ภูมิปัญญาคนเหนือ ‘ไล่หนู-ตีงู’ ทำยังไง?

หนูและงู เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่ก็สร้างปัญหาชวนปวดหัวต่างๆ มากมาย เป็นปัญหาคู่บ้านคู่เรือนที่แก้ยังไงก็แก้ไม่ตก หวังจะเอาแมวมาไล่หนูก็แก้ปัญหาได้ไม่ขาด หรือจะไปฆ่างูก็หวั่นบาปกรรม โดยในภาคเหนือนั้นก็มีภูมิปัญญาในการ ‘ไล่หนู-ตีงู’ ในแบบฉบับของตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน

ในภาคเหนือที่ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาและป่าไม้ ก็มีวิธีง่ายๆ อย่างการใช้ไม้หวดไปมาให้เกิดเสียงเสียดสีในอากาศระหว่างเดินอยู่ตามป่าเขา ซึ่งจะส่งผลกับการรับรู้เสียงของงู เพราะงูเป็นสัตว์ที่มีหูเป็นกระดูกที่คอยจับการสั่นสะเทือน แต่สามารถรับการสั่นสะเทือนได้ต่ำแค่ 50-1,000 เฮิรตซ์ (hertz) เท่านั้น และจับการสั่นได้ดีจากพื้นดินหรือในน้ำ การสั่นของไม้กวาดทางมะพร้าวบนลานดิน งูจะรับรู้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับสัตว์เกือบทุกชนิดจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้โดยไม่จำเป็น เสียงการเสียดสีการกันของไม้และอากาศจึงเสมือนการบอกอาณาเขตของเราไปด้วยในตัว 

แต่ในปัจจุบันที่ความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป พบว่าภูมิปัญญาการใช้เสียงไล่งูด้วยวิธีกวาดบ้านอาจจะไม่ส่งผลดีเท่ากับในอดีต เนื่องจากในเมืองมีเสียงต่างๆ มากมาย จนทำให้งูต้องปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีง่ายๆ อย่างการกวาดบ้านก็เป็นการทำให้ที่อยู่อาศัยโปร่งโล่งและสะอาดอยู่ตลอด ก็เป็นวิธีที่ใช้ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ รวมถึงงูไม่ให้เข้ามาในบริเวณที่อยู่อาศัยของเราได้

ในส่วนของภูมิปัญญาการไล่หนูในภาคเหนือ จะผูกโยงอยู่กับการเกษตร ซึ่งเป็นการป้องข้าวเปลือกจากความเสียหายโดยหนู ด้วยการตัดกิ่งของต้นมะกรูดที่มีใบมาทุบเพื่อขับกลิ่น และนำไปวางไว้บริเวณกระสอบข้าวเปลือกหรือบริเวณอื่นๆ ที่มีหนู

นอกจากนั้นยังมีภูมิปัญญาการไล่หนูในบ้านเรือนโดยการใช้สมุนไพรอย่างระกำและสะระแหน่ ด้วยการผสมน้ำมันระกำ 10 ส่วนเข้ากับน้ำมันสะระแหน่ 90 ส่วน นำไปทาตามทางเดินของหนูในบ้าน เพราะกลิ่นของส่วนผสมทั้งสองอย่างเป็นกลิ่นที่หนูไม่ชอบนั่นเอง 


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง