ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai Agenda กับการถกเถียงเรื่อง ‘ค่าแรง’ ระหว่าง ศุภลักษณ์ บํารุงกิจ และผู้ร่วมประกาศวาระในฐานะของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ตั้งคำถามต่อเรื่องปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น การไม่จ่ายค่าแรง การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย การบังคับทำงานเกินเวลา และได้พาดพิงถึงบริษัทหนึ่งที่ไม่จ่ายค่าแรงหลายเดือนให้กับอดีตพนักงาน แต่กลับมีการรับสมัครพนักงานใหม่ขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพจ สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ต่อประเด็นปัญหาด้านแรงงานในงานวาระเชียงใหม่ และได้มีข้อเสนอ-คำถามต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงทางเพจวาระเชียงใหม่ ผู้จัดงาน รวมไปถึงเรียกร้องให้บริษัทดังกล่าวออกมาชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกพาดพิงให้ชัดเจน

ภาพ: สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่

ซึ่งประเด็นคำถามและข้อเสนอที่ทาง สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ได้เสนอมานั้น ทางเพจวาระเชียงใหม่ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ตอบกลับกรณีดังกล่าว รวมไปถึงคณะผู้จัดงานและ Lanner ก็ได้เข้ามาตอบกลับและชี้แจงในคอมเมนต์ของแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทางตัวแทนของบริษัทฯ ได้เข้ามาตอบกลับความคิดเห็นดังกล่าว และชี้แจงกรณีที่ถูกพาดพิงในเวทีและตามแถลงการณ์ของสหภาพบาริสต้าฯ ซึ่งได้มีอดีตพนักงานบริษัทฯ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวได้เข้ามาแสดงความเห็นแลกเปลี่ยน “ทำไมถึงรับสมัครพนักงานใหม่ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่จ่ายเงินเดือนพนักงานเก่า” 

ในเรื่องการจ้างงานพนักงานเพิ่มแต่ยังไม่ได้จ่ายพนักงานเก่านั้น ตัวแทนของบริษัทฯ กล่าวว่าทางบริษัทฯ ได้มีการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหมดแล้ว ส่วนการรับพนักงานใหม่เพิ่มเติมนั้นเนื่องจากบริษัทยังคงต้องดำเนินกิจการเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อหารายได้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ แต่ก็ยังคงมีการดำเนินธุรกิจผิดพลาดจึงทำให้การชำระเงินล้าช้า รวมไปถึงการช่วยเหลือการผิดนัดชำระ แต่ทางด้านอดีตพนักงานของบริษัทฯ มองว่าการรับพนักงานเข้ามาใหม่แต่กลับไม่ได้ชำระหนี้ที่ค้างกับอดีตพนักงาน และไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงปัญหานี้ ทำให้ตนนั้นเสียทั้งเวลา โอกาส และความรู้สึก

เข้าใจยากหรือไร้ช่องทางรับรู้ ‘กฎหมายแรงงาน’

จากกรณีดังกล่าวจึงได้มีการพูดคุยกับ พรพณา (นามสมมุติ) หนึ่งในอดีตพนักงานของบริษัทฯ กล่าวว่าตนนั้นทราบถึงเรื่องที่ทางที่ทางนายจ้างได้ชดเชยเงินเดือนให้แก่อดีตพนักงานเรียบร้อยแล้ว แต่กระนั้นเองการชดเชยดังกล่าวก็ล้าช้าและไม่ตรงเวลา และอยากให้มีการชดเชยย้อนหลัง พรพณามองว่าการได้เงินเดือนในทุก ๆ เดือน กับการชดเชยให้ภายหลังนั้นแตกต่างกัน 

“สิ่งนี้มันมีผลกระทบต่อ Well-being ของคนนะ” พรพณา กล่าว

หากอิงตามคำที่พรพณา ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ผนวกกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พบว่า หากนายจ้างจ่ายเงินช้ากว่ากำหนด 7 วัน หรือไม่จ่ายค่าจ้าง กฎหมายให้คิดดอกเบี้ยได้ 15% ต่อปี เมื่อไม่จ่ายค่าจ้าง ตามที่ตกลงไว้ ลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงมาตกที่คำถามว่า แล้วทำไมอดีตพนักงานถึงไม่ร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน หรือออกมาพูดถึงประเด็นที่ตัวเองถูกเอาเปรียบ

“มันเคยมีการโพสต์บนเฟสบุ๊คจากอดีตพนักงานคนหนึ่งว่าไม่จ่ายเงินเดือนนะ แต่ก็เป็นแค่คน ๆ หนึ่ง ไม่ใช่สหภาพแรงงานมันก็เงียบไปไม่มีคนพูดถึง” พรพณา กล่าว

