พฤษภาคม 12, 2024

    Raise In Peace: เมื่อความตาย “พูดได้” ร้องขอไม่ได้!

    Share

    เรื่องและภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ทำไมความตาย จึงกลายเป็นมิติที่พูดในชีวิตประจำวันได้น้อยมาก และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องชวนแสนเศร้าหมองหม่น

    “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”

    วงจรวิถีชีวิตที่กล่าวได้ว่าอย่างไรเสียก็หนีห่างไม่ได้ จึงต้องมีการวางแผนครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่าง “คุ้มค่า” ตั้งแต่เกิดไปจนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไฉน ความตาย ถึงไม่แม้จะกล่าวถึง ?

    เมื่อการเกิดไม่สามารถเลือกได้ด้วยตนเอง ขอใช้สิทธิ์ที่จะ “เลือกตาย” เองได้หรือไม่ ? แล้วถ้าหากว่าสามารถเข้าถึงการการุณยฆาต (Euthanasia) ได้จะเป็นเช่นไร ?

    สนทนาไปกับอาจารย์ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา ที่จะมาเล่าประเด็นมิติต่าง ๆ ของความตายที่ร้อยเรียงยึดโยงเชื่อมกัน แต่ไม่อาจนิยมที่จะกล่าวถึงในวิถีชีวิตประจำวันได้ อันเนื่องจากความตายถูกทำให้ “แยกส่วน” จากผู้คนในยุคปัจจุบัน

    อาจารย์ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ทําไมประเด็น “ความตาย” จึงไม่เป็นที่กล่าวถึงในชีวิตประจำวัน?

    เหตุผลแรก เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่จะกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับ “ความตาย” มันจึงเป็นรูปธรรมมากเมื่อเทียบกับที่เราต้องเผชิญ และเมื่อมันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันที่จะคาดเดาได้ ความกลัวจึงเกิดขึ้นเราจึงไม่อยากจะพูดถึง แต่หากสังเกตเห็นในอดีตเมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วผู้คนยังยอมรับและพูดถึงความตายได้มากกว่า 

    “ปัจจุบันแม้แต่คนที่รักหมดลมหายใจเราก็ไม่รู้แล้วว่าเขาเอาร่างคนที่เรารักไปทําอะไร อยู่ที่ไหน รู้ตัวอีกทีก็อยู่บรรจุอยู่ในโลง แล้วก็มานั่งฟังสวดแล้วก็เผาไปมันเหมือนกับความผูกพัน (Bond) ทั้งหมดที่เรามีต่อคนที่เรารักถูกตัดไปหมดสิ้น แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกอะไรเลย แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากลไกในสังคมมันแยบยลมากในการทําให้ความตายถูกมองเห็นได้น้อยลง เรามีโอกาสสัมผัสความตายของคนใกล้ชิดเราน้อยลงมาก”

    เหตุผลที่สอง คือ สภาวะทางสังคมในชีวิตประจำวันเป็นกลไกที่แยกเราออกมาอย่างแยบยลโดยที่ไม่ทันตั้งตัว ผู้คนถูกบีบคั้นด้วยแรงเศรษฐกิจที่ต้องมุ่งตรงไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะเสียเวลาย้อนหลังหรือแม้กระทั่งในยุคที่มีความเป็นเมือง เพราะคนตายดูเสมือนเป็นเรื่องที่ไม่มีค่า (Value) เมื่อเทียบกับความเป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนา (Develop) อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแล้วจึงเห็นมิติที่ซับซ้อนมากขึ้นในประเด็นความตายที่ถูกกดทับและถูกปิดไว้ 

    “มันจึงซับซ้อนเพราะว่ามีทั้งกลไกทาง ทุนนิยม คล้ายกับ Organizers เมื่อตายแล้วมาหาเราสิ เดี๋ยวเราจัดการให้ทุกอย่าง ทําให้ความตายมองถูกทำให้ไม่เป็นที่มองเห็นเป็นจํานวนมาก ฉะนั้นจึงเป็นสองกลไกสําคัญที่ทําให้เราไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเรื่องตายหรือว่าอยากจะพูดก็ไม่รู้จะพูดกับใคร”

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    เมื่อการุณยฆาต (Euthanasia) เป็นหนึ่งในวิธีการร่นระยะเวลาความตาย ไฉนถึงไม่มีการกล่าวถึงหรือผลักดันในประเด็นนี้ ?

