ฟังเสียง 4 เยาวชนโวย (Voice of Youth) 

ฟังเสียง 4 เยาวชน กิ๊ฟ เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา, นิกกี้ กัณตพัฒน์ นันติ สภาเด็กและเยาวชน หยก, หยกพิมพ์มณี อุตมะ We Life มหาสารคาม และกานต์ สุภาภรณ์ บุญเรือง สันทรายน้ำหนึ่ง เชียงใหม่ ที่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ชุมชน และสังคม ก่อนจะไปพบกันใน Voice of Youth Voice of Change ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารวิสัยทัศน์ และลานจัตุรัสนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่



กิ๊ฟ ณัฐติกา พรหมพฤกษ์ จากกลุ่ม เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา ลำพูน เยาวชนที่ต้องการออกมาโวยเพราะเชื่อว่าเยาวชนมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ขณะเดียวกันการได้ทำงานกับชุมชนในการช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนและการพัฒนาสร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้การแสดงความสามารถและสิ่งที่สนใจมาทำกิจกรรมร่วมกันก็เป็นอีกการส่งเสียงที่โวยอย่างต่อเนื่อง

Q: ทำไมเยาวชนต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม?

A:  คิดว่าเราต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำเป็นพื้นฐานและเป็นเรื่องของทุกคน แต่ว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่กล้าที่จะออกมาส่งเสียงเวลาที่เขาพบกับปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เมื่อเราเสียเปรียบในเรื่องใดเราก็จะไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง อย่างในชุมชนของกิ๊ฟนั้นจะมีการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะแต่ในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่สีเขียว มันไม่เหมาะกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาแก้ปัญหานั้นไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ปัญหานี้ได้ดำเนินมาหลายปีแล้วทำให้เราไม่สามารถยอมได้ เราจึงควรที่จะออกมาส่งเสียงดีกว่า

Q: ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน ทำอะไรไปแล้วบ้าง

A: ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาชุมชน โดยเยาวชนเป็นอาสาสมัคร ลงไปศึกษา ในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีผลิตภัณฑ์ของแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้มันถูกยกระดับขึ้น จึงได้มีการลงไปฝึกทักษะการทำสื่อโฆษณาและการยกระดับผลิตภัณฑ์

ส่วนใหญ่กิจกรรมจะเป็นกิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนได้ออกแบบกันเอง ผ่านการตั้งคำถามกับสถานการณ์ในตอนนั้น เช่น ในช่วงสถานการณ์Covid-19ได้มีการทำอาหารจัดส่งให้ผู้ที่อยู่ในช่วงกักตัว ตอนนั้นเกิดความคิดที่จะทำอาหารให้ผู้ที่กักตัวและนำไปส่งให้แต่ละบ้าน พร้อมกับทำแบบสำรวจว่าในแต่ละบ้านนั้นมีผู้ที่กักตัวกี่คน ที่สำคัญคือวัตถุดิบบางส่วนได้มาจากในชุมชนเพราะในแต่ละบ้านมีการปลูกผักกันอยู่แล้วจึงมีการซื้อขายกันในชุมชน

โดยในชุมชนยังมีเด็ก ๆ ที่มีสิ่งที่ชอบและอยากทำแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาเรื่องของพื้นที่ที่จำกัด กลุ่มจึงได้มีการเสนอเรื่องการสร้าง พื้นที่กลางที่เปิดให้เยาวชนทุกคนและคนในชุมชน ได้แสดงความสามารถ​และสิ่งที่สนใจได้แล้วนำมาแบ่งปันร่วมกัน พื้นที่กลางนั้นเป็นบ้านของพี่หญิง (ผู้ประสานงานเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับดอยและยังมีสนามฟุตบอลที่มีเยาวชนมาใช้งาน ตอนแรกนั้นมีแค่สนามฟุตบอล แต่ภายหลังก็ได้นำกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาด้วย ทั้งดนตรี ทำขนม ทำอาหาร บางทีก็มีการรวมตัวกันไปเดินป่าและการหาปู

Q: ที่ผ่านมาทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?

A: อย่างแรกคือกระบวนการที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานของทีมได้ ในด้านการออกแบบกิจกรรมที่ไม่เคยทำและอยากที่จะทำ ตั้งแต่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการก็ได้ทำสิ่งอะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่อาจพบได้ที่ไหน ทำให้รับรู้ถึงพัฒนาการการทำงานของตนและสิ่งที่ทำให้การพัฒนานั้นดีขึ้นคือการแบ่งปันความคิดเห็นร่วมกัน

Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ คือ?

A: บทเรียนส่วนใหญ่ที่ได้รับมามักมาจากการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ยกตัวอย่างจากกิจกรรมหนึ่งมีวิทยากรเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ ในตอนนั้น เรายังเด็กมาก ๆ ที่ได้ฟังเขาพูด แล้วเราคิดว่าเขาตัดสินชี้นำชีวิตเรา เกิดข้อสงสัยกับเรื่องที่ได้ฟังเยอะมาก ๆ แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องที่เราจะต้องเจอในตอนนี้ เหมือนเป็นเรื่องที่เราไม่เข้าใจในตอนนั้น แต่ตอนนี้เราเข้าใจ​แล้ว แต่ก็จะเข้าใจก็มีอคติอยู่เยอะเลย ดีที่ทบทวนอย่างเท่าทัน

Q: แล้วเสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?

A: เป็นเสียงของผู้ปกครองเด็ก ๆ ในชุมชน เขาเริ่มเห็นว่ากิจกรรมที่ทำมีประโยชน์ เมื่อก่อนผู้ปกครองของเราและคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเราทำ แต่พอเขาเห็นสิ่งที่เด็ก ๆ มีส่วนร่วมกับชุมชน จากที่ผู้ปกครองไม่เคยเข้าใจก็เริ่มเปิดใจและมาร่วมกิจกรรมด้วย กิจกรรมที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่สามารถชักชวนคนในชุมชนมาได้และหลัง ๆ เริ่มมีผู้ปกครองมาด้วย นี่คือเสียงที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

Q: เชิญชวนคนมีร่วมงาน ‘Voice of Youth Voice of Change เสียงที่เปลี่ยน’

A: อยากเชิญชวนทุกคนลองเข้ามาที่งานนี้ มาทำความรู้จักกับเครือข่ายโวย มาทำความรู้จักกับพื้นที่ต่างๆ เพราะมันมีความแตกต่างที่พิเศษ เป็นที่ที่น่าสนใจ มาเจอกันค่ะ




นิกกี้ กัณตพัฒน์ นันติ เยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน อบต.เขื่อนผาก เชียงใหม่ ที่เห็นมองปัญหา และต้องการออกมาโวยและให้ความหมายแก่เยาวชนว่าทุกเสียงมีความหมายและสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็กกับผู้ใหญ่

Q: ทำไมเยาวชนถึงต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและก็สังคม?

A: เสียงของเยาวชนทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสังคมยุคสมัยนี้ อย่างเช่นเยาวชนเป็นกระบอกเสียงในเรื่องการป้องกันCovid-19 เราใช้เสียงของเยาวชน เป็นเครื่องกระจายเสียงเพื่อให้ทุกชุมชนได้องค์ความรู้ที่มันมากขึ้น และได้แนวทางการป้องกันที่ถูกต้องครับ

กิจกรรมของเราเช่นการออกไปตามตลาดที่มีคนในชุมชนอยู่และแจกผ้าแมสก์ แจกเจลแอลกอฮอล์ และทางเราก็ได้ทำเวทีสาธารณะ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องCovid-19เนี่ยมีวิธีแก้ไขยังไงอย่างงี้ครับ

อย่างในชุมชนที่อยู่ห่างไกลเมืองเนี่ย การเข้าถึงข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากเลย เราจึงอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ทำให้คนในชุมชนได้รับข่าวที่มันจริง เท่าทันสื่อแบบนี้ครับ

