เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
“เปลี่ยนหน้าโลว์ให้เป็นไฮ! ด้วยพลังดนตรี”
มีอะไรให้ได้ตื่นเต้นอีกแล้วกับ “ไฮโฮะ เชียงใหม่” High HO Chiang Mai เทศกาลดนตรีที่จะทำให้เชียงใหม่ “ไฮ” ตลอด 20 วันเต็มที่โฮะรวมกว่า 80 ศิลปิน ที่จะขนเพลง Original ไปเล่นใน Music venue ทั่วเมืองเชียงใหม่ 20 วันเต็ม ๆ แน่นอน แค่เห็นโพสต์ของงานนี้ก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมแน่นอน ที่สำคัญมันก็เย้ายวนใจเหลือเกินที่จะขอเข้าไปคุยกับทีมจัดสักหน่อย
Lanner เลยขอ Joy ชวนคุยกับเหล่าผู้ก่อการสร้างสรรค์ที่ยกโขยงกันมา 5 คน ทั้ง ชา-สุพิชา เทศดรุณ จาก Chiang Mai Original หรือชาจากคณะสุเทพการบันเทิงที่หลายคนรู้จัก, เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ จาก TEMPO.wav และหลายคนก็คงคุ้น ๆ ว่าเอิงเคยเขียนคอลัมน์ Joy ใน Lanner วันนี้มาโดนสัมภาษณ์เองบ้าง (ฮา), มัท-เทอดพงศ์ พงษ์จินดา ศิลปินจากวง srwks. (Sorrow Weeks), แอล-ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์ หรือ Lrie หนึ่งในสมาชิกจาก Chiang Mai Original Young Blood และ หมูใหญ่-คมสัน ไชยวงค์ ทีม Media ของไฮโฮะเชียงใหม่ ที่สนใจการขับเคลื่อนเมือง ที่จะมาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น ความท้าทาย และสิ่งที่หวังกับการเปลี่ยนฤดูที่เงียบเหงาของเมืองเชียงใหม่ ให้คึกคักไปด้วยเสียงเพลงและผู้คน
แนะนำว่าระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้ลองเปิดเพลย์ลิสต์จากศิลปินเชียงใหม่ไปด้วย เพิ่มอรรถรสและเตรียมไปสนุกด้วยกันระหว่างวันที่ 15 กันยายน – 14 ตุลาคม ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ High HO Chiang Mai หรือทาง https://cnxfest.com/highho
ทำไมต้อง ไฮโฮะ เชียงใหม่
ชา : ใน Chiangmai Original มันจะมีโปรเจ็คที่ชื่อว่า เชียงใหม่โฮะ เกิดขึ้นครั้งแรกตอนปี 2021 (2564) ช่วงโควิด ตอนนั้นศิลปิน วงดนตรีเชียงใหม่ไม่ได้เล่นดนตรีกันมานานหลายเดือน เราอาศัยช่วงคลายล็อคดาวน์ครั้งแรก ปี 2021 โพสต์ชวนเพื่อน ๆ ว่าใครอยากเล่นดนตรีกันบ้าง ตอนนั้นก็มารวมกันไปเล่น แล้วเราก็ทำต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยใช้ชื่อว่าเชียงใหม่โฮะ
แต่ที่ผ่านมาให้หลัง ครั้งที่ 2 3 4 มันไปแปะงานเชียงใหม่ซีเคร็ทของวันนิมมาน ช่วงปลายปีเดือนธันวาคม ซึ่ง concept ของเชียงใหม่โฮะ คือการที่เอาดนตรี ศิลปินของเชียงใหม่ที่ทำเพลงของตัวเอง ไม่ว่าจะแนวอะไรก็ตามแต่ ที่อยากจะเอามานำเสนอให้คนดู มาเล่นด้วยกัน แล้วก็จัดไลน์อัพโดยเอาวันเวลาที่ศิลปินสะดวก เพราะงั้นในบางวัน แนวเพลงมันก็จะโฮะ ๆ โฮะกันหมด มันก็เลยชื่อนี้
ส่วน High HO เนี่ย ชื่อน่าจะมาทีหลัง ไม่รู้ใครตั้ง อาจจะตั้งด้วยกัน แต่ไอเดียที่จัดงานตอนช่วงเดือนกันยายน มันมีในหัวพี่มาซัก 2-3 ปีละ แต่ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วเพิ่งได้คุยกับ โบล่า Thapae East คุยกับปอ North Gate ว่า “เฮ้ย หน้า Low season เรามาจัดดนตรีกันเถอะ”
คือพี่จะทำงานกับศิลปิน original ไม่ได้อยู่ในวงการวงดนตรีกลางคืนตามร้านเหล้า เราก็จะรู้จักกับน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่ทำดนตรีของตัวเอง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราทำงานกับด้านนี้มาตลอด ก็เลยคิดว่าลองดูมั้ย หน้า Low season เพราะหลาย ๆ วงไม่ค่อยมีทัวร์ หน้าฝนเนี่ย Festival กลางแจ้งมันไม่ค่อยมี เราก็อยู่ในเชียงใหม่กันหมด แล้วเมืองมันก็เงียบ ๆ เราก็เลยมาลองทำให้เมืองมันคึกคักกันดู โดยใช้พวกเราสนุกกันเองก่อนมั้ย และไปกระจายเล่นตามร้านเพื่อน ๆ ให้ร้านมันคึกคักกันเอง แล้วเราก็ทำ Content ถ่ายคลิป ถ่ายรูป ถ่ายอะไรออกไป อันนี้เป็นไอเดียแรก ๆ ปีที่แล้วคุยกับโบล่ากับปอไว้แล้ว ต้นปีก็เลยมาคุยซ้ำอีกที แบบว่าเจอใครก็คุยหมด
มันน่าสนใจตรงที่ทุกคนก็เอาด้วยหมด สนุกกัน แต่เราก็ยังไม่ได้คิดชื่อ ก็เลยเสนอ ๆ กัน คุยกันตั้งแต่ประมาณต้นกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าเราจะจัดมั้ย ซึ่งพี่อ่ะไม่ไหวแน่นอน อย่างตอนจัดเชียงใหม่โฮะก็เหนื่อยแล้วนะ เพราะว่าวงมันเยอะ แล้วก็หลายวัน เพียงแต่ว่ามันที่เดียว แต่ไอเดียของเรามันหลายที่ ก็เลยชวนกัน แต่พอดีว่าเราก็คุ้นหน้าคุ้นตากันมานาน ลุยกันหลายเหตุการณ์ ก็เลยรู้ว่าใครทำอะไรได้บ้าง ข้อดีของงานนี้ คือทีมมันเยอะขึ้น ใหญ่ขึ้น ทำให้พี่สบายมาก พี่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย
เรามาคุยกับทีมว่าจะเอาชื่ออะไรดี พอมาถึง Low season ก็เอ้ยชื่ออะไรดี ก็คิดถึง High season งั้นก็เอา ‘โฮะ’ ละกัน เพราะ concept ก็ใกล้เคียงกัน วงก็เยอะ หลายแนว โฮะร้านเข้าไปด้วย ก็เลยออกมาเป็น ‘Highho’
เอิง : สิ่งที่น่าจะแตกต่างกับเทศกาลดนตรีอื่น ๆ ก็คือ มันนอกเหนือจากแค่ศิลปิน Original มาหลากหลายวง คือพื้นที่ดนตรีในเชียงใหม่ที่มันมีหลากหลาย เช่น Music venue ก็จะอยู่ในไลน์อัพด้วย ฉะนั้นการโฮะมันก็จะไม่ใช่แค่ว่าศิลปินเชียงใหม่มีหลากหลาย แต่อาจจะได้เห็นศิลปินนั้น ๆ ที่ปกติเล่นอยู่ที่ร้านเดิมในโซนของเขาเอง เขาอาจจะได้ไปโผล่ที่อื่นบ้าง เช่น เราอาจจะได้เห็นวงสุดสะแนน ไปเล่นที่ Minimal Bar ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราต้องการให้มันเกิด Networking การแลกเปลี่ยนกันในเมืองเองด้วย จากกลุ่มดนตรีที่มันมีหลากหลายในเชียงใหม่
ชา : ใช่ ๆ น่าสนใจมาก คือตัวเมืองเชียงใหม่มันประมาณนี้ แต่เราก็จะรู้ว่ามันจะมีกลุ่มแนวเพลง แนววงที่เล่นอยู่ประจำ ร้านนี้เป็นฟิวชั่น ร้านนี้แจ๊ซ ร้านนี้โซล แต่จริง ๆ นักดนตรีมันมองหน้ามันก็รู้จักกันหมด เพียงแต่ว่าคนดูที่เราไม่เคยเห็น คือ คนดูที่แตกต่าง สมมติเราเล่นร้านนี้ก็จะเห็นคนดูคนนี้ แต่บางทีเราก็อยากให้เพื่อนเรามาเล่นทางนี้ แล้วเราไปเล่นตรงนั้นบ้าง เพื่อให้มันเกิดการ Cross ข้ามกันไปมาของคนฟังด้วย ศิลปินก็ได้ไปเจอแฟนเพลงใหม่ ๆ มันก็ได้ประโยชน์กันหมดอ่ะ ร้านเองก็ได้ประโยชน์ ได้เห็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยมาร้านมาก่อน เห็นวงดนตรีที่ตัวเองไม่เคยเห็นอะไรงี้
เอิง : ช่วงก่อนปรากฎการณ์มันก็ต่อมาจาก My Hometown Project ด้วย พอเราได้สัมผัสการออกไปหลาย ๆ ร้าน ก็ได้เห็นว่าจากการที่ศิลปินคนเดิมย้ายไปทั้งหมด 10 กว่าร้าน มันก็ได้คนดูอีกแบบนึงด้วย แบบว่าเราส่งสัญญาณออกไปว่าเชียงใหม่มีดนตรีอยู่ทุกที่
“เปลี่ยนหน้าโลว์ให้เป็นไฮ! ด้วยพลังดนตรี” ที่บอกว่าจะเปลี่ยน low season ให้เป็น high season นี่หมายความว่ายังไง
มัท : ผมตอบในพาร์ทที่ผมไม่ได้ทำเพลง ในฐานะศิลปินที่เล่นตามร้านนะครับ มันจะเป็นช่วงเดือนประมาณกลางกรกฎาคม-ตุลาคม เค้าจะเรียกกันว่าหน้า Low ร้านเล่นกลางคืนบางร้านก็จะปรับเรทลง ลดรอบลง หรือแคนเซิลไปเลย เพราะลูกค้าน้อย คนมาเที่ยวน้อย เราอยากสร้างตรงนี้ว่า ไม่ว่าหน้าไหนฤดูอะไรเราก็มารวมตัว ทำอะไรสนุก ๆ กันได้ ไม่จำเป็นต้องไปรอแค่ตอนธันวา มกรา หรือช่วงเทศกาล
เอิง : จริง ๆ แล้วการเสพวัฒนธรรมมันไม่มี Season มันทำได้ตลอดเวลา
ชา : มันไม่ใช่แค่เทศกาลด้วย อย่างศิลปะ หรืออะไรที่มันผูกด้วยเทศกาล ผูกกับเดือนหรือฤดู สุดท้ายมันก็จะมี Season ของมัน มาสงกรานต์ก็ต้องมาเมษา มางานยี่เป็ง เราจะมองเชียงใหม่เป็นอย่างงั้น เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่พอเรามานั่งไล่ดู เดือน ประเพณี เทศกาลต่าง ๆ มันมาตกท้องช้างเอาช่วงนี้แหละ คือมันไม่มีงานอะไร มันเป็นหน้าฝน เราก็เลยมองกลับมาว่า ตอนนักท่องเที่ยวมันน้อย คนในเมืองมันทำอะไรอยู่ และมันก็ไม่ได้แปลว่า กรกฎาคม-กันยายน นักดนตรีจะไปเล่นที่อื่น ก็ยังอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ยังเป็นนักดนตรีอยู่ แต่งานน้อยลง เด็กเสิร์ฟก็ยังอยู่ในเมืองเชียง แต่งานลดลง คือโดนลดเรท ลดชั่วโมง ดนตรีสดในร้านลดลง แต่ตอนหน้าธันวานี่วิ่งกันให้ควั่กเลย กลายเป็นว่าเมืองต้องเปลี่ยนตามเทศกาล เพราะว่าคนมาตอนนั้นเยอะ ทำไมเราไม่มองกลับกันว่าในเมื่อเราก็อยู่เมืองนี้อยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำอะไรซักอย่าง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปเปลี่ยนตามคนที่มันน้อย เราต้องพลิกวิกฤตนี้ให้ได้
ซึ่งโชคดีของเมืองเชียงใหม่คือ เมืองเชียงใหม่มีศิลปิน มีเพลง original หน้า Low ทุกจังหวัดอาจจะ Low เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดจะสามารถเอาดนตรี original มาทำให้มัน High ได้ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าเชียงใหม่มีคนแต่งเพลง ทำเพลงมีเป็นหลายร้อยวง ทำไมเราต้องมารอให้หน้า High ที แล้วเค้าก็จะจ้างเราไปเล่นเฟสหรือทัวร์ แล้วช่วง Low อยู่ในเมืองเราทำอะไรได้บ้าง เราก็รวมกลุ่ม จัดอะไรของเราเองกัน แล้วก็ใช้ช่วงเวลานี้แหละ ในการดึงคนเข้ามา ใครจะรู้ว่าถ้าวันนึงเราทำแบบนี้ซ้ำ ๆ คนก็อาจจะมาเที่ยวเชียงใหม่หน้าฝนได้
เอิง : Feedback ที่น่าสนใจคือ มันมีคนไปโพสต์ว่า “เตรียมตัวจองตั๋วมาเชียงใหม่ช่วงนี้ดีกว่า” หรือมีวงอินดี้จากกรุงเทพฯ ที่หลายคนค่อนข้างชื่นชอบก็ทักมาว่า “อยากมาจอยด้วย” ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เราคาดหวังว่าจะ Proof ให้ได้ว่า จริง ๆ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมันมี Demand นะ
ถามแอลบ้างดีกว่าเข้ามาโฮะงานนี้ได้ยังไง
เอิง : จริง ๆ แอลเป็นคนต้นคิดว่าอยากจะจัดด้วยซ้ำ
แอล : ตอนแรกที่เสนอไปคืออยากจัดเป็น Festival ใหญ่รวมวงดนตรี ช่วงปลายปีแบบ DEMO EXPO ที่กรุงเทพฯ แต่จะรวมนักดนตรีในเชียงใหม่ เลยคุยกับพี่ชา พี่ชาบอกอยากจัด ไฮโฮะ เชียงใหม่ คุยกันไปมาแล้วเราเห็นว่ามันน่าสนใจดี ก็เลยมาร่วมด้วยเลย ตอนแรก ๆ ประหม่า ด้วยความข้าม Gen กัน เราเด็กสุดไงและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่ได้รับคำปรึกษาที่ดี สงสัยก็ถาม ก็สนุกดีค่ะ ได้ร่วมงานกับพี่ ๆ
แล้วพี่หมูใหญ่อ่ะครับ มาร่วมโปรเจ็คนี้ได้ยังไง
หมูใหญ่ : โดนหลอกมา (ฮา) แต่จริง ๆ มีใจอยากช่วยแหละ จริง ๆ อยู่ในคอมมูนิตี้ดนตรีเชียงใหม่อยู่แล้ว สนใจเรื่องการขับเคลื่อนเมืองอยู่แล้วอ่ะ
เอิง : พี่หมูใหญ่ช่วยรันกลุ่ม music people chiang mai ชาวดนตรีเชียงใหม่ อย่างเว็บ chiangmaioriginal.com ก็เป็นพี่หมูใหญ่ทำ
หมูใหญ่ : น่าสนใจ ก็เลยมาช่วย ตามพาร์ทที่ตัวเองถนัด ในงานนี้ก็เป็นเรื่อง Media งานสื่อสารทั้งหมดเลย
เอิง : เรามีทีม AR อีก 4-5 คนช่วยล็อกคิวศิลปิน ทีม Content ทีม Tiktok ถ้าจะนับทีมออนไซต์ในแต่ละวันด้วยก็น่าจะถึง 20 นะ
ความยากหรือเรื่องที่ท้าทายของ ไฮโฮะ เชียงใหม่ คืออะไร
ทุกคน : เรื่องเงินทุน
ชา : ตอนแรกที่เราทำ เราตั้งทีมขึ้นมา ยังไม่รู้เลยจะไปเอาเงินที่ไหน แต่ตอนโปรเจ็คเสร็จ เราก็เริ่มหาทุน หาสปอนเซอร์ ตัวงานนี้เราไม่ได้ต้องการใช้เงินเยอะอะไรมากมาย เราให้น้อง ๆ ทีมงานแล้วก็เอาไปเติมให้นักดนตรี เป็นค่าแรงให้ศิลปินที่ไปเล่นเป็นหลัก ๆ เพราะไปเล่นในร้าน บางร้านก็มีเครื่องเสียงอยู่แล้ว และมีพี่ที่เคยคุยกันก็บอกเอาไปเสนอ ททท. สิ เลยมีโอกาสไปนำเสนอโปรเจ็คนี้ ตอนต้นกรกฎาคมที่ผ่านมาเลย เพราะเริ่มเซ็ตทีมตั้งแต่มิถุนาแล้วก็รู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง วางตัวใครบ้าง แต่ยังไม่ assign งาน เพราะยังไม่รู้จะมีเงินจ้างเขาไหม
แต่วันนั้นไม่ได้มีความหวังนะ เพราะไปนำเสนอง่าย ๆ ว่าเรามีไอเดียอะไร มีคนที่สนใจและเข้าใจไอเดียเราอยู่บ้าง บางคนก็จะมองด้วยวิธีการแบบ ททท. อ่ะว่า มีเงินก็ต้องทำอีเว้นท์สิ จ้างออแกไนซ์ จ้างวงดัง ๆ ทำใหญ่ ๆ ซึ่งมันคนละแบบกับวิธีคิดของเรา เพราะเรากำลังสร้างคอมมูนิตี้ มันไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่มันคือร้าน ผู้ประกอบการ คนที่อยู่ในวงโคจรในนิเวศทั้งหมด ตอนนั้นก็เลยไม่ได้หวังอะไรมาก
พอเรื่องของทุน ความยากมันก็จะตามมาทุกอย่าง เพราะเราก็ไม่รู้จะรันกันยังไงต่อดี แต่เรื่องของศิลปิน กลับรู้สึกว่าทุกคนพร้อม เรื่องของสเปซ ผู้ประกอบการ ทุกคนก็อยากจะร่วมกันหมด
หมูใหญ่ : ซึ่งก็เซอร์ไพรส์เลยนะ เพราะคิดว่าอาจจะเจอปัญหา อาจจะคุยยาก แต่ทุกคนลงใจ กระตือรือร้น อยากให้งานนี้เกิดขึ้น
ชา : กลายเป็นว่าการทำงานนี้ทำให้เราได้พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น คนที่เรารู้จักอยู่แล้วแต่ไม่เคยร่วมงานด้วย เช่น สเปซ แต่มันก็อาจจะมีบางที่ที่ไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร เราลองกางชื่อ 20 ร้านมาดูก็ได้ มันเหมือนจะไม่เกี่ยวกันเลยซักร้าน ไม่น่าจะมาอยู่ในงานอีเว้นเดียวกันได้
เอิง : มันท้าทายหน่อย ๆ ตรงที่ว่า วงดนตรีเยอะ ร้านก็เยอะ ที่จะมาเข้าร่วม แต่ว่าศักยภาพทีมก็มีจำกัด ก็พยายามให้มันกว้างที่สุด เยอะที่สุด แต่ก็ยังอาจจะมีบางร้านที่ตกหล่นไปบ้าง ถ้าในเชิง Content ก็อาจจะเรียกว่าการเผื่อเวลาและพื้นที่ให้ทุกคนได้มีเวลาฉายแสงเท่า ๆ กัน คาดเดาว่าหลังจากนี้อาจจะเป็น Challenge นึง
จริง ๆ คืออยากเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งต่อเค้าไปอีกที่นึงมากขึ้น ก็อาจะมีการพูดถึงเรื่อง Music Landmark ในเมือง ก็ลองนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยนำเสนอมาบ้าง
ชา : แค่ฟังที่เราแพลนกันก็สนุกแล้ว เพราะมันไม่เคยเกิด เอาแค่ร้านเหล่านี้มาร่วมกัน กับ Content ที่เราจะทำ คือน้อง ๆ ที่ชวนมามันก็เหมาะกับอะไรแบบนี้พอดี เลยรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่รวมตัวละครที่น่าสนใจ ที่ไม่เคยทำงานร่วมกัน มาทำอะไรด้วยกัน
มัท : ไม่นึกว่าจะได้มาทำ เพราะเหมือน townhall เราก็มาตลอด เรารู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนศิลปิน อาจจะในมุมมองผู้จัดก็ได้ เจ้าเล็ก ๆ เจ้าหนึ่ง ตอนนั่งคุยกันเรื่องไฮโฮะเราก็รู้สึกว่ามันก็มีส่วนที่เราเข้าไปช่วยทำได้ ออกความเห็นหลายอย่างได้
เอิง : จริง ๆ มันเริ่มคุยกันมาตั้งแต่ townhall ละ
มัท : พอคุยมันก็ไหลเข้าไปได้เลย
ชา : พี่กับมัทเคยทำงานด้วยกันมาแล้วด้วย นานมาก ๆ ตั้งแต่ No Signal Input เลยมั้ง
เอิง : พี่มัทก็เคยชวนเราไปเล่นในงานที่มัทจัด Echoes From The Void
มัท : มันเหมือนมีคอนเนคชั่นกัน เจอกัน ชวนกันทำโน่นนี่ไปเรื่อย
ชา : มันเหมือนรู้จักกันอยู่แล้ว เนี่ยแหละมันคือความฝันของการทำ Chiang Mai Original ของพี่เลยนะ ตอนนี้ก็จะปีที่ 8 แล้วที่เราเริ่มมาคนเดียว เริ่มจากทำแล้วไม่ได้อะไรเลย มันมีแต่เสียด้วยซ้ำ พอมันมีคนที่ทำอันนี้ได้ดีกว่าเรา มันก็เบา กลายเป็นว่าในเมืองนี้มีคนที่ทำอะไรได้ดีกว่าเราหลายอย่างเต็มไปหมดเลย เราแค่ดึงเค้าคนนี้มาประกอบร่างกัน พลังมันยิ่งใหญ่กว่าเยอะเลย
ย้อนไปอีกนิด พี่เริ่มปี 2017 (2560) แต่เริ่มทำเพจก็ช่วง มกรา-กุมภา ปี 2018 (2561) แล้วก็ทำคณะสุเทพตอนสิงหา ณ วันนั้น การที่เป็นวงอะไรก็ไม่รู้ ถึงแม้จะอยู่ในเมืองนี้แต่เราก็เป็นวงใหม่ งานเล่นในเชียงใหม่ก็ยากนะ กว่าจะเริ่มออกไปต่างจังหวัด ใช้เวลาเป็น 4-5 ปี พอชุมชนอะไรหลายอย่างของเชียงใหม่มันแข็งแรง กลายเป็นว่า น้อง ๆ ที่เริ่มเอาเพลงมาตอนนี้แปปเดียวติดชาร์ต มีทัวร์ ยิ่งซีนหลังโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่แม่งโคตรคึกคักเลยว่ะ ซึ่งเราตื่นเต้นมาก ๆ แต่ทำไมผู้มีอำนาจหรือภาครัฐไม่ตื่นเต้นไปกับเราเลย มันยังตื่นเต้นกับอะไรเดิม ๆ อยู่ งานแบบพวกเรามันเลยเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่แม่งโคตรเจ๋งเลย
เอิง : Challenge อีกอย่างคือการสื่อสารให้ภาครัฐเข้าใจ มันเหมือนจะยังมีช่องว่าง ในเรื่อง Know-How ความรู้ในด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย ประชาชนจะมีความเข้าใจมากกว่านิดนึง เรารู้สึกว่ามันมีความสำคัญที่ต้องสื่อสาร คุยกันให้เยอะขึ้น หรือเค้าควรจะเข้าหาเรามากกว่านี้ไหม
ชา : เรียกเราเข้าไปคุยก็ได้ ไม่รู้อะไรก็ให้ถามบ้างก็ได้ อะไรที่เค้าไม่เคยทำ เค้าก็ควรจะได้รู้ว่าในเมืองมีใครทำอะไรอยู่บ้าง ซึ่งเราพยายามจะบอกเค้าอยู่แล้ว เค้าก็รู้จักเราอยู่แล้ว แต่ทำไมเวลามีงาน มีงบอะไร ไม่เห็นเรียกพวกเราเข้าไปคุยเลย ทำไมทุกอย่างเป็นการคิดเองของเค้าหมดเลย มันเป็นเรื่องสำคัญมาก พอมันมีประเด็นดราม่า ก็กลายเป็นว่า นี่อาจจะเป็นจุดสำคัญก็ได้ คุยกันตรง ๆ ก็ได้
เอิง : น่าจะได้เปิดเวลาคุยกันจริงจังซักที
***ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภายหลังที่ทาง Lanner ได้เข้ามาสัมภาษณ์ทีมฯ ล่าสุดทางททท. เชียงใหม่ได้เดินทางมาเข้าพบทีม Chiang Mai Original เพื่อพูดคุยกันถึงปัญหาการสื่อสารที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
หรือเขามองงานวัฒนธรรมเป็นงานอีเว้นท์ทำแล้วก็จบไป?
เอิง : ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ไง เพราะกลไกมันต่อเนื่องกว่านั้นมาก แล้วบางทีตัวชี้วัดของรัฐมันจำกัด แค่จำนวนคน มันเป็น KPI เชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ มันเลยทำให้การทำงานของเขามีข้อจำกัด ทำแค่เพื่อให้ถึงตัวเลข ให้ได้ยอด ให้เข้าเป้า
ชา : มันก็เลยใช้วิธีเดิม ๆ เพลย์เซฟกันหมดทั้งตัวองค์กร ภาครัฐ ออแกไนซ์ ให้มันตรง ตาม KPI หรือจำนวน ว่าให้ปีหน้าเพิ่มขึ้น 5,000 ขึ้นไปอีก มันแค่นี้
แต่มิติของเมือง ๆ นึงมันไม่ใช่แค่ตัวเลข ทุกอย่างที่เราทำเราทำต่อเนื่อง พูดในแง่ของดนตรีเราก็เห็นแล้วว่าวิวัฒนาการใน 4-6 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงไป เราอาจจะไม่เคยมานั่งนับมาอะไรเท่าไหร่ แต่เราก็เห็นละ ถ้าท้องถิ่น ชุมชนมีโอกาสในการเข้าไปร่วมตั้ง KPI หรือ TOR ด้วย มันน่าจะทำให้งบประมาณถูกเอามาใช้ได้มีประโยชน์จริงจัง
ชา : อย่างเรื่องเทศกาลล่าสุดที่รัฐทำเนี่ย จัดยิ่งใหญ่มาก ถ้าจะพูดมันมีดนตรีอยู่ในงานนั้นด้วยนะ แต่ TOR ในงานนั้นไม่เอื้อให้ศิลปินในเชียงใหม่ไปเล่นได้เลย
เพราะมันระบุว่าต้องเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง คำว่ามีชื่อเสียงคือต้องมีวงเล็บบางอย่างคือ ต้องผ่านเวทีประกวดระดับประเทศ และมันน่าตลกตรงที่สื่อ เพจ ลงข่าวนี้ตลอด แต่สุดท้ายดนตรีที่อยู่ในงานนั้น ไม่มีใครโพสอะไรเลย งานเสร็จไม่มีรูปแม้แต่เวทีคอนเสิร์ต ทั้ง ๆ ที่บอกว่าศิลปินที่ไปเล่นต้องมีชื่อเสียง ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับดนตรี ทั้ง ๆ ที่ดนตรีเป็น TOR ต้องเป็นส่วนหนึ่งในนั้น อย่างเราเสนอชื่อวงเราไป เขาบอก ไม่ได้ครับ เพราะเป็นวง Local แต่สุดท้ายเราก็ไม่เห็นวงที่ได้เข้าไปเล่นในงาน กลายเป็นว่าไปโฟกัสกับบ้านผีสิง อันนั้นก็เข้าใจได้เพราะไม่ใช่งานดนตรี
ชา : ถ้าเป็นงี้ เอางบที่ให้ส่วนดนตรีไปให้งานอื่นจัดไม่ดีกว่าเหรอ การจัดสรรงบ การเขียน TOR มันไม่สร้างประสิทธิภาพเลย
เอิง : วิธีคิดแบบนี้มันไม่ได้ คงต้องได้ Educate กันเรื่อง Taste และวัฒนธรรมการเสพดนตรีให้มากขึ้น ส่วนวิธีคิดมันไม่ได้ตั้งคำถามว่า การกระจายรายได้ กระจายผลประโยชน์ให้กับ Stakeholders ที่สร้าง Value ให้งาน มันคือคนกลุ่มไหนกันแน่
ถ้ามองอีกมุม ไอ้วิธีคิดแบบนี้หรือการจัดแบบนี้ มันก็ไปกำกับรสนิยมคนให้อยู่ได้แค่การรับรู้แบบนั้น?
เอิง : ถูก
ชา : ก็เป็นไปได้ มันก็เป็น Top down อ่ะ เราจัดสรรมาอย่างงี้ให้ คุณก็ดูไป แต่จริง ๆ ถ้าบอกว่าอยากให้มี Soft Power มีพลังจากตัวเมือง แปลว่าคุณต้องทำ Bottom Up เราก็ต้องมาคุยกับคนที่อยู่ข้างล่างว่าทำอะไรอยู่ เราจะเอาอะไรมาขาย เพื่อดึงคนข้างนอกมาเที่ยว ถ้าจะทำเรื่องท่องเที่ยวจริงก็ต้องทำให้เมืองมันเจ๋งเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่อื่นจริง ๆ เพื่อมาดูที่นี่ เพื่อดูว่าตรงนี้มันมีอะไรดีบ้าง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่มาจากกรุงเทพ แล้วบอกเรามาทำบ้านผีสิงกันเถอะ มันอาจจะไม่ได้แย่ แต่ถามว่าจบปุ๊บแล้วยังไงต่อ โรงแรมรถไฟคนจะมาเที่ยวทั้งปีมั้ย บ้านผีสิงต้องรอสิงหาปีหน้าอีก มันคิดน้อยไปหน่อย
มัท : เรื่อง Challenge การสร้าง Culture ขึ้นมาใหม่ ให้คนฟัง ผู้จัด นักดนตรี ให้มันมา Connect กัน ให้ Culture มันเติบโต แข็งแรงขึ้น ในอนาคตในอีก 20-30 ปีอาจจะเหมือนญี่ปุ่น แบบว่าคนเลิกงานมาซื้อตั๋วดูวงดนตรีก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นเป็นภาพฝันละกัน อย่างน้อยมาทำตรงนี้อาจเป็นเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เป็นรากฐานให้ดนตรีได้
ชา : ยิ่งการทำงานกับวง Original วงอินดี้ มันท้าทายมาก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนไทย ที่มองว่าดนตรีคือ Entertainment เท่านั้น คืออะไรที่ลอยอยู่ในอากาศที่เราได้ยิน คือของฟรี มันเลยกลายเป็นว่า “เฮ้ยเพลงอะไร ไม่รู้จัก” ซึ่งอันนี้มันยังอยู่ในความเป็นจริงของคนส่วนใหญ่ และเหล่าผู้ที่ทำงานในองค์กรภาครัฐ มันเลยกลายเป็นคนละเรื่องที่เค้าเข้าใจไม่ตรงกับเรา
ทั้งที่พูดว่าดนตรีคือ 1 ในศิลปะ 1 ใน Soft Power แต่ปรากฎว่า แค่วิธีหรือสายตาที่เค้ามองเสียงดนตรียังไม่ได้ฟังแบบศิลปะเลย จะจำแต่เพลงที่ตัวเองได้ยินบ่อย ๆ ได้ แล้วรู้สึกว่าคือเพลงที่ติดหู เพลงที่ติดหูคือเพลงที่ดัง เพลงที่ดังคือเพลงที่ดี ต้องฟังกันเรื่อย ๆ ต้องสนับสนุน คนนี้ร้องเพลงนี้ ฉันรู้จักเพลงนี้ แต่ฉันไม่ต้องรู้หรอกว่าใครแต่งเพลงนี้ ใครบันทึกเสียงเพลงนี้ แล้วเพลงอื่นของคนนี้เป็นแบบไหน คือเราสนใจดนตรีแค่นั้น เพราะงั้นเวลาเราจะนำเสนออะไรเกี่ยวกับคนที่ทำงานเพลงในเมืองเชียงใหม่ที่มีอยู่เป็นร้อย ๆ วง พอเราพูดถึง เขาก็ไม่รู้จัก ที่เขาไม่รู้จักเพลง เขาต้องด่าตัวเอง ไม่ใช่ไปด่าวงหรือด่าเพลง เพลงก็มีของมันอยู่แล้ว แต่พอได้ยินแล้วเขาเดินหนี เพราะเขาเสพแต่อะไรเดิม ๆ ซึ่งพวกนี้ก็เป็นคนมีอำนาจที่ร่างนโยบายที่เกี่ยวกับดนตรีด้วย ก็เลยออกมาในลักษณะนี้
คาดหวังที่จะเห็นอะไรในไฮโฮะ เชียงใหม่ หรืออยากให้มันเดินไปแบบไหน
ชา : มันจะเป็นภาพที่ดีแน่นอน งานแบบนี้คือครั้งแรกจริง ๆ ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน ส่วนจะไปยังไงต่อ คิดว่ากระแสของเพลง Original ในเมืองเชียงใหม่มันจะคึกคักขึ้นแน่นอน ขึ้นอีกเท่าตัวจากที่ทำมาครั้งก่อน เพื่อส่งต่อไปถึงงานโฮะปลายปี พี่ไม่รู้มันจะไปได้จริงหรือเปล่า แต่ในใจพี่ตั้งใจไว้
ที่ฝันอยากให้เป็นในเร็ววันนี้คือ เชียงใหม่โฮะปีนี้ อยากให้ทุกคนที่ได้มาเล่น ได้ค่าตัวสูงกว่าเชียงใหม่โฮะปีที่แล้วแน่ ๆ แล้วพี่ก็จะไล่ส่งคอนแทคไปหาวงต่างประเทศที่เรามีคอนแทค ว่าหน้าหนาวนี้มีโปรแกรมมาเชียงใหม่หรือไทยบ้างไหม ให้เขากรอกฟอร์มว่าสนใจจะเล่นงานโฮะไหม
ในอนาคตอยากให้วงอินเตอร์ วงเอเชีย สามารถมาแจมกับศิลปินที่เชียงใหม่ ที่เฟสของเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีเวทีให้คุณเล่น หวังว่าจะมีที่ที่ศิลปินเชียงใหม่เล่นกับศิลปินต่างประเทศ จนโฮะกลายเป็นเฟสที่ใหญ่มากจนวงกรุงเทพฯ อยากมาเล่น
ต่อไปในอนาคตจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพิเศษละ ที่เราจะสามารถเข้าถึงดนตรี Original ได้ง่าย ๆ
ชา : ทุกอย่างจะเป็นธรรมชาติ งานโฮะ ไฮโฮะ ก็จะเวิร์คของมัน และที่หวังที่สุดของปลายทางความฝัน คือ เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีจริง ๆ ศิลปินที่ทำเพลงที่เชียงใหม่ไม่ต้องคิดแล้ว ว่าเรียนจบจะไปกรุงเทพฯ ไปทำงานกับค่ายเพลง ที่นี่อาจจะมีค่ายเพลงเต็มไปหมด มีที่ให้เล่นเต็มไปหมดเลย แล้วก็หน้า Low season ของเชียงใหม่ไม่มีแล้ว กลายเป็นอาจจะต้องแย่งกันมาในช่วงกันยาด้วยซ้ำ เพราะช่วงนี้แหละ ดนตรีเชียงใหม่เข้มข้นมากเลย
มีสเปซ มีร้าน มีเฟสเล็ก ๆ เต็มไปเต็ม นักท่องเที่ยวมา โรงแรมขนาดเล็กใหญ่มีรายได้ ประชาชนในเมืองมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น พี่ไม่ทำแล้ว พี่ยกให้น้อง ๆ ยุคหลัง ๆ
แอล : เราอยากให้การจัดงานครั้งหน้า หาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะเราโดนที่ตั้งคำถามจากที่กรุงเทพฯ ว่าเค้าไม่รู้เลยว่าเราเป็นใคร ซึ่งถ้าเราจัดงานเล็ก ๆ แล้วให้เค้ามองเห็นก่อน ถ้าจะมีงานอื่น ๆ เกิดขึ้น มันอาจจะคุยและขอเขาได้ง่ายขึ้น พอเรามีโปรไฟล์แล้วก็อยากเห็นค่าแรงนักดนตรีที่เพิ่มขึ้น เรื่องมูลค่าของนักดนตรีกับคนงานของเรา อยากให้นักดนตรีเชียงใหม่ออกไปเฉิดฉายกับเพลงของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลถึงเรื่องเงินแล้ว
เราโชคดีที่อยู่เชียงใหม่แล้วมีสเปซให้เราได้เล่น แต่เวลาจะทำเพลง ขายอะไรซักอย่าง มันต้องคำนวณเรื่องเงิน ซึ่งมันเป็นจุดที่ชะลอความฝันของเราไว้
เอิง : การที่จะมีคนมาให้สปอนเราเพิ่ม แปลว่ามีคนเห็นมูลค่าตรงนั้น หรือการที่จะขึ้นค่าแรงนักดนตรีได้ มันเป็นเพราะว่าสังคมมวลรวมหรือระบบเศรษฐกิจมันเห็นในมูลค่านั้น เพราะงั้นความคาดหวังของเราก็ไม่ได้ต่างจากพี่ชาเท่าไหร่ อยากเสริมคือ อยากให้ตรงนี้เป็นหมุดหมายในการวัด Demand ของเมืองดนตรีเชียงใหม่ ให้มัน Proof ได้ว่ามีตลาด
เมื่อมีตลาดมันจะทำให้นิเวศมันไปต่อได้ มันจะมีเม็ดเงินเข้าที่ทำให้รันต่อไปได้อย่างยั่งยืนกว่านี้ อยากให้เป็นหมุดหมายเป็นรูปธรรม มี Data Support ว่า มาลงเงินที่เชียงใหม่เมืองดนตรีสิ
ชา : ที่พี่เห็นมาตลอดคือ เชียงใหม่มันมีศิลปินเยอะมาก ๆ มีเพลงใหม่ ๆ ให้ฟังกันตลอดเวลา แค่ในเขตอ.เมืองนี่ก็เยอะมากละ เราทำสิ่งนี้ที่เราเห็นค่า ต้องทำยังไงก็ได้ให้มันมีมูลค่าจริงๆ มี Value อย่างใครจะไปรู้ว่าวันนึงจะมีน้ำแดงคู่กับต้นโพธิ์ ศาลทุกต้น มันก็คือการสร้าง Demand
ตอนนี้เชียงใหม่ ศิลปินเยอะ เพลงเยอะ แต่ถ้ามองแค่ว่าคนฟังคือแค่คนเชียงใหม่ มันก็คือการจบปริมาณของตลาดไว้แค่นั้นแล้ว เราอาจต้องใช้ Value อันนี้ ผ่านกระบวนการ วิธีการจัดการแบบใหม่ เพื่อให้มันกลายเป็นมูลค่าเพิ่มที่สุดท้ายแล้วคนจะต้องเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อออกไป ทั่วถึงกันด้วยนะ เช่น รุ่นเล็กก็จะมีตลาดของรุ่นเล็ก รุ่นกลาง หรือรุ่นใหญ่ แต่มันจะต้องเกิดตลาด ซึ่งตอนนี้เรามีสินค้า อาจต้องมาทำเชลฟ์สวยๆ ทำมาร์เก็ตติ้งให้เมือง ให้คนเข้ามาซื้อ
เอิง : ผู้ประกอบการร้านดนตรีก็บอกว่าไม่ใช่ว่าเค้าไม่อยากขึ้นค่าแรงนักดนตรีนะ แต่ Demand องค์รวมมันยังไม่ไหว ไม่เยอะพอที่จะ Justify ถึงเค้ามีใจอยากขึ้น แต่ขึ้นแล้วร้านแบกไม่ไหวมันก็ไม่ได้ ถ้ามันมีตัวเลขพวกนี้ มันมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกหน่อยมันก็จะไปต่อได้
มัท : ภาพในอนาคตคิดว่าอาจจะเป็น หลาย ๆ ประเทศเขามีเฟส ซึ่งอยากให้เป็น เฟสประจำปีอันนึงไปเรื่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ ส่งผลระยะยาวทางด้านโครงการ และ Culture ดนตรีให้มันโตจากรากฐาน ของคนฟัง คนทำ และสถานที่ด้วย ให้มันไปด้วยกัน อยากให้คนกรุงเทพฯ ต่างประเทศ อยากมาฟังเพลง Original ที่นี่ กลิ้งตั๋วจากญี่ปุ่นมางานโดยเฉพาะ ตั้งใจมาดูวงของเชียงใหม่
ชา : อย่างการเติบโตของหลาย ๆ เฟสติวัลในมันก็เกิดจากชุมชนก่อนที่จะขยับขยายออกไปจนใหญ่ขึ้น แล้วจริง ๆ อย่างตอนนี้ เชียงใหม่ออริจินัลก็เป็นแรงกระเพื่อมนิด ๆ นะที่ส่งออกไปในจังหวัดใกล้ ๆ มันอาจจะไม่ได้รุนแรงหรอก แต่เราจะเห็นว่าที่เชียงรายก็มี หรือครูหม่อม จากพะเยาหลังจากที่กลับจากที่เคยมาแจมกับเราก็มีไฟไปชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ ทำกลุ่ม Phayao Wave กลุ่มจากกำแพงเพชร ศิลปินวงใบเดี่ยว ก็ไปขับเคลื่อนวงการที่บ้านตัวเอง ตั้งชื่อกลุ่มว่า original Kamphaengphet
เหมือนเรื่องสุราชุมชน แต่ละที่มันจะมีของดีในบ้านตัวเอง ทั้งดนตรี ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดื่ม มันจะดีซะอีก มันจะทำให้ทุกเมืองมีสเน่ห์ เราจะต้องไปหาเอกลักษณ์ของเมืองนั้น ๆ ผ่านวัฒนธรรม ผ่านดนตรีของเมืองนั้น ๆ
หมูใหญ่ : ยังไงก็ฝากไฮโฮะเชียงใหม่ด้วยละกัน ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น โดยพลังของคนรุ่นใหม่ ผลงานก็เป็นของคนรุ่นใหม่ เราพยายามผลักดันคนรุ่นใหม่ เพราะอยากให้คอมมูนิตี้มันไปต่อเรื่อย ๆ แล้วก็เกิดจากนักดนตรีจริง ๆ ทุกคนก็คือตื่นเต้นกันหมด แล้วก็ฝั่งอีสานก็ดูแบบมาบอก ๆ ว่า เมืองนี้คูลจังเลย ทำไมทำแบบนี้ได้ ทุกคนดูตื่นเต้นว่างานใหญ่มาก
ชา : มันเหมือน Snowball effect อ่ะ ตอนนี้กลุ่มนักดนตรีได้มีโอกาสไปทัวร์ ไปทำกิจกรรม และอื่น ๆ แล้วก็มีสื่อด้วยที่ให้ความสนใจ
เอิง : เพราะที่ผ่านมาคือซีนดนตรีเชียงใหม่อยู่ในหน้าสื่อบ่อยขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น มันยิ่งตอกย้ำว่าเชียงใหม่มันมีดนตรีอยู่ในนี้นะ
มัท : ดู Chart ของ Cat radio ช่วงหลัง ๆ วงเชียงใหม่เยอะมาก ติดบ่อยมาก มันเป็นอะไรที่เป็น Snowball effect จริง
ชา : และหวังว่ามันจะไปเรื่อย ๆ มันกำลังจะติดลมบนแล้วล่ะ ไปเรื่อย ๆ
บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )