มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้เข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดโดยคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เดน จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีปัญหาร่วมของชุมชนที่อยู่ในเขตป่า เช่น ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคเนื่องจากกฎหมายป่าไม้ การถูกคุกคาม ดำเนินคดีและยึดที่ดินทำกินหน่วยงานรัฐ โดยในช่วงท้ายมีการยื่นหนังสือถึง กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกฎหมาย นโยบายด้านที่ดินและทรัพยากร
ภัทรเดช เจริญกิจสุข ตัวแทนชุมชนบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนว่า ชุมชนบ้านรินหลวงเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดงในปี 2543 ครอบคลุมพื้นที่ 1,123 ตร.กม. ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินที่ทางชุมชนใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ในปี 2555 ชาวบ้านบางรายถูกดำเนินคดีและยึดที่ดินทำกิน โดยไม่ได้รับการแจ้งหลักเกณฑ์ชัดเจนจากอุทยานฯ อย่างไรก็ตาม อุทยานฯ ผ่อนปรนให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาได้จนถึงปี 2567
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ทางชุมชนได้รับหนังสืออุทยานแห่งชาติผาแดง ที่ ทส 0926.602/ว365 ลงวันที่ 7 มิ.ย. 2567 เรื่อง ขอปิดประกาศอุทยานแห่งชาติผาแดง ห้ามบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง และห้ามเข้าไปในเขตป่าอุทยานแห่งชาติผาแดงบริเวณพื้นที่ที่ถูกตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีแล้ว (แปลงคดี) ส่งผลให้มีชาวบ้านในชุมชน 41 ราย ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ทำกินได้ แม้ชุมชนพยายามเจรจาแก้ปัญหากับอุทยานฯ แต่ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากหัวหน้าอุทยานฯ ระบุว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องให้ชุมชนผลักดันเรื่องในระดับกระทรวง
กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดงมีหนังสือคำสั่งที่ 44/2567 มายังผู้ใหญ่บ้านรินหลวงอีกครั้ง ให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนพืชผลและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านกังวลถึงความไม่มั่นคงในชีวิตและการทำกิน เนื่องจากอาจสูญเสียที่ทำกินถาวร ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของครัวเรือน
“ทางชุมชนต้องการให้ กมธ.ที่ดินฯ ลงพื้นที่ชุมชนบ้านรินหลวงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนโดยเร่งด่วน โดยชุมชนมีความประสงค์ให้อุทยานแห่งชาติผาแดงผ่อนผันให้ชุมชนทำกินได้ไปพลางก่อน เนื่องจากเราได้ทำการเกษตรแล้ว และบรรจุกรณีบ้านรินหลวงเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนของ กมธ.ที่ดินฯ พร้อมตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้แจงกรณีการตรวจยึดที่ดินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า และขอให้เร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐโดยเร็ว” ภัทรเดชกล่าว
โดยเบื้องต้นทางคณะกรรมาธิการที่ดินฯ แจ้งว่าจะดำเนินการประสานงานไปยัง ‘อรพรรณ จันตาเรือง’ ส.ส.พรรคประชาชน เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้บรรจุเป็นวาระตั้งกระทู้ถามสด รมต.กระทรวงทรัยพยากรฯ ให้ชี้แจงถึงกรณีปัญหาอันเกิดจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง และให้ทางกระทรวงมีแนวปฏิบัติเป็นคำสั่งลงไปยังอุทยานแห่งชาติผาแดง ให้ชะลอหรือยุติการดำเนินการในพื้นที่
จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงผลกระทบจากกฎหมายนโยบายที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ที่เน้นการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรโดยรัฐ เช่น ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ, แผนพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ, คทช. และนโยบายคาร์บอนเครดิต ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ทำให้ปัญหาที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าไม่สามารถแก้ไขได้ หากชุมชนยอมรับกฎหมายนโยบายเหล่านี้ เท่ากับเป็นการยอมรับว่ากำลังบุกรุกที่ดินของรัฐ ทาง สกน. จึงเรียกร้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“คาร์บอนเครดิต การเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวบ้านโดนยึดที่ ถ้ารับ ค.ท.ช. ต้องปลูกต้นไม้ ท่านจะอยู่กินในพื้นที่นั้นอย่างไรถ้าต้องรับเงื่อนไขปลูกป่าด้วย รวมถึงกฎหมายอุทยานฯ และนโยบายทวงคืนผืนป่า เป็นคดีความกับชาวบ้าน มีการตัดฟันพืชผลอาสิน เกิดแผนการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าด้วย ถ้ามีการกระจายอำนาจ มีสิทธิชุมชนจริง ๆ เราจะสามารถจัดการได้ ตัดสินใจได้ว่าเราจะดูแลพื้นที่อย่างไร เราจึงเสนอให้มีพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร หรือ โฉนดชุมชน และให้เร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีในเขตป่า ส่วน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ก็ต้องเร่งผลักดันด้วย”จรัสศรีกล่าว
นิราพร จะพอ จากชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคามทำลายไร่หมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากชุมชนร้องเรียนไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ลงพื้นที่มาชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวเกิดจากนโยบายของกรมป่าไม้ที่สั่งให้มาดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บุกรุก โดยอ้างถึงการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมในการตรวจสอบสภาพป่า ผ่านระบบพิทักษ์ไพร ซึ่งไร่หมุนเวียนมักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องด้วยระบบการพักฟื้นที่ทำกินรอบละ 7-10 ปี จึงมีลักษณะคล้ายป่าจากภาพถ่ายทางอากาศ หน่วยงานจึงตีความว่า เป็นการบุกรุกป่าเพิ่ม แม้จะเป็นพื้นที่ทำกินเดิมก็ตาม
นิราพรยังได้สะท้อนถึงผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาที่กระทบต่อระบบไร่หมุนเวียน เนื่องจากไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรกรรมที่ต้องใช้การเผาเพื่อเตรียมสภาพดิน เมื่อไม่สามารถเผาได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ระบบไร่หมุนเวียนเสียสมดุล ผลผลิตลดลง และกระทบความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและกังวลว่าจะไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ตามวิถีเดิม ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เรียกร้องให้ยุติการคุกคามและเร่งคุ้มครองระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน
“เราเสนอว่า หากจะควบคุมการเผาและการใช้ไฟในพื้นที่การเกษตรต้องมีการแยกแยะพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่อยากให้เหมารวมไร่หมุนเวียนกับไร่พืชเชิงเดี่ยว เพราะระบบเกษตรค่อนข้างต่างกัน อยากให้ กมธ.ที่ดินฯ เร่งประสานงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประสานการทำงานร่วมมือกับ กมธ.ชาติพันธุ์ฯ เพื่อให้เร่งหามาตรการคุ้มครองไร่หมุนเวียนโดยเร่งด่วน” นิราพรกล่าว
ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เสนอให้ตรวจสอบและหามาตรการกันพื้นที่ชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากแผนประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2534 ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนในเขตป่าอย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งการอพยพประชาชนออกจากเขตป่า จัดสรรพื้นที่ทำกินให้ใหม่ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน หลายพื้นที่พบว่ามีการไล่รื้อชุมชน และผลกระทบทั้งหมดยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร คสช. นโยบายทวงคืนผืนป่าและพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทำให้การคุกคามชาวบ้านกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง
หลายชุมชนได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ส่งผลให้บางพื้นที่ยังไม่สามารถประกาศได้ โดยในฐานสมาชิกของ สกน. มีด้วยกันทั้งสิ้น 4 อุทยานแห่งชาติ (เตรียมการ) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง, อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมการ) จังหวัดเชียงราย และอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เสนอให้ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งตรวจสอบกระบวนการการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและละเมิดสิทธิชุมชน รวมถึงเสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ กันพื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานฯ และแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ 3 ฉบับ (พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562) พร้อมหามาตรการชะลอการออกกฎหมายลำดับรอง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและให้สอดคล้องกับสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร
นอกจากกรณีปัญหาในพื้นที่สมาชิก สกน. ยังมีกรณีปัญหาของประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายนโยบายเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น กรณีปัญหาประชาชนในพื้นที่ตำบลวังทอง ตำบลวังทราย และตำบลร่องเคราะห์ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ได้รับผลกระทบจากโครงการปลูกป่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สังกัดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) มีเกษตรกรได้รับผลกระทบมากถึง 537 ครัวเรือน จำนวน 8,318 ไร่ ทำให้ชาวบ้านที่ยึดอาชีพเกษตรกรในการเลี้ยงดูครอบครัวเพื่อยังชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก บางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกินทั้งหมด ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งคสช.ที่64/2557 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า
รุ่งโรจน์ อวดห้าว ชาวบ้านดอนแก้ว ต.ร่องเคราะห์ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์นี้ว่า ทางกรมป่าไม้เข้ามายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยไม่มีกระบวนการทำประชาคม ไม่แจ้งให้ผู้นำชุมชนรับรู้ และอ้างอำนาจตามคำสั่งคสช.ว่า เป็นพื้นที่ตรวจยึดและดำเนินคดี ทั้งที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบใดๆ ว่าการทำกินของประชาชนเข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ ทั้งยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ์ว่าประชาชนในพื้นที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นหรือไม่ ซึ่งหลังจากตรวจยึดที่ดินทำกินไปแล้วนั้น ทางหน่วยงานได้นำแปลงคดีเหล่านี้ไปดำเนินการโครงการปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“เจ้าหน้าที่พยายามบีบคั้นให้ชาวบ้านต้องยอมคืนพื้นที่ให้ปลูกป่า แต่เราไม่เคยยอม เรายื่นมาแล้วทุกหน่วยงาน อยากขอฝาก กมธ.ที่ดินฯ ด้วย ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ไปตรวจสอบงบประมาณการปลูกป่าเลย มายึดที่ชาวบ้านแล้วไปปลูกป่า เอางบภาษีประชาชนกี่ล้านแต่ละปีเพื่อมาทำอะไรแบบนี้ ป่ามันเป็นป่าอยู่แล้ว แต่มาถางป่าชาวบ้านไปปลูก ชาวบ้านไม่ได้ไปทำกินในพื้นที่ตรงนั้น” รุ่งโรจน์กล่าว
ด้านคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นร่วมกันว่า กรณีปัญหาที่ทางประชาชนสะท้อนมา เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและทรัพยากรอย่างจริงจัง พร้อมทั้งยืนยันว่า สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ทำกิน รวมถึงสิทธิอีกหลายประการที่ประชาชนพึงได้รับนั้น ถูกลิดรอนด้วยกฎหมายนโยบายที่ถูกออกแบบภายใต้ชุดความคิดที่คำนึงถึงประชาชนน้อยกว่าความพยายามในการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า
กฤช ศิลปชัย รองประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ยกตัวอย่างประเด็นการตั้งกรอบงบประมาณประจำปีในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติในปีที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดหนึ่งกล่าวถึงเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25 เปอร์เซนต์โดยสัดส่วนงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการจับกุมดำเนินคดีสูงกว่างบประมาณเพื่อใช้แก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของหน่วยงานในการแยกคนออกจากป่าจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงปัญหาที่พบผ่านการรับเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมาธิการที่ดินฯ พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในกรณีพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า คือ 1)ระบบกฎหมาย 2) ที่ดินที่ทับซ้อนของประชาชนและหน่วยงานรัฐ และ 3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ทับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติกับประชาชน เมื่อมีการดำเนินคดีความตามกระบวนการยุติธรรม ศาลจะเลือกใช้ข้อมูลแนวเขตของพื้นที่ของอุทยานฯ โดยไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบข้อมูลโดยภาพรวม ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมายของอีกฝ่ายที่เป็นคู่กรณี
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชนสัดส่วนชาติพันธุ์ กล่าวถึงอำนาจในการดำเนินการตามกลไกคณะกรรมาธิการฯที่สามารถเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ คือ การเสนอให้แก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงการผลักดันกฎหมายใหม่ที่เพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิประชาชนในพื้นที่ป่าได้ รวมถึงการตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หากมีการร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด และท้ายที่สุดคือ อำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีสิทธิแสดงความเห็นได้ในสภา ผ่านการตั้งคำถามและอภิปราย ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารไปยังสังคมสาธารณะให้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาได้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...