Q: ตลอดสามปีที่ผ่านมา สภาเด็กและเยาวชนทางเขื่อนผาก ทำอะไรไปแล้วบ้าง

A: ในช่วงปีแรกเขื่อนผากได้ทำในเรื่องของ If you Know I Know หรือว่าฮักต่างวัย ที่ทำให้เด็กและเยาวชนและคนในสังคมและคนในชุมชน ลดช่องว่างระหว่างวัยลง ซึ่งประกอบด้วยสามหน่วย หนึ่งคือเด็ก ลดช่องว่างเด็กด้วยกันเอง สองลดช่องว่างระหว่างคนในชุมชน ทำกับสองกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุและสตรีแม่บ้าน ซึ่งกิจกรรมแรกคือจะเอาเด็กในสภาไปเข้าค่ายเพื่อปรับจูน และให้ทางกลุ่มของเราได้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ก่อนจะไปลดช่องว่างระหว่างวัยเราต้องลดช่องว่างกลุ่มของตัวเองก่อน แล้วกิจกรรมที่สองพอเราลดช่องว่างระหว่างเด็กกับเด็กในกลุ่มของเรา ก็นำเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมที่หนึ่ง มาลดช่องว่างระหว่างวัยกับคนในชุมชน ก็นำผู้สูงอายุกับสตรีแม่บ้านมาร่วมเข้าค่าย พอเสร็จกิจกรรมก็ตั้งศูนย์ประสานงาน เกิดจากการที่เราได้ขอทางชุมชนช่วยจัดตั้งพื้นที่สำหรับเด็กให้หน่อย ศูนย์ประสานงานเป็นผลพลอยได้ที่เราทำการลดช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ช่วยให้เด็กกล้าพูดกับผู้ใหญ่มากขึ้น ณ ตอนนี้เขาอยากมีศูนย์ประสานงานของเขาและที่รวมตัว และเอาเด็กไปขอของคนในชุมชนที่ไม่ได้ใช่แล้ว เช่น กระเบื้อง สังกะสี หลังคา แผ่นป้าย ฝาผนัง เสาร้าง มันเลยเกิดเป็นศูนย์ประสานงานเด็ก เกิดจากสิ่งของเหลือใช้ในชุมชน ที่เด็กและผู้ใหญ่ร่วมด้วยช่วยกัน พอในปีที่สอง เราก็คิดละว่าเรามีศูนย์ประสานงานเด็กแล้ว เราจะทำยังไงให้ให้เด็กที่ไม่ใช่กลุ่มของเราเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เราก็หารือกับเด็กให้คนในชุมชนได้เข้ามาใช้ เด็กเลยเสนอว่าคาเฟ่มันเป็นเทรนด์อยู่ จึงทำคาเฟ่ขึ้นมา และคาเฟ่นี่ถูกบริหารโดยเด็กในกลุ่มของเราและมีคนในชุมชนเป็นผู้ให้ความรู้ เลยเกิดมาเป็นลานสตอรี่คาเฟ่ เป็นศูนย์ฝึกทักษะอาชีพของสภาเด็ก ปีที่สองมุ่งเน้นไปที่ทักษะอาชีพ พอเรามีทักษะอาชีพ ก็นำเด็กที่อยู่ในกลุ่มในฝึกเป็นบาริสต้า ฝึกชงกาแฟ การบริการ สร้างรายได้ให้กับเด็ก เรียกว่าใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วย พอมีสตอรี่คาเฟ่ เราจะมีอีกนวัตกรรมพ่วงมาเรียกว่าเด็กช่วยซ่อม จะเป็นเป็นเครือข่ายสตอรี่คาเฟ่ เกี่ยวกับเราได้นำกลุ่มเด็กแว้นมาร่วมทำกิจกรรมกับเรา เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้การขับรถของเขาให้เกิดประโยชน์ที่สุด ก็เลยคุยกับเด็กของเราที่เป็นหนึ่งในสมาชิกเด็กแว้น แล้วให้เขาและชักชวนกลุ่มของเขา ตกมาวันสองวันเขาอยากมาทำกิจกรรมของเรา เราเลยเรียกเขามาประชุมเพื่อมาพูดคุย เราจะทำเป็นเด็กแว้นซ่อมรถเดลิเวอรี่ รถเสียก็ให้โทรไปให้เด็กแว้นไปบริการถึงที่ โดยเราจะฝึกทักษะเบื้องต้น เช่นปะยาง ซ่อมเครื่องเบื้องต้น เป็นธีมทักษะอาชีพในปีที่สอง ปีที่สามทำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ขยายพื้นที่ บอร์ดเกม ทำสามเรื่องนี้ เพราะเทรนด์ในปีนี้ความเท่าเทียมทางเพศมาแรง คนในชุมชนมีคนที่สนใจ โดยต้นทุนในชุมชนของเรามีกลุ่มที่ชื่อว่าดอกเอื้องเมืองพร้าว เป็นกลุ่ม lGBTQ+  ที่จะรวมตัวกันไปจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมล้านนา ตามงานวัดที่เขาถูกเชิญไป เราเลยเชิญมาร่วมงานกับเราภายใต้ความคอนเซปต์เท่าเทียมทางเพศ เขื่อนผากขยับขยายพื้นที่การทำงาน จากเด็กและเยาวชนชนตำบลเขื่อนผาก ไปนอกพื้นที่ นำพื้นที่ใกล้ๆมาเป็นภาคีเครือข่าย อีกหนึ่งทำเรื่องของบอร์ดเกม ทำอยู่สามอัน บอร์ดเกมส์อันที่หนึ่งคือ pick me up ฝึกในเรื่องของเชื่อมโยงรูปภาพ ฝึกประสาท บอร์ดเกมที่สอง How do you feel ได้เห็นมุมมองต่างๆ ได้ทราบความคิดความอ่านของผู้เล่นด้วยกัน จะมีคำถามโยนไปในกลุ่ม เช่นรู้สึกอย่างไรกับน้องชายของคุณ ที่ใส่ส้นสูง เราก็จะได้ฟังความคิดเห็นของผู้เล่นแต่ละคน และเกมนี้จะตอบโจทย์ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย สุดท้ายชื่อเกมส์ ตะลุยเขื่อนผาก จะทำให้ได้รู้ว่าต้นทุนในชุมชนมีอะไรบ้าง ของในชุมชนมีอะไรบ้างผ่านตัวบอร์ดเกมนี้

Q: แล้วที่ผ่านทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง? 

A: โวยให้โอกาสกับพวกเรา ให้ในเรื่องเด็กที่ห่างไกลจากเมืองได้ทำกิจกรรม โวยเป็นเครือข่ายที่เห็นและหยิบยื่นโอกาสให้เด็กกลุ่มที่ห่างไกลจากเมืองได้พัฒนาสังคมและเมืองตัวเอง และให้โอกาสคนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โวยให้โอกาสกลุ่มคนในชุมชนผู้สูงอายุและสตรีในชุมชนได้ทำกิจกรรมและขับเคลื่อนไปกับเด็ก แล้วโวยให้ทักษะพี่เลี้ยงทักษะแกนนำ ในโวยแต่ละปีจะมีการจัดอบรม มีองค์ความรู้เยอะแยะมากมาย

Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?

A: น่าจะเป็นเรื่องที่เราเปลี่ยนพลิกผันโครงการอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์บ้านเมืองที่เดี๋ยวให้จัดได้เดี๋ยวก็จัดไม่ได้ ว้าวสุดในเรื่องของสถานการณ์บ้านที่เราต้องคอยหากลวิธีที่จะก้าวข้ามผ่านปัญหามันไปให้ได้

Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร ?

A: เราคิดว่า คนที่ทำให้เสียงเปลี่ยนคือเราเอง เราเป็นคนส่งเสียงเพื่อทำให้เสียงเรากลายเป็นสาร ให้ผู้คนได้รู้ว่าสารที่เราต้องการสื่อ มันจะไปเปลี่ยนอะไรมากกว่า คนที่ฟังเสียงของเราเหมือนเป็นคนสาธารณะ คนที่เราอยากจะต้องการให้เขาได้รับฟัง ถ้าเป็นในชุมชนของเรา เสียงที่เราอยากส่งไปที่สุดคือผู้นำชุมชน มีนายกและก็คนที่กำลังคิดว่าเด็กมันจะมาทำทำไม

Q:  เชิญชวนคนมีร่วมงาน ‘Voice of Youth Voice of Change เสียงที่เปลี่ยน’

A: อยากจะเชิญชวนให้มาร่วมงาน ร่วมรับชม รับฟัง และแสดงออกความคิดเห็น เพราะว่าการที่สังคมจะเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไปข้างหน้าได้มันไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่งหรือเสียงใดเสียงหนึ่ง เพราะว่าการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิทธิและอยู่ในมือของทุกคน เราเป็นแค่ตัวช่วยกระตุ้นในการใช้สิทธินั้นเอาออกมาใช้เฉยๆ เชื่อว่าทุกคนเป็นเสียงที่สำคัญและเป็นเสียงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าโลกที่เปลี่ยนไปจะน่าอยู่สมกับความเปลี่ยนแปลงที่หวังไว้ จะได้เจอความสนุกสนานของกิจกรรมแต่ละบูธ อย่างบูธของเขื่อนผาก จะได้ลองเล่นสามบอร์ดเกมส์ที่เขื่อนผากได้คิดมา และชื่อบูธของเรามีชื่อว่าบูธสวนสนุกบอร์ดเกมส์ ถ้าอยากรู้ว่าสวนสนุกบอร์ดเกมเขื่อนผากเป็นอย่างไรจัดในรูปแบบไหน ก็สามารถเข้ามาร่วมเล่น ร่วมกิจกรรม โดยบูธเรามีชื่อว่าสวนสนุกเขื่อนผาก อยากให้ทุกคนได้ลองมาเล่นกัน จะได้รู้ว่าเขื่อนผากมีอะไรมากกว่าที่คิด




หยก หยกพิมพ์มณี อุตมะ จากกลุ่ม We-Life มหาสารคาม ออกมาโวยเพื่อเสียงที่เปลี่ยนของเด็กเยาวชน ทลายกรอบความคิด สร้างพื้นที่ของการแสดงออกและการมีบทบาทของเยาวชน สร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างเยาวชนและผู้ที่แตกต่างทางความคิดและพื้นที่ตำบล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคงของชุมชน

Q: ทำไมเยาวชนถึงต้องออกมาส่งเสียงในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคมครับ?

A: เท่าที่เห็นในชุมชนหรือว่าสถาบันครอบครัว บทบาทของเยาวชนจะน้อยมาก พื้นที่ที่จะให้บทบาทเยาวชนมันน้อยมาก ส่วนมากจะมองแค่ว่าเป็นเด็กยังไม่ได้มีความเชื่อมั่นว่าน้องจะพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงชุมชนได้

อย่างเช่นของชุมชนเท่าที่หนูทำ เห็นกิจกรรมที่เราชวนเด็กออกมา ชวนคิดชวนอ่าน มุมมองของน้อง ๆ ในพื้นที่ในโรงเรียนไม่มีการทำกิจกรรมที่ออกแนวการมีส่วนร่วม ส่วนมากจะเป็นกรอบที่อาจารย์หรือเพื่อนๆ ครูผู้ปกครองวางไว้ให้ เวลาที่น้อง ๆ ออกมาทำกิจกรรมกับเราน้องจะรู้สึกเป็นอิสระ เวลาที่เขาส่งเสียงจะบอกจะพูดอะไร มีคนรับฟังมากกว่าในโรงเรียนหรือกรอบที่เขาเป็นกันอยู่

Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา We-Life ทำอะไรไปแล้วบ้าง?  

A: เห็นในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในชุมชน และก็เสริมเติมความรู้ทักษะต่างๆให้กับเยาวชน แล้วก็มีเรื่องของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน การจัดการขยะในชุมชน มีเรื่องสื่อ แล้วก็กรอบของแนวคิด เห็นประมาณว่าเชิงโครงสร้างของสังคมด้วยค่ะ

ของปีแรกพัฒนาในทักษะความอยากลองอยากรู้เพราะว่าโครงการของเกษตรเขาเข้ามาแบบอยากลองอยากทำ แล้วโครงการเสียงเยาวชนได้เข้าไปเติมเต็มทักษะการทำเกษตร การทำน้ำหมัก การปรุงดิน แล้วหาคนที่มีใจอยากจะทำเกษตรมาร่วมกันออกแบบกิจกรรมร่วมกัน ส่วนปีที่สองเป็นเรื่องของการพัฒนาในเรื่องของการตลาด แล้วก็แพ็คเกจ แล้วก็ทำเพจให้กับกลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์ ในปีที่สามพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วก็มีจุดวางจำหน่ายของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของในชุมชน งานฝีมือของผู้สูงอายุ หรือว่าจะเป็นเกษตรพืชผักปลอดสารอินทรีย์ จะมีจุดศูนย์รวมของสินค้าที่เป็นแหล่ง

เรื่องการจัดการขยะในชุมชน เราสร้างการมีส่วนร่วมโดยการหาแกนนำหลักที่เป็นคนจัดการขยะในชุมชนอยู่แล้ว มาถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้เรียนรู้ ในเรื่องการจัดการขยะเปียก การแยกขยะ รวมไปถึงพาไปศึกษาดูงานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย เพื่อเป็นไอเดียให้กลับมาใช้ในชุมชน

Q: แล้วที่ผ่านทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง?

A: ก็จะเป็นการได้เจอกับเพื่อน ๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มต่าง ๆ เวลาได้เข้าไปมีเวทีตรงกลางแบบรวมเพื่อน ๆ หลายๆ พื้นที่ แล้วก็จะมีเทคนิคการจัดกระบวนการมาแชร์กัน ไอเดียในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกับเรา ก็มีไอเดียมาแชร์กัน แล้วก็จะเป็นเวทีตรงกลางในเรื่องของการเพิ่มเรียนรู้ในเรื่องของเพศ เรื่องอำนาจและโครงสร้างวัฒนธรรมของสังคม

Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?

A: หนูก็เจอบทเรียนในเรื่องของการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีวัยต่างกัน ความคิดความอ่านไม่เหมือนกัน  การเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจ รวมถึงการประสานงานกับน้อง ๆ การติดต่อกันในสามตำบลเขาจะมีอะไรที่มาแชร์กันในเวทีที่จัดขึ้น ก็จะเห็นความสดใสของเด็ก ๆ เพราะว่าเหมือนกับแต่ละตำบลที่เวลาที่มาเจอกัน เขาอยากจะมาอีก จะจัดอีกเมื่อไหร่ แล้วจะเห็นมุมของน้อง ๆ บางอย่างที่เราละเลยไปแบบไม่ได้ให้เขามีบทบาท เวลาที่ทำกิจกรรมและแสดงออกก็ได้เห็นว่าน้อง ๆ ก็มีมุมแบบนี้ และลองคิดย้อนว่าตอนที่เราเป็นเด็กเวลาทำกิจกรรมเราได้คิดอะไรอย่างงี้ไหม บางมุมก็ว้าวในความคิดของน้อง ๆ 

อย่างเรื่องเพศ เขาก็สามารถพูดกับครอบครัวได้มากขึ้นเรื่องเพศ จากที่ครอบครัวไม่พูดกันรู้ ความรู้สึกว่าเรื่องเพศไม่ใช่น่าอายต่อไป

Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร ?

A: ในมุมของหยกคือเสียงของเยาวชนเอง อย่างเช่นตัวหนูที่เลือกมาทำงานในชุมชน ในชุมชนหนูมีความคิดว่าเรียนจบแล้วไปทำงานต่างจังหวัด แล้วก็ส่งเงินมาให้ทางบ้าน แต่ว่าสิ่งที่หนูเลือกที่จะทำคืออยู่กับชุมชน แล้วยิ่งมาทำเกษตรอีก เขาก็จะเกิดความถามว่าทำไมไม่ไปทำงานข้างนอก เกษตรมันจะเลี้ยงชีพได้เหรอ มันจะจุนเจือครอบครัวได้จริงเหรอ แต่สิ่งที่เราสูญเสียไปมันไม่ใช่เรื่องของรายได้ มันเรื่องของความสุขของตัวเอง แล้วก็ในการอยู่กับครอบครัว ในสิ่งที่เขาเห็นคือในการทำผลผลิตอินทรีย์เขาขายกันก็จะขายตามตลาด หรือว่าหน้าบ้าน แต่ว่าสิ่งที่เราทำด้วยความที่ความเป็นคนรุ่นใหม่มันจะมีเทคโนโลยีวิธีการส่งของเปลี่ยนไป ชุมชนก็เปลี่ยนด้วย

Q: เชิญชวนคนมาร่วมงาน ‘Voice of Youth Voice of Change เสียงที่เปลี่ยน’ หน่อย?

A: ชวนมาร่วมงาน voice of youth voice of change จะได้เห็นเสียงของเยาวชนที่ไปออกบูธหรือออกอีเว้นท์ครั้งนี้ ได้มาแสดงศักยภาพและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่เขาประสบผ่านพบเจอมาแล้ว มาแชร์กันมาร่วมสนุกไปด้วยกัน ส่วนของ We-Life จะเจอกิจกรรม และสินค้าพวก ผ้ามัดย้อม สมุดบันทึก ปกทำจากผ้าEco print สบู่ ผลิตภัณฑ์จากชุมชน พรมเช็ดเท้าแล้วก็ตระกร้าสาน มาเจอกันค่ะ




กานต์  สุภาภรณ์ บุญเรือง เยาวชนจากกลุ่มสันทรายน้ำหนึ่ง เชียงใหม่ ออกมาโวยเพื่อเสียงที่เปลี่ยน เมื่อเสียงของเยาวชนเด็กไม่สามารถที่จะระบายให้ใครฟังได้ ประกอบกับผู้ใหญ่ไม่รับฟังเด็ก และเพื่อให้เยาวชนนั้นมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจต่อตัวเอง สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการทำให้รู้ว่าเด็กหรือเยาวชนก็มีความสามารถและศักยภาพที่จะทำสิ่งต่างๆ และมีความสบายใจในการพูดคุยกับผู้ใหญ่ และสามารถเปิดเผยความต้องการของตนเองได้อย่างแท้จริง

Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง?

A: ช่วงปีแรกนั้น เป็นช่วง Covid-19 ระบาด ดังนั้นโครงการแรกที่ได้กระทำคือในเรื่องของโควิด  ตลอดระยะเวลาในการทำกิจกรรม ได้ลงกิจกรรมชุมชนจาก 17 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลสันทราย และได้วางแผนการทำงานกับทางผู้ใหญ่ใจดี ผู้ใหญ่ใจดีคือชื่อของกลุ่มผู้ใหญ่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากคุณหมอจากที่อ.ฝาง เพื่อพัฒนาบอร์ดเกมส์ชื่อ Search บอร์ดเกมที่กลุ่มสันทรายน้ำหนึ่งและศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ Chiangmai Creative for Development Center คิดค้นขึ้นมาเพื่อมาใช้ในการทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเรื่องของสภาพจิตใจหรือซึมเศร้าค่ะ

Q: แล้วที่ผ่านทางโครงการโวย สนับสนุนอะไรให้พวกเราบ้าง? 

A: โวยได้สนับสนุนคำแนะนำต่างๆ เช่นเรื่องบอร์ดเกม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ อีกด้วย มันช่วยให้พวกเราเติบโตขึ้น มันทำให้เราเห็นว่าพลังในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเยาวชน ผู้ใหญ่ และชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ

Q: บทเรียนสำคัญตลอด 3 ปีที่ว้าวมาก ๆ ของเราคืออะไร?

A: อยากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวกานต์เองนี่แหละ ในช่วงก่อนจะมาทำโครงการ ตัวกานต์ไม่ค่อยกล้าพูด กล้าทำหรือกล้าตัดสินใจอะไร แต่พอได้เข้ามาร่วมกับแกนนำเยาวชน ก็กล้าคิดกล้าทำ กล้าตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ และปีที่สองกานต์ก็ได้มาเป็นประธานเยาวชน ซึ่งตำแหน่งนี้ท้าทายกานต์ ได้เป็นผู้นำในหลายด้าน และนำเล่นเกมส์ด้วย

อย่างโครงการที่ได้ทำก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างน้องที่รู้จักคนนึง ที่ตอนทำกิจกรรม ไม่กล้าพูด แต่ว่าพอได้เข้าร่วมโครงการก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเด็กที่ร่าเริง และสามารถพูดคุยอย่างเปิดเผยต่อผู้อื่นได้ ซึ่งกานต์คิดว่าอาจจะเป็นเพราะการเห็นแบบอย่างที่แสดงออกและรับฟังปัญหาของผู้อื่นอย่างจริงใจ

Q: เสียงที่เปลี่ยนคือเสียงของใคร และเปลี่ยนอะไร?

A: คือเสียงของเยาวชน เมื่อก่อนเด็กไม่สามารถที่จะระบายให้ใครฟังได้ ประกอบกับผู้ใหญ่ไม่รับฟังเด็ก ดูถูกเด็กว่ายังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่เมื่อพวกเราได้มาลงมือทำงาน สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการทำให้รู้ว่าเด็กหรือเยาวชนก็ความสามารถและศักยภาพที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และมีความสบายใจในการพูดคุยกับผู้ใหญ่ได้

Q: เชิญชวนคนมีร่วมงาน ‘Voice of Youth Voice of Change เสียงที่เปลี่ยน’ หน่อย

A: ชวนทุกคนมาเจอกันนะ พวกเรามีบอร์ดเกมส์ Search และมีบูธกิจกรรมแก๊งตัวป่วนทั้งเจ็ด แต่ขออุบไว้ก่อนเพราะเดี๋ยวไม่เซอร์ไพรซ์ ฮ่า ๆ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง