พฤษภาคม 17, 2024

    ‘ชาติพันธุ์ปลดแอก’ ปฏิบัติการชำระประวัติศาสตร์-มายาคติกดทับชาติพันธุ์ ทั่วเชียงใหม่

    Share

    ภาพ: คณะก่อการล้านนาใหม่ – NEO LANNA

    9 สิงหาคม 2566 เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก ได้มีการชูป้ายเรียกร้อง “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง” “ปลดปล่อยชาติพันธุ์ จากอคติทางสังคม” “ผลักดันกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์” บริเวณพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และ กลางสี่แยกรินคำ เรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้องส่งเสริมศักยภาพคุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ ปลดแอกมรดกสงครามเย็น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบการกระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพจ คณะก่อการล้านนาใหม่ – NEO LANNA ได้รายงานว่า

    “กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก” Action

    ชูป้ายเรียกร้องหน้าพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง

    1.กฎหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นนโยบายขั้นแรกที่ทุกภาพส่วนต้องร่วมผลักดันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเร่งด่วน

    2.ต้องปลดแอกมรดกสงครามเย็นออกจากนโยบายและกฎหมายทั้งหมด อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นโยบายคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงพระราชบัญญัติสัญชาติ

    3.รัฐไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ การผลิตซ้ำมายาคติเชิงลบ ทุกการกดขี่ ทุกโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างน้อยคือการขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความจริงใจ และการร่วมผลักดันให้เกิดปฏิบัติการตามข้อ 1 และ 2

    เพื่อชำระทุกประวัติศาสตร์ และหยุดการส่งต่อภาพมายาคติและการโฆษณาชวนเชื่อจอมปลอมที่กดทับกับกลุ่มชาติพันธุ์ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนต้องรับผิดชอบในการสร้างความเข้าใจที่ผิดต่อพวกเรา และหลังจากนี้พวกเราจะเดินหน้าเคลื่อนไหวและสื่อสารภาพใหม่ของชาติพันธุ์ เพื่อถอดรื้อ ทำลาย มายาคติทั้งหมด ทวงคืนความเป็นคนให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในชาตินี้

    ทั้งนี้ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยเนื้อหาที่ย้อนตั้งแต่ 15 ปีก่อน(พ.ศ.2550) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้กำเนิดขึ้นแต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังจากปี 2550 ลากยาวไปจนถึงการออก พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติป่าชุมชน จาก ยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้เงาของรัฐบาลเผด็จการ คสช. ทำให้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง อาจจะไม่เพียงพอต่อการปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย มีเนื้อหาดังนี้

    ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ได้กำเนิดขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม และเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนขจัดการเลือกปฏิบัติต่อปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมกว่า 370 ล้านคนทั่วโลก

    ประเทศไทยในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ 2 ฉบับ ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิ.ย. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นสองกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนอย่างมาก โดยมติคณะรัฐมนตรีนั้นได้แบ่งการแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมทั้งด้านอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษา

    หนึ่งปีต่อมา ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังเข้าทำลายพืชผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง ปรากฏภาพบ้านเรือนและยุ้งข้าวที่ถูกเผาร่วมร้อยหลัง 3 ปีหลังจากนั้นแกนนำคนสำคัญอย่าง ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ถูกบังคับให้สูญหาย

    7 ปีหลังมีมติคณะรัฐมนตรี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เยาวชนชาวลาหู่ผู้ไร้สัญชาติใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ยังไม่นับว่าหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 สถานการณ์การละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์โดยรัฐไทยยังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีการรื้อ ‘บาฆัด’ หรือ บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ในหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ กรณีพิพากษาจำคุก ‘วันเสาร์ ภุงาม’ ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา จ.เพชรบุรี ในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินอีกครั้ง รวมถึงความพยายามในการไล่รื้อชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ เร็ว ๆ นี้

    นอกจากนั้นยังปรากฏว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับการไม่มีส่วนร่วมในทางกฎหมายและนโยบาย กล่าวคือ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการป่า ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติป่าชุมชน ผ่านมาในปี 2562 ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่าที่ไม่มีใครรับฟัง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และการสัมปทานเหมืองหิน จ.สตูล กำลังทับลงไปในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างง่ายดายจากความพยายามในการผลักดันของหน่วยงานรัฐ ควบคู่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

    สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนว่า แนวทางทั้งจากปฏิญญาสหประชาชาติฯ และมติคณะรัฐมนตรีอาจไม่เพียงพออีกแล้วเมื่อเทียบกับ ‘ภัยคุกคาม’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมๆ กับอคติที่สังคมยังคงมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นอื่น จึงเกิดเป็นความพยายามของหลายภาคส่วนที่จะผลักดันมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้การรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นจริง

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...