ประมวลน้ำท่วม 8 ตุลา เมืองเชียงใหม่เริ่มคลี่คลายแต่ปัญหายังอยู่ สารภี-ลำพูนน้ำยังท่วมสูง ด้าน ศปช.เร่งระบายน้ำ สารภี-ลำพูน เต็มกำลัง

8 ตุลาคม 2567 สถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ โดยระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ลดลง หลายหน่วยงานกำลังเร่งฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณะให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

ส่วนในพื้นที่อำเภอสารภี ซึ่งมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะในตำบลหนองผึ้งและตำบลสบแม่ข่า อำเภอสารภี ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ในอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง 1.00-1.70 เมตร คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก กรมชลประทาน

สถานการณ์แม่น้ำปิงที่สถานี P.1 ในเวลา 15.00 น. อยู่ที่ 3.13 เมตร และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ น้ำที่เคยเข้าท่วมลดลงเกือบทุกพื้นที่แล้ว โดยเหลือเพียงบางจุดในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังมีน้ำท่วมขัง ในหลายพื้นที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มมีการทำความสะอาดถนนและเก็บกวาดขยะ

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก PR Chiangmai

ในส่วนของการฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนพี่น้องประชาชนและสถานที่ต่างๆ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ รายงานผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า วันนี้ทุกหน่วยงานได้เริ่มระดมพล พร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรกล และรถน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการทำความสะอาดบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยเริ่มต้นจากอำเภอเมืองเชียงใหม่และจะดำเนินการต่อเนื่องไปยังชุมชนและอำเภอต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และกำลังพลจากจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว และนครสวรรค์ มาช่วยในงานทำความสะอาดและฟื้นฟูในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การดำเนินงานเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก เทศบาลนครเชียงใหม่

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ในวันนี้ทาง เทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อบจ. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จึงได้เริ่มดำเนินกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ทั่วเมือง โดยขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการทำความสะอาด และงดจอดรถในบริเวณดังนี้

1. แยกสะพานนครพิงค์ – แยกจวนผู้ว่าฯ

2. ซุ้มประตูจีน – กาดดอกไม้

3. แยกเซเว่น – ถนนท่าแพและตรอกเล่าโจ๊ว

4. โอ้วจินเฮง – ถนนราชวงศ์

5. โรงแรมอนันตรา – สะพานเม็งราย

6. แยกวัดอุปคุต – แยกบัวระวง

7. แยกจวนผู้ว่าฯ – โรงแรมอนันตรา

8. สะพานเม็งราย – แยกโรมแรมรติล้านนา

9. แยกบัวระวง – แยกโรงแรมรติล้านนา

10. ขัวเหล็ก – สะพานเม็งราย

ด้านการกำจัดขยะ เทศบาลนครเชียงใหม่ รายงานว่า ในพื้นที่น้ำท่วมเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ทางเทศบาลฯ จะออกเก็บขยะและเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ในแต่ละแขวง โดยประชาชนสามารถนำขยะน้ำท่วมไปทิ้งได้ที่สถานที่ดังต่อไปนี้

1. แขวงกาวิละ: สุสานสันกู่เหล็ก

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/1XGNm7kmwv5Um5AL9

– จุดพักเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่

สวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/gEWnnzqVqzg9kEpU6

– จุดพักดินตะกอนจากน้ำท่วม

2. แขวงเม็งราย: สุสานช้างคลาน

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/neKg9VDCvxDnQvwq9

– จุดพักเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่

– จุดพักดินตะกอนจากน้ำท่วม

3. แขวงนครพิงค์: สุสานป่าตัน

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/rPrQNtn5gLZGNc9y8

– จุดพักเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่

4. จุดพักเพิ่มเติม: สุสานหายยา

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/anZ2fUQbg4Xv6KnE8

สถานีขนถ่ายขยะ หายยา (ประชาชนสามารถนำขยะมาทิ้งได้)

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/oP1XTDi84hqUzHaQ9

– จุดพักดินตะกอนจากน้ำท่วม

– ขยะอิเล็กทรอนิกส์

– ประชาชนสามารถนำขยะและเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มาทิ้งได้

สำหรับการทิ้งทราย สามารถทำได้ที่สวนรถไฟ สำหรับขยะชิ้นใหญ่ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง และสิ่งของอื่น ๆ ที่ใช้ไม่ได้จากน้ำท่วม เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาชน ได้เผยผ่านเฟซบุ๊ก พลอย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู – Phetcharat Maichompoo ว่า ทางเทศบาลนครเชียงใหม่จะดำเนินการจัดเก็บขยะตามเส้นทาง Big Cleaning Day หลังจากนี้ ประชาชนสามารถนำขยะไปทิ้งที่บริเวณ JJ Market สำหรับในเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ ประเภทขยะ เช่น โต๊ะและที่นอน ให้แยกออกจากขยะครัวเรือนและจัดเก็บไว้ในกองที่แยกต่างหาก โดยเทศบาลจะเก็บขยะครัวเรือนเป็นอันดับแรก ส่วนประเภทอื่นจะตามเก็บในภายหลัง สำหรับเทศบาลอื่น ๆ เพชรรัตน์จะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในคอมเมนต์ของเพจเฟซบุ๊กโพสต์ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1047134710756273&id=100063792615560&mibextid=WC7FNe&rdid=wmmUonwwRcIjVoQ

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ

ในประเด็นการจัดการขยะ ด้านเพจเฟซบุ๊ก เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ รณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่แยกขยะหลังน้ำท่วมอย่างถูกต้อง โดยขยะอันตราย (ถุงสีแดง) เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าเสีย โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์เสีย ให้ใส่ถุงสีแดง ผู้ที่ไม่มีถุงสีแดงสามารถใช้เชือกสีแดงผูกหรือแปะสัญลักษณ์กากบาทสีแดงได้ สำหรับขยะทั่วไป (ถุงสีดำ) เช่น เศษผ้า กระดาษทิชชู่ ให้ใช้ถุงสีดำ หากไม่มีถุงสีดำ สามารถใช้เชือกสีดำหรือแปะสัญลักษณ์เครื่องหมายบวกสีดำแทน ในส่วนของขยะติดเชื้อ (ถุงสีเหลือง) เช่น หน้ากากอนามัยและผ้าเปื้อนน้ำ ให้ใช้ถุงสีเหลือง หรือหากไม่มีถุงสีเหลือง สามารถใช้เชือกสีเหลืองหรือแปะสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีเหลือง ขณะที่ขยะรีไซเคิล (ถุงสีฟ้า) เช่น ขวดแก้ว กระดาษ พลาสติก ให้ใช้ถุงสีฟ้า ถ้าไม่มีถุงสีฟ้า หรือใช้เชือกสีฟ้าหรือแปะสัญลักษณ์ลูกศรวนรอบแทน

เมืองเชียงใหม่ไม่ได้มีแค่โซนเดียว น้ำท่วมเชียงใหม่หนักกว่าปี 54 ชาวบ้านแม่ข่าขนของหนีไม่ทัน วอนรัฐเร่งจัดการขยะ-ฟื้นฟูพื้นที่

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจรอบเมืองเชียงใหม่ พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีขยะกองอยู่บริเวณถนนและยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปเก็บกวาด รวมไปถึงยังมีโคลนและน้ำท่วมขังอยู่หลายที่ อาทิ ถนนลอยเคราะห์ ช้างคลานในหลายพื้นที่ ซอยสุริยวงษ์ หรือบริเวณริมคลองแม่ข่า ซึ่งพบเพียงประชาชนที่ช่วยกันจัดการขยะเท่านั้น

จากการพูดคุยกับ กาญจนา กองเกิด ชาวบ้านบริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) เผยว่า ตนและคนในชุมชนระแกงนั้นได้รับการแจ้งเตือนจากภาครัฐผ่านประธานหมู่บ้านในเสียงตามสายว่าให้ยกของขึ้นสูงกว่าปี 2554 ในเช้าวันที่ 3 คนในชุมชนจึงได้มีการขนของขึ้นที่สูงกว่าระดับน้ำท่วมในปี 2554 เผื่อไว้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ระดับน้ำในช่วงค่ำระดับน้ำกลับสูงขึ้นมากกว่าปี 2554 จึงทำให้ประชาชนอพยพของไม่ทันจึงเกิดความเสียหายทั้งหมด

“ไม่ใช่ว่าเราไม่เตรียม เตรียมขนของสุดๆ นั้นแหละ แต่น้ำมันขึ้นเรื่อยๆ หนักกว่าปี 54 อีก”

โดยพื้นที่ที่ท่วมหนักนั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ยกของหนีน้ำท่วมเนื่องจากในปี 2554 ระดับน้ำไม่ได้ท่วมถึง จึงไม่ได้มีการอพยพของหนีน้ำท่วม โดยระดับน้ำนั้นอยู่ในระดับวิกฤติสุดช่วงวันที่ 4-5 และเริ่มลดลงในช่วงเช้าวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งปัญหาต่อมาหลังน้ำลดลงคือโคลนที่ติดค้างอยู่ในตัวอาคารบ้านและปัญหาน้ำประปาไม่ไหลตั้งแต่วันที่ 7 จึงทำให้การทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ไฟฟ้าในชุมชนระแกงไม่สามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ กาญจนา เผยว่าพื้นที่ระแกงมีการช่วยเหลือในเรื่องของอาหารและน้ำ แต่ยังไม่มีการช่วยเหลือในเรื่องของการจัดการขยะที่ยังไม่มีการจัดการที่ชัดเจน แค่บอกว่าให้นำมากองบริเวณหน้าบ้าน เนื่องจากหน่วยงานรัฐจะต้องไปจัดการในพื้นที่ที่สำคัญก่อน การช่วยเหลือมีแค่คนในชุมชนและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเท่านั้น

“ชาวบ้านต้องช่วยกันเองก่อน ถ้ารอหน่วยงานรัฐโคลนก็แห้งหมดแล้ว” กาญจนา กล่าว

น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย น้ำปิงลดต่อเนื่อง กรมชลฯ คาดกลับสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน กฟภ. เริ่มจ่ายไฟ-น้ำประปาเริ้มฟื้นฟู  ปิดการจราจรเพียง 3 จุด

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (8 ต.ค. 67) ปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีวัดน้ำ P.1 (สะพานนวรัฐ) อำเภอเมืองเชียงใหม่ ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 43 เซนติเมตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังในอำเภอเมืองเชียงใหม่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วัน

สำหรับพื้นที่รอบนอก คาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ กรมชลประทานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลงสู่แม่น้ำปิง และวางแผนฟื้นฟูถนน บ้านเรือนประชาชน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

ในส่วนการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่ถูกตัดไฟระหว่างน้ำท่วม สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ระบุเพิ่มเติมว่า การไฟฟ้าจะเริ่มจ่ายไฟให้กับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายก่อน โดยก่อนใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความพร้อม เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกไฟดูด นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้บริการตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้ากับประชาชน และจะมีการจัดรถไฟฟ้าส่องสว่างเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอีกด้วย

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่-ชั้นพิเศษ

ด้านกรณีน้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่-ชั้นพิเศษ รายงานความคืบหน้าในการฟื้นฟูระบบน้ำประปา หลังจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะนี้สถานีผลิตน้ำป่าตันเริ่มกลับมาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจ่ายน้ำได้ร้อยละ 80 ของกำลังการจ่ายทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่จ่ายน้ำร้อยละ 92

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการสะสมของอากาศในระบบท่อส่งน้ำ การปรับแรงดันน้ำจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อประปาแตกในระหว่างการจ่ายน้ำ ในบางพื้นที่อาจพบปัญหาแรงดันน้ำไม่เพียงพอเนื่องจากการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM

สำหรับการปิดกั้นการจราจรในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM ได้อัปเดตสถานการณ์การเปิดเส้นทางจราจรและจุดที่ปิดกั้นการจราจรในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากน้ำท่วม โดยปัจจุบันมีจุดที่ปิดการจราจรเหลือเพียง 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณ Big C ดอนจั่น จุดที่ 2 ทางลอดป่าแดด ตร.ภ. 5 และจุดที่ 3 ถนนศรีปิงเมือง ซอยลาบต้นยาง

บ้านเกาะกลาง ป่าแดด อำเภอเมือง ยังอ่วม 

ถึงแม้ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่หลายพื้นที่สถานการณ์น้ำยังคลี่คลายลง แต่ในพื้นที่บ้านเกาะกลาง ม.8 ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ น้ำยังคงท่วมสูง ประชาชนและรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ โดย พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่มูลพัฒนาภาคเหนือ ที่อาศัยอยู่ในบ้านเกาะกลาง รายงานว่า 8 สิงหาคม 2567 เวลา 12.15 น. สำรวจความเสียหายจากเหตุอุทกภัย บ้านเกาะกลาง ม.8 ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบน้ำยังท่วมสูง บางจุดถึงระดับเอว โดยเฉพาะในซอย 16 17 และ 18 ชาวบ้านเริ่มเข้าทำความสะอาดบ้านแล้วแต่ประชาชนยังบางตา ยังต้องใช้การเดินเท้าและสัญจรทางเรือ จุดท่วมสูงรถเล็กและรถใหญ่ยังไม่สามารถผ่านได้

ทั้งนี้ บ้านเกาะกลางประสบอุทกภัยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสูงในช่วงวันที่ 24-29 ก.ย. ที่ผ่านมา และน้ำได้กลับมาท่วมสูงจนประชาชนต้องเก็บของขึ้นที่สูงและอพยพออกจากหมู่บ้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยขณะนี้บ้านเกาะกลางถือเป็นบ้านท้ายๆ ใน อ.เมืองเชียงใหม่ที่น้ำยังคงท่วมสูงจนน้ำเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น

ความช่วยเหลือที่ประเมินเบื้องต้น คืออาหารและน้ำดื่ม เพราะเริ่มมีประชาชนกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนแล้ว และคงต้องเร่งดำเนินการระบายน้ำหรือสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน โดยจุดนั้นใกล้กับประตูน้ำป่าแดดซึ่งอาจต้องสำรวจด้วยว่ายังใช้การได้ตามปรกติหรือไม่

อำเภอสารภี

อย่างไรก็ตาม ด้านพื้นที่ท้ายน้ำอย่างอำเภอสารภียังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังอยู่เป็นเวลานานกว่าพื้นที่อื่นๆ โดย Thai PBS รายงานว่า แม้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่อำเภอสารภียังคงมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะในตำบลหนองผึ้งและตำบลสบแม่ข่า อำเภอสารภี ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ชาวบ้านในจินดาวิลล่า ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมเข้าสู่วันที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ ยารักษาโรคประจำตัวของพวกเขาถูกน้ำพัดหายไปทั้งหมด ทำให้จำเป็นต้องลุยน้ำออกไปหาหมอ

ภาพ: สวพ.FM91

สำหรับสถานการณ์การจราจรในอำเภอสารภีวันนี้ (8 ต.ค. 67) เวลา 07.00 น. สวพ.FM91 รายงานการจราจรในพื้นที่อำเภอสารภี ดังนี้

1. ถนนเชียงใหม่-ลำปาง สัญจรได้ตามปกติ แต่มีรถยนต์จอดอยู่บริเวณไหล่ทางและบนทางยกระดับ

2. ถนนเชียงใหม่-ลำพูน (ต้นยาง) สัญจรได้ตามปกติ มีน้ำท่วมขังเล็กน้อยหน้าตลาดเย็น

3. ถนนวงแหวนรอบ 3 สัญจรได้ปกติ (หน้าบริษัทจงเจริญทัวร์มีน้ำท่วมผิวการจราจรเล็กน้อยทั้ง 2 ฝั่ง)

4. แยกยางเนิ้ง สัญจรได้ตามปกติ แต่มีการปิดการจราจรในเส้นทางมุ่งหน้าไปยังแยกสารภี

5. ถนนเลียบรางรถไฟ ปิดการจราจรทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่ทางตัดรถไฟแสนหลวงจนถึงเขตติดต่อแม่ปิง เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง ส่วนทางตัดรถไฟป่าแดดสามารถข้ามไปยังฝั่งถนนซุปเปอร์หรือต้นยางได้

6. ถนนวงแหวนรอบ 2 สัญจรได้ตามปกติ

จังหวัดลำพูน

ในส่วนของจังหวัดลำพูน 8 ตุลาคม 2567 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า สำหรับมวลน้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำปิงที่ได้ไหลต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าสู่เขตอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ปัจจุบันน้ำได้ไหลลงลำน้ำแม่กวง และไหลผ่านตัวเมืองลำพูนแล้ว ซึ่งส่งผลให้ลำน้ำแม่กวงที่สถานี P.5 มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้เคียงระดับตลิ่ง (ต่ำกว่าตลิ่ง 8 เซนติเมตรเมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้) คาดว่าระดับน้ำจะทรงตัวและค่อยๆ ลดลงต่อไป ซึ่งพื้นที่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำที่ท่วมขังมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ในอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง 1.00-1.70 เมตร โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก กรมชลประทาน

ด้านการเร่งระบายน้ำในเมืองลำพูน กรมชลประทาน ระบุว่า ขณะนี้กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงตามลำดับ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหลายจุด เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูน หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นไหลไปตามเส้นทางต้นยาง-เลียบรางรถไฟจากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่พื้นที่จังหวัดลำพูน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในตำบลอุโมงค์ ตำบลหนองช้างคืน ตำบลประตูป่า และตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งบางจุดมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร 

สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้ประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นในการบรรเทาความเดือดร้อน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งตามประตูระบายน้ำต่างๆ เช่น ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน รวมถึงติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงโดยเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชียงใหม่และลำพูน

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก กรมชลประทาน

ในส่วนปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดลำพูน ในขณะนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในจังหวัดลำพูนอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว และคาดว่าระดับน้ำจะทรงตัว ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงในอีก 1-2 วัน โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักหรือมีน้ำจากตอนบนไหลมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

แม่น้ำกวงในเขตจังหวัดลำพูน แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่รับน้ำโดยตรง แต่ทำหน้าที่เป็นทางน้ำผ่านลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งจะควบคุมระดับน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้มีการนำเครื่องสูบน้ำทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จำนวนรวม 56 เครื่อง จากทุกหน่วยงานมาช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงอย่างเต็มที่

ด้าน สวท.ลำพูน FM 95 รายงานว่า โครงการชลประทานจังหวัดลำพูน ได้เปิดเผยแผนที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 3 โซน โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 โซน โดยเฉพาะตำบลอุโมงค์และตำบลเหมืองง่า ยกของขึ้นที่สูงและย้ายยานพาหนะไปจอดในพื้นที่สูงชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังเตือนให้ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่อาจมากับน้ำ และอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วไหล

มวลน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดเชียงใหม่คาดว่าจะกระจายท่วมพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยแบ่งเป็น 3 โซนใหญ่ที่อาจได้รับผลกระทบ ดังนี้

ภาพ: โครงการชลประทานจังหวัดลำพูน

โซนที่ 1 (สีแดง) รับน้ำจากถนนเลียบรางรถไฟ ส่งผลกระทบยังพื้นที่ ได้แก่ บ้านกอม่วง บ้านป่าเห็ว บ้านป่าเส้า บ้านไร่ บ้านหนองหมู บ้านชัยสถาน ตำบลอุโมงค์ บ้านต้นผึ้ง บ้านเหมืองง่า บ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า และลงคลองสาขา เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำกวงซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่

โซนที่ 2 (สีส้ม) จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บ้านแม่ร่องน้อย บ้านฮ่องกอม่วง บ้านปูเลย บ้านเวียงยอง บ้านศรีเมืองยู้ บ้านวังไฮ บ้านสันต้นธง บ้านหลวย บ้านสันมะกรูด บ้านท่าศาลา บ้านปากล้อง และหมู่บ้านที่ติดน้ำกวง ต้องเฝ้าระวังน้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนเสียหายได้ โดยปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำกวง ณ จุด P.5 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน เมื่อเวลา 11.00 น. ยังคงต่ำกว่าจุดวิกฤต (ระดับวิกฤต 5.00 เมตร) แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น

โซนที่ 3 (สีเหลือง) เป็นพื้นที่รับน้ำจากหนองแฝก อุโมงค์ บ้านหัวฝาย บ้านหนองช้างคืน บ้านทรายมูล บ้านป่าขาม บ้านหลุก บ้านน้ำโค้ง บ้านล่ามช้าง บ้านหนองมูล บ้านประตูป่า บ้านท่ากว้าง บ้านร่องเชี่ยว บ้านเจดีย์ขาวและบ้านสันริมปิง ซึ่งจะไหลลงคลองสาขาเพื่อออกสู่น้ำปิงต่อไป ปัจจุบันระดับแม่น้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตามลำดับ

ทางโครงการชลประทานจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 โซน โดยเฉพาะตำบลอุโมงค์และตำบลเหมืองง่า ยกของขึ้นที่สูงและย้ายยานพาหนะไปจอดยังพื้นที่สูงชั่วคราว นอกจากนี้ยังให้ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษและกระแสไฟฟ้ารั่ว หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือโทร. 1784 สายด่วนนิรภัย ปภ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์น้ำภาพรวมในจังหวัดลำพูน ประชาไท รายงานว่า สันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดลำพูนเช้านี้ (8 ต.ค. 67) ยังคงมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองลำพูน

ที่ตำบลอุโมงค์ ฝั่งตะวันออกของถนนเชียงใหม่-ลำพูน ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ฝั่งตะวันตกบริเวณวัดกอม่วง ซึ่งรับน้ำจากหนองแฝก อำเภอสารภี ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ และไหลเอ่อลงไปยังตำบลหนองช้างคืน หมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 4 เช้านี้ระดับน้ำทรงตัว พื้นที่ในตำบลอุโมงค์มีน้ำท่วมเกือบทุกหมู่บ้าน ยกเว้นหมู่ 9-11 โดยเฉพาะหมู่ 1 น้ำท่วมขยายวงกว้าง ส่งผลให้บ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหาย มีชาวต่างชาติติดอยู่ที่สะพานเหมืองเก้าศอกและได้รับการช่วยเหลือแล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายงานเหตุไฟฟ้าดูด 2 ราย รายแรกเป็นผู้หญิงถูกส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลลำพูน ส่วนอีกรายเป็นชายอายุประมาณ 60 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ส่วนในพื้นที่ตำบลเหมืองง่า น้ำเอ่อขึ้นเล็กน้อยประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่สามารถผันลงเหมืองหลิ่งห้าและไหลสู่แม่น้ำกวงได้โดยสะดวก ขณะที่ตำบลริมปิงและตำบลประตูป่า ปริมาณน้ำเริ่มลดลงตามลำดับ แต่ยังคงมีน้ำขังในบางพื้นที่ของบ้านเรือนประชาชน

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมนี้ พร้อมแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้า หากต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อ PEA ลำพูนได้ที่โทร 053-511197 ซึ่งพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

‘สารจากเชียงใหม่ถึงลำพูน’ ชาวเชียงใหม่เตือนลำพูนไม่ประมาท ชี้เตรียมพร้อมอพยพ-ขนของขึ้นที่สูง-มีสติตลอดเวลา

ด้านการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์น้ำท่วม เพจเฟซบุ๊ก แฉ เชียงใหม่ ได้แแกมาเตือนประชาชนชาวลำพูนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ดังนี้ 1. อย่าประมาท  ต้องระมัดระวังทุกช่วงเวลา แม้จะดูเหมือนว่าสถานการณ์จะปกติ 2. น้ำท่วมอาจเกิดขึ้นเร็ว อย่างไว้วางใจว่าน้ำจะไม่ขึ้นถึงบ้าน เพราะน้ำสามารถมาถึงอย่างรวดเร็ว 3. วางแผนจัดเก็บทรัพย์สิน ควรกำหนดสถานที่เก็บของสำคัญ หรือเตรียมนำติดตัวไปด้วย 4. ขนของขึ้นที่สูง ควรเตรียมขนของขึ้นที่สูงให้มากพอ โดยประเมินว่าระดับน้ำอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ 5. การอพยพ วางแผนการอพยพ โดยเริ่มจากผู้ที่อพยพได้ยาก เช่น ผู้สูงอายุ คนป่วย และเด็ก 6. เตรียมความพร้อม หากสถานการณ์วิกฤต ควรตัดสินใจทรัพย์สินสินหรือบ้านเรือนทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง 7. ย้ายรถยนต์ ย้ายรถไปจอดในที่สูงทันที เนื่องจากอาจจะไม่มีโอกาสทำได้หากระดับน้ำสูงขึ้น 8. ข้อมูลติดต่อเจ้าหน้าที่ ควรเก็บหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่และช่องทางการติดต่อให้พร้อม 9. อุปกรณ์ป้องกันทรัพย์สิน ควรเตรียมถุงดำใส่ของ เติมลมให้แน่น และมัดด้วยเทปเพื่อป้องกันทรัพย์สิน 10. กระสอบทราย เตรียมกระสอบทรายไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วม 11. รองเท้าที่เหมาะสม ควรสวมรองเท้ายางแบบสวมขณะเดินลุยน้ำ แทนที่จะเป็นรองเท้าแตะ 12. ระมัดระวังในการขับขี่ หากไม่แน่ใจ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถลุยน้ำ เนื่องจากค่าซ่อมแซมอาจสูงมาก 13. ดูแลสัตว์เลี้ยง เตรียมที่อยู่สำรองสำหรับสัตว์เลี้ยง และเฝ้าระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงหลงหาย 14. ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และแอร์ควรถอดเก็บไว้ที่สูง เพราะการซ่อมอาจมีค่าใช้จ่ายสูง 15. มีสติและปฏิบัติตามแผน ควรรักษาสติและทำตามแผนที่วางไว้

‘ศปช.’ ระดมเครื่องจักรเร่งระบายน้ำ สารภี-ลำพูน คาดกลับสู่ภาวะปกติใน 7 วัน

นอกจากนี้ ด้านการระบายน้ำในพื้นที่อำเภอสารภีและจังหวัดลำพูน กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รวมถึง ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า มวลน้ำจากแม่น้ำปิงที่ล้นตลิ่งและไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีระดับน้ำเฉลี่ย 10-30 เซนติเมตร และจุดลึกสุดประมาณ 1 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 74 หมู่บ้านใน 12 ตำบล ขณะนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ 74 เครื่อง ซึ่งบางส่วนเริ่มใช้งานแล้ว ส่วนอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ระดับน้ำเริ่มคงที่อยู่ที่ 15-30 เซนติเมตร โดยจุดที่ลึกสุดอยู่ที่ 60 เซนติเมตร ขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ คาดว่าทั้งสองจุดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน

“ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เริ่มคงที่และค่อยๆ ลดระดับลง สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการสูบน้ำท่วมขังลงสู่ลำน้ำปิง เพื่อเร่งระบายน้ำลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้ยังมีศักยภาพในการรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก” จิรายุ กล่าว

ประชาชนช่วยประชาชน

ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมน้ำในเชียงใหม่ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาจะหนักหน่วง แต่ความช่วยเหลือในฐานะประชาชนด้วยกันยังคงมีต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 6-8 ตุลาคม ‘สนิมทุน’ กลุ่มอาสาสมัครประชาชนจากหลายเชื้อชาติ ได้ร่วมกันทำข้าวกล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีทีมอาสาลงพื้นที่ในการเก็บขยะ และเตรียมแผนทำความความสะอาดฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ช้างม่อยและกาดก้อม

จากการพูดคุย วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครสนิมทุนที่เข้าไปช่วยเหลือในการทำอาหารและลงพื้นที่แจกจ่ายอาหาร เผยว่า การรวมตัวกันช่วยเหลือในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย ในหมู่บ้านหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า โดยหลังจากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ก็ได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลืออีกครั้ง โดยกลุ่มอาสาสมัครสนิมทุนนั้นมีประชาชนหลายเชื้อชาติเข้ามาช่วยเหลือทั้ง ชาวไทย ชาวเมียนมา และกลุ่มองค์กรที่ทำงานสังคม

วิเชียรเล่าว่า การทำงานของหน่วยงานรัฐในหลายสถานการณ์ยังคงล่าช้า แต่การเข้าถึงประชาชนที่เดือดร้อนนั้นประชาชนกลับต้องช่วยเหลือกันเองในทุกครั้งที่เกิดวิกฤต และประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือการที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้มีประชากรแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายคนนั้นตกสำรวจจากการช่วยเหลือของรัฐ การช่วยเหลือจึงไม่ครอบคลุม ยกตัวอย่างเรื่องการแจกอาหารของรัฐนั้นก็ยังคงแจกตามจำนวนประชากรในระบบอยู่ รวมไปถึงการซ้ำซ้อนกันของหน่วยงานในการช่วยเหลือและปัญหาขยะที่ยังคงน่าห่วงอยู่

วิเชียรส่งท้ายว่า 2-3 วันที่ได้ช่วยเหลือนั้นมีความประทับใจที่ประชาชนออกมาช่วยเหลือกันเองบนพื้นที่ฐานที่อาจจะไม่ได้คาดหวังกับหน่วยงานภาครัฐขนาดนั้น

นอกจากนี้ กลุ่ม Food Not Bombs CNX ก็ได้มีการทำอาหารแจกจ่ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 5-8 ตุลาคม ทั้งนี้ภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เมืองเชียงใหม่เริ่มคลี่คลายลง Food Not Bombs CNX ก็ได้มีการวางแผนปรับรูปแบบการช่วยเหลือเป็นอาสาในการล้างบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง