ฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง ขอเคารพธรรมชาติ ขอศรัทธาผู้คนสองฟากฝั่ง

9 ธันวาคม 2566 เครือข่ายฮักน้ำโขงและภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรม “งานฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” ณ โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เวลา 09.00 

กิจกรรมเริ่มต้นโดยพิธีกรรมทางศาสนาและซอที่เล่าถึงแม่น้ำโขงและการต่อต้านเขื่อนในลุ่มน้ำโขงรวมไปถึงการกล่าวรำลึกถึงนักปกป้องแม่น้ำโขงผู้วายชนม์



ต่อมามีการกล่าวรำลึกถึงนักปกป้องแม่น้ำโขง ผู้วายชนม์ อาทิ อุ้ยเสาร์, อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น, เลน จิตติมา ผลเสวก,  ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ชาวบ้านเชียงของ นักเขียน ศิลปินผู้ร่วมปกป้องแม่น้ำโขงจนวายชนม์ กล่าวนำโดย เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา 



มีการแสดงกลองสะบัดชัย ฟ้อนรำดาบและฟ้อนโต(ฟาน) โดยโรงเรียนอนุบาลเชียงของ, การแสดงเต้นช้าง Shwe Eike Maung จากจังหวัดจ๊อกเซในมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา โดยศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ, การแสดงเต้นม้ง, อ่านบทกวี เธอยังเป็นความหวังแสงดาว โดย ภู เชียงดาว และปิดท้ายกิจกรรมช่วงเช้าด้วยการแสดง Performance Art โดย จักรกริช ฉิมนอกและ ภัทรี ฉิมนอก จาก Community Arts



โดยในช่วงบ่าย เวลา 13.00-14.30 น. มีการจัดเวทีเสวนา “สถานการณ์แม่น้ำโขง ความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชน และสิทธิของแม่น้ำ” ร่วมเสวนาโดย ทองสุข อินทะวงศ์ อดีตพ่อหลวงบ้านห้วยลึก, มานพ มณีรัตน์  ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากอิงใต้, อภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น และปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters

วงเสวนาเริ่มต้นโดยคลิปที่เล่าถึงความสำคัญของแม่น้ำโขงที่พาดผ่านประเทศหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ การแบ่งแม่น้ำโขงเป็นตอนบนและตอนล่าง มีการเล่าถึงการเกิดขึ้นของเขื่อนในแม่น้ำโขง และเล่าถึงแผนการทำงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ Mekong River Commission และเล่าถึงผลกระทบจากเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเชียงของ

ทองสุข อินทะวงศ์ อดีตพ่อหลวงบ้านห้วยลึก เล่าว่า ตนได้ต่อสู้มา 25 ปี มีการต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขง ทั้งการปักเขตแดนและต่อต้านเขื่อนปากแบง ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น ทองสุขเล่าต่ออีกว่าตนมีความกังวลหากมีการสร้างเขื่อนหมู่บ้านของตนเป็นหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน อาทิ พืชผลทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมไปถึงการชดเชยเยียวยามีปัญหา และเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนที่ส่งผลกระทบในด้านการประมง ทำให้อาชีพในชุมชนหายไปส่งผลให้ชุมชนขาดรายได้

“เราต่อสู้เพื่อลูกหลานในอนาคต ไม่เฉพาะอำเภอเวียงแก่น แต่เราต่อสู้ภาพรวมทั้งอำเภอเชียงของ” ทองสุข กล่าว



มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากอิงใต้ เล่าถึงปัญหาในหมู่บ้านปากอิงใต้หากมีการสร้างเขื่อนขึ้น จะสูงขึ้นถึง 340 เมตรในแม่น้ำสาขาหรือแม่น้ำอิงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรที่อยู่ริมแม่น้ำมากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป มานพได้เสริมในประเด็นการสอบถามข้อมูลผลกระทบก่อนมีการสร้างเขื่อน ที่ยังไม่สำรวจได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็น แต่มีการเซ็นสัญญาในการสร้างเขื่อนเรียบร้อยที่ไม่ได้มองปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญหลังสร้างเขื่อน

“เราเป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เราต้องอยู่กับปัญหาที่คุณสร้างขึ้น เราไม่ได้สร้างปัญหาแต่เราต้องอยู่กับปัญหา เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต คุณเคยรู้ไหมว่าเราต้องเจออะไรบ้าง” มานพ กล่าว

อภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น เล่าว่าการสร้างเขื่อนปากแบงในอำเภอเวียงแก่นยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน สิ่งที่ทางเทศบาลเรียกร้องมาตลอดคือผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะเรื่องระดับน้ำ ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าหากมีการสร้างเขื่อนระดับน้ำที่เออล้นจากการสร้างเขื่อนปากแบงระดับน้ำจะสูงถึง 340 ซึ่งทำให้น้ำท่วมล้นบริเวณผาไดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ปลูกส้มโอ ในอำเภอเวียงแก่นทั้งหมด มากกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งอาจจะเสียหายกว่า 100 ล้านบาท รวมไปถึงระบบนิเวศน์อื่นๆ อีกมากมายที่จะได้รับผลกระทบ



ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ ชาวบ้านมีสิทธิเต็มที่ในการปกป้องสิทธิของตัวเอง เป็ยการปกป้องลมหายใจของตัวเอง สิทธิในรัฐธรรมนูญก็มีการรับรองสิทธินี้ไว้ การมีส่วนร่วมก็ต้องให้มีประชาชนในพื้นที่มีการส่วนร่วม รวมไปถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม ที่อธิบายเกึ่ยวกับ สิทธิในน้ำ ให้ปชช เข้าถึงอย่างเพียงพอเท่าเทียม ไทยทำเกษตรเป็นส่วนใหญ่ การแทรกแทรงวิถีในด้านการใช้น้ำก็ไม่สามารถทำได้ ปรีดายังเล่าถึงการที่ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่กว่า 10 หมู่บ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนก็ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลในการสร้างเขื่อนปากแบง

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เพียงผลกระทบปฐมภูมิ แต่จริงๆแล้วยังมีผลกระทบทุติยภูมิในวงกว้างออกไป หากไม่คำนึงถึงตรงนี้ ประเมินผลการศึกษาความคุ้มค่าไม่รอบด้าน ถามว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ส่วนการประเมินความคุ้มค่าไฟฟ้า หลายคนกังวลว่าระหว่างสร้างเขื่อน 7-8 ปี ความเป็นจริงจะตรงข้ามกับในกระดาษโดยเฉพาะแผนพลังงานชาติที่จะครบปีหน้ ทำไมถึงไม่รอตอนนั้นการสำรองไฟฟ้ามากเกินไปส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า ถ้าโครงการไม่คุ้มค่าไม่คุ้มทุน ใครจะรับผิดชอบ

“ที่สำคัญสุดคือข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ และการประเมินไม่ใช่แค่ปฐมภูมิ ถ้าคุณจำกัดเอาเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่ากับคุณปั้นตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง คุณจงใจให้โครงการนี้คุ้มทุนไว้ก่อน เราจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไป” นายวิโรจน์กล่าว

ต่อมาในเวลา 15.00-16.30 น. มีการจัดเวทีเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง เมื่อแม่น้ำโขงไม่ใช่เพียงแม่น้ำ” ร่วมเสวนาโดย LI Jijuan Counsellor, political division, the Chinese Embassy in Bangkok, Dwight Jason Ronan  Senior Program Manager, Mekong Australia Partnership – Water Energy Climate, ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Dr.Philip Hirsch, Emeritus Professor of Human Geography in the School of Geosciences at the University of Sydney, Dr.Carl Middleton คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ดำเนินรายการโดย เพียรพร ดีเทศน์ และ Gary Lee องค์กรแม่น้ำนานาชาติ



LI Jijuan Counsellor, political division, the Chinese Embassy in Bangkok เล่าว่า จีนเป็นพันธมิตรที่ดีกับทุกประเทศใต้ลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน โดยความร่วมมือด้านแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงหรือ LMC เป็นเวทีความร่วมมือระดับอนุภูมิภาครูปแบบใหม่ที่จีนกับ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงร่วมก่อตั้งขึ้น เธอกล่าวถึงจุดมุ่งที่จะส่งเสริมความร่วมมือฉันมิตรระหว่าง 6 ประเทศ เพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมระดับภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างกัน ส่งเสริมการสร้างสรรค์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายในภูมิภาค สร้างคุณูปการให้กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหวังว่าในอนาคตของแม่น้ำโขง จะมีอนาคตที่สดใส ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย 

“เพื่อแม่ของเราทุกคน” LI Jijuan กล่าว

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแม่น้ำโขงนั้นมีความหมายแตกต่างกันของคนแต่ละพื้นที่ ซึ่งการที่จะสร้างฉันทามติ ต้องย้อนกลับไปถามไถผู้ที่ผูกพันกับแม่น้ำโขงให้มากขึ้น เพราะเวลาทำสัญญา ชาวบ้านไม่มีการรับรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนในใจเกี่ยวกับการตัดสินใจสร้างเขื่อนจากคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการที่จะผลักภาระไปสู่อนาคต เราต้องสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันในมุมที่กว้างขวาง ทั้งภาคประชาสังคม ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คำว่า “Mother river” นั้น ถ้าหากเรารู้สึกจริง ๆ ว่า เป็นแม่น้ำของเราทุกคน ไม่ใช่เพียงอธิปไตย เราควรนึกไปถึงความเป็นมนุษย์ร่วมด้วย



ศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว เรียกง่ายๆ คือ Take or pay แม้จะใช้หรือไม่ได้ใช้ รัฐต้องจ่ายเงินให้ทุกกรณี ต่อให้ถูกแพงแต่ต้นทุนร่วมใหญ่ขึ้นก็ตาม ท้ายที่สุดจึงขอฝากไปถึงรัฐบาล นายกฯเศรษฐา ว่า “สิ่งนี้มันคุ้มทุนหรือไม่” เพราะการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ด้าน Dr.Carl Middleton คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า หากย้อนไป 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขง ไม่สามารถคาดเดาความสูงระดับน้ำ ซึ่งเขาได้ยินผลกระทบมาโดยตลอด ซึ่งการสร้างเขื่อนนี้ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแค่บางพื้นที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปทั้งลุ่มแม่น้ำ ดังนั้นจึงควรเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่เชื่อมโยงกับชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยิ่ง

Dr.Philip Hirsch, Emeritus Professor of Human Geography in the School of Geosciences at the University of Sydney เล่าถึงผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของอำนาจที่ไม่เท่ากัน โดยผลกระทบที่มีต่อแม่น้ำโขง ต้องย้อนมองไปถึงประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม สงครามเย็น จะเห็นว่ามักจะมีความขัดแย้ง และการแข่งขัน ระหว่างมหาอำนาจ ระหว่างประเทศใหญ่เล็ก ใครได้ผลประโยชน์สูงสุดจากการสร้างเขื่อนนี้ ซึ่งภูมิรัฐศาสตร์ คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามสภาพการเมืองทั้งในและนอก 

เขามีมุมมองต่อประโยคที่ว่า “ฟังเสียง ประเทศไทย” ประเทศไทยในที่นี่ ไม่ใช่เสียงใครคนใดคนนึง แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานจะมีการแบ่งน้ำใช้น้ำ แต่ภายในประเทศมีหลายเสียงหลายผลประโยชน์จากเรื่องนี้

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 16.30 เป็นต้นไป มีศิลปะแสดงสด Performance Art จาก Community Arts โดยในการ Performance Art มีศิลปินจากหลากหลายชาติเข้าร่วมแสดงภายในงาน ฉายหนัง และปิดท้ายด้วยดนตรีสดจากหลากหลายวงที่ร่วมขับกล่อมภายในงาน


ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง