พฤษภาคม 6, 2024

    ข่าวดี! พบนากชุกชุม บริเวณแม่น้ำอิงตอนกลาง เตรียมประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์

    Share

    8 กุมภาพันธ์ 2566

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตทำการรวบรวมข้อมูลภาพกล้องดักถ่ายสัตว์ ที่ติดตั้งริมฝั่งแม่น้ำอิง บ้านวังศิลา จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 30 วัน พบตัวนากเป็นจำนวนมาก ด้านชุมชนเตรียมประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านวังศิลาพื้นที่ 500 เมตร โดยโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ศูนย์วิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดอบรบการติดตั้งกล้อง Camela trap ร่วมกับ 15 ชุมชนในลุ่มน้ำอิง

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต รายงานว่า วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ทำการรวบรวมข้อมูลภาพกล้องดักถ่ายสัตว์ ที่ติดตั้งริมฝั่งแม่น้ำอิง บ้านวังศิลา ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ร่วมกับผู้รู้ในชุมชน โดยใช้เวลาการตั้งกล้องประมาณ 30 วัน ผลจากการบันทึกภาพของกล้องพบนากอาศัยอยู่ในแม่น้ำอิงเป็นจำนวนมาก และได้เก็บมูลนากเพื่อส่งตรวจหาสารพันธุกรรม ส่วนทางด้านชุมชนพร้อมเตรียมประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านวังศิลาพื้นที่ 500 เมตร เป็นพื้นที่ปลอดภัยบ้านนาก เพื่อเป็นพื้นที่แหล่งอาศัยปลอดภัยของนากแม่น้ำอิง

    สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ศูนย์วิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อบรมจรรยาบรรณการทำวิจัยสัตว์ป่า เทคนิคการติดตั้งกล้อง Camela trap และการเก็บมูลนากเพื่อตรวจหาสารพันธุ์กรรม DNA ร่วมกับ 15 ชุมชนในลุ่มน้ำอิง จากปากแม่น้ำอิงไปจนถึงต้นน้ำกว๊านพะเยา ผลการตั้งกล้องและเก็บมูลนาก 48 ตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ พบนากเป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป (Lutra lutra) มีลักษณะทางพันธุ์กรรมสายแม่ (mtDNA haplotype) 8 รูปแบบ และนากที่พบบ้านวังศิลาเป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    แม่น้ำอิงในพื้นที่ชุมชนบ้านวังศิลา ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ได้ทำการเก็บมูลนากและติดตั้งกล้องดักถ่าย ริมฝั่งแม่น้ำอิงบริเวณรอบเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา พบกองมูลนากและร่องรอยนากเป็นจำนวนมากกว่าพื้นที่ชุมชนอื่นในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย จากการติดตั้งกล้อง Camela trap จำนวน 5 ตัว พบการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวนากทุกกล้อง เป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป (Lutra lutra) มีนากอาศัยอย่างชุกชุม เนื่องจากเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนากในฤดูแล้ง

    นายม้วน ไชยราช ชาวบ้านพรานปลาบ้านวังศิลา ได้พูดถึงการพบเจอนากครั้งนี้ว่า

    “บ้านวังศิลาเรามีแม่น้ำอิงและแม่น้ำสาขาและที่ชุมชนเรามีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา นากเลยมีเยอะ เยอะมากและคนบ้านเราก็ไม่ค่อยฆ่านาก ไม่กินนาก ในแม่น้ำอิงมีปลาเยอะเลยทำให้มีนากเยอะตามมาด้วย ระยะทางจากบ้านหมู่ 8 ไปจนถึงบ้านหมู่ 2 มีนากไม่ต่ำกว่า 30 ตัวนู่นแหละ มันชอบอยู่เป็นกลุ่ม ถัดไปทางบ้านวังแดง ร่องช้างก็มีนากเยอะเหมือนกัน นากก็ไม่ได้มีผลกระทบกับคนหาปลาเท่าไหร่ ก็มีบ้างนิดหน่อย ต่างคนต่างกินปลาเหมือนกันต่างคนต่างหากิน นากเขากินไม่เยอะกินแค่ตัวสองตัวก็อิ่มแต่คนนี่สิหาปลาเยอะกินไม่หมดก็หาขายอีก”

    นากที่พบในชุมชนบ้านวังศิลาเป็นนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป (Lutra lutra)  เป็นนากขนาดใหญ่กว่านากชนิดอื่นที่พบในประเทศไทย นากใหญ่ธรรมดาลำตัวมีความยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร หายางยาวประมาณ 35-50 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดที่ชาวบ้านเคยจับได้ประมาณ 7 กิโลกรัม นากอาศัยอยู่ในป่าติดกับแม่น้ำอิง กินสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงนกน้ำ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กเป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางคืน นากมีขนหนาและป้องกันน้ำซึมเข้าผิวหนัง   ขนมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ว่ายน้ำคล่องแคล่ว พบเจอตัวได้ยาก มีความฉลาดเอาตัวรอดได้ดีในธรรมชาติ การพบตัวนากเป็นเรื่องที่ยาก มักพบนากอาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำที่มีปลาชุกชุม และมีป่าริมฝั่งเพื่อเป็นที่หลบอาศัยของตัวนาก

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    นายคำพัน วิเศษภักดี ชาวบ้านวังศิลา ม.8 ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย

    “หลังจากมาดูกล้องดักถ่ายพบว่ามีนากเยอะมาก เรามีความคิดว่าหลังจากเห็นนากอาศัยอยู่ที่นี่เยอะเลยอยากจะอนุรักษ์นากไว้เพราะนากก็เป็นสัตว์ส่วนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านเรา เมื่อเรารู้แล้วว่ามันอยู่ที่ไหนก็สมควรอนุรักษ์เช่นแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน เราต้องมาคิดช่วยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนกับนากอยู่ได้ อยากอนุรักษ์นากให้อยู่กับชุมชน จัดการระบบนิเวศน์ริมฝั่งแม่น้ำอิงอย่างไรให้มันอยู่อาศัยได้ ตอนนี้ป่าริมน้ำเหลือน้อยมาก ป่ากลายเป็นพื้นที่การเกษตรเกือบหมดแล้ว เราอยู่อย่างเอื้อเพื้อเผื่อแผ่อำนวยกันได้อย่างไรระหว่างคน ปลาและนาก เพราะเป็นสัตว์ที่หาเบิ่งยากใกล้สูญพันธุ์ เรารู้ว่ามีนากอยู่ที่นี่ แต่ก็พึ่งได้เห็นตัวก็ตอนมาถ่ายกล้องนี่แหละ อยากให้นากอยู่กับคู่ลูกคู่หลานเราต่อไปในอนาคต ชุมชนก็คงจะหาทางการอนุรักษ์นาก รวมถึงการพูดคุยกับทุกคนในชุมชนให้ตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์นากต่อไป”

    ปัจจุบันนากเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หาพบตัวได้ยาก ในประเทศไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีสถานะจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1) ของอนุสัญญาไซเตส ในลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย ยังคงมีการพบนากกระจายอยู่ตามลุ่มน้ำในจำนวนที่น้อยมาก ในการพบจากอยู่เป็นกลุ่มและชุกชุมในพื้นที่บ้านวังศิลา ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ทำให้ทางชุมชนมีแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งอาศัยของนาก ซึ่งนากที่พบในลุ่มน้ำอิงมักเจอนากอาศัยอยู่ตามวังอนุรักษ์หรือแหล่งน้ำของชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยังมีป่าริมน้ำหรือป่าชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เพราะนากเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่บนฝั่งป่าริมน้ำและหากินปลา สัตว์ในแม่น้ำ ซึ่งระบบนิเวศน์ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยของนาก แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ได้ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    นายไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้พูดถึงการสำรวจนากครั้งนี้ว่า

    “เราได้ฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีนากเยอะมากที่ชุมชนวังศิลา จึงได้ประสานชุมชนทำการติดตั้งกล้องและเก็บมูลนาก เราพบรอยเท้านากเยอะมาก พอตั้งกล้องเราก็เจอนากซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญมากว่าที่นี่เยอะมาก เราไม่มีข้อมูลมาก่อนว่าที่ลุ่มน้ำอิงตอนกลางมีนากอยู่ด้วย การเจอนากเยอะ ๆ มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์ มีปลาเยอะ พรานปลาก็เยอะการเจอนากด้วยก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งด้วย จากการที่เราเจอทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จากการกระจายติดกล้องทั้ง 5 ตัวก็เจอทั้ง 5 ตัว”

    การพบเจอตัวนากในครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับชุมชนที่ได้เห็นตัวนากผ่านกล้องดักถ่าย ทางชุมชนเตรียมปรึกษาหารือออกแบบแนวทางการอนุรักษ์นากในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และเตรียมประกาศเป็นบ้านปลอดภัยนากในระยะต่อไป

    นายไกรทอง เหง้าน้อย ได้กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์นากในลุ่มน้ำอิงในครั้งนี้ว่า

    “การที่เราเจอนาก ก็เป็นจุดเริ่มต้นของทางเรากับทางชุมชนว่าจะอนุรักษ์นากกันอย่างไร การอนุรักษ์นากก็คือการดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน นากอยูกับคนได้โดยไม่ขัดแย้งเรื่องการหากินกับคนหาปลาแม่น้ำอิง เป็นมุมหนึ่งที่ต้องหารือกับชุมชน เรื่องการสนับสนุนกองทุนนาก อนุรักษ์นากให้ชุมชนดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนากให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้นคนก็อยู่อยู่ได้นากก็อยู่ได้”

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมีแนวทางในการอนุรักษ์นากร่วมกับชุมชน รวมถึงการศึกษานากที่เป็นการศึกษาในรูปแบบทางวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบชนิดนากในลุ่มน้ำโขง น้ำกก แม่น้ำอิงตอนต้น แม่น้ำอิงตอนปลาย ว่าเป็นนากชนิดไหนบ้าง มีสายพันธุ์กรรมแม่เป็นอย่างไร การพบเจอนากในแหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำด้วย รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของนาก ที่อาศัยอยู่ระบบนิเวศนป่าริมฝั่ง หรือป่าชุ่มน้ำที่ติดกับแหล่งน้ำที่มีปลาชุกชุม ส่วนใหญ่มักพบนากในป่าชุ่มน้ำที่ติดกับระบบนิเวศน์วัง หรือเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง และปัจจุบันทางสมาคมฯ ร่วมกับชุมชนนำร่องแม่น้ำอิง 7  ชุมชน ในการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน และผลักดันการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนปลายที่ตอนนี้เหลือเพียง 26 แปลง พื้นที่ 8,000 กว่าไร่ให้คงอยู่กับแม่น้ำอิง

    ข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    Related

    Lanner Joy : จากใจผู้สร้างสเปซศิลปะ SOME SPACE ที่อยากเห็นเด็กศิลป์รุ่นใหม่ทำงานที่รักได้โดยไม่ต้องย้ายไปเมืองอื่น

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ได้มาเยือนชุมชนควรค่าม้า ฐานทัพของ Addict Art Studio สตูดิโอที่ทำให้เทศกาลศิลปะชุมชนในเชียงใหม่กลายเป็นหมุดหมายประจำปีของใครหลายคน วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้งเพื่อพบกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง...

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...