11 ตุลาคม 2565
ชาวกะเหรี่ยง ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือถึง 5 หน่วยงาน ค้านประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับที่ชุมชน หลังสำนักอนุรักษ์ฯ ประกาศรับฟังความเห็น เกรงขาดการมีส่วนร่วม ด้านนายอำเภอสะเมิงย้ำเป็นการประชุม ไม่ใช่การชี้ขาด ให้เป็นไปตามขั้นตอน
11 ต.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และ บ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในนามของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปยังที่ว่าการ อ.สะเมิง และเทศบาง ต.สะเมิงใต้ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ทับพื้นที่ชุมชน โดยได้ยื่นหนังสือทั้งสิ้น 5 ส่วน ได้แก่ นายอำเภอสะเมิง, ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่), ประธานสภาเทศบาลตำบลสะเมิงใต้, นายกเทศบาลตำบลสะเมิงใต้ และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการพีมูฟ โดยได้มีการยื่นรายชื่อประชาคมหมู่บ้านคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานด้วย
การยื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เรื่อง ขอเชิญชวนรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 141,756.26 ไร่ โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 และมาตรา 8 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียฯ ซึ่งหากดำเนินการรับฟังความเห็นแล้วจะได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีประกาศกฤษฎีกาแนบท้าย ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขานต่อไป โดยมีนัดหมายรับฟังความคิดเห็นที่ อ.สะเมิง ในวันที่ 18 ต.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านแม่ลานคำและป่าคา เห็นว่า การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่ชุมชน จำนวน 24,513 ไร่ ซึ่งทับในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยชุมชนเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ สร้างความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน และขัดต่อการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
หนังสือของชาวบ้านแม่ลานคำและป่าคา ระบุว่า การขับเคลื่อนของชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคาร่วมกับ สกน. และ พีมูฟนั้น นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของพีมูฟ กรณีพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนภาคประชาชนในระดับพื้นที่ อุทยานแห่งชาติออบขาน(เตรียมการ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและหาข้อเท็จจริง
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาฝ่ายตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่บ้านแม่ลานคำ และบ้านป่าคา ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งขาติออบขาน (เตรียมการ) ได้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างวันที่ 16 – 28 ต.ค. 2562 โดยเดินสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ของชุมชนตามวิถีดั้งเดิมที่จะถูกทับซ้อนจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า พบการใช้ประโยชน์ตามการเดินสำรวจร่วมกันในพื้นที่จิตวิญญาณกว่า 368 จุด กระจายรูปแบบการใช้ประโยชน์ทั้งพืชสมุนไพร เก็บหาของป่าตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์ตามวิถีชีวิตและพื้นที่พิธีกรรมทางความเชื่อบรรพบุรุษดั้งเดิม
จึงทำให้เห็นว่าข้อเท็จจริงชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยอาศัย พึ่งพิง เกื้อกูลรักษาธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน เป็นข้อเท็จจริงและข้อสรุปเหตุผลที่จะนำไปสู่การขอให้กันพื้นที่ชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งขาติออบขาน และให้ชุมชนได้บริหารจัดการที่ดินภายใต้สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยหลังจากนั้นพีมูฟได้นำข้อเสนอดังกล่าวในระดับคณะทำงานส่งไปยังรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อยืนยันตามข้อเสนอของชุมชนที่จะนำไปสู่การกันพื้นที่ออกจากการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) โดยยังคงไว้ซึ่งสถานะทางกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ไว้ดังเดิม
ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวกะเหรี่ยงวัย 75 ปี บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเรื่องการกันแนวเขตของชาวบ้านออกจากอุทยานแห่งชาติออบขาน หน่วยงานต้องดูแลคนสะเมิง ที่ผ่านมาชุมชนพึ่งตัวเอง ออกไปต่อสู้ หน่วยงานรัฐควรเข้ามาช่วยบ้าง เพราะชาวบ้านกำลังถูกละเมิดสิทธิ
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ชอบละเมิดสิทธิชาวบ้าน กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าเขาไม่เคารพวิถีของเราเลย เราเดินแนวเขตร่วมกันก็แล้ว เห็นแล้วว่าชาวบ้านทำกินอยู่จริง แต่ยังไม่ทำตามแล้วมาคุกคามเราตลอด เราไม่ค่อยสบายใจ” ตาแยะกล่าว
นอกจากนั้นยังย้ำว่า การต่อสู้ตลอด 30 ปี แต่วันนี้ก็ยังยืนยันว่าขอกันพื้นที่บ้านออกจากอุทยานฯ สิ่งที่กลัวที่สุดคือหากเป็นอุทยานฯ แล้ว จะไม่สามารถเลี้ยงวัว ควาย ในป่าได้ และกังวลเรื่องการทำกินในแบบไร่หมุนเวียนที่กฎหมายไม่ยอมรับ
“การตกอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยานฯ เราจะถูกคุกคามไปเรื่ออยๆ เราไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรกับการประกาศ การบังคับใช้กฎหมายเลย ไม่เปิดช่องอะไรให้ชาวบ้านอยู่อาศัยตามวิถีได้เลย” ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำย้ำ
สำหรับอุทยานแห่งชาติออบขาน เตรียมการประกาศตั้งแต่ปี 2537 แต่จากข้อพิพาทที่มีแนวเขตทับพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน จึงทำให้ยังคงมีการคัดค้าน และผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับพีมูฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้ยืนยันข้อเรียกร้องตามหนังสือร้องเรียน 4 ข้อ ได้แก่
1. ชุมชนขอยืนยันให้กันพื้นที่ออกจาก การเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ที่จะทับซ้อนพื้นที่ออกจากชุมชน จำนวน 24,513 ไร่ ตามข้อเท็จจริงของคณะทำงานแก้ไขปัญหาของพีมูฟ กรณีพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ในการใช้ประโยชน์ตามวิถีชีวิตของชุมชนบ้านแม่ลานคำ และบ้านป่าคา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ชุมชนได้บริหารจัดการที่ดินภายใต้หลักสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรยังคงซึ่งสถานะทางกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ไว้ดังเดิม
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้หลักการนำไปปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 และแนวทางการยกระดับรูปแบบโฉนดชุมชน
3. ชุมชนยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหารูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้ มติ ครม 1 ก.พ. 2565 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาพีมูฟ จำนวน 15 กรณี ในการยกระดับการจัดที่ดิน ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 10 (4) ในการบริหารจัดการที่ดินรูปแบบอื่นๆ ให้เกิดความชัดเจน ไม่รับเงื่อนไข แนวทางรถไฟ 5 ขบวนคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน
4. ขอให้สนับสนุนการเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ น้ำ ไฟ ถนนและคุณภาพชีวิตราษฎร ภายใต้มติ ครม. 1 ก.พ. 2565 เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาของพีมูฟ จำนวน 15 กรณี
ด้าน ณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง ได้มารับหนังสือจากชาวบ้าน และกล่าวว่า ทางอำเภอขอรับเรื่องไว้ และจะประสานงานไปยังอุทยานแห่งชาติออบขาน ขอดูรายละเอียดในหนังสือก่อนแล้วจะส่งต่อไปยังหน่วยงาน ตนเป็นประธานในที่ประชุม แต่อำนาจหน้าที่นั้นอยู่ที่อุทยานแห่งชาติออบขาน ส่วนชาวบ้านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ย้ำว่าเป็นการประชุม ไม่ใช่การชี้ขาด ต้องว่าไปตามขั้นตอน
ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...