ชาติพันธุ์ปลดแอกประกาศเจตนารมณ์ ปลดแอกมรดกสงครามเย็น เรียกร้องรัฐไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ​

10/08/2022

9 สิงหาคม 2565 กลุ่มชาติพันธ์ปลดแอกจัดงานกิจกรรมปลดแอกชาติพันธุ์ ชำระประวัติศาสตร์บาดแผล เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล เวลา 17.00 – 19.00 น. ณ ลานควายยิ้ม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก เกิดจากการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงนักกิจกรรมทางสังคม ที่เล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องทำอย่างถอนรากถอนโคน โดยนับจากยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต้องเผชิญกับการประกอบสร้างมายาคติกดขี่อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่ การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนต่างด้าว ไม่ใช่คนไทย การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด เป็นภัยความมั่นคง และการมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติต้องลดลง ซึ่งมายาคติทั้งหมดนี้นำมาสู่การที่พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์นั้นต้องตกอยู่ภายใต้มาตรการ นโยบาย และกฎหมายที่ต้องการควบคุม ถูกทำให้ต้องสยบยอม ชนชั้นนำไทยหล่อเลี้ยงพวกเราด้วยโครงการสงเคราะห์ บีบให้การพัฒนาศักยภาพและการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของเราหดแคบลงทุกที​


กิจกรรมภายในงานมีการร้องเพลงจาก ฟิวส์ กลุ่มกรีนเรนเจอร์,การแสดง Performance Art จากศิลปินวัดร่ำเปิง ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่จากรัฐ และอคติที่อยู่ในสังคม​

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ พูดถึงประเด็นที่ว่าชนชั้นกลางในเมืองชอบ Romanticized ความลำบากของชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตลำบาก จากการไม่เข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ถูกให้ความลำบากของชาติพันธุ์เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นการกดทับและผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียม​


วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ โดยชาติ กลุ่มตี่ต่าง สื่อเพื่อการขอสัญชาติ กล่าวว่า มีปัญหามากมายของกระบวนการในการขอสัญชาติที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอคติต่อคนไร้สัญชาติ ,จีน คนรุ่นใหม่จากอมก๋อย กล่าวว่า ความเจ็บปวดจากการที่เป็น ปกาเกอะญอ ถูกเหยียด ถูกกลืนจากวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ โง่ จน เจ็บ , ดวงแก้ว ภาคี Save อมก๋อย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องชายเป็นใหญ่ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อขบวนการต่อสู้ของผู้หญิงในหมู่บ้านกะเบอะดินมากเท่าไหร่ โดยทั้งชายและหญิงมีบทบาทเท่ากันโดยไม่ได้มองว่าผู้ชายออกไปต่อสู้ส่วนผู้หญิงอยู่บ้าน , บี้ กลุ่มปกาเกอะญอคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงเบ๊อะบละตู อธิบายถึงการถูกละเมิดสิทธิผ่านการปลูกฝังวาทกรรมที่ไม่ได้ให้อำนาจกับพวกเรา ทำให้พวกเราเกิดความหวาดกลัวและไม่รู้สิทธิของตนเอง รวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกัน , เดียร์ นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า คำว่า “ชาติพันธุ์” เป็นคำที่สร้างความเป็นอื่นจากวัฒนธรรมกระแสหลักทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีความภาคภูมิใจในเชื้อชาติตนเอง จากทั้ง วาทกรรม กฎหมายและนโยบาย​


สุมิตรชัย หัตถสาร จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น สรุปความคิดเห็นจากการแลกเปลี่ยนว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นต่อคนกลุ่มนี้คือกระบวนการ De-Humanright คือการลดทอนความเป็นมนุษย์จากความเป็นชาติของรัฐนั้นๆที่สืบเนื่องมาจากช่วงสงครามเย็น เป็นการลดทอนอัตลักษณ์และสร้างวาทกรรมกระแสหลักทำให้คนกลุ่มนี้ถูกกดทับ​

หลังจากวงแลกเปลี่ยนมีการกล่าวเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องจากตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก 3 ข้อคือ​
1. กฎหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นแนวนโยบายขั้นแรกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเร่งด่วน​
2. ต้องปลดแอกมรดกสงครามเย็นออกจากนโยบายและกฎหมายทั้งหมด อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นโยบายคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงพระราชบัญญัติสัญชาติ​
3. รัฐไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ การผลิตซ้ำมายาคติเชิงลบ ทุกการกดขี่ ทุกโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างน้อยคือการขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความจริงใจ และการร่วมผลักดันให้เกิดปฏิบัติการตามข้อ 1 และ 2​


สุดท้ายมีการแสดงออกผ่านเผากระดาษที่มีข้อความเกี่ยวกับวาทกรรมและมายาคติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นชาติพันธ์ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอกจะเคลื่อนไหวอย่างต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย​


#ชาติพันธุ์ปลดแอก​
#ปลกแอกมรดกสงครามเย็น​
#ชาติพันธุ์ก็คือคน​
#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง