พฤษภาคม 1, 2024

    ปาฐกถา “ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง” โดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

    Share

    ปาฐกถา “ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง” โดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ในงาน เวทีสาธารณะ “ปีแห่งความหวังกับก้าวใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนภาคเหนือ”  ณ ห้องประชุมอินทนิล Green Nimman CMU Residence @Uniserv

    การเมืองและการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่เราจะเห็นในช่วงบรรยากาศของการเลือกตั้ง ก็จะเห็นความขัดแย้งจำนวนมากของคนที่อยู่ในฟากฝั่งประชาธิปไตย ผมยกตัวอย่างตอนที่มีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ช่วงปี 63 – 64 ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้ว เราตาสว่างแล้ว แต่พอมหาวิทยาลัยเปิดให้คนมาเรียนหนังสืออยู่ดี ๆ ก็เกิดระบบโซตัสขึ้นมาอีกรอบในมหาวิทยาลัย มันจึงทำให้ผมรู้ว่าโลกไม่ได้เปลี่ยนเร็วหรอก คำถามก็คือทำไมมันจึงเกิดสิ่งเหล่านี้? แล้วพอเกิดบรรยากาศของการเลือกตั้ง คือจะมีคนจำนวนหนึ่งออกมาว่าการออกมาม็อบนั้นมันเป็นการทำลายบรรยากาศของการเลือกตั้ง ซึ่งคนที่พูดเรื่องพวกนี้คือคนที่เคยไปม็อบด้วย เพราะฉะนั้นล่าสุดเราจะเห็นว่า พรรคฝ่ายค้านจะร่วมกันแถลงข่าวในกรณีข้อเรียกร้องของตะวันและแบม คือยกเลิก 112 แต่สุดท้าย แถลงที่ออกมาคือเป็นแถลงการณ์ที่เฮงซวยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น แล้วเราก็จะเห็นบรรยากาศของคนที่เชียร์พรรคการเมืองบางพรรคในฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยออกมาด่าแบมกับตะวันซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ประเด็นก็คือเราต้องร่วมกันทำความเข้าใจปรากฎการแบบนี้มันจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลแล้วเป็นความโมโหอย่างมากเลยของผมและของหลาย ๆ คนว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา

    ผมอยากจะสรุปว่าสิ่งที่เห็นในบรรยากาศในช่วงที่ผ่านมาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นผมคิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนว่าเราไม่ได้มีฉันทามติในกระบวนการประชาธิปไตย ฉันทามติร่วมกันว่าเรากำลังสู้ไปในทิศทางไหน ผมคิดว่าเราไม่มีฉันทามิติในสามเรื่องคือ

    หนึ่ง เรื่องวิธีการ มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยอ้างว่าเคลื่อนไหวกับขบวนการเสื้อแดงมาอย่างยาวนานบอกว่าแบมกับตะวันจะฆ่าตัวตายซึ่งผมรู้สึกว่านี่ใช้ไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเลย คือการเคลื่อนไหวไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่มันคือการเคลื่อนไหวที่เอาชีวิตตัวเองมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกระแสการตื่นตัวและให้พรรคการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองหันมาสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงในสังคม

    สอง ประเด็นนอกเหนือจากเรื่องวิธีการปัญหาใหญ่ก็คือเป้าหมายการต่อสู้มันคืออะไรกันแน่ ผมเห็นบางคนที่ผมรู้จักอยู่ดี ๆ ก็ออกมาบอกว่าเป้าหมายใหญ่คือเรื่องปากท้องเรื่องปฏิรูปสังคมคือเก็บไว้ก่อน หรือ 112 เก็บไว้ก่อน บางคนก็บอกว่าเราต้องปฏิรูปสังคมไปพร้อม ๆ กับเรื่องปากท้องซึ่งทำให้ผมงงมากว่าทำไมอยู่ดี ๆ เรื่องปากท้องถึงกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ประเด็นที่สามที่ผมคิดว่าเราไม่มีฉันทามติก็คือว่าสรุปแล้วการต่อสู้ทางการเมืองมันจะเป็นในการต่อสู้เป็นคู่สนับสนุนพรรคการเมืองหรือว่าจะต่อสู้บนท้องถนน ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน เราจะเห็นว่าบรรยากาศการเมืองภาคประชาชนการต่อสู้มันเป็นพื้นฐาน เราก็รู้ว่าเราไม่สามารถเอาชนะเรื่องประเด็นทรัพยากรหรือเรียกร้องสิทธิได้ถ้าเราไม่มีขบวนการหรือไม่อยู่บนท้องถนน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีคนมาบอกว่าอย่าไปชุมชุม เพราะเมื่อไหร่ที่คุณไปชุมนุม คุณจะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดการเลือกตั้ง ซึ่งคนที่พูดประเด็นนี้ขออภัยนะครับมาจากเพื่อน ๆ ผมและคนรู้จักในพรรคเพื่อไทยและรวมถึงคนที่อยู่ในพรรคก้าวไกลบางคนที่อาจจะบอกว่าไม่อยากจะพูดเรื่อง 112 เพราะเดี๋ยวมันจะทำให้พรรคถูกยุบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ผมคิดว่าความขัดแย้งระหว่างการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าพรรคการเมืองหรือรัฐสภากับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในท้องถนนนั้นมันยังไม่ลงรอยกัน ประเด็นที่สองคือเป้าหมายหรือสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย

    สาม คือการเมืองแบบประชาธิปไตยจะบรรลุด้วยวิธีการอะไร การเลือกตั้งอย่างเดียวไหมหรือว่าเราต้องมีการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ความคิดที่ว่าถ้าเราเลือกตั้งไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็จะมีประชาธิปไตยเอง ซึ่งผมคิดว่า เราก็จะรู้กันว่าแค่เรื่อง 112 พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ยังไม่กล้าออกมาพูดเลยว่าสนับสนุนการยกเลิก 112 เพราะฉะนั้นต่อให้คุณเลือกตั้งแทบตาย ผมก็คิดว่าเราจะไม่ได้การยกเลิก 112 ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของประชาชน 

    การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย

    ปัญหาคือฝ่ายซ้ายคืออะไร ผมอยากจะพูดว่าเกณฑ์ของการพูดว่าอะไรเป็นฝ่ายซ้ายมันมีเกณฑ์พื้นฐานอยู่อันหนึ่งคือคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายซ้ายคือคนที่เชื่อในความเสมอภาคและประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ ซึ่งฝ่ายซ้ายมันเป็นซ้ายจากอะไร ซ้ายจากฝั่งที่เรียกว่าเสรีนิยม คือพวกที่เป็นกลางในทางการเมือง คือพวกที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพแต่ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับความเสมอภาค คือเขามองเราว่าควรมีเสรีภาพใช่ไหม แต่ว่าความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมมันเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะไปแสวงหาแข่งขันกันเอาเอง แต่พวกฝ่ายซ้ายจะเป็นพวกที่มองว่าความเสมอภาคมันเป็นเงื่อนไขและเป็นพื้นฐาน พูดง่าย ๆ ถ้าคุณมีทรัพยากรที่ไม่เท่ากันคุณไม่เท่าเทียมกันคุณจะมีเสรีภาพได้ยังไง คนที่มีทรัพยากรน้อยกว่าก็จะเป็นคนที่มีชีวิตยากลำบากกว่า คนที่อยู่ในชนชั้นล่างของสังคมเขาจะใช้เสรีภาพของเขาเท่ากับคนที่มีเงินในกระเป๋ายังไง นี่คือนิยามที่พื้นฐานที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าฝ่ายซ้าย ฝ่ายซ้ายในสังคมปัจจุบันเราคือพวกที่มีความคิดแบบสังคมนิยมไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมแบบไหนก็ตาม แต่พรรคการเมืองที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแบบเสรีนิยม เขาไม่ได้มองว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เขามองว่าทำไงถึงจะรักษาโครงสร้างนี้เอาไว้เพื่อทำให้มันการันตีเสรีภาพและการต่อสู้ในเชิงกฎหมายเท่านั้น แน่นอนว่ากฏหมายนี้ไม่คุ้มครองประเด็นจำนวนมาก 

    ผมขอพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมเชิงโครงสร้าง ฝ่ายซ้ายจะมองประเด็นนี้ยังไง มันมีคำพูดหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากที่พูดว่า “มันง่ายมากที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลก ง่ายกว่าที่จะจินตนาการถึงจุดจบของทุนนิยม” ทั้งที่ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา สำหรับผมถ้าพูดถึงในมิติสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังพูดถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมมักจะถูกมองในฐานะที่เป็นการกระทำของมนุษย์ทุกคนที่กระทำต่อสภาพแวดล้อม แต่ผมขอโต้แย้งความคิดนี้ ผมอยากเสนอว่าจริง ๆ แล้วเรากำลังอยู่ในวิกฤตหลายสิ่งหลายอย่างพร้อม ๆ กัน มันมีวิกฤตทางด้านอาหาร วิกฤตของการเข้าถึงพลังงาน น้ำมันแพงขึ้นอย่างมาก ถ้าเราดูในกรณีของประเทศศรีลังกาคนออกไปโค่นล้มรัฐบาล เนื่องจากค่าน้ำมันขึ้นอย่างมหาศาล มีคนถามผมว่าทำไมไทยไม่มีการลุกขึ้นไปบนท้องถนนเพื่อไปพูดประเด็นเรื่องน้ำมันแพง ในกรณีของศรีลังกาคือเอานายกออกนอกประเทศ แล้ววิกฤตอีกอันคือวิฤตทางการเงิน วิกฤตทางการเงินคือเราไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่มีเงินมากเพียงพอที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้นรูปธรรมก็คือเราทุกคนจะเป็นหนี้ เพราะเราต้องกู้หนี้เพื่อมาใช้เลี้ยงชีพของเราเอง หนี้ส่วนใหญ่ของประชากรในสังคมที่เหลื่อมล้ำมาก ๆ เช่นสังคมไทยนี้คือหนี้ที่มากจากการบริโภค หนี้ครัวเรือน หรือหนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ผมยกตัวอย่างอย่างแม่ผมที่เพิ่งผ่าตัดไปใช้เงินไปเยอะมากก็คือถ้าไม่มีเงินเก็บมันก็ต้องไปกู้เงินมาเพื่อที่จะยื้อชีวิตของแม่ไว้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเราอยู่ในวิกฤตของการเข้าไม่ถึงทั้งอาหาร พลังงานแล้วก็เข้าไม่ถึงวิฤตทางการเงิน อย่างไรก็ดีนะครับ สิ่งที่เราจะเห็นในระบบทุนนิยมทุกวันนี้มันเสนอว่าอาหาร พลังงาน ผมยกตัวอย่างพลังงานเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งอย่างตอนนี้ผมมาทำงานที่นี้ได้ผมต้องอาศัยพลังงานชีวิตผมจากแรงงานของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแม่ผม คนที่บ้าน หรือใครต่าง ๆ นา ๆ เยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นผมจะไม่มีพลังงานในการใช้ชีวิตอยู่ได้ในวันนี้ถ้าผมไม่อาศัยแรงงานของคนอื่น 

    การที่แม่เลี้ยงลูกมันเป็นธรรมชาติ คือการที่ว่าทำไมเราต้องไปดูแลยกตัวอย่างรูปธรรมอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงเวลาปีที่ผ่านมาต่อสู้เรื่องสวัสดิการการเข้าถึงผ้าอนามัย แล้วผมเป็นที่ปรึกษาสโมสรนักศึกษาก็ไปต่อสู้กันเรื่องนี้กับพวกอาจารย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาลัยแม้กระทั่งผู้หญิงก็ตามบอกว่าทำไมมหาลัยถึงต้องมีผ้าอนามัยให้กับนักศึกษาด้วย ทั้งที่ผ้าอนามัยมันเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องจ่าย จริง ๆ แล้วผ้าอนามัยเป็นต้นทุนชีวิตของเราทุกคนแต่สังคมนี้มองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องของคนทุกคน หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องหารดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่เรื่องของสังคมหรือวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์เราเรียกมันว่า ของฟรี คือไ่ม่ต้องจ่าย สังคมนี้ไม่ควรจะจ่ายให้กับสิ่งเหล่านี้ รัฐไม่ควรทำหน้าที่ในการจ่าย ไม่ควรไปเก็บภาษีเพื่อที่จะมาจ่ายเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงานหรือแม้กระทั่งการเข้าถึงยารักษาโรคและความมั่นคงในชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นเรื่องของคนแต่ละคน เป็นเรื่องธรรมชาติของคนแต่ละคนมากกว่า 

    แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราเรียกว่าธรรมชาติหรือสิ่งที่ถูกทำให้เป็นของฟรีในสังคมนี้มันกลับเป็นส่วนสำคัญมากเลยที่ระบบเศรษฐกิจนี้มันใช้ในการสร้างอัตรากำไร ลองจินตนาการว่าที่ผมมาทำงานวันนี้ได้นั้น ผมต้องมีแม่เป็นคนทำกับข้าวที่บ้านแต่แม่ไม่เคยได้เงินเดือน ในสังคมในบ้านของทุก ๆ คนจะมีคนคอยทำงานอยู่ที่บ้านของพวกเราโดยที่เขาไม่ได้เงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นแม่ ปู่ย่าตายาย เป็นพ่อเป็นเมียหรือว่าเป็นใครก็ตาม เพราะฉะนั้นลองจินตนาการว่าถ้าปราศจากแรงงานของคนเหล่านี้เราจะไม่สามารถออกไปทำงาน ออกไปหาเงินเลี้ยงชีพได้ แต่สิ่งที่เราจะเห็นคือระบบทุนนิยมไม่ได้จ่ายค่าแรงให้แก่คนเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่แรงงานของคนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้เราขายแรงงานของตัวเราในระบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นใน 40 – 50 ปีที่ผ่านมามีการต่อสู้ของขบวนการผู้หญิง ว่า ผู้หญิงทุกคนที่เป็นแม่บ้านควรจะได้ค่าแรง เพราะผู้ชายที่ออกไปทำงานนอกบ้านอาศัยแรงงานของผู้หญิงในการผลิตแรงงานของผู้ชาย ดังนั้นเราจะเห็นว่าระบบทุนนิยมมันทำงานอยู่บนการที่มันทำให้แรงงานของคนจำนวนหนึ่งที่อยู่หลังบ้านไม่ถูกนับว่าเป็นแรงงานเพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแรง 

    เวลาที่เรามองถึงความเป็นแรงงานของผู้หญิงหรือคนที่ทำงานในบ้านหรือคนที่ทำงานเป็นหลังบ้าน อาจจะรวมถึงโลกธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ ระบบทุนนิยมไม่ได้ให้คุณค่าสิ่งเหล่านี้เพราะว่ามองเป็นงานที่ทำด้วยความรัก เพราะมองว่าผู้หญิงต้องบริการผัวอยู่แล้วเพราะว่ามันเป็นงานแห่งความรัก เพราะฉะนั้นงานแห่งความรักนั้นไม่ควรจะได้เงิน หรือโลกธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งที่เราอาศัยอยู่อยู่แล้วไม่ต้องไปดูแลมันมากเราสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ เราเปลี่ยนโลกธรรมชาติให้เป็นที่ดินเพราะที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต เพราะฉะนั้นผมจะชี้ให้เห็นว่าระบบทุนนิยมที่เราพูดกันอยู่ในตอนนี้มันไม่ใช่แค่ระบบเศรษฐกิจ แต่มันครอบคลุมควบคุมโลกธรรมชาติ ควบคุมชีวิตของคนที่อยู่นอกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่จริง ๆ เขาเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเหตุที่ว่าชนชั้นนำในประเทศนี้ไม่ยอมให้เกิดสมรสเท่าเทียม เพราะมันไปทำลายใจกลางของระบบเศรษฐกิจซึ่งกำกับด้วยการแบ่งงานกันทำในเรื่องเพศ

    กล่าวโดยสรุปแล้วสิ่งที่ระบบทุนนิยมในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาสร้างขึ้นก็คือทำให้เรามองธรรมชาติในฐานะที่เป็นของฟรี ใช้ได้ไม่จำกัดและอยู่นอกออกไปจากสังคมของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากสภาวะทางสิ่งแวดล้อมของโลกธรรมชาติหรือว่าแรงงานแห่งความรักซึ่งเป็นแรงงานของผู้หญิง 

    เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ววิกฤตของระบบทุนนิยม หรือวิกฤตของสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ผลักให้กิจกรรมจำนวนมากไม่เป็นกิจกรรมที่ถูกนับ กิจกรรมจำนวนมากกลายเป็นของฟรี กลายเป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้กระทั่งสวัสดิการทางสังคมก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะฉะนั้นรัฐก็ไม่ควรเข้ามายุ่งกับเรื่องธรรมชาติ ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราจะเห็นคือนักวิชาการหรือผู้มีอำนาจในระบบสังคมนี้ก็จะโทษว่า คือพวกโปรเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ๆ เลย พวกสิ่งแวดล้อมนิยมก็จะมองว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนทำลายสิ่งแวดล้อม

    เราจะเห็นว่าเราทุกคนไม่ได้สร้างวิกฤตของสิ่งแวดล้อม แต่มันมีคนบางคนที่ควบคุมทรัพยากร คนบางคนที่สร้างวิกฤตของสิ่งแวดล้อมแต่โยนภาระ โยนความผิดบาปมาให้กับคนทุกคน เราทุกคนจะถูกประฌามตลอด และเราทุกคนโทษกันเอง แต่จริง ๆ วิกฤตสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นโดยคนบางคนกลุ่มบางกลุ่ม เอาเข้าจริงแล้วนั้นสิ่งที่ผมได้กล่าวไป สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติเป็นผลผลิต คำว่าธรรมชาติเพิ่งเกิดใหม่ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา เป็นผลผลิตของการพัฒนาการของระบบทุนนิยมและวิทยาศาสตร์แบบทุนนิยมคือมันทำให้บางสิ่งบางอย่างกลายเป็นธรรมชาติ เวลาที่อะไรก็ตามกลายเป็นธรรมชาติ หลัง ๆ เราจะเรียกว่าสิ่งแวดล้อมแทนคำว่าธรรมชาติ ถ้าสิ่ง ๆ นั้นถูกเรียกว่าเป็นธรรมชาติมันแปลว่าสิ่งนั้นไม่มีราคา คือคุณจะประเมินราคาของธรรมชาติยังไง เพราะฉะนั้นทุนนิยมมันทำให้เกิดกระบวนการของสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติถูกเรียกว่าเป็นสิ่งที่มีราคาถูกหรือสิ่งที่ไม่มีราคา สิ่งที่มีราคาถูกหรือสิ่งที่ไม่มีราคามันเป็นหัวใจเป็นกฎของมูลค่าในระบบทุนนิยม หัวใจของระบบทุนนิยมมันถูกกำกับโดยสิ่งที่เราเรียกว่ากฎของมูลค่า กฎของมูลค่าจะเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดมีมูลค่าหรือสิ่งใดไม่มีมูลค่า ถ้าสิ่งไหนมีมูลค่าสิ่งนั้นจะมีราคาคุณต้องซื้อมัน ถ้าสิ่งไหนไม่มีมูลค่าสิ่งนั้นก็ไม่มีราคาเราไม่ต้องซื้อไม่ต้องจ่าย เพราะฉะนั้นกระบวนการแยกว่าสิ่งไหนมีราคาสิ่งไหนไม่มีราคามันเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กระบวนการแยกว่าสิ่งไหนมีราคาหรือไม่มีราคาอย่างน้อยมีอยู่สามอย่าง 

    หนึ่ง เป็นการเรียกว่าสิ่งที่เรียกว่างานกับสิ่งที่ไม่ใช่งาน สังคมทุนนิยมมันจะแบ่งอยู่กับสิ่งที่เรียกว่างานกับไม่ใช่งาน ถ้าคุณทำงานบ้านเราไม่นับว่าเป็นงานดังนั้นคุณก็ไม่ได้เงินเดือน แต่ถ้าผมบอกว่าทำอะไรก็ตามที่ได้เงินผมก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นงาน เราชี้คุณค่าของผมด้วยเงินที่ผมได้จากการทำงาน เพราะฉะนั้นสังคมทุนนิยมจะแยกระหว่างสองสิ่งนี้ตลอดว่าอะไรคืองานอะไรไม่ใช่งาน

    สอง การแยกระหว่างงานกับสิ่งที่ไม่ใช่งานวางอยู่บนการแบ่งแยกระหว่างเพศด้วย การเปลี่ยนแปลงในพัฒนาการทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านมันไม่ได้ไปทำลายความเหลื่อมล้ำในเรื่องเพศเลย แต่มันยังทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระของการทำงานบ้าน ผมคิดว่าการแบ่งแยกในเรื่องเพศถึงผูกโยงกับงานกับสิ่งที่ไม่ใช่งานมันเป็นสิ่งสำคัญมากเลยในระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าทำไมการต่อสู้ในเรื่องเพศ การเข้าถึงผ้าอนามัยการสมรสเท่าเทียมมันเป็นประเด็นสำคัญของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะคนรุ่นใหม่การต่อสู้นี้มันเปิดให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในเรื่องเพศมันคือใจกลางของความเหลื่อมล้ำทุกอณูในสังคม

    สาม คือการที่เราแยกสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติกับสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ใช่งาน ผู้หญิงและธรรมชาติควรจะเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา นี้คือสิ่งที่ระบบสังคมแบบนี้ทำให้เรามอง 

    สิ่งที่ระบบทุนนิยมจะทำตลอดแน่นอนว่าด้านหนึ่งมันอาศัยแรงงานของผู้หญฺิง มันอาศัยกิจกรรมที่ไม่ถูกนับว่าเป็นงาน มันอาศัยโลกธรรมชาติเพื่อผลิตอาหาร พลังงานและอื่น ๆ ให้ตัวเรา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกนับว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพราะมันจะต้องถูกกันไปเสมอ การกันสิ่งเหล่านี้ออกไปมันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสะสมทุน ยิ่งระบบทุนนิยมทำให้พื้นที่ของคำว่างานหรือสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติแคบมากเท่าไรมันยิ่งผลักภาระไปให้โลกธรรมชาติ ผู้หญิงหรือสิ่งที่ไม่ใช่งานได้มากเท่านั้น ส่วนเกินทางระบบนิเวศที่ระบบทุนนิยมสามารถสะสมฟรีได้ แรงงานของคนที่บ้านเราถูกสะสมด้วยนะครับถูกเอาไปเป็นความมั่งคั่งของคนจำนวนหนึ่ง หลายคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในเรื่องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ หลายคนก็จะถามว่าไอ้ตรงที่ดินนี้มันไม่ใช่ที่ดิน ไอ้ทรัพยากรป่าไม้มันไม่ใช่กรรมสิทธิส่วนบุคคลของคุณ คุณมีสิทธิอะไรที่จะมาปกป้อง เรียกร้อง การเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ นี่คือวิธีคิดของระบบทุนนิยม คือคุณไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ คุณจะไปใช้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ฉะนั้นเกณฑ์ของมันจะวางไว้ว่าสิ่งใดเป็นกรรมสิทธิ์สิ่งใดไม่เป็นกรรมสิทธิ์ ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของสิ่งนั้นคุณไม่สามารถเข้าถึงสิ่ง ๆ นั้นได้ แต่จริง ๆ แล้วป่าไม้ ทรัพยากรที่ดินต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการมีชีวิตของเราคือถ้าเราไม่มีสิ่งนั้นเราจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีโลกธรรมชาติ ถ้าเราไม่มีอาหาร ไม่มีพลังงานเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร แต่ระบบทุนนิยมจะบอกว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่ง ๆ นั้นคุณจะเข้าถึงสิ่ง ๆ นั้นไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจแบบนี้มันจะสะสมทุนไม่ได้ถ้ามันไม่ดึงเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปสะสมทุน

    โดยสรุปมันมีของที่ถูกทำให้ไม่มีมูลค่า ไม่มีราคา

    หนึ่ง คือแรงงานของมนุษย์ แรงงานที่ไม่ถูกนับหรือชีวิตของเราที่ไม่ถูกนับ จุดกำเนิดของระบบทุนนิยมคือการแยกคู่ตรงข้าม ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม มนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แบ่งแยกระหว่างเพศ แบ่งแยกระหว่างงานกับสิ่งที่ไม่ใช่งาน อย่างไรก็ดีเราจะเห็นว่าทำไมระบบทุนนิยมมันจะต้องขยายตัวเองเข้าไปในโลกของสิ่งที่ไม่มีมูลค่าเสมอ เพราะมันสามารถที่จะโยนภาระ โยนต้นทุนมหาศาลให้กับสิ่งที่ไม่มีมูลค่าได้ คือเปลี่ยนสิ่งที่มีมูลค่าหรือสิ่งที่มันไม่มีมูลค่าอยู่แล้วให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต

    เราจะเห็นว่าสิ่งที่ระบบทุนนิยมทำกับเราทุกวันนี้อันที่หนึ่งคือการผลักภาระในการเลี้ยงดูพวกเราให้กลายเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลทั้งที่จริงแล้วมันควรเป็นเรื่องสวัสดิการทางสังคม เพื่อนผมหลายคนที่เห็นกับกับประชาธิปไตยแบบรัฐสภาบอกว่าไม่ควรจะมีรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐสวัสดิการไปเอาภาษีของเขามาจ่ายเขาไม่อยากจะจ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ จำนวนมากแม้กระทั่งการดูแลสุขภาพของเรา การเข้าถึงอาหาร การเข้าถึงยารักษาโรค การเข้าถึงที่อยู่อาศัยถูกทำให้ไม่ใช่เรื่องของสังคมไม่ใช่เรื่องสวัสดิการ

    สอง มันทำให้ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้ ระบบทุนนิยมสามารถทำให้นายทุนรายใหญ่สามารถปล่อยสารพิษ ปล่อยออกไปได้โดยการจ่ายเงินให้กับรัฐ แต่ชาวบ้านปล่อยไม่ได้เพราะเข้าถึงไม่ได้

    สาม แต่สิ่งที่เราจะเห็นในด้านกลับกันก็คือความคิดแบบอนุรักษ์ธรรมชาติทุกวันนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ของทุน บริษัทใหญ่ ๆ ทั้งหลาย มันมีบริษัทที่รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเยอะมากทั้ง ๆ ที่ผูกขาดพลังงานของประเทศนี้ เพราะฉะนั้นบนอุดมการณ์ของการอนุรักษ์ธรรมชาติที่กีดกันคนชั้นล่างเพื่อเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเห็นก็คือเราอยู่ในโลกที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ เราเข้าไม่ถึงโลกธรรมชาติเพราะถูกกันออกด้วยอุดมการณ์ต่าง ๆ ด้วยการทำให้มันเป็นสินค้า ด้วยการทำให้มันถูกแยกพื้นที่ของการอนุรักษ์ออกจากชีวิตของเรา ในขณะที่องค์รวมของชีวิตของเราทุกคนมันต้องอาศัยมิติทางเศรษฐกิจคือการทำงานเพื่อได้รับค่าแรง แต่อีกด้านหนึ่งมันต้องอาศัยสิ่งที่ไม่มีมูลค่าที่ไม่มีค่าแรงด้วย สิ่งที่เราจะเห็นก็คือระบบทุนนิยมจะทำลาย “หลังพิง” ของเรา หลังพิงทั้งในโลกธรรมชาติ หลังพิงทั้งในคนที่อยู่ที่บ้าน ทำลายระบบสวัสดิการซึ่งทำให้เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพราะเราถูกแยกออกจากหลังพิง หลังพิงก็คือถ้าเราตกงานเราจะอยู่ยังไง ถ้าเราป่วยเราจะอยู่ยังไง เราเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ หลังพิงรวมเอาไปถึงการดูแลคนที่ดูแลเรา อาหาร อากาศ เราเข้าไม่ถึงอากาศที่ดี PM 2.5 อากาศคือเงื่อนไขของการมีชีวิตเราเลยนะ เราเข้าไม่ถึงสถาบันทางสังคมที่จำเป็นเช่น กฏหมาย เราเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เรามีสถาบันทางสังคมที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะมาก ในขณะที่เรามีสถาบันทางสังคมที่จะดูแลชีวิตเราน้อยมาก เพราะฉะนั้นวิกฤตที่เราอยู่เนี่ย เราจะเห็นว่าฝ่ายเสรีนิยมที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเท่านั้น มันไม่ได้ตั้งคำถามกับใจกลางของวิกฤตที่เราอยู่นั้นคือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

    กล่าวโดยสรุป ผมมีข้อเสนออยู่ 4 ข้อ

    หนึ่ง เวลาเราพูดถึงวิกฤตของสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถที่จะแยกวิกฤตสิ่งแวดล้อมออกจากระบบทุนนิยมได้ หัวใจสำคัญของมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยแต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก วิกฤตสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนชั่วเป็นคนทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้มันวางอยู่ที่ตัวมันจะต้องทำลายสภาวะแวดล้อมอยู่แล้วเพราะเงื่อนไขของการสะสมทุนของมันคือการทำให้สิ่งต่าง ๆ รองรับผลเสียจากการผลิตของตัวมัน

    สอง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันต้องการการปกป้องชีวิตที่เป็นองค์รวมทั้งหมด ทุกวันนี้ผมเห็นพรรคการเมืองไม่มีเลยที่จะพูดถึง PM 2.5 ทั้งที่คนกรุงเทพดม PM 2.5 300 กว่าวันในหนึ่งปี คนเชียงใหม่ตายด้วยมะเร็งปอดสูงที่สุดแต่ไม่มีใครพูดเรื่องสิ่งเหล่านี้เลย เพราะเราไม่นับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเรา

    สาม ฝ่ายซ้ายมีภารกิจคือต่อต้านและทำลายระบบทุนนิยม และสร้างประชาธิปไตย ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงฝ่ายซ้ายสิ่งที่ฝ้ายซ้ายต่างออกไปจากฝ่ายเสรีนิยมคือในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมให้ความสำคัญกับการเมืองในรัฐสภาแล้วไม่ได้ตั้งคำถามถึงระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม แต่หัวใจสำคัญของฝ่ายซ้ายคือการให้ความสำคัญกับความคิดเรื่องความเสมอภาค

    สี่ ในระยะเฉพาะหน้า คือการสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะถ้าเราเข้าไม่ถึงความมั่นคงในชีวิตทุกมิติ เราไม่มีทางที่จะมีพลังในการมีชีวิตอยู่ได้ หลายคนบอกให้แบมกับตะวันเลิกอดอาหารจะได้มีแรงไปเรียกร้องประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วรัฐสวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย หลายคนมาพูดกับผมว่าเอารัฐสวัสดิการเก็บไว้ก่อนเอาประชาธิปไตยก่อน คือคุณจะมีประชาธิปไตยในรัฐสภาได้ไงถ้าเกิดว่าคุณเข้าไม่ถึงอะไรเลย

    ผมจึงคิดว่าการได้มาซึ่งประชาธิปไตยมันเป็นอะไรที่ใหญ่โตมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องที่คุณได้ไปเลือกตั้งอย่างเดียว มันครอบคลุมทุกมิติ บางคนพูดว่าเอาปากท้องก่อนค่อยเอาโครงสร้าง บางคนพูดพูดว่าเอาโครงสร้างก่อนค่อยปากท้อง เวลาที่คุยไปถามคนที่เขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เขาไม่ได้คิดว่าตอนนี้ได้ยกเลิก 112 แล้วจะจบ มันอยู่ในทุกอณูของการต่อสู้ คนที่เขาอยู่ในจุดที่เขาต่อสู้มันอยู่ในทุกอณู เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงประชาธิปไตยมันครอบคลุมทุกมิติของชีวิต มันมีคนจำนวนมากที่เสียสละชีวิตเพื่อได้มาซึ่งประชาธิปไตย และไม่ใช่แค่ชีวิตของเขาแต่มันคือชีวิตของคนทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่เอาการต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการ ใครไม่เอาการต่อสู้เพื่อยกเลิก 112 ที่ทำให้เพื่อนผมหนีออกนอกประเทศ ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ถูก

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...