เมื่อคืน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 บริเวณสะพานนวรัตน์ จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดประเพณียี่เป็งภาพบรรยากาศบางส่วนในวันสุดท้ายของประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม
ตามปฏิทินจันทรคติ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้คนในประเทศแถบเอเชียจะจัดงานเฉลิมฉลองตามจารีตท้องถิ่นของตน ส่วนในภาคเหนือของประเทศไทย จะจัดงาน “ประเพณียี่เป็ง” หรือประเพณีเดือนยี่ โดยประวัติศาสตร์ประเพณียี่เป็งนั้นมีหลากหลายตำนานเรื่องเล่า แต่ที่ได้รับการบันทึกในตำนานเมืองลำพูนฉบับใบลานผูกของวัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน เป็นการจัดเรือ ส่งข้าวของเครื่องใช้ลอยตามแม่น้ำไปให้พี่น้องที่อยู่ห่างไกล แต่ภายหลังถูกวัฒนธรรมสยามกลืนกินทำให้ประเพณียี่เป็งแบบดั้งเดิมนั้นแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลา
ประเพณียี่เป็งในภาคเหนือ มีความพยายามของภาครัฐในการสื่อสาร ผลักดันให้เป็นประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก ภาคเหนือได้กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เข้ามาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าอุบัติภัยความรุนแรงในวันดังกล่าวกลับมีไม่น้อยไปกว่ากัน ข้อมูลการบาดเจ็บจากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติระหว่างปี พ.ศ.2552-2556 พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวไฟ หรือสะเก็ดดอกไม้ไปหรือพลุ มากถึง 3,260 ราย และเสียชีวิต 8 ราย รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่กระทงได้กลายเป็นขยะจำนวนมหาศาลในแม่น้ำปิงมากกว่า 40 ตัน
อ้างอิงจาก
อรุโณทัย วรรณถาวร, การศึกษาประวัติศาสตร์การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมของประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่, วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (2564)
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (2562)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...