‘ห้วยหินลาดใน’ เปิดบ้านรับ รมว.วัฒนธรรม-กมธ.ชาติพันธุ์ฯ สะท้อนปัญหาป่าทับคน หาแนวทางคุ้มครอง ‘ไร่หมุนเวียน’ 

ภาพ : ปวรณ์รัชดล พุ่มเจริญ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ลงพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน ม.7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในวาระครบรอบ 14 ปี มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งชุมชนบ้านห้วยหินลาดในถือเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ หรือ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่แรกตามมติ ครม. ดังกล่าวด้วย

ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้มาศึกษาดูและ ณ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเช่นกัน นำโดย การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ, ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, ตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และ มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

โดยกิจกรรมทั้ง 2 วันนั้นมีทั้งการจัดวงเสวนา การรับฟังรูปธรรมและศักยภาพในการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามจากหน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อระบบการเกษตรแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านห้วยหินลาดใน 

หลายเสียงสะท้อน ท่ามกลางศักยภาพพบข้อจำกัด ‘กฎหมายป่าไม้’

ตลอด 2 วันของการดูงานและแลกเปลี่ยนกับชุมชน ชาวบ้านห้วยหินลาดในได้พยายามสะท้อนถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เนื้อที่ประมาณ 10,200 ไร่ ที่แบ่งเป็นทั้งพื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่วนเกษตร และป่าชุมชน รวมถึงการพัฒนาฐานเศรษฐกิจจากต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน แต่ขณะเดียวกันชุมชนกลับพยายามสะท้อนข้อกังวลว่าอาจไม่สามารถสืบทอดวิถีวัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้สู่ลูกหลานได้ เนื่องจากพื้นที่ยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และยังได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายการจัดการที่ดิน-ป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ระหว่างที่คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ชาวบ้านได้สะท้อนความกังวลใจและข้อเรียกร้องต่อกลไก กมธ. ชุดดังกล่าว อันเกิดจากปฏิบัติการ ‘พิทักษ์ไพร’ ของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ที่ได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อทำลายข้าวของในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชนเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 รวมถึงเกิดปฏิบัติใกล้เคียงกันที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านขุนอ้อนพัฒนา จ.ลำปาง สะท้อนให้เห็นว่า 14 ปีหลังมีมติ ครม. คุ้มครองชาวกะเหรี่ยงก็ยังไม่สามารถคุ้มครองได้จริง จึงควรมีการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ที่มีเนื้อหาคุ้มครองชาวบ้านจากการบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีผลในทางปฏิบัติ

นิราภร จะพอ เยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน กล่าวกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า ที่ผ่านมาทั้งกลุ่มเยาวชนและผู้เฒ่าในหมู่บ้านถูกรัฐรุกรานมาโดยตลอด แต่ก็ได้พยายามออกมาขับเคลื่อนด้วยการทำข้อมูลชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ให้ออกมาเป็นทางการเพื่อต่อรองกับรัฐว่าเรามีรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างไร เราดูแลพื้นที่แบบ แต่ ณ ตอนนี้ถึงเราจะเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง ก็เหมือนกับเป็นพื้นที่ทั่วไป เหมือนชุมชนอื่นๆ เรายังมีความกังวลของพี่ๆ น้องๆ และเด็กรุ่นใหม่ ถึงความไม่มั่นคงในที่ดินและวัฒนธรรมของเราที่โดนคุกคามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่รู้จะถูกทำให้สูญหายไปเมื่อไร 

“ในฐานะคนปกาเกอะญอ ไร่หมุนเวียนเป็นหัวใจหลักของชุมชน ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียนก็ไม่มีป่า การทำไร่หมุนเวียนทำให้ป่าที่นี่ยังอยู่และอุดมสมบูรณ์ ณ ตอนนี้พื้นที่ของไร่หมุนเวียนหลายๆ พื้นที่ก็โดนคุกคาม มีปัญหาทั้งเรื่องที่ดิน และการเผาที่มีปัญหาหมอกควัน อย่างไร่หมุนเวียนเป็นวิธีการทำเกษตรในป่าแบบยั่งยืน แต่ว่าการรับรู้และการเข้าใจของสังคมและรัฐอาจจะยังน้อยมาก เสนอว่าจะต้องมีการคุยกัน ในฐานะที่เป็นเยาวชนเรารู้สึกว่าไร่หมุนเวียนที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ดูแลรักษาป่ายังไม่มั่นคง เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไรจะถูกยึดคืนเพราะอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ” นิราภร กล่าว

ด้าน ประสิทธิ์ ศิริ อีกหนึ่งเยาวชนจากบ้านห้วยหินลาดใน กล่าวว่า ในฤดูหยอดข้าวไร่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้แอพลิเคชันพิทักษ์ไพรมาจัดการชาวบ้าน โดยมองว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการบุกรุกป่า แต่พื้นที่ที่ถางเพื่อทำไร่นั้นจริงๆ คือพื้นที่ทำกินที่ชุมชนพักฟื้นเอาไว้ 7 ปี หากใช้การมองแค่ภาพดาวเทียมจะถูกเหมารวมว่าเป็นป่าทั้งหมด แต่ไร่หมุนเวียนนั้นเป็นรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่เราได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ต้องพึ่งสารเคมีเหมือนพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า

“อยากนำเสนอต่อกรรมาธิการว่าไร่หมุนเวียนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชาวปกาเกอะญอ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าได้เข้ามาทำลายข้าวของทำให้เป็นที่กังวลต่อชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ด้วยว่าการทำไร่หมุนเวียนจะถูกจับไหม ชาวบ้านกังวลว่าไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และในพื้นที่เราก็ยังเจอสถานการณ์แบบนี้ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี” ประสิทธิ์กล่าว

สมชาติ รักษ์สองพลู ตัวแทนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านกลาง ม.5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ก็ได้กล่าวย้ำกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า 14 ปีของมติ ครม. ที่จะต้องนำเสนอเป็นกฎหมาย ไปไม่ได้เพราะมีปัญหา พื้นที่นำร่องยังถูกคุกคาม ยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 14 ปีที่ผ่านมาหลายๆ พื้นที่ถูกยึด เป็นคดี ฟ้องร้อง จะมีความมั่นใจที่จะไปทำมาหากินได้อย่างไร ปกาเกอะญอถือว่าไร่หมุนเวียนคือชีวิต ซึ่งเราไม่มั่นใจว่า พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ที่กำลังผลักดันกันอยู่ขณะนี้จะคุ้มครองไร่หมุนเวียนได้จริงหรือไม่

“ร่างของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือความหวังของพี่น้องชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน อยากให้เขียนคุ้มครองแบบไม่มีปัญหาในอนาคต และฝากในเรื่องของการคุกคามไร่หมุนเวียนบ้านห้วยหินลาดใน ว่า สส. ที่ทำงานเรื่องชาติพันธุ์ก็ต้องเป็นปากเสียงให้ชาวบ้านด้วย” สมชาติย้ำ

รมว.วัฒนธรรม – กมธ.ชาติพันธุ์ รับเรื่องร้องเรียนปมกระทรวงทรัพยากรฯ คุกคามไร่หมุนเวียน 

ทั้ง 2 วันของการดูงานของทั้ง 2 คณะ ชาวบ้านห้วยหินลาดในได้ยื่นหนังสือ โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้ทั้ง 2 ส่วน เร่งหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางเดินหน้าจัดทำแผนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีผลในทางปฏิบัติ และให้การคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะไร่หมุนเวียน เป็นแนวทางหลักที่ต้องเกิดขึ้นในกฎหมายชาติพันธุ์ฯ ที่กำลังผลักดันกันอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

โดยในวันที่ 3 ส.ค. 2567 หลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า อยากให้กฎหมายชาติพันธุ์ฯ เป็นก้าวแรกที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด และที่ได้มารับฟังชาวบ้านวันนี้ คิดว่าจะพยายามนั้นครอบคลุมที่สุดเช่นกัน ส่วน ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ย้ำว่าทั้ง 35 มาตราในร่างกฎหมายได้พิจารณากันเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้กำลังการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับน้องเรา พวกเราทำงานเต็มที่ คนในสังคมต้องมองเห็นพวกเรา และต้องเข้าใจพวกเราจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ 

ส่วนในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 หลังคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังปัญหาของชาวบ้านแล้ว ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนว่าในบทบาทของแต่ละคนจะดำเนินการอย่างไร

ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษา และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า สส. 500 คนในสภามีความเข้าใจต่อปัญหาของพี่น้องมากขึ้น ในขณะเดียวกันในอดีตเราพบความแข็งตัวของภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมายที่ควรจะดีขึ้น กลับพบนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร ซึ่งสิ่งที่ตนจะทำหลังจากนี้ ได้แก่

1. เรื่องเร่งด่วนโดยเฉพาะเรื่องที่ไปละเมิดสิทธิของพี่น้องที่รับหนังสือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ จะถูกพิจารณาในสภา ในกรรมาธิการ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก หรือถ้าเกิดอีกจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ตนจะพยายามใช้เงื่อนไขของสภาไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นอีก 

2. ขณะนี้ถือว่าสภาได้รับหลักการคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ไปแล้ว หมายความว่าสภามีสัญญากับประชาชนว่า รับไปแล้วจะต้องทำให้เสร็จ แต่สิ่งที่กังวลจริงๆ คือหมวดที่ว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ร่างทุกร่างยังไม่สามารถไปงดเว้นหรือครอบคลุมการใช้กฎหมายอื่นได้ จะต้องเขียนอย่างไรให้ปลดแอกจากกฎหมายป่าไม้ให้ได้ ที่ไม่ได้ตัดสิทธิ์ความเป็นอุทยาน หรือพื้นที่ซับซ้อน แต่ออกแบบมาว่าพื้นที่แบบนี้เป็นพื้นที่ให้ชุมชนออกแบบการบริหารจัดการกันเอง ถ้าทำไม่ดีคณะกรรมการก็สามารถเพิกถอนสิทธิได้ 

“ผมให้คำมั่นว่าประเด็นพื้นที่คุ้มครองจะเป็นประเด็นที่ถูกพัฒนา ถ้าข้อความในตัวกฎหมายไม่ได้ดีไปกว่ามติ ครม. 3 ส.ค. 2553 อย่าไปออกเลย อันนี้ต้องขอเวลาจริงๆ และอยากเห็นการมีส่วนร่วม พี่น้องช่วยกันสื่อสาร และอธิบายต่อคนในสังคมอื่นด้วย” ณัฐวุฒิกล่าว 

ทั้งนี้ เดือน ส.ค. ถือเป็นเดือนสำคัญของการผลักดันการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากตรงกับวันสำคัญ 2 วัน ได้แก่ วันที่ 3 ส.ค. 2553 ที่ประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และวันที่ 9 ส.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ซึ่งในช่วงเดือน ส.ค. นี้เองที่จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอย่างแพร่หลาย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง