บทสรุป

    อดคิดไม่ได้จริง ๆ ว่าในท้ายที่สุดของการผลักเพดานช่วยเหลือ คนไร้บ้าน กรณีที่เป็นเคสจิตเวชที่ไร้สังกัด เราสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนหรือทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเขาวงกตที่คอยผลิตคนอย่างผู้เขียน และคุณทรายขึ้นมาไม่รู้จักจบสิ้น เพราะในความจริงสิ่งที่ทำได้มันดูเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น การรับรู้ตัวตนของเขาผ่านการรับฟัง การสร้างพื้นที่ และการกระจายเสียงของเขาให้ดังขึ้น ซึ่งไม่รู้เลยว่าจะมีใครสนใจมากน้อยแค่ไหน 

    แต่ในสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็น ข่าวที่ผู้เขียนกำลังสื่อสารออกมานี้ งานวิชาการหรือหนังสือในประเด็นของคนไร้บ้านที่มีเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ไม่มากก็น้อยก็หวังเป็นอย่างยิ่งสุดซึ้งกินใจที่จะให้ประเด็นของ คนไร้บ้าน ได้มีคนหยิบขึ้นมาถกเถียงตั้งคำถาม ที่หลากหลายมิติและกว้างมากขึ้น ไม่โดดเดียวเดี่ยวดายกลืนไปกับความเงียบเหงาเพียงลำพัง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ที่ซึ่งเคยงอกงามผลิบานไปด้วยประชาธิปไตย


    อ้างอิง


    ภัทรภร ผ่องอำไพ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...