8 ธันวาคม 2566 จักรพันธ์ ศรีวิชัย พร้อมกับประชาชนผู้เข้าร่วมการแสดงสาธิตเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีน้ำเงินผ่านการเดินบนถนนด้วยรูปแบบ Performing Art “รถไฟล่องหน” (Invisible Train) ตั้งแต่เวลา 12:00 – 16:00 น.
วัตถุประสงค์ของการแสดงสาธิตในครั้งนี้ คือเพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจริงที่จะเกิดขึ้นหากโครงการรถไฟฟ้าถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยรายละเอียดของการแสดงสาธิตในครั้งนี้ได้ถอดแบบมาจากโมเดลโครงการรถไฟฟ้าที่ออกแบบโดย สนข.เชียงใหม่ ซึ่งจักรพันธ์ ศรีวิชัย ได้พูดถึงรายละเอียดโมเดลนี้ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าไร้ราง ที่จะใช้วิธีการตีเส้นสร้างเลนบนพื้นถนน วิ่งด้วยความเร็ว 15-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งอาจจะไม่ได้ฟังก์ชันกับสภาพบนท้องถนนจริงและอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนด้วย
การแสดงสาธิต Performing Art รถไฟล่องหนสายสีน้ำเงิน มีระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 13 สถานี แต่ละสถานีจะใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุดที่ประมาณ 15 นาที นานที่สุดประมาณ 40 นาที และจะจอดรับผู้โดยสารแต่ละสถานีเป็นเวลา 5 นาที โดยเริ่มจาก
1.สถานีศรีบัวเงินพัฒนา เวลา 12:00 น.
2.สถานีดอนจั่น เวลา 12:40 น.
3.สถานีหนองประทีป เวลา 12:55 น.
4.สถานีรถไฟเชียงใหม่ เวลา 13:10 น.
5.สถานีสันป่าข่อย เวลา 13:25 น.
6.สถานีไนท์บาซาร์ เวลา 13:40 น.
7.สถานีท่าแพ เวลา 13:55 น.
8.สถานีเวียงเก่า เวลา 14:10 น.
9.สถานีสวนดอก เวลา 14:25 น.
10.สถานีสุเทพ เวลา 14:45 น.
11.สถานีนิมมานเหมินท์ เวลา 15:00 น.
12.สถานีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 15:30 น.
13.สถานีสวนสัตว์เชียงใหม่ เวลา 15:45 น.
จักรพันธ์ ศรีวิชัย เล่าว่า การแสดงสาธิตครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เพราะมีการเปิดให้มีผู้เข้าร่วมผ่านการประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์จนมีผู้เข้าร่วมหลายสิบคน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมจริงของการใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ที่โดยทั่วไปจะต้องมีผู้โดยสารร่วมทางที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันไป โดยได้ระบุเพิ่มเติมถึงปัญหาผลกระทบที่สะท้อนออกมาจากการเดินสาธิตครั้งนี้ว่าแม้จะอยู่ในเลนซ้ายตามการออกแบบโมเดลโครงการแล้วแต่ก็ยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัด
“การสาธิตเป็นรถไฟฟ้าคือการเผชิญหน้ากับอุปสรรค และสร้างอุปสรรค เพราะจริงๆตัวมันนั่นแหละคืออุปสรรคของคนใช้ถนน แม้การสาธิตจะย่อขนาดของรถให้เล็กลงมากก็ยังเป็นปัญหา แล้วถ้าขนาดจริงมันไม่ตอบโจทย์การใช้จริง ไม่มีคนใช้ มันก็จะเจ๊งไปอีกหรือเปล่า เหมือนขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ที่ผ่านๆ มา”
#รถไฟล่องหน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...