เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงจุดยืน การยุบพรรคก้าวไกลไม่ควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหากวินิจฉัยด้วยหลักวิชาทางกฎหมาย ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยมีเนื้อหาดังนี้
หากวินิจฉัยด้วยหลักวิชาทางกฎหมาย การยุบพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญจะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ผมก็ไม่มีคำตอบให้ได้ว่าผลจะออกมาในทิศทางเช่นใด แต่ถ้าหากยึดเอาหลักการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในความเห็นของผมคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการยุบพรรคเกิดขึ้น
เอาเข้าจริง ข้อพิพาทและข้อโต้แย้งในคดีนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก หากกล่าวโดยสรุป มีประเด็นสำคัญในคดีนี้สามเรื่องใหญ่ กล่าวคือ หนึ่ง ทางองค์กรผู้ยื่น (กกต.) ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ สอง องค์กรผู้ตัดสินมีอำนาจในการพิจารณาคดีหรือไม่ (ศาลรัฐธรรมนูญ) สาม การกระทำที่ทำให้เกิดการยื่นคำร้องเพื่อยุบพรรคก้าวไกล
สำหรับสองประเด็นแรกอาจเกี่ยวพันกับปัญหาเชิงขอบเขตอำนาจและกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (และอาจเป็นปัญหาในทางเทคนิคกฎหมายอยู่พอสมควร) ซึ่งผมจะยังไม่เข้าไปถกเถียงด้วย ประเด็นที่อยากชวนทำความเข้าใจก็คือ การกระทำอันนำมาสู่การยื่นให้มีการยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อกล่าวหาสำคัญก็คือ พรรคก้าวไกลมีการกระทำอันเป็นการล้มล้างในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยข้อเท็จจริงที่ถูกนำมากล่าวอ้างก็คือ คำวินิจฉัยที่ 3/2567, การเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม. 112, การประกันตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ม. 112 รวมไปถึงการเข้าไปร่วมชุมนุมและแสดงความเห็นในต่างกรรมต่างวาระเกี่ยวกับการแก้ไขตาม ม. 112
ในความเห็นของผม การกล่าวอ้างถึงคำวินิจฉัยที่ 3/2567 นั้นคือการกระทำในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่เสนอร่างกฎหมาย เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยขึ้น ทางกลุ่ม ส.ส. ก็ได้ยุติการกระทำดังกล่าว ก็ย่อมถือว่าการใช้สิทธิในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจบลง ทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นภารกิจตามปกติของฝ่ายนิติบัญญัติ การจะนำเอากรณีดังกล่าวมาขยายต่อว่าเป็นการมุ่งล้มล้างระบอบการปกครองฯ จึงดูจะไกลเกินกว่าข้อกล่าวหาอย่างมาก
(จำเป็นต้องกล่าวไว้ว่า “ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างสุดจิตสุดใจ” แต่ผมไม่สามารถเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ในความเห็นของผมคำวินิจฉัยนี้อาจจะกลายเป็น “ต้นไม้พิษ” ที่ออกดอกออกผลเป็นผลไม้พิษต่อประชาธิปไตยในภายภาคหน้า)
ไม่ต้องกล่าวถึงการทำหน้าที่ในการประกันตัว การเข้าร่วมการชุมนุม หรือการแสดงความเห็นต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิที่ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญาก็ให้การรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง (และทั้งหมดก็เป็นการกระทำในเชิงส่วนตัวมิใช่มติของพรรค) จะเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างมากที่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญถูกวินิจฉัยให้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองฯ ยิ่งคิดถึงว่าแนวทางในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ กกต. ก็ไม่ได้โต้แย้งในตอนยื่นนโยบายหาเสียงของพรรคแล้ว ก็ยิ่งชวนให้อัศจรรย์ใจมากยิ่งขึ้น
หากมีใครมาอธิบายว่าการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้แปรเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แล้ว ผมว่าคงถึงเวลาที่ต้องเผาตำรากฎหมาย (ที่ยังหลงเหลืออยู่น้อยนิด) กันแล้ว
ผมก็ยังยืนยันและนั่งยันว่าหากพิจารณาการยุบพรรคก้าวไกลด้วยหลักวิชา โดยเฉพาะหลักรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการยุบพรรคก้าวไกลขึ้น
แต่นั่นแหละ สุดท้ายผลคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องต่างหาก เหมือนกับหลายครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาในสังคมแห่งนี้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...