    อาจารย์ ภาวิกา ครุ่นคิดกับคำถามอยู่ครู่นึงก่อนที่เธอจะกล่าว “จริง ๆ แล้วสังคมไทยเราก็พูดประเด็นนี้อยู่นะ เพียงแต่ว่าไม่ได้พูดเป็นคำว่า การุณยฆาต (Euthanasia) ออกมาโดยตรง เพียงแต่วิธีการสื่อสาร (Communication) มันแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ บริบทต่าง ๆ  แต่เนื้อแท้แก่นของมันก็คือการพูดในประเด็นความตายนั่นล่ะ”  

    ในส่วนประเด็นการผลักดันที่ถามว่าทำไมถึงเคลื่อนไม่ได้ ไม่มีพื้นที่…

    ประเด็นหนึ่งคือ การุณยฆาต มีความเปราะบาง มีความไปแตะกับประเด็น “ศีลธรรม จริยธรรม” มันมีความขัดแย้งกับหลักศาสนาแนวคิดแบบพุทธ เพราะมันเลี่ยงไม่ได้ว่ามันเป็น การฆ่า ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการฆ่าชีวิตตนเองก็ตาม เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่มีความหมิ่นเหม่ศีลธรรม จริยธรรมสูงมาก 

    “ซึ่งมันก็เกิดขั้วการปะทะกันของกลุ่มคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่า สิ่งที่เขาต้องเผชิญที่ผ่านมาทุกข์ทรมานมาก (Suffering) และมันเป็นเรื่องของความทุกข์ที่เรียลมาก ๆ ในประเด็นนี้ทำไมถึงนำมาพูดไม่ได้”

    ส่วนประเด็นต่อมาคือ การเติบโตในประเด็นเรื่องสิทธิ ไม่ใช่เฉพาะสิทธิ์ในเรื่องความตายนะ ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าสังคมไทยมีการตื่นตัว (Wake up) เรื่องสิทธิเยอะมาก ๆ เช่น การสมรสเพศเดียวกัน การครอบครองที่ดิน สิทธิชุมนุม ฯลฯ แต่พอเป็นมันเรื่องของความตาย มันมีขอบเขต (Border line) พอมาถกเถียงประเด็นนี้จริงจังในด้านศีลธรรมกับสิทธิ ไม่มีใครกล้าฟันธงได้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นบาปหรือไม่ มันก็จะเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Dilemma) ทางศีลธรรมขึ้นมาอีก แต่ในท้ายที่สุดมันก็ต้องบีบคั้นให้เราต้องพูดอยู่ดี ซึ่งอีกหน่อยเราก็ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมผู้สูงวัยไม่ว่าจะเป็นการอยู่คนเดียว การแก่ตัวลง การตายอย่างเดียวดาย อยากให้มองไปในประเด็นระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐมากกว่า ที่มันไม่ได้มีกลไกสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ที่ในอนาคตที่เราจะต้องเผชิญ

    อาจารย์ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    เช่นนั้นแล้ว สามารถสรุปออกมาได้หรือไม่ว่าเห็นด้วยกับการการุณยฆาต?

    “อื้ม… โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้หมายถึงว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย” เธอกล่าว 

    เพียงแต่ว่าประเด็นนี้ควรจะมีพื้นที่ในการหยิบขึ้นมาพูดในที่แสงส่องถึง เพื่อให้เกิดพื้นที่สำหรับพูดคุยและถกเถียงกันมากขึ้น เพราะการ การุณยฆาต (Euthanasia) เป็นเพียงแค่ทางเลือกทางหนึ่งเท่านั้น 

    “ไม่มีใครที่จะกำหนดหรือเป็นคนบอกได้ว่าเขาคนนั้นควรที่จะตายหรือไม่ ร่างกายเป็นของเขา ความเจ็บปวดเป็นของเขาคนอื่นมีสิทธิ์อะไรที่จะไปบอกว่าเขาควรที่จะหยุดรับความทรมานต่อไป และการ การุณยฆาต นั้นควรจะเป็นการคัดกรองอย่างที่สุดแล้ว และยืนยันด้วยเจ้าของชีวิตแล้วว่าต้องการรับการการุณยฆาต ซึ่งไม่ใช่ใครก็ได้ที่ควรเข้ารับ”

    “เพราะความเจ็บปวดไม่ได้มีเพียงแต่ กายภาพ เท่านั้น แต่มีในเรื่องของสภาวะจิตใจหรือประเด็นของความป่วยไข้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเภทต่างๆ ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญกับมันโดยตลอดหรือแม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จ (Achieve) ทุกอย่างไม่มีห่วงหรือใด ๆ ต่อไป กลไกการเยียวยารักษาก่อนเข้ารับการุณยฆาตจึงเป็นสิ่งที่พึงต้องร้องขอและสามารถทำได้.”

    อาจารย์ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ดังนั้นหากถามว่าเราควรจะพูดเรื่องการการุณยฆาตมั้ย? 

    “แน่นอนว่า ควร”

    “เพราะว่าเราต้องมีสถานการณ์หลากหลายที่ต้องเผชิญอีกมากมาย อย่างที่ย้ำตลอดว่า การการุณยฆาต (Euthanasia) ไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเลือกเดียว แต่เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือก มันไม่สามารถไปตอบโจทย์ทุกโจทย์ได้ เพราะในหลาย ๆ โจทย์มันอาจจะยังคงเข้าท่า (Make sense) มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ อาจจะมีทางเลือกอื่น ๆ อย่างการเยียวยารักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจจะเข้ามาตอบโจทย์ในหลาย ๆ โจทย์ได้เช่นกัน และเมื่อมีทางเลือกหลาย ๆ ทาง คนก็อาจจะไม่มองไปถึงการการุณยฆาตก็ได้.”

    เมื่อความย้อนแย้งของศาสนากล่าวถึงเรื่อง “การดับสูญ” แต่เมื่อมีคนตัดสินใจจบชีวิตลงกลับตีตราว่าเป็น “คนบาป”

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    เมื่อสักครู่อาจารย์ได้มีการเกริ่นในประเด็นความหมิ่นเหม่ศีลธรรม จริยธรรม และศาสนาที่ทำให้พูดในประเด็นการการุณยฆาต (Euthanasia) เสียงดังไม่ได้ ซึ่งตรงกับคำถามนี้ที่จะถามอาจารย์ ภาวิกา อย่างพอดิบพอดีว่ามีความคิดเห็นอย่างไร?

    อาจารย์ ภาวิกา หัวเราะอยู่ครู่นึง ก่อนที่เธอจะกล่าวออกมาอย่างขัดเขิน “เป็นคำถามที่ยากพอสมควร เพราะเราเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน และส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้ศึกษาในประเด็นศาสนามาลึกพอ จึงอยากจะเน้นย้ำมาก ๆ ว่าขอตอบเป็นในแง่ของความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่ใครใคร่นำบทความไปอ่านต่อสามารถที่จะแลกเปลี่ยนชวนคิดและหาคำตอบ มุมมอง ต่าง ๆ กันได้” 

    โดยแก่นแท้ของศาสนาพุทธ มันปรับเข้ากับยุคสมัย (Applicable) หมายความว่า มันไม่ได้ถูกจำกัดโดยกาลเวลา มันจึงมีความงดงามเป็นที่เคารพ ที่แม้กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป แต่แก่นเนื้อของคำสอนยังคงทันสมัยอยู่เสมอ แต่ของบางอย่างเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสังคมไทยชอบเติมลูกเล่น (Gimmick) เข้าไป  

    “จนเราก็ไม่รู้ว่าอันไหนคือแก่นจริง ๆ กันแน่?” 

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    “เพราะฉะนั้นพี่ก็ไม่กล้าพูดหรอกว่า อันนี้คือแก่นของศาสนา แต่เข้าใจว่าถ้าตอบให้โยงที่สุด ๆ มันก็เป็นไปได้นะว่าการฆ่ามันเป็นเรื่องผิด ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ยิ่งในสังคมที่มีความซับซ้อนมาก ๆ สิ่งที่คนกลัวกันก็คือ การฆ่าแฝงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นการเปิดช่องให้การตายของใครสักคน ถูกทำให้กลายเป็นการตายในกรอบที่ถูกต้องก็ได้”

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    ในแง่ของความตาย (การตายดี) จึงกล่าวได้ว่ามี “ต้นทุนและราคา” ในการเข้าถึง ประชาชนทุกชนชั้น จะสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิต เข้าถึงการตายที่ตนเป็นคนเลือกเองได้อย่างไร?

