ประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยง หรือประเพณีมัดมือ หรือ “อาง แล้ เค๊า” ในภาษาถิ่น เป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นในราวเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้านหรือตามที่ผู้นำหมู่บ้านกำหนด ในแต่ละหมู่บ้านอาจมีวันปีใหม่ไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่จะจัดหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบปี แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่มีการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวกันหลังจากวันขึ้นปีใหม่ผ่านพ้นไป

ประเพณีกินปีใหม่ถือเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและจำเป็นต่อชุมชน เนื่องจากใน 1 ปี จะจัดขึ้นเพียงหนึ่งครั้ง เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน รวมทั้งภายในหมู่บ้าน และเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองในรอบปี พิธีกรรมใน 1 วัน จะมีการมัดมืดครอบครัว และฟังเสียงดนตรีพื้นบ้านที่สามารถนำมาใช้แค่ในช่วงกินปีใหม่และงานแต่ง โดยเครื่องดนตรีเหล่านี้จะประกอบด้วย กลอง ฆ้อง ฉาบ บรรเลงพร้อมเพียงกันตลอดคืน และทุกบ้านจะมีข้าวต้มมัด ข้าวหนุนงา รวมทั้งกับข้าวหลากหลายชนิดเพื่อต้อนรับแขกและญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน



โดยที่มาของประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยง มาจากความเชื่อว่าต้องบูชาผีและวิญญาณ ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมเลี้ยงผีเกิดขึ้น ในพิธีกรรมนั้นตามประเพณีแล้วจะเริ่มทำพิธีที่บ้านผู้นำเป็นหลังแรกแล้วจึงจะไปทำพิธีให้กับชาวบ้าน ซึ่งกว่าจะครบทุกหลังคาเรือนอาจใช้เวลาหลายวันหลายคืน ในทุก ๆ หลังจะมีการหมักเหล้า ต้มเหล้าจากข้าวสุก ฆ่าไก่หรือแกงหมูเป็นอาหาร จากนั้นมีการดื่มเหล้ากันตามประเพณีแล้วจึงมีการมัดข้อมือด้วยฝ้ายดิบพร้อมกับมีคาถาอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข และนอกจากนี้ยังมีพิธีการรินเหล้าและนำเนื้อไก่เพื่อมาบวงสรวงต่อผีและวิญญาณอีกด้วย


ในวันนี้ (6 ส.ค. 2566) เฟสบุ๊คเพจ กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ก็ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศประเพณีกินปีใหม่กะเหรี่ยง บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง ณ ที่นี้เป็นการกินปีใหม่กะเหรี่ยงหลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลปลูกข้าว
ที่มา
- กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร
- ศูนย์มานุษยวิทยาศิรินธร
- กะเบอะดิน แดนมหัศจรรย์
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...