‘ชลธานี’ แจงแก้ปัญหาน้ำลำปาง จี้ปรับกฎหมายให้อำนวยความสะดวกประชาชน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยมีนายชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 3 พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในญัตติด่วนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเตือนภัยล่วงหน้า ภาวะสุขภาพของประชาชนที่ประสบภัย และการกิโยตินกฎหมาย


ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ

นายชลธานี กล่าวว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ตัดเส้นทางสัญจร ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก น้ำป่ามาเร็ว แรง และไปอย่างเร็ว แต่ทิ้งความเสียหายไว้อย่างมหาศาล

อาทิตย์นี้ทราบว่าจะมีพายุเข้ามาอีก ชาวบ้านพึ่งทำความสะอาดบ้านไปยังไม่ทันจะเรียบร้อย ต้องมาเฝ้าระวังอีก ว่าจะไปอยู่ตรงไหน นอนหลับไม่เต็มตา ผมว่ามาตรการสำคัญ คือ เราจะมีการเตือนชาวบ้านอย่างไร ให้ทันท่วงทีก่อนน้ำป่ามาถึง เมื่อต้นน้ำต้องอุ้มน้ำจำนวนมาก น้ำถึงจะหลากลงมา

“ผมเชื่อว่าหน่วยงานที่จัดการน้ำ ย่อมมีข้อมูล มีสถิติ เราควรจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินเส้นทางน้ำ ปริมาณน้ำฝน หรือจุดติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานหลักที่มีการบูรณาการร่วมกัน ผมทราบมาว่าบางหน่วยงานก็มีแอพพลิเคชั่น แต่เป็นการเข้าถึงที่ยุ่งยาก ต้องดาวน์โหลดมายังโทรศัพท์ บางท่าน พ่อแก่ แม่เฒ่า อยู่ที่บ้านคนเดียว ใช้โทรศัพท์ 2G ดาวโหลด แอพพลิเคชั่นไม่เป็น โทรศัพท์ 3G ใช้ไม่เป็น

เพราะฉะนั้น Cell Broadcast (ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ) ควรจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเข้ามา สำหรับภัยพิบัตินี้ อย่างเพื่อน สส. ผมครับ นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ซึ่งก็อภิปรายในประเด็น Cell Broadcast ไปเมื่อ กสทช. เข้ามารายงาน ซึ่งปีนี้ ปี 2566 แล้ว ประสิทธิภาพของ Cell Broadcast ดีกว่า SMS ครับ

ไม่ใช่แค่เหตุการณ์น้ำท่วมครับ แต่เหตุการณ์ยิงกันที่สยามพารากอน เมื่อวานก็สามารถใช้เทคโนโลยีตัวนี้ เข้ามาช่วยเหลือได้” นายชลธานี กล่าว

ทั้งยังกล่าวต่อว่า จากการแจ้งเตือนแล้ว คือปัญหาสุขภาพที่มากับน้ำป่า น้ำกลาก น้ำท่วม สมาชิกฯ หลายๆ ท่าน ก็คงทราบดี มีประสบการณ์การลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม ฉี่หนูเอย ฮ่องกงฟุตเอย สุขภาพอนามัยจากการกินเอย ผมพึ่งไปลงพื้นที่มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังคันเท้าอยู่เลยครับ แต่พี่น้องประชาชนอยู่กับน้ำ เกิน 24 ชั่วโมง โรคที่ติดตามมาจะเป็นอย่างไร

ส่วนประเด็นสุดท้าย ผมจะขอเน้นที่ประเด็นสาธารณะสุข ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน หรือตลิ่งที่ทรุด ต้องยอมรับว่าหลายๆ พื้นที่ก็ติดเขตป่า ใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะซ่อมแซม หรือบางพื้นที่อาจจะทำไม่ได้เลย เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะมีคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด ที่อนุญาต อนุมัติให้มีการซ่อมแซมสาธารณูปโภคเดิมได้เลย โดยไม่ต้องขอความเห็นจากส่วนกลาง เพื่อเป็นการลัดขั้นตอน หรือที่เราชอบพูดกันว่าเป็นการ ‘กิโยตินกฎหมาย’ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อผู้ว่าเป็นประธาน ก็อยากให้ผู้วา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีการรร่วมกัน ของหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปาง หรือในจังหวัดอื่นๆ ที่จะสามารถอนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมในพื้นที่เดิม

“เราต้องยอมรับว่าในพื้นที่เดิม ที่เขตภาคเหนือหรือในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีหลายพื้นที่ ที่พ่อแม่พี่น้องไม่มีเอกสารสิทธิในการใช้ชีวิต เป็นถิ่นที่อยู่ แต่มีถนน มีสาธารณูปโภค มีสะพาน ที่ใช้ในการสัญจรมากว่า 40 ปี 50 ปี แต่เมื่อเกิดอุทกภัย หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทั้งที่เรามีงบประมาณ

ปัญหาตัวนี้ ต้องย้อนไปที่ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี 2484 พ.ร.บ. ป่าสงวน ปี 2507 ที่นิยามว่าพื้นที่ได้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิถือว่าเป็นพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานในจังหวัด อบจ. อบต. เทศบาลตำนบล ไม่สามารถที่จะอนุมัติงบประมาณเหล่านี้มาแก้ไข”

กฎหมาย 2 ตัวนี้ ไม่ทันยุคสมัย ถึงเวลาสังคายนากฎหมายเพื่อให้อำนวยความสะดวกกับประชาชน ถ้าให้พูดเคสนี้  อีก 2 ชั่วโมงก็พูดได้ครับ เพราะฉะนั้น การให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว ควรให้อำนาจสั่งการ กระจายอำนาจลงไป ท่านๆ ที่อยู่ส่วนกลาง อยู่กระทรวง จะไปรู้ดีเท่าคนในพื้นที่ได้อย่างไร ฝากถึงรัฐบาลแม้ท่านพึ่งจะมาเป็นรัฐบาล แต่เราทุกคนทราบปัญหาเหล่านี้ดี ในสภาชุดที่แล้วก็มีหลายท่านอภิปรายไว้เป็นอย่างดี ปัจจุบันหลายท่านก็ไปเป็นรัฐมนตรี ขอให้นำสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางปฏิบัติ” นายชลานี กล่าว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง