เมษายน 27, 2024

    ศิลปะสั้น คดียืดยาว อาจารย์-นักศึกษา ไปรับทราบข้อกล่าวหาอดีตคณบดีวิจิตรศิลป์แจ้งตัดโซ่หอศิลป์ฯ ชุลมุนนักศึกษาเจ็บ 1

    Share

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ศิลปะสั้น คดียืดยาว อาจารย์-นักศึกษา ไปรับทราบข้อกล่าวหาอดีตคณบดีวิจิตรศิลป์แจ้งตัดโซ่หอศิลป์ฯ ชุลมุนนักศึกษาเจ็บ 1

    10 พฤศจิกายน 2565 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ , ทัศนัย เสรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตคณะวิจิตรศิลป์ เข้ารับทราบในข้อกล่าวหากรณีร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ จากคดี“ตัดโซ่หอศิลป์ฯ“ เมื่อปี 2564 ณ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ โดยอัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์เป็นผู้กล่าวหาในครั้งนี้

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และกลุ่มศิลปิน ได้แสดง Performance Art และติดตั้งป้ายที่มีข้อความว่า “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” ระหว่าง Performance Art ได้เกิดเหตุชุลมุน โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาแย่งป้ายจึงเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และนักศึกษา หลังจากการปะทะ ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้รับบาดเจ็บ นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้เริ่มอะไรเลย มาแค่แสดงออกทางสิทธิเสรีภาพตามสิทธิของเรา”

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    13.45 น. กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมืองสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อ่านแถลงการณ์กรณีอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์แจ้งความฟ้องร้องอาจารย์และนักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มีเนื้อหาว่า 

    “จากเหตุที่อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์(อัศวิณีย์ หวานจริง) ได้แจ้งความกล่าวหาดำเนินคดีอาจารย์(ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ทัศนัย เศรษฐเสรี) และนักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ(ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์) ข้อหา ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพยของผู้อื่นฯ นั้น

    อันเนื่องมาจากกรณีที่ ‘นักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ’ พยายามเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปนิพนธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้นักศึกษาได้พยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ตามระเบียบ แต่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นเหตุให้จะต้อง ‘ตัดโซ่’ เพื่อเปิดใช้พื้นที่หอศิลป์ ในการจัดแสดงงานศิลปนิพนธ์ 

    นักศึกษาจึงร้องต่อศาลให้คุ้มครองการจัดแสดงงานศิลปนิพนธ์ ทั้งนี้ศาลปกครองมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากเห็นว่าล่วงพ้นเวลาที่ศาลจะมีคำสั่งใดๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายของนักศึกษา ด้วยการพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่นักศึกษาได้เข้าใช้งานพื้นที่หอศิลป์จนเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว]

    สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กล่าวมา การฟ้องร้องโดยอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์(อัศวิณีย์ หวานจริง) ในครั้งนี้ เป็นความอัปยศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมวงกว้างในทางเป็นโทษต่อมหาวิทยาลัย กระทบต่อความน่าเชื่อถือทั้งในทางบริการการศึกษาและความเชื่อมั่นทางวิชาการของมหาวิทยาลัย อีกทั้งการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นที่ตราหน้าอับอายเป็นความด่างพร้อยอดสูทั้งสถาบันที่สังกัดอยู่และสถาบันที่สำเร็จการศึกษาออกมา

    ตามที่ได้กล่าวมา กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงแถลงเพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันประสิทธิ์ประสาทวิชชาชั้นสูง ไว้ 3 ประการ ดังนี้

    1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาเสรีภาพทางวิชาการไว้ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นคนกลางพร้อมสภานักศึกษา เพื่อเจรจาพูดคุยระหว่างคู่กรณี และเจรจาให้ถอนการแจ้งความดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

    2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์การแจ้งความนี้ให้เป็นไปตามหลักการของความเคารพในเสรีภาพทางวิชาการพร้อมแถลงอย่างเป็นสาธารณะ มหาวิทยาลัยจะต้องออกมาชี้แจงว่า

    การกระทำของอัศวิณีย์ หวานจริง กระทำในฐานะบุคลากรในปกครองของมหาวิทยาลัยหรือไม่? และกระทำไปด้วยเจตนาอะไร? เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย

    และต่อการศึกษา แต่เป็นไปด้วยความเคียดแค้นอาฆาตมาดร้ายต่อนักศึกษาที่เคยเป็นคู่กรณีต่อกันในหลายกรรมหลายวาระมาแล้ว อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนได้

    3. เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยจะต้องชี้แจงสื่อสารต่อสาธารณะ ว่าการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เป็นความประสงค์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือไม่? และมหาวิทยาลัยจะมีจุดยืนอย่างไรต่อเสรีภาพทางวิชาการและการบริการที่เป็นคุณต่อนักศึกษาในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการศึกษา และมหาวิทยาลัยจะรับประกันอย่างไรเพื่อไม่ให้บุคลากรฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกระทำคุกคาม หรือ ใช้คดีความเป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่นักศึกษา, บุคลากร และประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก.

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    .

    ปณิธาน มช. คือ มโนธรรมและจิตสำนึกเพื่อสังคม”

    หลังสถานการณ์สงบลงในเวลาประมาณ 13.50 น. ทั้ง 3 คน (อ.ทัศนัย อ.ศรยุทธ และยศสุนทร) จึงเข้าไปรับข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ

    โดยในเวลา 16.10 น. ทั้ง 3 คนได้รับทราบข้อกล่าวหา ทนายของทั้ง 3 คน กล่าวว่า “ทั้ง 3 ท่านให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนข้อหาที่พนักงานสืบสวนแจ้งก็คือ รวมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์(หอศิลป์ฯ) และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ หลังจากนี้พนักงานสอบสวนได้นัดสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 เพื่อที่จะแจ้งว่าจะต้องดำเนินการยังไงต่อ”

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    หลังจากนั้นทั้ง 3 คนได้เดินจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ไปยื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ขอความเป็นธรรมให้ถอนแจ้งความร้องทุกข์และสอบสวนความผิดกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีเนื้อหาดังนี้ 

    “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออก มีหน้าที่สำคัญในการจัดการศึกษาและให้บริการประชาชน หากไร้ซึ่งเสรีภาพย่อมปราศจากความรู้

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตามหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่ อว 8392(1)/6623 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 (อ้างถึง 1.) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ โดยมีนางอัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นผู้รับมอบอำนาจ กล่าวหาข้าพเจ้าทั้งสามผู้เป็นอาจารย์และนักศึกษาของคณะวิจิตรศิลป์ เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย ว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกอาคารหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมและทำให้เสียทรัพย์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ซึ่งข้าพเจ้าทั้งสามได้เข้ารับทราบข้อหาดังกล่าวกับพนักงานสอบสวนในวันนี้แล้วนั้น

            ข้าพเจ้าทั้งสามขอเรียนว่า เหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าทั้งสามถูกกล่าวหาว่าบุกรุกอาคารหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมและทำให้เสียทรัพย์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 นั้น เป็นการการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ในการศึกษาของนักศึกษาซึ่งจะต้องจัดแสดงผลงานศิลปะให้ทันกำหนดเวลาเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากนักศึกษาในสาขาวิชาฯ ไม่สามารถแสดงผลงานและบรรดาอาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชาไม่สามารถตรวจให้คะแนนผลงานของนักศึกษาได้ตามเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องเข้าไปเพื่อจัดเตรียมสถานที่และติดตั้งผลงานดังกล่าว  โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการยื่นขออนุญาตใช้สถานที่อย่างถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์และนักศึกษาสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นกิจกรรมปกติเป็นประจำตลอดมาในทุกปี แต่ปรากฏว่า ผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ ไม่พิจารณาและมีคำสั่งตามคำขออนุญาตใช้สถานที่ในเวลาอันควร ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย แต่ระหว่างเวลาที่ยังไม่มีคำสั่งกลับปรากฏว่ามีการสั่งการให้ตัดสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา และไฟฟ้า ในอาคาร และมีการปิดล็อคโซ่กุญแจประตูทางเข้า โดยไม่มีการแจ้งคำสั่งห้ามหรือประกาศแจ้งเหตุผลแต่อย่างใด อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามระเบียบของมหาวิทยาลัย และเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งไม่ควรมีเหตุการณ์ดังกล่าวการเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอันเป็นสถานศึกษาซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออก   ทั้งนี้รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ปรากฏแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ 382/2564 หมายเลขแดงที่ 288/2564 (เอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) ซึ่งท่านทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวศาลได้มีคำวินิจฉัยว่าการที่ผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ไม่สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก่อนถึงระยะเวลาในการใช้พื้นที่ที่ระบุคำขอใช้พื้นที่เป็นการไม่ชอบ 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    การเข้าไปในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของข้าพเจ้าทั้งสามเป็นไปโดยมีสิทธิและมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากนักศึกษาในสาขาวิชาฯ ไม่สามารถแสดงผลงานและบรรดาอาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชาไม่สามารถตรวจให้คะแนนผลงานของนักศึกษาได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบของผู้บริหารฯ ข้าพเจ้าทั้งสามรวมถึงบรรดาอาจารย์และนักศึกษา

    ได้เข้าไปใช้หอศิลป์เพื่อจัดแสดงผลงานโดยมีเหตุอันสมควรและจำเป็น โดยสงบเรียบร้อย ไม่มีเจ้าหน้าที่ใดมาขัดขวางหรือขับไล่นักศึกษา ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ดังที่ท่านย่อมทราบดีแต่แรกแล้วตามที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการดำเนินคดีอาญากับบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ใช้สิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ ในการปฏิบัติหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา ย่อมไม่มีประโยชน์กับผู้ใดด้วยประการทั้งปวง ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดต่อข้าพเจ้าทั้งสาม 

    จึงขอให้ท่านดำเนินการดังต่อไปนี้

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    1)    ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ฯ และให้ปากคำเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ดังที่อ้างถึง 2.

    2)    ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่ามีความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่อย่างไรโดยเร็ว และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ท่านดำเนินคดีและเอาผิดทางวินัยให้ถึงที่สุด หากท่านไม่ดำเนินการดังที่กล่าวมาในเวลาอันสมควร ย่อมมีเหตุให้เชื่อได้ว่าท่านทราบดีอยู่แล้วถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่อ้างถึง 1. และ 2. และสิ่งที่ส่งมาด้วย 1. แต่กลับเพิกเฉยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีเหตุ อันสมควร เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าทั้งสามได้รับความเสียหายถูกดำเนินคดีอาญาโดยไม่เป็นธรรม ข้าพเจ้าทั้งสามจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    เสร็จกิจกรรมทั้งหมดในเวลา 17.00 น. ทั้งนี้นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บได้เข้าแจ้งความหลังเหตุการณ์สงบลง เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำความรุนแรงกับประชาชน

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...