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    “อืม…” เธอครุ่นคิดอย่างหนัก มือเท้าคางพลางคิ้วขมวดอยู่ครู่นึง เพื่อกำลังทบทวนคำถามก่อนที่จะเอ่ยสั้น ๆ ว่า

    “ถ้าต้นทุนและราคา ที่กล่าวหมายถึง กลุ่มคนเปราะบาง (Vulnerable Group) หรือกลุ่มคนที่ต้องดิ้นรน (Survival) จริง ๆ ภาครัฐก็ไม่ถึงกับไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เขาอาจจะถือว่ามันไม่ได้เป็นประเด็นเร่งด่วน” 

    อาจารย์ ภาวิกา เล่าประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่บริเวณหัวลำโพง และพบกลุ่มคนไร้บ้าน (Homeless) ซึ่งเธอได้เห็นความตายในฉบับที่แสนโดดเดี่ยวเดียวดายที่เกิดขึ้นตามท้องถนน

    “มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่เราเห็นใครสักคนหนึ่งตาย อยู่ตรงนั้น และค่อนข้างจะลำบาก เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำจากการตายของคนกลุ่มนี้แบบ ชัด ชัดมาก ๆ นะ ไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องของการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเลยด้วยซ้ำ” 

    ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สังคมจะตีกลับต่อการตายของพวกเขา และตั้งคำถามกลับทันทีว่า..

    “เรามองคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทุกคนแตกต่างกันขนาดนี้เลยหรอ?”  เธอกล่าว

    อาจารย์ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ดังนั้นแล้วในงาน “มรณาครวิถี” ที่จัดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ ถ.สุรวงศ์ ที่ผ่านมา จึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้เกิดเวทีในการพูดคุยและทำความเข้าใจสภาพปัญหา แล้วให้ภาคประชาสังคม (NGOs) กับ ภาควิชาการ ได้เข้ามาระดมความคิด หารือเพื่อที่มีส่วนร่วมในการที่จะวางนโยบายหรือหาทางช่วยเหลือ เธอกล่าวอย่างหนักแน่น

    “เพราะกลุ่มคนเหล่านี้อย่าว่าแต่เรื่องของความตายเลย ทุกวันมันคือการดิ้นรน มื้อชนมื้อ การดิ้นรนเพื่อหาปัจจัยสี่พื้นฐาน พวกเขาไม่มีแม้กระทั่งตัวเลือกที่จะเลือกว่า อยากยื้อชีวิต หรือเลือกที่จะจบชีวิต ไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย…”

    อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเขาตายไป ก็กลายเป็นศพไร้ญาติ สังคมก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ประกอบพิธีก็ไม่ได้ตามหลักความเชื่อ ไม่มีใครรู้จัก ว่าพวกเขาคือใคร ทำไมเขาถึงตายไป ซึ่งมันสะท้อนว่า เมื่อตอนที่เขามีชีวิต เขาอาจจะเป็นคนที่อยู่ริมขอบมาก ๆ ตกไปก็ไม่มีใครรู้ ว่าเขาตายที่ไหน เมื่อไหร่ ซึ่งมันเป็นตัวบ่งบอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” มันจึงขาดโครงข่ายทางสังคมบางอย่างที่ทำให้เรามีศพไร้ญาติจำนวนมาก และยังขาดเรื่องทุนในการประกอบพิธีอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครที่จะสามารถซึมซับ (Absorb) ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เพราะภาครัฐก็ถือว่าไม่ใช่คนของประเทศ หากพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ซึ่งก็ต้องเป็นเรา ภาคประชาชน ที่ต้องคุยกับแกนนำของคนไร้บ้านว่าทำอย่างไรได้บ้าง รวมกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ (Community) เพื่อหาวัดที่อาจจะคิดเงินถูกหน่อยในการประกอบพิธี 

    “ซึ่งสวัสดิการของคนทั่วไป หรือระบบสงเคราะห์ในประเทศเราแทบจะไม่มีใครทราบเลย ว่าอย่างเวลาเราตาย เราก็ได้ค่าสงเคราะห์ สามพันบาท นะแต่คนก็ไม่ทราบกัน ซึ่งแม้แต่สวัสดิการในเรื่องของศพ ก็ดันเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ที่ต้องดิ้นรนกันเอง”

    ภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ

    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    ภัทรภร ผ่องอำไพ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....