พรพณา กล่าวว่าการที่อดีตพนักงานหลายคนนั้น ไม่เข้าใจกฎหมายแรงงานอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการไม่พูดถึงปัญหา แต่ส่วนสำคัญที่ทำอดีตพนักงานไม่พูดถึงเรื่องดังกล่าว พรพณา มองว่ามันคือการไม่รู้สึก Empower มากพอที่จะสามารถเรียกร้องได้ รู้สึกไม่กล้า และยังก้าวข้ามบางอย่างไม่ได้

“ไม่รู้จะทำอะไรได้ การที่มีคนพูดแทนออกมาในพื้นที่สาธารณะอย่างเหตุการณ์วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมานั้นทำให้เรารู้สึกถูกได้ยินขึ้นมาบ้าง” พรพณา กล่าว

พรพณา กล่าวว่าตนไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดกับคนอื่น จึงอยากจะทำให้สิ่งนี้เป็นกรณีศึกษาในวงกว้าง อยากสรุปบทเรียนข้อสำคัญที่เราเป็นแรงงาน ว่าเรารู้ถึงสิทธิตัวเองที่สามารถตอบโต้อะไรได้บ้าง เป็นความรู้พื้นฐานที่หลายคนไม่รู้ และอย่างน้อยอยากให้มีแรงกระเพื่อมในเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานขึ้นมาบ้าง

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ฝ่ายจัดตั้งแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เคยให้สัมภาษณ์กับ Lanner ใน เชียงใหม่ (ค่าแรง) มันร้ายยย ว่าลูกจ้างในจังหวัดเชียงใหม่หรือแรงงานในไทยนั้นยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมากนัก ศุกาญจน์ตาเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานควรจะให้ความรู้และความเข้าใจในการเข้าถึงสิทธิแก่แรงงานทุกคนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และควรจะมีล่ามในการแปลภาษาในหน่วยงานรัฐหากแรงงานข้ามชาติเข้าไปติดต่อราชการ

ความ ‘รวย’ ของเขาเกิดจากความ ‘จน’ ของเรา 

จากประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น ผนวกกับสภาพปัญหาของแรงงานที่ถูกพูดถึงและถือว่าเป็นปัญหาที่มีอย่างยาวนาน คือเรื่อง ‘ค่าแรง’ ที่ถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ทศวรรษปัญหานี้ยังเรื้อรังและไม่สามารถแก้ไขได้เสียที

หากย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2566 ได้มีเหตุการณ์ที่ค่อนข้างโด่งดังในกลุ่ม ‘ลูกช้าง มช.’ หลังมีสมาชิกกลุ่มได้โพสต์ประกาศรับสมัครงานร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งบริเวณกาดสวนแก้ว ค่าแรงเริ่มต้นเดือนละ 12,000 บาท ทำงาน 10 โมงเช้า – 4 ทุ่ม (12 ชั่วโมง), หยุดอาทิตย์ละ 1 วัน ทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทำนองการจ้างงานดังกล่าวเป็นการกดขี่แรงงาน ผิดกฎหมายแรงงานเนื่องจากทำงานเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือหลายกรณีที่เห็นจนชินตาหากสืบค้นข้อมูลเข้าไปในกลุ่มหางานเชียงใหม่ หรือ กลุ่มหางานอื่น ๆ จะพบว่าการเปิดรับสมัครนั้นรายได้นั้นเพียง 10,000 – 12,000 บาท เพียงเท่านั้น และทำงานมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน และ 6 วันต่อสัปดาห์ หรือหนักเข้ากว่านั้นคือการไม่ระบุวันหยุดที่ชัดเจน ดังตัวอย่างที่ยกมา เช่น

“หาพนักงานทำงานเพศชาย ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เงินเดือน 11,000 บาท และทำงานวันละ 9 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์”

“หาพนักงานประจำร้านชาบูแห่งหนึ่งทำงานตั้งแต่ 11.00-22.00 น. เงินเดือน 10,000-12,000 บาท OT ชั่วโมงละ 30 บาท ไม่ระบุวันหยุดที่ชัดเจน”

หากอิงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุว่า การทำงานทั่วไปต้องไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ ซึ่งเวลาที่เกินมานายจ้างจะต้องจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แรงงาน 1.5 เท่าของค่าแรง ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมาประกอบกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานจะพบว่ามีการขูดแรงงานอย่างชัดเจน 

ถึงแม้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะมีการระบุเวลาการทำงานอย่างชัดเจนหากเกินเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา แต่ก็ยังมีช่องว่างที่สามารถให้นายจ้างขูดรีดแรงงานได้อย่างชอบธรรมนั้นก็คือ “หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน” เป็นประโยคในกฎหมายที่ทำให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันได้ตามที่คุยกันได้ แต่หากย้อนไปถึงการพูดกับ พรพณา ที่กล่าวถึงการไม่รู้สึก Empower ของแรงงาน การกล้าที่จะต่อรองของแรงงานอาจจะเป็นไปได้ยาก 

ศุกาญจน์ตา ถึงสถานการณ์แรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ว่าระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้นมีความอยู่กินกันแบบพี่แบบน้อง และเลี้ยงลูกน้องแบบญาติ ศุกาญจน์ตา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้างบางคนซื้อข้าวสารให้เป็นรายเดือน ให้ที่อยู่ที่พัก และนายจ้างก็สามารถพูดคุยถึงเรื่องค่าจ้างกับคนงานได้ รวมถึงตัวแรงงานเองก็ตกลงพร้อมที่จะรับ จึงไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ศุกาญจน์ตา ยังได้เสริมประเด็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่มีความยินยอมที่จะทำงานเนื่องจาก ไม่ได้ลำบากมากหากเทียบกับสถานการณ์ในบ้านเกิดของพวกเขานั้น จึงมองว่าได้รับค่าแรงที่เพียงพอแล้ว ซึ่งปัญหานี้ ศุกาญจน์ตา มองว่าควรจะมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรจะเท่ากันทั้งประเทศ

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ฝ่ายจัดตั้งแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ภาพ: วรรณา แต้มทอง

“มันก็เลยขาดแรงขับเคลื่อน ขาดพลังในการที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม” ศุกาญจน์ตา กล่าว

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab พบว่า ประเทศ/ดินแดน ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2566 และ 2567 จำนวน 110 ประเทศ จาก 199 ประเทศ แบ่งออกเป็นประเทศที่ประกาศขึ้นเฉพาะปี 2567 จำนวน 12 ประเทศ ปี 2566 จำนวน 37 ประเทศ และประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งปี 2566-2567 จำนวน 61 ประเทศ โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 10 จังหวัดซึ่งหนึ่งในนั้นมีพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วย มีผลบังคับใช้ 13 เมษายน 2567 นอกจากนี้ในวันที่ 3 พฤษถาคม 2567 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ 

นอกจากนี้ ศุภลักษณ์ ได้กล่าวคำปราศรัย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานี้ ถึงค่าแรงของแรงงานในภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกขูดรีดจากมูลค่าส่วนเกินเป็นอย่างมาก ศุภลักษณ์ กล่าวว่า ในปี 2566 GDP ของจังหวัดเชียงใหม่โตขึ้นถึง 3.6% และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1 แสนล้านบาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดเชียงใหม่กลับขึ้นมาแค่ 10 บาท จาก 340 เป็น 350 บาท ศุภลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า รายได้ 1 แสนล้านบาทนั้น 80% เกิดขึ้นในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ คือ 8 หมื่นล้านบาท หากนำมาหารกับจำนวนประชากรวัยทำงานในอำเภอเมืองเชียงใหม่ นั้นก็คือ 1 แสน 4 หมื่นคน มีอัตราการมีงานทำนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 63% หรือคิดเป็น 8 หมื่น 5 พันคน ศุภลักษณ์ อนุมานว่า 70% ของ 8 หมื่น 5 พันคนอยู่ในภาคการท่องเที่ยว หรือ 6 หมื่นคนและประชากรแฝงอีก 4 หมื่นคน เท่ากับ 1 แสนคนที่เป็นแรงงานภาคการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ หากนำ 8 หมื่นล้านบาทมาหารกับแรงงานภาคท่องเที่ยว 1 แสนคน และหาร 12 เดือน หากกระจายรายได้แบบ 100% ค่าแรงที่แรงงานจะได้ 66,000 บาทต่อเดือน 

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ

ศุภลักษณ์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อไปถึงการที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับค่าแรงมักพูดว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply หรือจำนวนแรงงานมีมากกว่างานที่ให้ทำ แต่จากการคำนวนค่าแรงที่ ศุภลักษณ์ กล่าวไปข้างต้นนั้นขัดแย้งกับสิ่งที่ภาครัฐกล่าวมาอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ พรพณา ได้กล่าวทิ้งท้ายกับ Lanner ถึงความต้องการในการรวมกลุ่มกันของแรงงานเพื่อจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อมีไว้ในการต่อรอง ค่าแรง สิทธิสวัสดิการ ที่แรงงานควรจะได้รับอย่างเป็นธรรม

ถึงเวลาสหภาพแรงงาน รวมกลุ่มต่อรองสร้างอำนาจ

‘สหภาพแรงงาน’ เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานสามารถต่อรองค่าแรง สิทธิสวัสดิการ สภาพการจ้างงาน รวมไปถึงความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้าง ซึ่งสหภาพแรงงานในประเทศไทยนั้นมีจุดเริ่มตั้นในปี 2440 จากการรวมตัวกันของลูกจ้างรถราง โดยจัดตั้งเป็นสมาคมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสวัสดิการแก่กรรมกรและช่วยเหลือสมาชิกในหลายด้าน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีการเคลื่อนไหวของแรงงานก็ขยายตัวกว้างขึ้น ยาวมาจนถึงปี 2499 ที่รัฐบาลได้ตรา พ.ร.บ.แรงงานฉบับแรกขึ้น มีผลบังคับใช้ในปีวันที่ 1 มกราคม 2500 กฎหมายดังกล่าวทำให้แรงงานสามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งหลังจากกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้มีการเคลื่อนไหวของแรงงานอย่างแข็งขัน รวมไปถึงมีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง

พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499

ทว่าขบวนการแรงงานในไทยต้องหยุดไปหลังการรัฐประหารในวันที่ 31 ตุลาคม 2501 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ออกประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 19 ในการยกเลิก พ.ร.บ.แรงงาน พ.ศ.2499 ส่งผลให้ ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อีกต่อไป รวมไปถึงมีการจับกุมแกนนำแรงงานทำให้ขบวนการแรงงานในไทยเป็นอันยุติไป

ขบวนการแรงงานกลับมามีบทบาทอีกครั้งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในการต่อต้านอำนาจเผด็จการ ภายหลังเหตุการณ์ขบวนการแรงงานก็เติบโตเป็นอย่างมากมีการเรียกร้องผลักดันจนได้มีการจัดออก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ทำให้แรงงานสามารถกลับมาตั้งสหภาพแรงงานได้อีกครั้ง

ขบวนการแรงงานช่วง 14 ตุลาคม 2516 ภาพ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

จนแล้วจนรอดหลังเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐพยายามยุติบทบาทของสหภาพแรงงานอีกครั้ง และอีกหลายครั้งร่ายยาวมาจนถึงปี 2534 ที่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้มีการออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ทำให้ขั้นตอนการนัดหยุดงานของแรงงานภาคเอกชนเป็นไปได้ยากมากขึ้น รวมไปถึงการออกกฎหมายที่แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 เป็นการทำลายความเป็นหนึ่งเดียวของแรงงาน และในปี 2543 รัฐที่มีการออกกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ถูกประกาศใช้ในมาตรา 33 ห้ามให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทำการนัดหยุดงานในทุกกรณี ขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอลงไปอย่างมาก

ในปัจจุบันก็มีกลุ่มแรงงานที่มีความพยายามในการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานภายใต้ชื่อ สหภาพคนทำงาน Workers’ Union ในหลักคิด “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” เกิดจากการรวมตัวกันของหลากหลายอาชีพที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมีเป้าหมายคือ โค่นเผด็จการ สร้างรัฐสวัสดิการ และเสริมสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา สหภาพคนทำงาน ก็ได้มีการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ อาทิ การเรียกตั้ง สว.ชุดใหม่ หรือการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าขบวนการแรงงานที่พยายามผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของแรงงานในไทยที่มาในรูปแบบของสหภาพแรงงานนั้นถูกอำนาจของเผด็จการทหารอย่างการรัฐประหารที่เกิดอยู่บ่อยครั้งในไทย กำจัดการรวมตัวกันของแรงงาน รวมไปถึงการแบ่งให้แรงงานรัฐวิสาหกิจและแรงงานในโรงงาน เป็นการแยกย่อยทำให้สำนึกร่วมที่เป็นปึกแผ่นของแรงงานแตกกระเจิงออกไป จากข้อมูล จำนวนองค์การแรงงานทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 สำนักแรงงานสัมพันธ์ เผยว่า จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีตำนวน 139,421 คน และ สมาชิกสหภาพแรงงานในกิจการเอกชนมีจำนวน 386,829 คน หากนำ 2 ตัวเลขนี่มารวมกันจะได้เพียง 526,250 คน ซึ่งหากเทียบกับปริมาณคนที่ทำงานแล้วและพร้อมที่จะทำงานอ้างอิงจาก THAILAND BOARD OF INVESTMENT พบว่ามีคนที่ทำงานแล้วและพร้อมทำงานกว่า 40.54 ล้านคน ซึ่งถือว่าคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในไทยนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมาก หรือ ประมาณ 1.3% เพียงเท่านั้น 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งเรื่องของค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมากอย่างยาวนาน การไม่มี Empower ซึ่งกันและกันของแรงงาน รวมไปถึงอุปสรรคทางด้านกฎหมายในการรวมตัวกันของแรงงานให้เป็นสหภาพ อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าแรงงานทุกคนจะต้องกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในการร่วมแรงรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อผลักดันเรื่อง ค่าแรง สวัสดิการต่าง ๆ ที่แรงงานทุกคนควรจะได้รับเพื่อคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งผ่อง

อ้างอิง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง