พฤษภาคม 3, 2024

    จิ๊นลาบเถื่อน หมูกระทะก็เถื่อน สถานการณ์หมูเถื่อนภาคเหนือ บนความสะดุ้งที่ไม่คลี่คลาย

    Share

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ Lanner

    ในภาคเหนือนั้น เนื้อหมูก็นับว่าเป็นวัตถุดิบที่อยู่คู่ครัวคนเหนือ ในประวัติศาสตร์การกินมาอย่างยาวนาน เป็นวัตถุดิบหลักของ ‘จิ๊นลาบ’ หรือที่เรียกชื่อว่า ‘ลาบเมือง’ ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่มีตัวตนมาตั้งแต่สมัย 300 ปีก่อนตามประวัติศาสตร์การใช้เครื่องเทศในภูมิภาคล้านนา ในฐานะของอาหารที่ถูกประกอบขึ้นในพิธีมงคลต่างๆ เสริมเคล็ดของความมีโชคลาภ จนถึงปัจจุบันความนิยมของจิ๊นลาบก็ยังไม่ตกลงแต่อย่างใด อาจจะมีข้อพิพาทกันบ้างว่าลาบเมืองกับลาบอีสาน ลาบไหนอร่อยกว่ากัน? ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องหาข้อพิสูจน์ใด เพราะลิ้นและนิยามความอร่อยของคนแต่ละภาคไม่เหมือนกัน

    แล้วถ้าจู่ ๆ เนื้อหมูที่เลี้ยงปากท้องเราอยู่ทุกวัน หรือแม้แต่เนื้อหมูร้านหมูกระทะที่ตั้งอยู่แทบทุกมุมเมือง และยังเป็นทางเลือกมื้ออาหารยอดนิยมของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกนิยามว่าเป็นเมืองหลวงหมูกระทะ กลับกลายเป็นเนื้อหมูคุณภาพต่ำจากเมืองนอก คุณประโยชน์และสารอาหารต่างๆ ที่มาคู่กับความอร่อยชวนน้ำลายสอ กลายเป็นพิษภัยต่อร่างกายผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการในตลาดเนื้อหมู คงเป็นเรื่องที่ชวนสยองไม่ใช่น้อย สถานการณ์ของ ‘เนื้อหมู’ ในปัจจุบันเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต จากการลักลอบนำเข้า “เนื้อหมูเถื่อน” เนื้อหมูราคาถูกแต่ไร้คุณภาพ ที่แม้จะลากยาวมาหลายปีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด

    จุดเริ่มต้นนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน 

    เนื้อสุกรหรือเนื้อหมู รวมถึงเครื่องในหมู เป็นสินค้าต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงต้องได้การตรวจรับรองโรคและการเคลื่อนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องผ่านวิธีการนำเข้าของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่ต้องประสานการทำงานและรับผิดชอบร่วมกัน แต่จากการแพร่ระบาดของโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจสุกร (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) โรคระบบทางเดินอาหาร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) และโรคอหิวาต์แอฟริกัน หรือ ASF (African Swine Fever) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ภาคเกษตรเลือกลดการเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรลง ส่งผลให้เนื้อหมูไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด รวมถึงราคาที่พุ่งสูงขึ้นตามกลไกตลาด ทำให้ “เนื้อหมูเถื่อน” กลายเป็นช่องทางของเหล่ามิจฉาชีพที่ต้องการหากำไรจากสถานการณ์เนื้อหมูในปัจจุบัน


    (ภาพ: www.thaismartfarmer.com)

    เนื้อหมูเถื่อน หรือ “หมูกล่อง” เป็นเนื้อหมูที่ถูกนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการปลอมแปลงเอกสาร การนำเนื้อหมูเถื่อนบรรจุปนกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ รวบไปถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ก่อนจะนำไปกระจายสู่จุดขายเนื้อหมูปริมาณมากอย่างร้านค้าปลีก หรือร้านชาบู หมูกระทะ ปัจจุบันเนื้อหมูเถื่อนส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากประเทศบราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน หรืออิตาลี เป็นต้น ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า หมูเถื่อนเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ ASF แทบทั้งหมด เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในเนื้อหมูที่ขายตามตลาดในกรุงเทพฯ อีกทั้งหมูเถื่อนยังเต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสารต้องห้ามตาม พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ของไทย ของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2546 และยังเจอปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงไม่ต่างกับไทย แต่หมูเถื่อนเสนอราคาขายปลีกอยู่ที่ 135-150 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนผิดกฎหมายเหล่านี้จึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง

    โรค ASF ถูกรายงานพบการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม 2565 ในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลให้แม่พันธุ์หมูมีจำนวนลดลงจาก 1.1 ล้านตัวเหลือเพียง 550,000 ตัว ส่งผลให้จำนวนลูกหมูที่ถูกผลิตได้ในประเทศลดลงไปกว่าครึ่ง เหลือเพียง 12-13 ล้านตัวต่อปี อัตราการลดลงยังฉับพลันในช่วงเวลาสั้นๆ นี้กลายเป็นความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังไม่พร้อมแบกรับ จนทำให้เนื้อหมูแดงในตลาดมีราคาพุ่งสูงขึ้นจนเฉียดกิโลกรัมละ 300 บาท แต่วันดีคืนดี ราคาเนื้อหมูที่พุ่งแตะดวงจันทร์ก็กลับลดลงมาทั้งๆ ที่สถานการณ์โรค ASF ยังไม่คลี่คลาย

    ภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบกับที่มาของราคาเนื้อหมูที่ลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ นั่นคือการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เข้ามาขาย ซึ่งจะมีจุดสังเกตุอยู่ที่ราคาขายที่ต่ำกว่าปกติ อยู่ที่ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม รวมไปถึงยังมีโรงเชือดเนื้อหมูเถื่อน ซึ่งยิ่งทำให้ทำกำไรได้ดีกว่าการซื้อเนื้อหมูจากเกษตรกรไปเชือดเอง

    สถานการณ์เนื้อหมูเถื่อนลากยาวไปจนถึงช่วงปลายปี 2565 โดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ตลอดปี 2565 ปรากฎว่ามีการจับกุมดำเนินคดีไปถึง 29 คดี รวมของกลางทั้งหมดมีจำนวนของกลางถึง 1.7 ล้านกิโลกรัม เป็นมูลค่าราวๆ 123 ล้านบาท โดยพบว่ามีการนำเข้ามาจากประเทศบราซิลมากที่สุด ส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สาขากรมปศุสัตว์ในปีนั้นต้องติดลบไป 3%

    หนึ่งในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2566 โดยกรมปศุสัตว์ได้ฝังทำลายชิ้นส่วนเนื้อหมูเถื่อนเป็นน้ำหนักถึง 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์ว่านั่นเป็นเพียง 5% ของหมูทั้งหมดที่มีการลักลอบเท่านั้น 

    หมูสะดุ้งไปสะดุ้งมา?

    เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้ พันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และให้ พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่กำลังทำคดีหมู

    เถื่อน ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมแทน โดยการสืบสวนคดีดังกล่าวก็ใกล้จะสาวได้ถึงตัวการใหญ่ของขบวนการอยู่เต็มแก่ สร้างความงุนงงให้กับประชาชนถึงการโยกย้ายตำแหน่งครั้งนี้ โดยทางพ.ต.อ.เอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ออกมายืนยันว่าการโยกย้ายครั้งนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนแต่อย่างใด


    พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ภาพ: https://news1live.com/detail/9660000005630 )

    นอกเหนือจากการโยกย้ายตำแหน่งกลางคันแล้ว DSI ยังต้องเผชิญกับการกดดันจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่เพียงหน่วยงานเดียว ทั้ง ๆ ที่ DSI เป็นเพียงหน่วยงานปลายน้ำของการสอบสวนครั้งนี้เท่านั้น ขณะที่กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่เศรษฐาเป็นเจ้ากระทรวง กรมประมง ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บังคับบัญชา และกรมปศุสัตว์ ที่ ไชยา พรมมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ ยังไม่ถูกตรวจสอบเท่า และยังไม่ปรากฏข่าวว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงกรณีหมูเถื่อนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 แต่ทุกเรื่องในเวลานี้โยนให้ดีเอสไอรับไปเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น

    ย้อนกลับไปทางด้านร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นดังกล่าว โดยได้ตั้งทีม “พญานาคราช” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษปราบปรามสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมงผิดกฎหมาย โดยเป็นชุดปฏิบัติการที่คอยให้ความช่วยเหลือสารวัตรปศุสัตว์ สารวัตรประมง และสารวัตรเกษตรในการตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินเกษตรผิดกฎหมาย

    นอกจากนี้มีความงงงวยเกิดขึ้นจากการทำงานของภาครัฐแล้ว ในภาคธุรกิจเองก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นไม่แพ้กัน โดยสถานการณ์หมูเถื่อนก็สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเคลื่อนไหวกับราคาหุ้นของนายทุนยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) เจ้าของแม็คโคร (Makro) ห้างค้าส่งอาหารสดขนาดใหญ่ให้ตกลงมา 6.42% ปิดซื้อขายที่ 25.50 บาท (29 พ.ย.2566) โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการเข้าตรวจค้นของ DSI หลังพบว่าเคยซื้อเนื้อหมูจากบริษัทที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมูเถื่อน มูลค่า 390 ล้านบาท ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าว เป็นจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องจากวันที่ 28 พ.ย.66 ที่ราคาปรับลด 2.68%  ปิดที่ 27.25 บาท  รวม 2 วัน  หุ้น CPAXT ร่วง 8.93% หรือ -2.50 บาท  คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด  26,451 ล้านบาท

    โดยในกรณีดังกล่าว ทางด้านห้ามแม็คโครได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 28 พฤษจิกายนที่ผ่านมา ยืนยันรับซื้อหมูจากแหล่งผลิตในประเทศ 100% โดยมีแหล่งผลิตที่ชัดเจน และมีใบรับรองถูกต้องตามกฎหมายจากกรมปศุสัตว์ทุกล๊อต ส่วนเครื่องในหมูปกติซื้อในประเทศ 99% อย่างไรก็ดีจะมีบางช่วงที่ความต้องการบริโกคเนื้อหมู และเครื่องในมีมากกว่าจำนวนสินค้าในประเทศ จึงมีการรับซื้อจากบริษัทนำเข้า โดยยืนยันการรับซื้อของบริษัทฯ มีใบอนุญาตการนำเข้าและเคลื่อนย้ายอย่างถูกต้อง

    ขณะที่ราคาหุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เจ้าของ 7-Eleven และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CPAXT (34.91%) ก็ร่วงตามไปด้วย – 5.48% หรือ -3.00 บาท ปิดซื้อขายที่ 51.75 บาท รวมมูลค่าหายไปทั้งสิ้น 26,949 ล้านบาท

    ลาบหมูเถื่อน? หมูเถื่อนกระทะ? สถานการณ์เนื้อหมูเถื่อนในภาคเหนือ

    สถานการณ์เนื้อหมูเถื่อนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการที่ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยข้อมูลจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่าภาคเหนือ กลายเป็นพื้นที่ที่มีเนื้อหมูราคาแพงที่สุดในประเทศไปแล้วจากการขึ้นราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มจากกิโลกรัมละ 74 บาท เป็นกิโลกรัมละ 78 บาท ซึ่งนี่ก็ไม่ได้เป็นผลกระทบจากเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด

    สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เคยกล่าวถึงประเด็นเนื้อหมูเถื่อนในภาคเหนือไว้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 กับสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ ว่าปริมาณหมูที่ส่งเข้าพื้นที่ภาคเหนือมีมากเกินความเป็นจริง จากปกติจะมีหมูเข้าเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือดแล้วประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำซากหมู ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน ส่งผลกระทบให้ยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30% โดยเชื่อว่าเป็นหมูที่นำเข้าที่ผิดกฎหมาย เพราะผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรช่วยกันเลี้ยงจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปีแต่ปริมาณหมูในตลาดกลับเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ


    สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ (ภาพ: https://kasettumkin.com/cattle/article_44742 )

    ผลจากหมูจำนวนมากเข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวันก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง

    “ราคาหมูเถื่อนถูกกว่าหมูไทย จากไม่มีมาตรการป้องกันโรคหรือตรวจสอบย้อนกลับที่ดี ต้นทุนการผลิตหมูจึงถูกกว่า ส่วนเครื่องในเขาก็ไม่กิน การส่งมาขายที่ไทยจึงเปรียบเหมือนได้ทั้งเงินและลดขยะในบ้านเขา  ที่สำคัญ หมูเถื่อนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากคนไทย ทั้งภาครัฐผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบป้องกันแต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารที่หันไปซื้อของถูกมาปรุงให้ผู้บริโภคกิน คนรับกรรมก็คือผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงต้องขอร้องให้ภาครัฐขจัดปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจังทันที” นายสุนทราภรณ์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนในปัจจุบันก็ยังไม่ถูกคลี่คลายลง หนำซ้ำยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเนื้อหมู และสร้างความฉงนให้กับประชาชนถึงความจริงจังในการสกัดกั้นขบวนการมิจฉาชีพดังกล่าวว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด กลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องคอยระแวดระวังเนื้อหมูที่กำลังจะส่งตรงเข้าปากว่าจะเป็นเนื้อหมูเถื่อนด้อยคุณภาพหรือไม่?


    อ้างอิง

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...