เชียงใหม่ก็แค่ปากซอย คุยกับ นก-นภัสสร บุญรีย์ ประชาชนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง เพื่อให้ ‘อานนท์ นำภา’ ได้ใจชื้นสักนิดก็ยังดี

“ในเมื่อบ้านเมืองเราไม่มีความยุติธรรม เรารู้เราเห็น แต่เราอย่าหลับหูหลับตา อะไรที่สามารถช่วยกันได้ก็ออกมาช่วยกัน ออกมาส่งเสียง ถึงจะเป็นเสียงเล็ก ๆ ก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย ถามว่าจะดีขึ้นไหมบ้านเมือง ก็อาจจะไม่ดีขึ้นหรอก แต่เราก็ต้องทำ ถึงจะเป็นกลุ่มเล็กเสียงน้อย เราก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้คนมาหลงลืมว่า อานนท์และคนอื่นเขาโดนขังอยู่”

เสียงของ นก-นภัสสร บุญรีย์ หนึ่งในประชาชนที่มาให้กำลังใจ ‘อานนท์ นำภา’ ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในการสืบพยานในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 9-10 มกราคม 2567 ซึ่งอานนท์เดินทางมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังเรือนจำกลางเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 5 มกราคม โดยรถตู้ของราชทัณฑ์ พร้อมกับผู้ต้องขังอีกหนึ่งราย ขณะเดินทางมีการใส่โซ่ข้อเท้าไว้ด้วย ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะเลื่อนสืบพยานคดี โดยอ้างเหตุว่าศาลยังไม่ออกหมายเรียกพยาน มีผลทำให้วันที่ 10 มกราคม ต้องถูกยกเลิก และส่งตัวอานนท์ กลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

ทั้งนี้อานนท์ได้ฝากข้อความถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์และครอบครัวว่า “อยากให้ทุกคนเข้มแข็ง การต่อสู้ยังไม่ถึงครึ่งทาง แต่จำนวนคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา และคิดว่าอีกเดือนสองเดือนนี้จะได้ออกจากเรือนจำ อยู่ปีใหม่ในคุกมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้น้ำหนักตัวลดลงไปเกือบ 10 กิโลกรัมแล้ว”

นกเป็นหนึ่งในประชาชนร่วม 20 ชีวิตที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางกว่า 674 กิโลเมตรด้วยรถไฟเพื่อมาส่งกำลังใจให้ เพียงแค่จุดประสงค์เดียวเท่านั้น

นก เล่าว่าตนเป็นคนอุบลราชธานีแต่เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ มากว่า 30 ปี ร่วมต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมไทยมาตั้งแต่ช่วง พฤษภาปี 35 ด้วยความบังเอิญ มาจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ก็จะออกมาต้านรัฐประหาร และทหารทุกครั้งไป 

นอกจากความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ นกรู้จักอานนท์ ในฐานะทนายความที่คอยช่วยเหลือว่าความให้ลูกความที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในวิกฤตสีเสื้อทางการเมืองช่วงปี 2549-2553 จนกระทั่งการลุกหือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 ที่เปิดเพดานสังคมไทย และเอื้อนเอ่ยว่าประเทศไทยไม่มีวันเหมือนดังเดิม

‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและ มอกะเสด จัดกิจกรรมปราศัยโดยใจความสำคัญคือการปกปักรักษาประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดจาก รวมไปถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใคร วันนั้นถือเป็นวันเปิดเพดานระลอกแรก โดยอานนท์ ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้นกกับอานนท์ได้รู้จักกันมากขึ้น ผ่านการเจอะเจอกันตามม็อบที่พ่วงมาด้วยบทสนทนาที่มากมายจนสนิทสนม

แม้ว่าอานนท์จะถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ แต่นกและเพื่อน ๆ ก็มีโอกาสได้เจอกันบ้างตอนขึ้นศาล พอรู้ว่าจะต้องมาเชียงใหม่ อานนท์มาจับมือตนและกล่าวเป็นว่า “ไปไหม ไปเนาะๆ” แน่นอนว่าตัดสินใจได้ทันทีว่าไปเชียงใหม่แน่นอน

“เราก็มองหน้าเพื่อนๆ เพื่อนก็พยักหน้าเห็นด้วยตอนแรกที่จะมากันไม่ถึง 10 คน”

หลังจากเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากว่า 1 เดือน นกและกลุ่มเพื่อน ๆ ก็ได้คิดแคมเปญในการจัดกิจกรรมระหว่างเส้นทางรถไฟ เพื่อให้เพื่อนคนอื่น ๆ สนใจและติดตามขึ้นมาถึงจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 20 ชีวิต

“พอเป็นรถไฟชั้นสามมันก็ร้อนอ่ะเนาะ คนที่มาก็อายุ 60 กันทั้งนั้นมันก็จะเมื่อยนิดหน่อย” 

“บางคนก็มาซื้อตั๋วหน้าสถานีเลยนะ ตอนขึ้นรถไฟ เวลาถึงสถานีใหญ่ ๆ พวกเราก็ถือป้ายรูปอานนท์และนักโทษทางการเมืองคนอื่น ๆ ก็จะตะโกนว่ารู้จัก อานนท์ นำภา ไหมคะ เป็นทนายน้ำดีนะคะ เป็นคนดีคนเก่ง แต่คนดีอยู่ยาก พูดความจริงแต่ต้องติดคุก บางคนเขารู้จักเขาก็ชูสามนิ้วให้”

“อานนท์อยู่ในคุก เรามาเยี่ยมเขาไม่นาน เราก็ไปลั้นลาได้ แต่อานนท์เขาจะได้เห็นพวกเราเฉพาะตอนมาศาล ถ้าเขาอยู่ในเรือนจำเราก็ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ เพราะเขาสงวนคนเยี่ยมไว้ 10 คน ญาติและเพื่อนฝูงก็เกินแล้ว วันไหนที่ว่างหรือทำตัวให้ว่าง เราก็พยายามมา อานนท์เขาจะได้เห็นมวลชน ใครที่พอมีเวลาว่าง เวลาอานนท์หรือเด็กๆ คนอื่นๆ ขึ้นศาลมากันหน่อย อย่างน้อยๆ 3-4 คนก็มีกำลังใจแล้ว”

“เราไปเห็นกันเจอกันจับมือกันกอดกัน ศาลที่กรุงเทพฯ เรากอดกันได้ จับมือกันได้ ไม่เหมือนที่นี่ (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) เข้มงวด มวลชนก็ไม่มีอะไร แค่มาให้กำลังใจ ยิ่งคุณพยายามป้องกัน มวลชนก็ยิ่งต่อต้าน”

นก กล่าวหลังจากการต้อนรับอย่างไม่เป็นมิตรของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการนำกำลังพลเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนกว่า 100 คน จัดกำลังดูแลพื้นที่รอบศาลจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงบริเวณห้องพิจารณาคดีของอานนท์ยังมีการนำแผงเหล็กมากั้นพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นายมาเฝ้าดูแลการเข้า-ออกของห้องพิจารณาคดี

นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ตัวแทนของฝั่งโจทย์และจำเลยเพียงฝั่งละ 5 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในห้องดังกล่าวได้ เนื่องจากห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็ก และศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังไม่มีการพิจารณาให้มีการห้องพิจารณารับรองขนาดใหญ่ได้ 

ทำให้นก เพื่อน ๆ สื่อมวลชนและประชาชนอีกกว่า 30 ชีวิต ต้องรออยู่ภายนอก และไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับอานนท์ได้ ทั้ง ๆ ที่ในวันนั้นเองไม่ได้มีผู้เข้าฟังการพิจารณาจากฝั่งโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลื่อนสืบพยานไปในวันที่ 9-11 เมษายน 2567 ทำให้ในห้องพิจารณายังเหลือที่นั่งว่าง 

“ไม่ต้องกลัวประชาชน เราแค่มาฟัง น่าจะมีห้องใหญ่ ๆ รับรองเผื่อประชาชนเข้ามารับฟังคดี ในเมื่อศาลมีความยุติธรรม อย่ามาโกหก คุณบอกว่าให้เจออานนท์ข้างหลังศาลก่อนขึ้นรถ แต่พอถึงรถคุณรีบเอาอานนท์ขึ้นรถเลย”” 

หลังจากการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้อนุญาตให้ประชาชน 2-3 คนเข้าไปพูดคุยกับอานนท์ ก่อนที่จะส่งนำตัวออกจากห้องพิจารณาคดีและนำตัวขึ้นรถของเรือนจำกลับไปยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ทันที ทำให้ประชาชนกว่า 30 ชีวิตรวมถึงนกไม่ได้พูดคุยกับอานนท์ตามที่คาดหวัง

แต่กำลังใจที่เดินทางมากว่า 674 กิโลเมตรก็ไม่ได้หมดความหมาย ถึงแม้จะไม่ได้พูดคุยกับอานนท์อย่างที่ป้านกคาดหวัง แต่ระหว่างที่รถที่คุมขังอานนท์กำลังจะเคลื่อนออกไป อานนท์ได้ชูสามนิ้วให้กับป้านกและประชาชนที่มาให้กำลังใจแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่วินาที แต่มีค่าพอที่จะทำให้คนข้างนอกอย่างนกและคนอื่นเบาใจขึ้น ยิ้มละไมได้บ้าง

“เวลาขึ้นศาลจะเห็นแต่ป้าๆ ลุงๆ 10 คน 20 คน เขาบอกว่าเห็นแค่นี้ก็ชื่นใจ ไฟในการต่อสู้ก็ยังมีไม่ได้ดับมอดไป” ป้านกกล่าวทิ้งท้าย

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง