มองปัญหาเด็กไร้สัญชาติ กับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม

5 มีนาคม 2568 ศูนย์วิจัยพหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยพหุศาสตร์และสาขาวิชาสังคมศาสร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงมหาดไทย และคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา จัดเวทีสัมนาในหัวข้อ การจัดการประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในสถานศึกษา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

โดย ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พูดถึงประเด็นสถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทยและปัญหาการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ โดยกล่าวว่าสิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่ไปด้วยกัน ทุกคนเกิดมาต้องมีสิทธิในปัจจัย 4 แต่สิทธิจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหน้าที่รองรับ ถ้าครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ รัฐต้องเข้ามาช่วย และยังกล่าวอีกว่าการศึกษาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนสามารถสร้างปัจจัย 4 ให้ตัวเองได้ในอนาคต 

ในเรื่องการให้สถานะบุคคล ชำนาญวิทย์มองว่าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ในการให้สัญชาตินั้นก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้

“เรื่องการแก้ไขสถานะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะทุกวันนี้ในโซเชียลมีเดียก็มักจะมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น คนต่างด้าวที่เข้ามาแล้วไม่เคารพกฎหมาย หรือบางคนมีบัตรประชาชนแต่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก และส่งผลให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องรับมือกับปัญหาหลายด้าน”

ผศ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์

ด้าน ผศ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงอุปสรรคที่พบในการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ว่าพวกเขาต้องประสบปัญหาด้านสถานะทางกฎหมาย จากการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดว่าเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘คนต่างด้าว’ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับเด็กไทย โดยเฉพาะในการเข้าระบบการศึกษา นอกจากนั้นยังมี ปัญหาการขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิและขั้นตอนในการเข้าถึงการศึกษาหรือการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้เด็กบางคนไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาเท่าที่ควร

วงอร เสริมอีกว่าความตระหนักรู้ของสถาบันการศึกษา เป็นอีกอุปสรรคในการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ เพราะแม้ว่าบางมหาวิทยาลัยจะตระหนักถึงปัญหานี้ แต่โดยรวมแล้วในระดับประเทศยังไม่เพียงพอ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ก็ยังน้อย บางครั้งก็ทำให้เด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม 

“เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”

ทั้งนี้ วงอร ให้ข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ลดขั้นตอนหรืออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ควรมีการพัฒนาคู่มือหรือข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับครูและบุคลากรในการแก้ปัญหาสถานะของนักเรียน ควรจัดการให้การขอรับรองสัญชาติไทยมีความเร็วขึ้น เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันเวลา

ดร.พิสิษฎ์ นาสี

ดร.พิสิษฎ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ และสถาบันวิจัยพหุศาสตร์และสาขาวิชาสังคมศาสร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงปัญหาที่พบในการศึกษา นักศึกษาที่มีสถานะพิเศษว่า มักพบปัญหาในเรื่องการเดินทาง เช่น ต้องกลับภูมิลำเนาเพื่อขออนุญาต หรือปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากนักศึกษาต้องดูแลตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่าย บางครั้งก็ต้องทำงานพิเศษซึ่งอาจกระทบต่อการเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการพัฒนาอาชีพ เนื่องจากบางครั้ง นักศึกษาอาจถูกปฏิเสธการสมัครงานหรือได้รับตำแหน่งไม่ตรงกับความสามารถ เพราะข้อจำกัดทางกฎหมาย

พิสิษฎ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่ตระหนักถึงปัญหานี้และมีการช่วยเหลือนักศึกษาผ่านกลไกต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่มีทุนการศึกษาช่วยเหลือ นักศึกษาที่มีสถานะพิเศษ หรือการมีคลินิกกฎหมายที่ช่วยแก้ไขปัญหากฎหมายและสถานะของนักศึกษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาได้อย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่ตระหนักถึงปัญหานี้และมีการช่วยเหลือนักศึกษาผ่านกลไกต่างๆ แต่ระบบนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด และไม่ยั่งยืนเพราะขึ้นอยู่กับความสนใจของคณาจารย์และทรัพยากรที่มีของแต่ละมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและสร้างระบบที่รองรับนักศึกษาทุกคนอย่างยั่งยืนในอนาคต”

ดร.ศิวนุช สร้อยทอง

ในช่วงสุดท้าย ดร.ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา ได้อธิบายถึงปัญหาของคนที่มีสถานะบุคคลที่ไม่ชัดเจน โดยแบ่งกลุ่มคนที่มีปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มคนไร้รัฐ: คือคนที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร เช่น เด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้แจ้งเกิดตามขั้นตอน จึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชน (เลข 13 หลัก) และไม่สามารถรับสิทธิ์ต่างๆ ได้
2.กลุ่มคนไร้สัญชาติ: คือคนที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันสัญชาติไทย บางคนอาจจะมีการระบุเชื้อชาติแทนสัญชาติ เช่น กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ หรืออื่นๆ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติ
3.กลุ่มคนเสมือนไร้สัญชาติ: คือคนที่มีเอกสารเช่น สูติบัตร แต่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่สามารถใช้สิทธิ์ในบริการสวัสดิการต่างๆ ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงตัว

    ศิวนุชกล่าวว่า ปัจจุบันมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคนที่มีสถานะบุคคลที่ไม่ชัดเจนตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาคนที่อยู่มาเป็นเวลานานหรือเกิดในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันสถานะสัญชาติ โดยนโยบายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องดี แต่ยังมีความล่าช้าอยู่มาก ดังนั้นจึงอยากให้กระบวนการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิ์และการรับรองตามที่ควรจะเป็น 

    ศิวนุชกล่าวทิ้งท้ายว่าจะต้องมีการปรับปรุงระเบียบหรือกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต และการทำความเข้าใจในปัญหานี้จะช่วยให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องได้และสามารถเสนอแนะแนวทางแก้ไขได้ตามนโยบายของรัฐ

    ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง