เมษายน 23, 2024

    มีก็เหมือนไม่มี โลกใบเล็ก ของเด็กแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่ลับแต่คนไม่ค่อยรู้

    Share

    สวัสดีค่ะ หนูชื่อหมวย เป็นเด็กโยกย้ายถิ่นฐานค่ะ หนูเป็นลูกแรงงานข้ามชาติ เป็นชาติพันธ์ุ เนื่องจากเกิดในครอบครัวที่เป็นแรงงานรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ พ่อแม่หย่าร้าง พ่อไปทาง แม่ไปทาง หนูจึงโตมากับป้า ป้าที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เพียงแต่ป้าเป็นคนใจดี เห็นเด็กอย่างหนูก็เป็นห่วง ป้าจึงดูแลหนูเรื่อยมา ตอนหนูอยู่กับป้า หนูไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เคยได้ไปโรงเรียนเลย เพราะหนูต้องช่วยป้าในที่ต่างๆ ตามที่ป้าหนูไปทำงานค่ะ

    ตอนนี้หนูอายุ 18 ปีแล้วนะคะ หนูเป็นนักเรียน เรียนหลักสูตรกศน. อยู่ที่มูลนิธิการศึกษาประกายแสงค่ะ หนูอยากบอกว่าการศึกษาสำหรับหนูนั้น เปรียบเสมือนใบเบิกทางนำไปสู่การมีคุณภาพทางความรู้ทางความคิด ในการพัฒนาคุณภาพในชีวิต และแทบจะเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้หนูได้ใช้ชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมในสังคมที่หนูอาศัยอยู่ค่ะ 

    แต่มันยากมากเลยค่ะที่จะไปถึงตรงนั้น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างยุติธรรมนั้น หนูต้องดิ้นรน ต่อสู้กับปัญหามากมาย นอกเหนือจากความยากจน ปัญหาสำคัญที่สุดคือ การไม่มีเอกสาร ไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ ไม่มีอะไรที่ระบุตัวตนได้เลย หนำซ้ำหนู และเด็กๆ ที่เหมือนหนูยังถูกตีตราว่าเป็นลูกแรงงานต่างด้าว ทั้งๆ ที่เราเองก็เป็นมนุษย์ เป็นคนธรรมดาทั่วไปเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อนๆ ของหนูหลายคนเคยเรียนที่ประเทศเมียนมา เรียนเป็นรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ พอจะเข้ามาเรียนในประเทศไทย พวกเราก็ต้องมาเริ่มเรียนระดับประถมใหม่ และต้องเรียนซ้ำในสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว เพราะวุฒิการศึกษาเราเทียบโอนไม่ได้ ซึ่งการเรียนจากประเทศเมียนมากับประเทศไทย มันมีวิชาที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พวกเราอยากให้มีระบบเทียบโอนและสามารถต่อยอดความรู้ที่ได้เรียนจากประเทศเมียนมามาใช้ในประเทศไทยได้ และหากเรียนในประเทศไทยก็สามารถไปเทียบโอนและเรียนต่อในประเทศเมียนมาร์ได้เลย ไม่ต้องให้พวกเราเรียนซ้ำ การศึกษาควรช่วยให้เราต่อยอดความรู้ที่เรามีค่ะ ไม่ใช่มาจำกัดการเรียนของพวกเรา และไม่จำเป็นต้องให้พวกเรามาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดด้วย  

    ปัญหาของพวกเราไม่ได้จบแค่ที่โรงเรียนค่ะ พอไปข้างนอก เราก็มีปัญหาตอนทำงาน ทุกวันนี้งานที่หนูทำได้ค่าแรงเดือนละ 9,000 บาท ทั้งที่กฎหมายแรงงานตอนนี้ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 340 บาท และทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือหนูกับเพื่อนๆ อีกหลายคนยังต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง และได้ค่าแรงเพียงวันละ 300 บาท หรือน้อยกว่านั้น ทั้งๆ ที่เราควรได้รับ 340 บาท ตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำแท้ๆ งานที่ได้ค่าแรงสูงๆ งานที่อยากทำ ถ้าไม่มีวุฒิหรือไม่มีการศึกษาเขาก็ไม่รับทำงาน อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้เขาก็ไม่รับทำงาน ถ้ามีวุฒิหรือการศึกษาดีๆ ก็จะได้งานที่สบายและค่าแรงสูง เช่น งานแปลภาษา พนักงานบัญชี แอดมินเพจ ทำงานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

    การที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารอะไรเลย มันทำให้ใช้ชีวิตลำบาก และไม่สามารถเลือกงานได้ มีงานอะไรเราก็ต้องทำแม้ว่าค่าแรงจะต่ำก็ตาม วันหยุดต่างๆ เราก็ไม่ได้หยุด หรือถ้าหยุดก็โดนหักค่าแรง แต่ทำไงได้ล่ะ ในเมื่อพวกเราอยู่ในโลกของเด็กแรงงานข้ามชาติ สังคมข้างนอกคงจะใหญ่ไปใช่ไหมคะสำหรับคนตัวเล็กๆ อย่างเรา ทำให้คำพูดและการมีตัวตนของพวกหนูถูกละเลยตลอดเลย

    ตอนที่หนูยังเล็กๆ หนูไม่เคยมีเอกสารอะไรเลยค่ะ เพราะหนูไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และผู้ใหญ่ที่ดูแลหนูก็ไม่เคยทำให้หนูมีเอกสารประจำตัว แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขานะคะ แต่ตอนนี้หนูเรียนหลักสูตรกศน. โดยใช้รหัส G ชื่อของหนูอยู่ในสถานศึกษากศน. อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหนูใช้รหัส G เรียนมา 4 ปีแล้วค่ะ จากเด็ก หนูกลายเป็นวัยรุ่นแล้ว ใช้ชีวิตในสังคมโดยไม่มีสถานะทางทะเบียนมาหลายปีแล้ว และหนูก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ชื่อของหนูจะอยู่ในทะเบียนราษฎร์ มีสถานะ มีตัวตนในสังคมและประเทศที่พวกเราอาศัยอยู่  หนูพยายามที่จะขอให้กศน. เมืองเชียงใหม่ ดำเนินการส่งรายชื่อเด็กรหัส G ให้ทางสำนักงานอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเคยไปถามอำเภอเมืองเชียงใหม่ก็หลายครั้ง ทุกครั้งก็ไม่มีชื่อของหนูเลย รวมทั้งเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่ในการศึกษานอกระบบก็ไม่มีชื่อด้วยเหมือนกันค่ะ ทุกวันนี้พวกเราก็ยังถือแค่เอกสารรหัส G ยังต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลเอง เพราะไม่สามารถเข้าระบบหลักประกันสุขภาพได้ ไม่มีแม้แต่หลักประกันความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

    หนูเห็นว่าได้เวลาแล้วที่สถานศึกษา กระทรวงศึกษา กรมการปกครอง กระทรวงสาธารณะสุข และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลให้กับพวกเราทุกคนที่มีเอกสารรหัส G ที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เสร็จภายในเร็ววัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชนต่อไปค่ะ

    วันนี้หนูอยากเรียกร้องว่า

    1.รัฐต้องดำเนินการกำหนดสถานะทางทะเบียนให้กับเด็กที่อยู่ในสถานศึกษา กศน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้ได้รับการกำหนดเลข 13 โดยทันที 

    2.รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษาของเด็กและเยาวชนแรงงานข้ามชาติตามศักยภาพและ ความสามารถสูงสุดของผู้เรียนและเปิดรับเทียบโอนหลักสูตรเมียนมาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ 

    3.รัฐต้องเปิดแนวทางให้เด็กและเยาชนแรงงานข้ามชาติ นำวุฒิการศึกษาจากประเทศเมียนมาร์เทียบโอนหน่วยกิจรายวิชา ตามแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนเข้าสู่การศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้ฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ 

    4.รัฐต้องจัดสรรสวัสดิการด้านสุขภาพ ให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษานอกระบบ รวมทั้งประชาชนทุกคนในรัฐอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฎิบัติ

    5.กำหนดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนที่สอดคล้องกับสภาพรายได้จากการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติและค่าครองชีพในประเทศไทย และค่าใช้จ่ายนั้นต้องครอบคลุมตามระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ค่าวีซ่า 500 บาท แทนที่จะเก็บ 1,900 บาทเป็นต้น

    แม้สถานการณ์ในวันนี้จะยังคงยากลำบาก แต่หนูมองเห็นว่าพรุ่งนี้ชีวิตของหนูจะเกิดการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแน่ๆ หนูมีความหวัง และ มีความเชื่ออย่างมากค่ะ ว่าอะไรๆมันสามารถดีขึ้นได้สำหรับหนูและคนอีกมากมายที่อยู่ในสถานะเดียวกับหนู แต่การที่มันจะดีขึ้นได้ พวกเราต้องการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ หนูขอบคุณค่ะที่ให้โอกาสได้มาเล่าเรื่องราวของหนูในเวทีนี้

    เนื้อหาโดยตัวแทนเยาวชนจากมูลนิธิการศึกษาประกายแสง BEAM Education Foundation จากเวทีกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล (International Workers’ Day) 1 พฤษภาคม 2566 ณ ลานโครงการเลอตะวัน บริเวณสี่แยกแสงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และภาคีเครือข่าย

    Related

    De Lampang: ลำปางลมหายใจเปื้อนฝุ่น ท่ามกลางควันไฟที่เผาไหม้ป่า

    เรื่อง: พินิจ ทองคำ เมษายนช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ลำปางถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถิติอุณหภูมิร้อนแรงติดอับดับต้น ๆ ของรัฐไทย จากการติดตามข่าวผ่านสื่อในรอบสัปดาห์ คำว่า “ลำปางร้อนมาก”...

    วิกฤติการณ์ฝุ่น PM2.5 ระยะยาวของชีวิต สภาะวะการตายผ่อนส่ง ของคนภาคเหนือ

    เรื่อง: จิณห์วรา ช่วยโชติ วิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในภาคเหนือนั้น ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ทุกคนจะต้องได้รับรู้ มีเสียงหรือคำวิจารณ์จากคนในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าวโดยตรง พื้นที่ของข่าวมีการนำเสนอปัญหาและนโยบายจากรัฐบาล หรือภาพเจ้าหน้าที่รวมไปถึงอาสาสมัครที่ดมควัน...

    น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ “คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง...