พฤษภาคม 21, 2024

    ปริศนาของจารึกประจำประตู และท่าแพที่เพิ่งสร้าง

    Share

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

    จากกรณีที่สำนักศิลปากรที่ 7 พบจารึกประตูท่าแพหลังหายไปร่วมกว่า 40 ปี ที่สร้างตื่นเต้นปะปนไปกับคำถามพร้อมกับการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเหตุใดจารึกที่มีความสำคัญเช่นนี้ถึงหายได้กว่า 4 ทศวรรษ

    ภาพ: สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

    จารึกประตูท่าแพมีความสำคัญแก่เมืองเชียงใหม่เป็นอย่างมากในฐานะของเสาประตูเมือง โดยสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยมีตัวเลขที่จารึกอยู่บนจารึกประตูท่าแพคือเลข 829 ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น จุลศักราช 829 หรือ พ.ศ. 2010 โดย ข้อมูลของ จารึกประตูท่าแพ จาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า จารึกประตูท่าแพ เป็นเสาหินสี่เหลี่ยม ขนาดสูง 190 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา และ ตัวเลขธรรม ในลักษณะกลับด้านและกลับบนลงล่าง  เมื่อครั้งที่รองศาสตราจารย์เรณู วิชาศิลป์ ได้ทำสำเนาจารึกเพื่อส่งให้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2529 ขณะที่ยกกระดาษสำเนาขึ้นส่องแสงแดด จึงพบว่าเป็นการจารึกอักษรแบบกลับด้าน

    เสาหินมีอักษรจารึก 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีดวงชะตาพร้อมทั้งตัวเลขที่สันนิษฐานว่าเป็นเลขจุลศักราช ดวงชะตา 1 ดวงตรงกลาง และยันต์กลม 8 เรือนล้อมรอบดวงชะตา 

    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีตัวเลขที่สันนิษฐานว่าเป็นเลขศักราชนั้น เป็นตัวเลข 829 (จุลศักราช 829 = พ.ศ. 2010) ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช ในช่วงที่เชียงใหม่ถูกทำลายศรีเมือง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า หลังจากเหตุการณ์นั้น เชียงใหม่ได้สร้างกำแพงและประตูเมืองขึ้นใหม่ และได้สร้างเสาจารึกหินเป็นดวงชะตาและเรือนยันต์อักษรกลับด้านกำกับไว้ที่ประตูเมือง

    จารึกอีกด้านหนึ่งเป็นเรือนยันต์สี่เหลี่ยมย่อมุม มีข้อความภาษาบาลีล้อมเรือนยันต์ทั้ง 4 ด้าน ความว่า

    -ด้านบน “อินทขีลมังค(ล)โสตถิ”

    -ด้านซ้าย “อินทขีลสิทธิเชยย”

    -ด้านขวา “อินทขีลสิทธิเชยย”

    -ด้านล่าง  “อินทขีลโสตถิมังคลัง” 

    “’อินทขีล’” ที่คำที่ปรากฏในข้อความจารึก อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจจะหมายถึง เสาหลักเมือง อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี ได้ให้ความเห็นว่า ในภาษาบาลี คำว่า “อินทขีล” มีความหมายว่า เสาเขื่อน เสาหลักเมือง ธรณีประตู อีกทั้ง เสาหินจารึกที่ประตูสวนดอก ก็ปรากฏการจารึกในลักษณะเดียวกัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า  คำว่า “อินทขีล” บนจารึกเสาหินนี้ อาจหมายถึง เสาประตูเมือง

    จารึกไม่ได้หายไปไหน แต่กลับไม่มีใครค้นพบ

    จากเหตุการณ์การการพบ หลักจารึกประตูท่าแพ ของ สำนักศิลปากรที่ 7 ได้มีนักวิชาการหลายคนได้ออกมาเล่าที่มาที่ไปก่อนการจะพบจารึกดังกล่าว ทั้งผู้ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายในตอนนั้น และ ผู้ที่ตามหาจารึกดังกล่าวมาร่วมกว่า 4 ทศวรรษ

    ศรีเลา เกษพรหม

    ศรีเลา เกษพรหม นักวิชาการด้านล้านนาและหนึ่งในผู้ตามหาและพบจารึก ได้ให้ความเห็นว่า เสาหินอินทขีลหรือเสาสะดือเมืองหรือเสาใจเมือง ที่นำมาติดตั้งไว้ที่ประตูท่าแพจำลอง เมื่อ 2509 ต่อมาเมื่อ 2528 ทางเชียงใหม่ได้สร้างประตูท่าแพจำลอง โดยนำภาพถ่ายประตูท่าแพเดิมมาเป็นรูปแบบดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในการรื้อประตูจำลองสมัย 2509 ออก หน่วยศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้นำเสาต้นนี้ไปตั้งเก็บไว้ที่หน่วย ตั้งใจว่าเมื่อประตูท่าแพสร้างเสร็จจะนำมาตั้งไว้ที่เดิม นำไปตั้งไว้ที่หน่วยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2528 เมื่อสร้างประตูท่าแพเสร็จทางหน่วยศิลปากรจึงนำเสาหินนี้มาตั้งในช่องกำแพง โดยทำฐานที่ตั้งอย่างมั่นคง แต่ไม่มีใครทราบเรื่อง ดังนั้นเมื่อมีคนจำหินเรื่องนี้ได้จึงติดตามไปที่หน่วย เจ้าหน้าที่ปัจจุบันก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน จนมาพบตั้งอยู่ในช่องกำแพงประตูท่าแพในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

    สุรพล ดำริห์กุล

    ข้อมูลที่กล่าวมานั้นตรงกับที่ สุรพล ดำริห์กุล นักโบราณคดี อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 4 หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมกันบูรณะประตูท่าแพในปี 2528 ได้ให้สรุปใจความต่อประเด็นนี้ไว้ ใจความว่า

    “ข่าวการค้นพบหลักศิลาอินทะขีลประตูท่าแพที่หายไปนานร่วมสี่สิบปีและพบว่าที่แท้ก็อยู่ในประตูท่าแพนั้นเอง แต่ก่อนที่จะพบนั้น  จากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ก็ทำให้เป็นเรื่องทำให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นต่อกันและกันหลายฝ่าย

    เริ่มต้นก็จากคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรจริง  นั่งยันนอนยันว่า หลักศิลานั้นอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่เอาไปเก็บไว้ พอไปถามหา ก็ไม่มี สร้างความไม่สบายใจและเสียหายต่อพิพิธภัณฑ์เชียงใหม่มาก

    จึงขอเล่าความจริงให้ฟังว่า ใน พ.ศ 2528 ผู้ว่าฯเชียงใหม่ดำริสร้างประตูท่าแพขึ้นใหม่ตามภาพถ่ายเดิมที่มีอยู่  ประสานขออนุญาตและให้หน่วยศิลปากรที่ 4 (ขณะนั้นออกแบบ) และโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้สร้าง

    ภาพการเคลื่อนย้ายจารึกท่าแพ โดย FB ศรีเลา เกษพรหม

    แต่ขณะก่อสร้างเกรงว่าหลักศิลาอินทขีลที่ติดตั้งอยู่ที่ประตูท่าแพเดิมจะเสียหาย ผู้ว่าฯ จึงขนย้ายไปฝากเป็นการชั่วคราวไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เมื่อสร้างประตูท่าแพเสร็จแล้วจึงนำกลับมาไว้ที่ประตูท่าแพตามเดิมตามโบราณประเพณี แต่ไม่มีที่จะติดตั้งหลักศิลาที่เหมาะสม (เพราะเดิมก็ไม่รู้ตั้งที่ไหน แต่ที่ติดตั้งเดิมด้านข้างช่องประตู เป็นของทำใหม่)

    ดังนั้นจึงตกลงกันให้นำไปตั้งไว้อย่างดี (ไม่ได้ถูกทิ้งถูกขว้าง) ในช่องกำแพงประตูท่าแพและมีประตูปิดเปิดได้เวลาได้ผ่านล่วงเลยร่วมสี่สิบปี  ก็มีกลุ่มนักวิชาการตามหาหลักศิลาอินทขีลนั้นว่าหายไปไหนแต่ไปถามคนที่ไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็นั่งยันนอนยันว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงใหม่

    สร้างความไม่สบายใจให้กับ ผอ.พิพิธภัณฑ์ฯเป็นอย่างมาก (เหมือนไม่รับผิดชอบทำของหาย) เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์นานมากแล้ว ผู้เกี่ยวข้องไปสวรรค์กันเกือบหมดแล้ว

    อาจกล่าวได้ว่าเหลือผมอยู่คนเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ทำไมไม่มาถามผม เคยมีคนมาเล่าขานให้ฟังว่าเขากำลังตามหาหลักศิลาอินทขีล เขายืนยันว่ามีหลักฐานภาพถ่ายว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงใหม่เอาไปเก็บไว้

    แต่ไปตามหาไม่พบ ผมก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ยืนยันไปว่าไม่ได้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงใหม่แน่ จนกระทั่งมีคณะอาจารย์และนักวิชาการมาสอบถาม  ผมก็บอกเรื่องราวไปเท่าที่พอจำได้และขอให้ไปประสานกับเทศบาลฯขอกุญแจไปเปิดห้องใต้กำแพงประตูท่าแพ และก็พบหลักศิลาอินทขีลตั้งตะหง่านอยู่ในนั้นจริง(หลังจากที่ไม่เคยมีใครเปิดประตูเข้าไปร่วมสี่สิบปี)

    การพบหลักศิลาอินทขีลครั้งนี้สำคัญ (ถ้าไม่หาไม่พบตอนนี้ก็คงจะไม่พบอีกนาน เพราะคนที่รู้เรื่องก็จะม้วยไปหมดแล้ว) แต่เรื่องไม่เป็นก็เรื่อง คือ การเผยแพร่ยืนยันว่าพิพิธภัณฑ์ฯเอาไปเก็บไว้และแล้วก็หาไม่พบแบบนี้เขาเสียหายและไม่สบายใจ”

    หนังสือ ‘กำแพงเมืองเชียงใหม่’ ที่จัดทำเนื่องในพิธีเปิดและฉลองประตูท่าแพใหม่ในปี 2529 ก็ได้ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า จารึกประตูท่าแพนั้นจะมีการเก็บไว้ที่หน่วยศิลปากรที่ 4 ชั่วคราว เมื่อประตูท่าแพสร้างเสร็จ ก็จะนำไปเก็บไว้ที่ประตูท่าแพ ภายในป้อมกำแพงซึ่งเป็นที่ว่าง เพื่อให้ประชาชนได้ชมและศึกษาค้นคว้าต่อไป

    จากคำบอกเล่าของ 2 นักวิชาการ และข้อมูลจากหนังสือ ‘กำแพงเมืองเชียงใหม่’ ชี้ให้เห็นว่าการจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแล ขาดความต่อเนื่องและไม่เป็นระบบเนื่องจากการสับเปลี่ยนหน่วยงานไปมาตลอด ที่ถึงมีข้อมูลจากหลายแหล่งนั้นชี้ชัดแล้วว่าจารึกประตูท่าแพนั้นตั้งอยู่ที่เดิม แต่ก็ยังหายไปกว่าครึ่งชีวิตคน

    ท่าแพที่เพิ่งสร้าง (หลายครั้ง)

    จากเหตุการณ์นี้ยังทำให้ค้นหาต่อไปว่า แล้วประตูท่าแพในปัจจุบันที่มีการค้นพบจารึกนั้นมีการบูรณะ ‘สร้างใหม่’ ข้อมูลจากหนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าเดิมทีประตูแห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘ประตูเชียงเรือก’ และบางแห่งเรียก “ประตูช้างเลือก”ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพญามังราย เมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ใน ปี 1839 ชื่อประตูเชียงเรือกมาจากการตั้งของประตูใกล้หมู่บ้านเชียงเรือก เป็นชุมชนค้าขายเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ชื่อประตูเชียงเรือกถูกเปลี่ยนมาเป็น ‘ประตูท่าแพชั้นใน’ เพื่อให้คู่กับ ‘ประตูท่าแพชั้นนอก’ ที่ตั้งอยู่ในถนนสายเดียวกัน ประตูท่าแพชั้นนอกตั้งอยู่บริเวณวัดแสนฝางก่อนที่ถูกรื้อถอนออกเนื่องจากการพัฒนาเมือง เหลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน จึงถูกเรียกว่าประตูท่าแพนับแต่นั้นมา

    หลังจากการสร้างกำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี 1839 นั้นมีการปรับเปลี่ยนรื้อถอนและสร้างใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชียงใหม่นั้นถูกเปลี่ยนมือในการปกครองจากรัฐรอบข้างมาโดยตลอด กำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่นั้นไม่ได้อยู่ในสภาพเดิมมานับตั้งแต่การสร้าง ซึ่ง ประตูท่าแพ ก็เป็นหนึ่งในประตูเมืองเชียงใหม่ที่ถูกรื้อถอนและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา

    ข้อมูลจากหนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า ประตูท่าแพก่อนจะมีการบูรณะใหม่ในปี 2528 นั้นอาจจะมีการสร้างขึ้นใหม่ โดยไม่ได้อาศัยหลักฐานทางโบราณคดี สร้างขึ้นก่อนที่จะได้มีการซ่อมแซมบูรณะในปี 2509-2510 ซึ่งจะตรงกับข้อมูลของ ศรีเลา และ สุรพล ที่บอกว่าในปี 2509 มีการบูรณะประตูท่าแพขึ้นมาใหม่และมีการนำจารึกท่าแพไปติดตั้งไว้ในที่ดังกล่าวแต่ไม่ได้อาศัยหลักฐานทางโบราณคดี

    ภาพถ่ายจากหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ พิมพ์ในปี 2501 
    ภาพถ่ายประตูท่าแพ จากหนังสือ “Seen” ของ สุเมธ ชุมสาย จัดพิมพ์ในปี 2513 

    ภาพถ่ายในปี 2513 ซุ้มของประตูด้านทิศเหนือในส่วนที่อยู่ริมถนนไม่มีหลักจารึก ซึ่งภาพที่ถ่ายในปี 2513 มีจารึกหลักจารึกหักเป็นสองท่อน ซึ่งจะพบว่าอาจจะไม่ได้มีการซ่อมแซมมากนักเพียงแต่นำมาติดตั้งไว้เพียงเท่านั้น

    ภาพถ่ายประตูท่าแพในปี 2528 ก่อนมีการบูรณะขึ้นมาใหม่

    ประตูท่าแพที่เห็นในภาพ เทศบาลเชียงใหม่ โดยมี ทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรี มอบหมายให้ ทองหยด สุวรรณประเทศ ช่างเทศบาล เป็นผู้ควบคุมการสร้างและออกแบบ ซึ่งได้ขออนุญาตกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อย 

    ในหนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ยังระบุอีกว่าจากทั้ง 3 ภาพ ประกอบกับได้พูดคุยกับ ทองหยด เล่าให้ฟังว่า ป้อมประตูในทิศเหนือไม่ได้มีการบูรณะมากนักนอกจากการนำอิฐเก่ามาเสริมส่วนที่ผุพัง ส่วนกำแพงต่อจากป้อมประตูนั้นก่อสร้างจึ้นมาใหม่ รวมถึงกำแพงต่อจากป้อมประตูในทิศใต้ และในส่วนป้อมประตูในทิศใต้ได้ซ่อมแซมในส่วนที่ผุพังให้คงรูปเดิมเท่านั้น ทั้งนี้เป็นการบูรณะซ่อมแซมในปี 2509-2510

    หนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ สรุปใจความไว้ว่า ประตูท่าแพก่อนจะมีการบูรณะได้มีการซ่อมแซมบ้างเล็กน้อยหลังจากการสร้างขึ้นมาใหม่ คาดว่าสร้างขึ้นมาใหม่ไม่เกิน 2449

    ซึ่งประตูท่าแพที่เห็นกันในปัจจุบันนั้นถูกบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 2528 โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ประชาชนชาวเชียงใหม่ และผู้ว่าฯ ร่วมกันระดมทุน ออกแรง โดยมี ชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่มีบ้านเกิดเป็นคนเชียงใหม่ เป็นแกนนำในการก่อสร้าง ซึ่งมีสำนักโยธาธิการจังหวัด และ หน่วยกรมศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ เป็น 2 หน่วยงานหลักในการออกแบบและก่อสร้าง

    25 สิงหาคม 2528 เวลา 14.30 น. ชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำพิธีบวงสรวงสังเวย ก่อนจะมีการรื้อถอนเพื่อสร้างประตูท่าแพ 

    วัตถุประสงค์ในการบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ประตูท่าแพในปี 2528 นั้น ชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เขียนไว้ในหนังสือว่า การสร้างประตูและลานท่าแพนั้นมาจากการที่ ชัยยา เห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมที่จะมีลานอเนกประสงค์ เพื่อเป็นที่พบปะและสันทนาการ และประกอบพิธีต่างๆ  แก่ประชาชน และเล็งเห็นว่าลานประตูท่าแพนั้นมีศักยภาพในการสร้าง 

    ประตูท่าแพ ขณะบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 2528 โดย บุญเสริม สาตราภัย

    การสร้างกำแพงเมืองและประตูท่าแพนั้นเพื่อต้องการสร้างให้ถูกต้องตามรูปแบบของการอนุรักษ์ทางด้านโบราณคดี โดยมีการขออนุญาตและหารือร่วมกับกรมศิลปากรเพื่ออนุมัติในการก่อสร้าง ก็ได้ปรึกษาหารือจากผู้รู้และชมรมสถาปัตยกรรมล้านนา รวมไปถึงสภาจังหวัด ยังมีการทำพิธีบวงสรวงบอกกล่าวและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ เทวดาผู้รักษาคุ้มครองเมืองให้ถูกต้องตามประเพณี

    ความงุนงงของภาพต้นแบบในการสร้างท่าแพ 2528

    ภาพถ่ายประตูเชียงใหม่แบบจำลองในการสร้างประตูท่าแพในปัจจุบัน ถ่ายเมื่อปี  2442

    นอกจากการสร้างใหม่ในปี 2528 ก็ยังมีปริศนาให้น่าติดตามต่ออีกว่า ภาพจำลองหรือภาพต้นแบบในการสร้างประตูท่าแพในตอนนั้น เป็นภาพถ่ายของประตูเมืองเชียงใหม่กันแน่ เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างสองข้อมูลว่าภาพดังกล่าว เป็นภาพของประตูท่าแพในอดีต บ้างก็บอกว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของประตูเมืองเชียงใหม่

    หนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า ประตูท่าแพที่ถูกบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 2528 นั้นมีแบบจำลองจากภาพถ่ายประตูเชียงใหม่ในอดีต จาก บุญเย็น ภิญโญ ทายาทของ บุญมา ภิญโญ ถ่ายเมื่อปี 2442 ที่เชื่อกันว่าเป็นประตูท้ายเวียงหรือที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ในปัจจุบัน หนังสือกำแพงเมืองเชียงใหม่ยังระบุอีกว่า “เบื้องหลังประตูและกำแพงเมือง มีต้นยางสูงยืนทมึนอยู่สองสามคัน ซึ่งที่ประตูเชียงใหม่ปัจจุบัน (2529) นี้เมื่อไม่กี่ปีก็ยังคงมีต้นยางอยู่ แต่บัดนี้ถูกโค่นลงไปเหลืออยู่เพียงต้นเดียว” หนังสือดังกล่าวยังได้ยกข้อพิสูจน์ว่าภาพดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 ชั้น ซึ่งตรงกับคำพรรณาในโคลงนิราชหริภุญชัย ฉบับหอพระสมุด ระบุว่า

    “ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง

    เวียงวาสปราการสอง เขื่อนขั้ง

    เหราเฟื่อดฟัดฟอง คือค่าย งามเอย

    หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าศึกแสลง”

    ทั้งนี้จากหนังสือ การขุดค้นศึกษาและบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ หน้าที่ 25 ก็ยังระบุไว้ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของ ประตูเชียงใหม่ พ.ศ.2442

    แต่จากข้อมูลในหนังสือ เชียงใหม่ในความทรงจำ: Chiang Mai in memories โดย บุญเสริม ศาสตราภัย ช่างภาพประวัติศาสตร์ชาวเชียงใหม่ ระบุไว้ว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้เมื่อ ค.ศ.1899 หรือปี พ.ศ.2442 ซึ่งระบุว่าเป็นภาพถ่ายของประตูท่าแพในอดีตที่มีกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอก จากข้อมูลทั้งสองชุดได้สร้างความงุนงงแก่ทั้งตัวผู้เขียนเอง ว่าเหตุใดข้อมูลจากทั้ง 2 แหล่ง ถึงมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง แถมหากนำมาเชื่อมโยงกับรูปต้นแบบในการสร้างประตูท่าแพในปี 2528 ก็ยิ่งสื่อความหมายไปคนละทิศละทางอีกด้วย

    เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าการเก็บข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลยังเพียงพอ รวมไปถึงการขาดการบันทึกที่ดีของเหตุการณ์สำคัญในการเคลื่อนย้ายวัตถุสำคัญ ทำให้การตามหาสิ่งสำคัญเช่นนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ยาก ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามต่อไปแล้วว่าการสลับสับเปลี่ยนไปมาขององค์กรที่ดูแลโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญเหล่านี้มีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด หรือเราอาจจะต้องมีหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลโบราณสถานหรือโบราณวัตถุเหล่านี้โดยเฉพาะหรือไม่?

    อ้างอิง

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...