เปิดยอดปี 66 คนเหนือเป็นซึมเศร้า 115,238 เชียงใหม่พุ่งสูงถึง 34,692

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน

‘โรคซึมเศร้า’ กลายเป็นโรคที่เริ่มพบได้มากขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัยในสังคมปัจจุบันและเป็นที่น่ากังวลไม่แพ้กับการเจ็บป่วยทางร่างกาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า ในคน 20 คน จะมีคนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า 1 คน และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย 

ในทษวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2556 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 4,820 คน และจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นกว่า 92 เท่าภายในรอบสิบปี โดยพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้ามากถึง 447,001 คน ในปี 2566 จนมียอดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสะสมราว 2.57 ล้านคน

คนเหนือกับซึมเศร้า

จากการสำรวจข้อมูลจาก HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในจังหวัดที่อยู่เขตภาคเหนือตอนบนทั้งสิ้น 115,238 คน โดยเชียงใหม่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดอยู่ที่ 34,692 คน ซึ่งสูงที่สุดในประเทศไทย รองลงมาคือ เชียงราย 25,189 คน ลำปาง 14,755 คน น่าน 9,365 คน พะเยา 9,325 คน แพร่ 8,814 คน ลำพูน 8,032 คน และแม่ฮ่องสอน 5,066 คน ตามลำดับ

โดยจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อประชากร 100,000 คน มากที่สุดคือ ลำพูน 1,754.50 คน รองลงมาคือ เชียงใหม่ 1,257.02 คน แม่ฮ่องสอน 1,124.80 คน พะเยา 955.64 คน เชียงราย 740.59 คน แพร่ 725.29 คน ลำปาง 716.87 คน และน่าน 707.33 คน ตามลำดับ โดยจาก 10 จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรสูงที่สุดในประเทศไทย พบว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ภาคเหนือตอนบนถึง 4 จังหวัด

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายกับ Rocket Media Lab ว่า ตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่สูงขึ้นมีตัวเลขแฝง 2 อย่าง อย่างแรกคือ มีผู้ป่วยมากขึ้นจากความเครียดและอาการเจ็บป่วย หรือ สอง เพราะเข้ารับบริการและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น เช่น หลังจากโควิด-19 มีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากขึ้น คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ก็จะมาโผล่ตอนนี้ เพราะเพิ่งเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างไรก็ตาม แม้จะประเมินว่าตัวเลขสูงขึ้นทั้งสองทาง แต่ตอบไม่ได้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด

คนเหนือฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น

ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีการฆ่าตัวตายประมาณปีละมากกว่า 4,000 คน เฉลี่ย 6.64 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 12 คนต่อวัน เดิมทีอัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาตกงาน ขาดรายได้จนอาจทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด 

เมื่อพิจารณารายจังหวัดพบว่าจังหวัดที่อยู่เขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดอยู่ที่ 17.44 รายต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด อันดับที่ 1 ของประเทศ รองลงมาคือ เชียงใหม่ 14.61 รายต่อแสนประชากร น่าน 11.14 รายต่อแสนประชากร เชียงราย 10.92 รายต่อแสนประชากร แพร่ 10.02 รายต่อแสนประชากร ลำพูน  9.73 รายต่อแสนประชากร ลำปาง 9.71 รายต่อแสนประชากร และพะเยา 9.2 รายต่อแสนประชากร โดยทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าภาพรวมทั้งประเทศที่อัตรา 7.37 รายต่อแสนประชากร 

นอกจากนี้ ในรายงาน 10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดระหว่างปี 2559-2563 ระบุว่ามี 2 จังหวัดที่ติด 10 อันดับแรกทุกปีคือ เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยแม่ฮ่องสอนติดอันดับที่ 1 มากถึง 3 ปี จากทั้งหมด 5 ปี จังหวัดติดอันดับถี่รองลงมา คือ เชียงราย แพร่  น่าน และลำปาง ติด 10 อันดับแรกถึง 4 ปี 

นพ.ปริทรรศ ศิลปะกิจ นายกสมาคมสะมาริตันส์เชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า คนในภาคเหนือตอนบนฆ่าตัวตายสูง มาจากบริบททางวัฒนธรรมคือ คนเหนือเป็นคนรักษาหน้า ไม่กล้าบอกความต้องการ หรือแสดงออก เมื่อหาทางออกไม่ได้จึงเกิดโรคซึมเศร้า และเมื่อกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 80 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสจะฆ่าตัวตายสูง และพบว่าบุคคลที่ฆ่าตัวตายสูง จะอยู่ในระหว่างอายุ 15-39 ปี นอกนั้นยังพบว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายรองลงมาคือ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ 

ข้อเรียกร้องดันยาต้านเศร้าเข้าบัญชียาหลักฯ

“สิทธิที่เรามีอยู่แล้ว แต่เรากลับต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นมาและมีผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่รู้ ไม่กล้าเจรจากับแพทย์ผู้รักษา” 

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) น.ส.ฐิตินบ โกมลนิมิ กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า  พร้อมด้วยตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า ทั้งผลักดันยาเข้าสู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการกระจายการบริการผู้ป่วยจิตเวชให้มากขึ้น

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและญาติผู้ป่วยหลายรายได้ร้องเรียนและปรึกษาปัญหาการใช้บริการด้านการรักษาในระบบสุขภาพมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดังนั้นทางมูลนิธิฯ  จึงริเริ่มโครงการวิจัย “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความทุกข์ส่วนบุคคล เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” 

ในปี 2566 ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาการส่งต่อในทุกระบบหลักประกันสุขภาพไม่เอื้อกับผู้ป่วยทั้งขาดแคลนยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ยามีราคาแพง และยาบางรายการที่จำเป็นต่อการรักษาไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ให้บริการอ้างเก็บเงินส่วนต่างจากผู้ป่วยเกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนผู้ป่วยบางรายต้องหยุดยาและหยุดการรักษาเอง จนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง รวมทั้งมีปัญหาเรื่องขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตบำบัดทำให้การเข้าถึง ส่งต่อ รอคิวการรักษาเป็นเวลานานและขาดทางเลือกในการรักษา

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอ 7 ข้อเร่งด่วน ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพื่อการเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 

1.ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เพิ่มยาต้านเศร้าและยาจิตเวช” คือ 1. Olanzapine เพิ่ม indication 2. Aripiprazole  3.Venlafaxine และ 4. Long acting Methylphenidate  ซึ่งเป็นยาสำคัญ จำเป็นต่อผู้ป่วย และดีกว่ายาที่มีในระบบขณะนี้ ตามคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อต่อรองราคายาให้ถูกลง นำไปสู่การทำระบบเบิกจ่ายยา ส่งยาตรงไปถึงโรงพยาบาล คลินิคจิตเวช และร้านยาทั่วประเทศ และเร่งแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่ายาส่วนต่างจากผู้ป่วย รวมทั้งผลักดันยาดังกล่าวให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสุขภาพโดยรวม

2.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่ไหนก็ได้ ภายใต้นโยบายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และมติคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งจะเริ่มในปี 2567 ควรครอบคลุมโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงบริการ และการส่งต่อข้ามเครือข่าย ทั้งนี้ ควรมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในระบบสุขภาพ และในเขตเมือง เพื่อให้การรักษา ติดตาม อาการ จนอาการดีขึ้น และหายป่วย โดยไม่ต้องรอใบส่งต่อเป็นครั้ง ๆ จากหน่วยบริการเจ้าของสิทธิ

3.ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ พัฒนาระบบ ส่งเสริมผู้ป่วยซึมเศร้าและจิตเวชเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินส่วนต่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพใจควบคู่กับการใช้ยา และเตรียมพร้อมคืนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy-CBT) เป็นต้น

4.สปสช. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ให้เป็น “หน่วยแรกรับและสายปรึกษาสุขภาพจิตครบวงจร” ทำงานเชิงรุกรับฟัง ให้คำปรึกษา ติดามประเมินภาวะอาการของโรค และสามารถส่งต่อหน่วยบริการให้ผู้ใช้บริการได้ เพื่อช่วยลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุจากโรคจิตเวชให้ลดลง ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้าจำนวนมากกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

5.การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องในทุกระบบหลักประกันสุขภาพต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน จึงเสนอให้ สปสช. เป็นองค์กรกลางจัดประชุมทุกกองทุนสุขภาพ (กองทุนประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นต้น) เพื่อวางแนวทางให้กองทุนต่าง ๆ ให้บริการได้ตามสิทธิประโยชน์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน

6.พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง หลังจากมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” แล้ว ควรมีการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง (Guideline for Depressive disorders) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในโรงพยาบาลทุกระดับมั่นใจในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า และสามารถรักษาด้วยยาต้านเศร้าเบื้องต้นได้ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพในการทบทวน “แนวทางการจัดการตาม ระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย” เพื่อใช้ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิต การให้สุขภาพจิตศึกษา และการรณรงค์ทางสังคม การให้คำปรึกษา การดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจ การรักษาส่งต่อทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิที่เคยจัดทำไว้ ร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง

7.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาการขึ้นทะเบียนยาต้านซึมเศร้าที่ได้มาตรฐาน เฝ้าระวังเรื่องคุณภาพยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และติดตามการใช้ยาไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้สั่งจ่ายยาเกิดความมั่นใจในยาชื่อสามัญเพื่อการเข้าถึงยาได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนายานวัตกรรม ยาทางเลือกเพื่อประโยชน์ต่อผู้ต้องการใช้วิธีการรักษาที่ครอบคลุมและได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ได้รับเรื่องดังกล่าวและกล่าวกับทางกลุ่มฯ ว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุข และนโยบายควิกวินที่มีการดำเนินการแล้ว ส่วนประเด็นอื่น ๆ รับทราบปัญหาและจะมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่มา:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง