ดี เอ็น เอ (DNA) และการศึกษาประวัติศาสตร์คนไท

เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

(ภาพจากหนังสือ A Pictorial Journey on the Old Mekong Cambodia Laos and Yunnan. White Lotus Press, 1998 แสดงให้เห็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายบริเวณสองฝั่งโขงในพิธีกรรมแม่น้ำโขง)

เนื้อหาการบรรยายครั้งนี้จากโครงการบรรยายพิเศษระดับปริญญาตรีครั้งที่ 1 จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2566 หัวข้อการบรรยายครั้งนี้คือ ดี เอ็น เอ (DNA) และการศึกษาประวัติศาสตร์คนไท โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

(ภาพ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ก่อนเข้าสู่เรื่องเกี่ยวกับคนไต-ไท และการศึกษา DNA ควรอธิบายก่อนว่ามนุษย์มาจากไหน ช่วงก่อนมาถึงมนุษย์สมัยใหม่ในปัจจุบันมนุษย์ถูกจัดอยู่ในประเภท Homo-Sapiens มีต้นกำเนิดอยู่แถบทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานจากฟอสซิลและหลักฐานจาก DNA จากหลักฐานทั้งสองอย่างนี้มีความสอดคล้องกัน แต่ในปัจจุบันสปีชีส์ของมนุษย์ต่างจากยุคก่อนหรือในปัจจุบันเรียกว่ามุษย์สมัยใหม่ ในประเทศไทย DNA ที่เก่าที่สุดและคาดว่าสืบเชื้อสายมาจากทวีปแอฟริกาคือกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งยังคง DNA แบบดั่งเดิมไว้ การศึกษาพันธุศาสตร์มีลักษณะการแสดงออก 3 อย่างคือ 1 ผมหยิก 2 ผิวดำ 3 ความสูงไม่มากนัก เป็นลักษณะที่พบได้ทั้วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือในหมู่เกาะอันดามัน จึงสันนิฐานได้ว่าเป็นกลุ่มแรกที่ยังคง DNA โบราณไว้อยู่ แล้วสืบเชื้อสายออกจากแอฟริกาเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบการดำรงชีวิตคือการทำเกษตรกรรมแบบเก็บของป่าล่าสัตว์

การอพยพของกลุ่มไต-ไทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คนกลุ่มไต-ไท เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล Austroasiatic สันนิฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากจีนตอนใต้ กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นบริเวณกว้าง ในยูนนาน กว่างตุ้ง และกว่างซี หรืออาจเลยไปถึงมณฑลกุ้ยโจวทางใต้ของแม่น้ำแยงซี มีบางกลุ่มอพยพลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนจีน-ไดเวียต เมื่อราชวงศ์ลี่ของไดเวียตมีการควบคุมกลุ่มคนไทจนเกิดการต่อต้านขึ้น คนไทส่วนหนึ่งได้อพยพไปทางตะวันตกและกระจายกันไปในทิศทางต่างๆในบริเวณชายแดนจีน เวียดนาม ลาว และพม่า ซึ่งชี้ชัดว่ามีกลุ่มคนไทเข้าไปตั้งชุมชนหรือเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ กลุ่มที่อพยพตามลําน้ำโขงและน้ำอู และมีคนไทในบริเวณภาคเหนือของพม่าและในยูนนานได้อพยพเข้าตั้งถิ่นฐาน ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) แม่น้ำเขียว (แม่น้ำอิรวดี) แม่น้ำมาว (แม่น้ำชเวลี) และสาขาของแม่น้ำเหล่านี้ คนไทในรัฐชานของพม่าเรียกตนเองว่า ไทใหญ่ ในขณะเดียวกันมีการอพยพของกลุ่มคนไทอาณาจักรอาณาจักรลาวบริเวณตะวันตกเฉียงใตของยูนนานลงมายังภาคเหนือของประเทศลาว[2]

สาเหตุการอพยพคือการเสื่อมอํานาจลงของอาณาจักรยูนนานเมื่อ ค.ศ. 902 และการกอตั้งอาณาจักรพุกามแทนที่อาณาจักรศรีเกษตรในดินแดนพม่า ภาพที่โดดเดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใตตอนบน คือ การอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทจากยูนหนานและภาคเหนือของเวียดนามลงสู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง สังคมไต-ไทสามารถขยายตัวออกไปด้วยการขยายเครือขายวงศญาติซึ่งถูกส่งออกไปสร้างบ้านแปงเมืองหรือชุมชนใหม่ รัฐไต-ไทช่วงแรกเริ่มเกิดการจําลองรูปแบบการปกครองมาจากหมู่บ้านกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป คนไต-ไทแต่ละกลุ่มอาจมีมากในลุ่มแมน้ำบางแห่ง ปลายคริสตศตวรรษที่ 13 ได้มีชุมชนไต-ไทอยู่หลายแห่งซึ่งปรากฏคําวา เมิ่ง / เมือง เมื่อราชวงศ์หยวนเริ่มเสื่อมอํานาจลงในประเทศจีน และบรรดาชุมชนไต-ไทในยูนนานไม่ทนต่อการขูดรีดของข้าราชการฝ่ายปกครองของจีน จึงมีการสถาปนาอำนาจของกลุ่มคนไทในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน[3]  ส่วนรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนกลุ่มไต-ไท คือการทำเกษตรกรรมแบบเพาะปลูก มีระบบการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ[4]

ช่วงเวลาต่อมารัฐของไต-ไทได้กลายเป็นรัฐราชอาณาจักรขนาดใหญ่อย่าง ล้านช้าง ล้านนา อยุธยา มีการแย่งชิงราชสมบติกันอยู่เสมอ การกำเนิดและคุณสมบัติหลักของความเป็นเจ้าในรัฐไต-ไท ด้อยความสำคัญลงในภายหลัง แต่ขยับไปสู่พิธีกรรมมมากกว่า เหตุผลสำคัญคงมาจากการที่รัฐไต-ไทไม่ได้เกิดสูญญากาศ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชนหลากหลายชาติพันธ์ุ ข้ออ้างกำเนิดเพื่อเข้าสู่อำนาจสูงสุดจึงฟังไม่ขึ้นนัก โดยเฉพาะคนที่มิใช่ไท-ไต-ลาว-ไทย-อาหม ตรงกันข้ามพิธีกรรมดูน่าเชื่อถือมากกว่า[5] การขยายอำนาจทางการเมืองของพวกไต-ไทในคริสต์ศตวรรษที่ 12-15 (หรือพุทธศตวรรษที่ 17-20) ในภูมิภาคอุษาคเนย์ จึงเป็นการขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาไต-ไท มากกว่าการขยายอำนาจของ “ชนเผ่า” ไต-ไทโดยพร้อมเพรียง แม้แต่ในช่วงเวลาต่อมาในศตวรรษที่20 มีเหตุผลทางการเมืองในประเทศสยามช่วงนั้นที่อธิบายความกระตือรือร้นของวงวิชาการไทย ซึ่งในขณะนั้นกำลังสถาปนาอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่มี “ไทย”เป็นวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กระแสหลัก ฉะนั้น จินตนาการเกี่ยวกับการกำเนิดและการอพยพเคลื่อนย้ายของชนชาติไต-ไท-ไทย-ลาว จึงเป็นการสอดรับกับแนวคิดใหม่ที่แพร่หลายมาจากตะวันตกอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “เชื้อชาติ”[6]

DNA กับการศึกษาชาติพันธุ์ไท

DNA ย่อมาจากคำว่า Deoxyribonucleic Acid เป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตรุ่นต่อๆไป แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือส่วนที่ควบคุมพันธุกรรมได้เรียกว่า “ยีน” และส่วนที่สองเป็นส่วนที่ไม่ได้ควบุมพันธุกรรมมักเป็นชื่อที่ได้ยินคำนี้ค่อนข้างบ่อยจากข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม และ DNA มักไปเกี่ยวข้องกับการตรวจโรคด้วย กล่าวได้ว่า DNA มีลักษณะจำเพาะมากสำหรับปัจเจกบุคคล การศึกษาพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา อาศัยความจำเพาะลักษณะนี้ในการศึกษา ซึ่งมิใช่ลักษณะจำเพาะทางปัจเจกบุคคล แต่ศึกษาลักษณะจำเพาะทางสังคมมากกว่า ส่วนโครงสร้างของ DNA ประกอบด้วยนิวคลีโอไทด์ 2 สาย เชื่อมกับพันธะไฮโดรเจนระหว่างเบสคู่สมโดย A คู่กับ T และ C คู่กับ G เสมอ เกิดเป็นโครงสร้างเกลี่ยวคู่ (double helix) มีทิศทางเวียนขวาคล้ายบันไดเวียน คุณสมบัติสำคัญของ DNA สามารถเพิ่มจำนวนได้โดยมีลักษณะเหมือนเดิม และยังสามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้[7]

วิธีการศึกษา DNA ไม่สามารถใช้ปัจเจกบุคคลมาอธิบายแทนกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดได้ แต่ต้องอาศัยลักษณะทางชาติพันธุ์เดียวกัน ผ่านภาษาและวัฒนธรรม จากนั้นนำเบสคู่สมโดย A คู่กับ T และ C คู่กับ G มาคำนวณทาง DNA และนำผลการคำนวณเหล่านี้มาตั้งสมมุติฐานในเรื่องของการอพยพของคนไทย ซึ่งมี 5 สมมุติฐานคือ 1 คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต 2 คนไทยมาจากอาณาจักรน่านเจ้า 3 คนไทยมาจากจีนตอนใต้ 4 คนไทยมาจากอินโดนีเชีย และ 5 อยู่ในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ข้อสมมุติฐานข้อ 1 กับ ข้อ 2 ถูกล้มเลิกไปนานแล้ว และข้อ 4 ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงเหลือเพียงสองข้อสมมุติฐานคือข้อที่ 3 และ ข้อที่ 5 และนำ DNA เข้าไปทดสอบ ควบคู่ไปกับการพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดี ภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์

การทดสอบสมมุติฐาน มีสามแบบในการศึกษาคือ แบบแรก สันนิฐานจาก Demic Diffusion หมายถึง กลุ่มคนที่อพยพลงมานำภาษา วัฒนธรรม และ DNA เข้ามาดินแดนแถบนี้ แบบที่สอง Culture Diffusion หมายถึง คนไทมาจากจีนตอนใต้มิได้อพยพมาแบบไหลบ่า อพยพมาเฉพาะชนชั้นผู้นำ ชนชั้นปกครอง แต่นำเอาภาษาไต-ไท เข้ามา ภาษาไต-ไทจึงเป็นภาษาที่มีลักษณะของภาษาทางอำนาจและวัฒนธรรม[8] และแบบสุดท้ายคือ Admixture คือการผสมกันระหว่างกลุ่มคนดั่งเดิมกับคนที่อพยพเข้ามา ทั้งสามแบบนี้จะถูกนำมาใช้ในการทดสอบจาก DNA ว่าคนไทยมาจากไหน

ผลการศึกษาดีเอ็นเอกับประวัติศาสตร์คนไท

จากการศึกษาพบว่าคนไทยในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะของ DNA ที่แตกต่างกัน คนเมืองที่มีกลุ่มประชากรหลักอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะของ DNA คล้ายกับชาวไดในสิบสองปันนาประเทศจีนตอนใต้ คนอีสานมี DNA ที่ผสมผสานระหว่างกลุ่มประชากรที่พูดภาษามอญ-เขมร กับ DNA ของคนไทในสิบสองปันนา ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง คนลาวอีสานเพศหญิงมี DNA เหมือนคนไทยในสิบสิงปันนา ขณะที่ผู้ชายในภาคอีสานมี DNA เหมือนคนมอญ-เขมร เหตุผลน่าจะมาจากพื้นฐานการอพยพของคนลาวอีสานน่าจะเป็นการอพยพมาทั้งชายและหญิง แต่กลุ่มคนดั่งเดิมที่อยู่ในภาคอีสานคือคนกลุ่มมอญ-เขมร มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน เมื่อมีการแต่งงานจึงทำให้เกิดรูปแบบ DNA ที่มีลักษณะนี้[9] คนไทยภาคกลางและภาคใต้มี DNA คล้ายกับชาวมอญ และชาวอินเดียตอนใต้ แสดงถึงการผสมผสานทางพันธุกรรมจากเอเชียใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ สามารถประมาณอายุได้ 600-700 ปี

ส่วนคนไทยกลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่มไทใหญ่หรือคนไต ผลการศึกษาพบว่าผลของ DNA ไม่เหมือนกับคนไทกลุ่มอื่นๆแต่มี DNA คล้ายกับกลุ่มกระเหรี่ยงคือกลุ่มที่พูดภาษาไซโนธิเบตัน (จีน-ทิเบต) กลุ่มละว้าเป็นกลุ่มพูด  Austroasiatic และไทใหญ่คือกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไทกระไดทั้งสามกลุ่มนี้มีการผสมผสานทาง DNA ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีโอกาศการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจึงทำให้ DNA ของคนไทใหญ่นั้นแตกต่างกัน นอกจากนี้ กลุ่มไทยังมีลักษณะที่ต่างออกไปเนื่องจากมีการผสมกับชาติพันธ์ุอื่นอย่าง คนไทดำในจังหวัดเพชรบุรีมีลักษณะของ DNA ที่พูดภาษา Austroasiatic มากกว่ากลุ่มไทดำในจังหวัดเลย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าภาษาและภูมิศาสตร์ต่างกันยังสามารถบ่งบอกถึงลักษณะของ DNA ได้ด้วย ส่วนกลุ่มภูไทในภาคอีสานที่อพยพมาจากสิบสองจุไท กลุ่มแสกที่กระจัดกระจายแยู่ในที่ต่างๆและกลุ่มญ้อ ทั้งสามกลุ่มนี้มี DNA คล้ายกับกลุ่มในแอ่งที่ราบสกลนคร ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มชาวลาวอีสานทั่วไป และกลุ่มแสกก็มี DNA ที่ต่างออกไปจากกลุ่มภูไทและกลุ่มญ้ออีก ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่งก่อให้เกิดการไหลของยีน หากยีนผสมกันอยู่เรื่อยๆในท้ายที่สุดคนสองกลุ่มนี้ก็จะมียีนที่เหมือนกันซึ่งแต่เดิมยีนของทั้งสองกลุ่มเคยแตกต่างกันมาก่อน 

ท้ายที่สุด เราจะเห็นได้ว่ารากเง้าของคนไทยคือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกมากมาย คนไทยมิได้อยู่นิ่งๆมา 3000 ปี และจะยังคงอยู่เช่นนั้นต่อไป คนไทยเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลาจากการรับเอากลุ่มชาติพันธ์อื่นๆเข้ามาผสมผสานมากมาย มิใช่เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กว่าจะเป็นชาติไทยทุกวันนี้มันมีคนหลายกลุ่มเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ[10]


 เนื้อหาหลักจากการบรรยายโครงการบรรยายพิเศษระดับปริญญาตรีครั้งที่ 1 จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2566 หัวข้อการบรรยายครั้งนี้คือ ดี เอ็น เอ (DNA) และการศึกษาประวัติศาสตร์คนไท โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

[2] วินัย พงษ์ศรีเพียร, “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนในปรวรรตประวัติศาสตร์,”.

[3] วินัย พงษ์ศรีเพียร, “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนในปรวรรตประวัติศาสตร์,” หน้า34-37.

[4] นิธิ เอียวศรีววงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย (กรุงเทพฯ: มติชน)

[5] นิธิ เอียวศรีววงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย (กรุงเทพฯ: มติชน) หน้า 13-31.

[6] นิธิ เอียวศรีววงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย (กรุงเทพฯ: มติชน)  หน้า 40-42.

[7] สถาบันสงเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท), https://www.ipst.ac.th/knowledge/24446/20220425-dna-day.html#:~:text=%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20DNA,%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 (เข้าถึงเมื่อ 30/10/2566).

[8] นิธิ เอียวศรีววงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย (กรุงเทพฯ: มติชน) 

[9] วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์, “วิภู กุตะนันท์ พบคำตอบ “คนไทยมาจากไหน” บนเกียวดีเอ็นเอ”, The momentum, https://themomentum.co/theframe-wibhu-kutanan/, (เข้าถึงเมื่อ 30/10/2566).

[10] นิธิ เอียวศรีววงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย (กรุงเทพฯ: มติชน) .

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง