เมษายน 26, 2024

    เรื่องจำเป็นที่ต้องรู้ก่อนเลือกตั้ง 66

    Share

    ใกล้เข้าทุกทีแล้วกับเรื่องที่หลายคนรอคอยนั้นก็คือการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราทุกคนต้องรู้เพิ่ม เพราะเลือกตั้งในครั้งนี้ มีรูปแบบที่แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 62 จากเดิมที่ใช้เพียงบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว ที่กาครั้งเดียวได้ ส.ส. เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรัฐมนตรี แต่ปี 66 นี้เปลี่ยนมาใช้บัตร 2 ใบ คือ 1. เลือก ส.ส. เขต 2. เลือกพรรค (ส.ส. บัญชีรายชื่อ)

    แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่มันมีหลายๆ เรื่องที่สำคัญซึ่งพวกเราทุกคนต้องรู้เพื่อเท่าทันสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง

    บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

    อย่างที่รู้กันว่าการเลือกตั้งรอบนี้ จะมีการใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ คือ 1.เลือก ส.ส. เขต 2. เลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ ) เมื่อเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง จากครั้งก่อนที่มีใบเดียวเท่านั้น เมื่อเข้าคูหา ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสีที่ต่างกัน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะประกาศสีของบัตรแต่ละใบเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง

    บัตรใบที่ 1 เลือกตัวแทนเขต

    สำหรับบัตรใบแรก ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตหนึ่งคนให้เป็นผู้แทนเขตเลือกตั้งของตนเอง โดยต้องเลือกผ่านการทำเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น หากพบเครื่องหมายอื่นจะถือว่าเป็นบัตรเสียโดยทันที

    การหาผู้ชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. เขตนั้นไม่ได้มีความซับซ้อนเนื่องจากใช้ระบบเสียงข้างมาก ผู้สมัคร ส.ส. คนใดก็ตามที่ได้คะแนนสูงสุดจากผู้มาใช้เสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา ระบบเลือกตั้ง ส.ส. เขตของไทยนั้นใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple majority) แม้ว่าผู้ชนะจะไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด หากแต่เพียงได้รับคะแนนเสียงสูงสุด ก็จะถือว่าชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น 

    ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 บัตรใบแรกจะมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น นอกจากจะมีการเปลี่ยนจำนวนของบัตรเลือกตั้งและวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว ยังมีการเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส. แต่ละประเภทอีกด้วย จากเดิมที่ในการเลือกตั้ง 2562 มี ส.ส. เขต 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ก็มีการเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส. เขตเป็น 400 คน และลด ส.ส. บัญชีรายชื่อให้เหลือเพียง 100 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้นการเลือกตั้งในแต่ละเขตนั้นจึงมีความสำคัญมากขึ้น พรรคใดก็ตามที่สามารถยึดกุมพื้นที่เขตเอาไว้ได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

    บัตรใบที่ 2 เลือกพรรคเข้าสภา

    ในขณะที่บัตรใบแรกใช้เลือก ส.ส. เขตตามระบบเสียงข้างมาก บัตรใบที่สองจะเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อตามระบบแบบสัดส่วน สูตรคำนวณที่จะนำมาใช้ในบัตรใบที่สองในการเลือกตั้งปี 2566 นั้นจะคิดที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์แบบคู่ขนานกับจำนวน ส.ส. เขต หรือที่เรียกว่าระบบ MMM หรือในอีกชื่อหนึ่งคือระบบ “หารร้อย” ตามจำนวนที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่มี 100 คน ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยเคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 (รูปแบบการคิดคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว อ่านรูปแบบการคำนวณวิธีอื่นได้ที่นี่)

    อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพงเรื่องของบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เขตในบัตรใบแรก และหมายเลขพรรคในบัตรใบที่สอง จะไม่เหมือนกัน ขอย้ำว่าไม่เหมือนกัน!!! สร้างความมึนงงให้พวกเราไปกันใหญ่ ต้องสังเกตุและจดจำกันให้ดี ๆ 

    สูตรคำนวณหาร 100  จำนวนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ นั้นเป็นอย่างไร

    อาจจะงง ๆ กันหน่อย แต่เรื่องนี้ต้องรู้ว่าการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองทั้งหมดจาก บัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อคือ 100 คน แล้วคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้สัดส่วนคะแนนออกมาตัวอย่างเช่น 

    คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนเท่ากับ 40 ล้าน หารด้วย 100 = 400,000 คะแนน 

    ถ้าพรรค A ได้คะแนนเสียงจำนวน 10 ล้านคะแนน พรรค A จะมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับ 10 ล้าน หารด้วย 400,000 = 25 คน หมายถึงพรรค A ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 25 คน 

    หากพรรค A ได้จำนวน ส.ส.เขตมาแล้ว 150 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้ ส.ส. ทั้งหมด 150+15 = 175 คน 

    แล้ววันเลือกตั้งคือวันไหน ?

    คิดง่าย ๆ ว่าถ้าสภามีอายุครบ 4 ปี ก็จะมีพระราชกฤษฏีกาจากพระมหากษัตริย์ ให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน และกกต. จะประกาศภายใน 5 วันหลังจากมีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสภาล่าสุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 62 วันที่ 24 มีนาคม 2562 และถ้าบวกไปอีก 4 ปีก็จะตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566 และภายใน 5 วัน หรือวันที่ 24 – 28 มีนาคม 2566 กกต.ต้องประกาศวันเลือกตั้งว่าภายใน 45 วันที่จะถึงนี้ จะได้เลือกตั้งวันไหน ซึ่งพอคำนวณแล้วจะอยู่ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

    อีกแบบคือวิธีการยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่สามารถกำหนดวันยุบสภา ที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง โดยทำให้เร็วหรือช้าได้ ก่อนจะถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 ถ้านายกอยากยุบสภาภายในวันเวลาดังกล่าว ภายใน 5 วันหลังยุบสภา ก็ยังเป็นหน้าที่ของกกต. ที่จะต้องกำหนดวันเลือกตั้ง 

    แต่ระยะเวลากำหนดการเลือกตั้งก็จะมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 45-60 วัน นับตั้งแต่วันที่ยุบสภา ถ้าเป็นกรณีนี้ 7 พฤษภาคม อาจไม่ใช่วันเลือกตั้ง อาจจะเป็น 21 พฤษภาคมก็เป็นไปได้

    เรามาร่วมกันสร้างความคึกครื้นให้การเลือกตั้งครั้งนี้สนุก เต็มไปด้วยพลัง และคงจะไม่เห็นบัตรเขย่ง การคิดคะแนนผิด หรือเทคนิคชวนมึนเหมือนปี 62 เท่าทันกกต. เดินเข้าคูหาไปด้วยกัน

    อ้างอิงจาก

    https://ilaw.or.th/node/6294

    https://ilaw.or.th/node/6282

    https://www.tnnthailand.com/news/politics/125725/

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...