ชาวดอยสะเก็ดกว่า 100 ชีวิต ประท้วงศูนย์จัดการขยะ อบจ.เชียงใหม่ เหตุ กลิ่นขยะเหม็นฟุ้งหลายตำบล

“เป็นหลายร้อยครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านเหม็นมาก สภาพแวดล้อมไม่ดี สุขภาพแย่มาก”

10 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ข้างสนามกีฬาเทศบาลดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายจัดการขยะภาคประชาชน และประชาชนชาวดอยสะเก็ด ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเหตุได้รับผลกระทบด้านกลิ่นจากขยะของศูนย์จัดการขยะมูลฝอย อบจ.เชียงใหม่ ที่ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยมีการปราศรัยถึงปัญหาของศูนย์จัดการขยะมูลฝอยฯ ที่ส่งผลกระทบด้านกลิ่นต่อประชาชนในหลายพื้นที่ในอำเภอดอยสะเก็ด และมีการลงชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบเกือบ 200 รายชื่อ

ธรม รักษ์ธรรมธัญ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเปิดเผยว่า อำเภอดอยสะเก็ดเป็นพื้นที่รับขยะของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันโรงรับขยะมีจำนวนที่มาก และไม่สามารถรับขยะเพิ่มเติมได้แล้วเนื่องจากไม่มีการจัดการขยะที่ไร้ประสิทธิภาพ จนนำมาสู่ปัญหากลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่สร้างผลกระทบแล้วหลายเดือน

ธรม ยังเผยอีกว่า ทาง อบจ.เชียงใหม่ เคยกล่าวว่าจะมีการนำขยะไปกำจัดต่อ แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ผู้ว่าฯ และนายกอบจ. รวมไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแก้ไข หากไม่ทำการแก้ไขตนและประชาชนในอำเภอดอยสะเก็ดก็พร้อมที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด 

“ถ้านายก อบจ. และผู้ว่าฯ ไม่มาแก้ไข เราจะขนขยะไปไว้หน้าบ้านท่าน เขาจะได้รู้ว่าสภาพแวดล้อมแย่ ๆ เป็นยังไง เขาจะได้รู้ว่า ตอนกินข้าวแล้วเหม็นกลิ่นขยะรู้สึกยังไง” ธรม กล่าว

สำหรับโรงขยะดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และผลิตกระแสไฟฟ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี บริษัท เชียงใหม เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด) เป็นคู่สัญญาฯ กับทาง องค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

โดยเครือข่ายจัดการขยะภาคประชาชน มีข้อเสนอต่อการจัดการปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 

1.ห้ามนำขยะที่กองอยู่เดิมภายในศูนย์ฯ ออกมาคัดแยก เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เหม็นฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบัน

ข้อ 2.ให้รีบบริหารจัดการและขนย้าย “กองภูเขาขยะ” ที่สูงมากไม่ต่ำกว่า 7 เมตร ออกจากศูนย์ฯไปแหล่งกำจัดอื่นโดยเร็ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อ 3 ขอให้รับขยะเข้าศูนย์ฯได้เฉพาะโชนพื้นที่ตามข้อตกลง(MOU)เดิมจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอยสะเก็ด,อ.สันทราย, อ.สันกำแพง และ อ.แม่ออน เท่านั้น เพื่อป้องกันปริมาณขยะล้นและเกินปริมาณที่จะบริหารจัดการได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าโครงการก่อสร้างฯ จะแล้วเสร็จ จึงจะสามารถนำขยะนอกเขตพื้นที่มาเข้าร่วมโครงการได้

ข้อ 4.หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ อบจ.เชียงใหม่และบริษัทฯคู่สัญญา ต้องออกมาชี้แจงขั้นตอนและรายงานความก้าวหน้าของการบริหารจัดการโครงการฯระหว่างดำเนินการต่อที่ประชุมหน่วยงานราชการ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และเวทีประชุมของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรับทราบและรับข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ

ข้อ 5.หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอข้างต้น ทาง อบจ.เชียงใหม่ และบริษัทฯคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการจัดการขยะมูลฝอยตามเงื่อนไขข้อตกลง (MOU) กับ องค์กรท้องถิ่นในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ และ/หรือจากการผิดสัญญาฯของผู้ประกอบการรับเหมาจัดเก็บขยะกับองค์กรท้องถิ่นในเขตพื้นที่นี้ด้วย

ข้อ 6. อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งตามข้อมูลผ่านมา ทาง อบจ.มีรายได้จากค่าจัดเก็บขยะรวมจำนวนมหาศาล และบริษัทฯคู่สัญญาฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูฝอยแบบครบวงจร และเจ้าของโครงการฯ ต้องทำการปรับปรุงบำรุงรักษาถนนสายหลักที่ใช้สัญจร รวมถึงเส้นทางสายรอง เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีมาตรฐาน/พัฒนาภูมิทัศน์ตลอดเส้นทาง พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้อยู่อาศัยและผู้ร่วมสัญจรไปมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ

ข่อ 7. ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ตำบล ประกอบด้วย เทศบาลตำบลป่าป้อง, เทศบาลตำบลเชิงดอย, เทศบาลตำบลดอยสะเก็ด และเทศบาลตำบลแม่โปง 4 เทศบาล ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รอบโครงการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ข้อ 8.เสนอขอแต่งตั้งคณะทำงาน “เครือข่ายจัดการขยะภาคประชาชน”ซึ่งต้องมาจากการเสนอชื่อ ของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม อย่างแท้จริง (ซึ่งเป็นคนละชุดกับชุดปัจจุบันที่ได้รับการเสนอจากหมู่บ้าน 17 หมู่รอบโครงการฯ) เพื่อร่วมกำกับติดตามเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาและสนับสนุนส่งเสริม โดยสามารถเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯและศูนย์จัดการขยะมูลฝอย เพื่อรับทราบข้อมูลได้อย่างครอบคลุมรอบด้านทั่วถึง ตามเอกสารที่เผยแพร่ในที่ชุมนุมของชาวบ้าน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง