ความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ Tai-Zomia

เรื่อง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

ภาพถ่าย: ปรัชญา ไชยแก้ว

เนื้อหาจากเสวนา “โลกคนไต/ไทศึกษา” วิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และรองศาสตราจารย์ ดร.อัฉริยา ชูวงศ์เลิศ ดำเนินรายการโดย ทิวาพร ใจก้อน อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้โครงการอ่านเปิดโลก ครั้งที่ 4 “หมุนเข็มนาฬิกากี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ: ชีวิตสังคมไทย ผ่านงานนิธิ เอียวศรีวงศ์” ณ ห้องประชุม Main Conference อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2566 โดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ประเด็นหลักในการเสวนาหัวข้อนี้เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องความไม่ไทยของคนไทย หนังสือเล่มนี้ได้รับจากแรงบันดาลใจของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในการไปท่องเที่ยวทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม และได้อธิบายถึงกำเนิดและพัฒนาการของคำว่า ‘เมือง’ กล่าวคือหากจะหาต้นกำเนิดของกลุ่มคนไต/ไท ได้ต้องหาอารยะธรรมเสียก่อน และคำว่า ‘เมือง’ ก็เป็นบ่อเกิดของอารยะธรรมกับ วัฒนธรรมของกลุ่มคนที่เรียกว่าไต-ไท เป็นกลุ่มคนที่อยู่ตามที่ราบหุบเขา กลุ่มคนเหล่านี้ทำการผลิตภาคเกษตรกรรม มีการจัดระบบการจัดการน้ำ ก่อให้เกิดการขยายตัวของผู้คนมากขึ้น ภาษาไต-ไทถือว่าเป็นภาษากลางของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ภาษาไต/ไทก็กลืนกลายในพื้นที่แถบนี้ มีการจัดองค์กรทางสังคมวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างอำนาจ ความสัมพันธ์ของคนไต/ไท และการแผ่ขยายอำนาจ[1]

ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้เริ่มต้นในการบรรยายจากการกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ศึกษาในประเด็นเรื่องสงครามของรัฐไทยเกี่ยวกับการปราบฮ่อ ในพื้นที่ที่สยามเรียกว่าสิบสองจุไทซึ่งในตอนนั้นเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าสามฝ่ายฟ้า ฮ่อในการรับรู้ของสยาม ล้านนา ไต มิได้แนบสนิทกันและค่อนข้างต่างกันพอสมควร แต่มุมมองของคนไทยเรื่องการปราบฮ่อเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อค.ศ. 1890-1891 ซึ่งเป็นปีที่ฝรั่งเศสขีดเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ความสนใจของสยามในดินแดนสิบสองจุไทเป็นดินแดนที่สยามไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ความสนใจของสยามบ้านนาน้อยอ้อยหนู

นาน้อยอ้อยหนู

นาน้อยอ้อยหนูปรากฏในตำนานขุนบรม ที่เล่าว่านาน้อยอ้อยหนูเป็นแหล่งที่ผู้คนหลั่งไหลออกมาจากน้ำเต้าปุง กลายเป็นชนชาติต่างๆ และเป็นเมืองแห่งแรกที่พวกไต/ไทได้ก่อตั้งขึ้น ก่อนจะส่งลูกหลานไปเที่ยวตั้งเมืองหรือยึดเมืองต่างๆ ต่อไป ในตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงการก่อกำเนิดมนุษย์ที่กล่าวเกินจริงไปมากนัก แต่นิธิได้ วิเคราะห์คำหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญ คือคำว่า “เมือง” เพราะเมืองในวัฒนธรรมไต/ไทนั้น เป็นที่ตั้งของระบบการปกครองที่ซับซ้อน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเสนอว่าเกิดเมืองเมื่อใหร่ก็เกิดอารยะธรรมในทัศนะของพวกไต/ไท นั้นเอง และตำนานที่สำคัญอีกตำนานหนึ่งคือนิทานท้าวฮุ่นขุนเจือง นิธิวิเคราะห์ให้เห็นว่า สถานะทางการเมืองและสังคมของพวกเจ้าในรัฐไท-ไต-ลาว-ไทย จึงเป็นไม่ได้เกิดจากการจัดองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อว่าเจ้าเป็นเทพหรือเชื้อสายเทพโดยตรงและสายโลหิตก็มีส่วนสำคัญในการดำรงสถานะนั้น

ประวัติศาสตร์ของรัฐไต/ไท ในระยะแรก แม้เมื่อได้กลายเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่แล้ว อาทิ ล้านช้าง ล้านนา อยุธยา มีการแย่งชิงราชสมบติกันอยู่เสมอ กำเนิดและคุณสมบัติหลักของความเป็นเจ้าในรัฐไต/ไทจะด้อยความสำคัญลงในภายหลัง แต่ขยับไปสู่พิธีกรรม เหตุผลสำคัญคงมาจากการที่รัฐไต-ไทไม่ได้เกิดสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชนหลากหลายชาติพันธ์ ข้ออ้างกำเนิดเพื่อเข้าสู่อำนาจสูงสุดจึงฟังไม่ขึ้นนัก โดยเฉพาะแก่คนที่ไม่ใช่ไท-ไต-ลาว-ไทย-อาหม ตรงกันข้ามพิธีกรรมดูน่าเชื่อถือกว่า[2]

ท้ายที่สุด การขยายอำนาจทางการเมืองของพวกไต/ไทในคริสต์ศตวรรษที่ 12-15 (หรือพุทธศตวรรษที่ 17-20) ในภูมิภาคอุษาคเนย์ จึงเป็นการขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาไต/ไท มากกว่าการขยายอำนาจของ ‘ชนเผ่า’ ไต/ไทโดยพร้อมเพรียง แม้แต่ในช่วงเวลาต่อมาในศตวรรษที่ 20 มีเหตุผลทางการเมืองในประเทศสยามช่วงนั้นที่อธิบายความกระตือรือร้นของวงวิชาการไทย ซึ่งในขณะนั้นกำลังสถาปนาอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่มี ‘ไทย’ เป็นวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กระแสหลัก จินตนาการเกี่ยวกับกำเนิดและการอพยพเคลื่อนย้ายของชนชาติไต-ไท-ไทย-ลาว จึงเป็นการสอดรับกับแนวคิดใหม่ที่แพร่หลายมาจากตะวันตกอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘เชื้อชาติ’[3]

(ภาพ: Medium)

รัฐบนที่สูงอยู่ในสภาวะกึ่งรัฐกึ่ง Zomia

ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้นำเสนอหัวข้อในวงเสวนาคือเรื่อง Tai-Zomia รัฐของไต/ไทเป็นรัฐบนที่สูงอยู่ในสภาวะกึ่งรัฐกึ่ง Zomia ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างที่สูงคือพื้นที่ไร้รัฐ แต่พื้นที่ราบมีลักษณะมีรัฐ โดยตัวของมันเองมีรัฐะพื้นราบกับที่สูงเป็นรัฐระหว่างพื้นราบเป็นส่วนสำคัญของรัฐชาติสมัยใหม่ กล่าวคือ

ความคิดเรื่อง Zomia เสนอโดย Willem van Schendel นักภูมิศาสตร์ชาวดัตท์ที่เสนอในปี ค.ศ. 2001 James C. Scott ได้นำมาขยายในหนังสือเรื่องThe Art of Not Being Governed ข้อเสนอที่สำคัญคือ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อน ค.ศ.1950 พื้นที่สูงกับพื้นที่ราบมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่างกันแต่ไปมาหาสู่กันอยู่ตลอด พื้นที่ Zomia มิใช่พื้นที่ขนาดใหญ่ แต่มีความสัมพันธ์คนในพื้นที่ราบอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ Zomia จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายความคิดนี้ในหนังสือ ‘ความไม่ไทยของคนไทย’ ว่า พื้นที่ Zomia เป็นพื้นที่ที่ผู้คนอยู่กระจัดกระจายตามหุบเขา และเป็นพื้นที่หลบรัฐของผู้คนในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปมาตลอดประวัติศาสตร์ แผ่ขยายจากเวียดนามตะวันตก พาดผ่านลาว ไทย พม่า และยึดไปถึงจีนตอนใต้ พวกไต/ไทคือประชาชนของ zomia แม้แต่ที่อยู่ในประเทศจีนก็เป็นส่วนหนึ่งหรือชายขอบของ Zomia เข้ามาสู่อุษาคเนย์และกระจัดกระจายไปอย่างกว้างขวางจนถึงแม่น้ำพรหมบุตร ก็ล้วนอยู่ใน Zomia ทั้งสิ้น แตกต่างจากประชาชนคนอื่นๆ ของ Zomia ตรงที่ไม่ได้ทำมาหากินบนที่สูง แต่จับจองพื้นที่ราบตามหุบเขาเพื่อทำนาดำ[4] มีการจัดระบบการปกครองที่เป็นรัฐขึ้นมา แม้จะอยู่หลากหลายที่กระจัดกระจายความสำคัญกับพื้นที่ราบกับพื้นที่สูงก็มีความสำคัญพอๆกัน พื้นที่สูงคือพื้นที่หลบหนีของคนพื้นที่ราบ ในประวัติศาสตร์ของคนไต/ไท ก็จะเล่าถึงการก่อกบฏของคนในพื้นที่ราบแล้วหนีขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง จึงเกิดความสัมพันธ์ของของคนไต/ไทในภาคเหนือของเวียดนาม 

ยุกติ มุกดารวิจิตร ได้เสนอว่า ความหลากหลายของกลุ่มคนไต/ไท ซึ่งมีรัฐขนาดเล็กที่อาศัยอยู่แบบกระจัดกระจาย ความสัมพันธ์เกี่ยวกับการก่อตัวของคนไต/ไทในภาคเหนือของประเทศเวียดนามแบ่งเป็นชุดอักษรภาษาเขียนหลากหลายแบบ ความหลากหลายของกลุ่มคนไต/ไท คือมีรัฐขนาดเล็กและขนาดย่อม ส่วนคำว่าไต/ไท มันคือชื่อเรียกของกลุ่มคนบริเวณรัฐบนหุบเขา แต่ในทางกลับกับการรับรู้ของคนไทยก็เป็นคนละแบบกับการรับรู้ของคนเวียดนาม เมืองไทในสิบสองจุไท ที่เรารู้จักอาจจะรับรู้เป็น Zomia ผู้คนในเวียดนามพื้นราบก็หนีขึ้นไปบนพื้นที่สูง หลังจากอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานก็กลายเป็นไต/ไท การกลืนกลายตนเองให้มาเป็นไต/ไท เป็นกระบวนการที่คนในชาติพันธุ์อื่นหันมาเปลี่ยนวัฒนธรรมกลายเป็นไต/ไท ยอร์ช หลุยส์ กองโดมินาส์เรียกว่า Thaiization ซึ่งทำให้อัตลักษณ์ไต/ไทแพร่หลายในสิบสองจุไท ส่วนในที่สูงของพม่าคือการหันมานับถือพุทธ พูดภาษาไต ส่งส่วยให้เจ้าฟ้า และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีและยอมรับช่วงชั้นความไม่เท่าเทียมกันของคนกลุ่มต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการกลืนกลายเป็นไต/ไท เช่นนี้อธิบายได้ในรัฐไตบนที่ราบหุบเขา นั่นคืออาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่เอื้อต่อการสร้างรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แต่รัฐไต/ไทบนที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่ อาทิ หลวงพระบาง-เวียงจันทร์ เชียงราย-เชียงใหม่ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ลพบุรี-อยุธยา ไม่จำเป็นต้องสร้างและรักษาความได้เปรียบดังกล่าวไว้กับชาติพันธ์ไต/ไทอีกต่อไป[5] พื้นที่ของชาวไต/ไท ในตอนเหนือของเวียดนามจึงมีลักษณะที่เป็น Zomia ภายใน เกิดรัฐขนาดย่อมมากมายในดินแดนแถบนี้ ซึ่งในดินแดนแถบนี้ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร เสนอว่ารัฐในแถบนี้มีสภาวะที่เป็นกึ่งรัฐกึ่ง Zomia

พื้นที่ Zomia กับการค้า

อัฉริยา ชูวงศ์เลิศ ได้อธิบายในสองประเด็นหลักๆ คือประเด็นแรกพื้นที่ Zomia กับการค้า และประเด็นที่สองคือความไม่ไทของคนไท ทั้งสองประเด็นนี้มีจุดร่วมกันคือ การช้ให้เห็นความหลากหลายของคนไต/ไท ผ่านเส้นทางการค้า การแลกเปลี่ยน และพิธีกรรมที่คนดินแดนอื่นมาสร้างขึ้นในดินแดนไต/ไท พื้นที่นี้จึงมีความหลากหลายของกลุ่มคนค่อนข้างมาก

ประเด็นแรก พื้นที่ Zomia กับการค้า อัฉริยาได้ชี้ให้เห็นการค้าของคนไต/ไท จากจารึกโบราณ โดยกล่าวถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนไต/ไทกับลาว มีการบันทึกถึงตลาดลาวหลายที่ในพื้นที่ Zomia โดยพื้นที่การค้าต้องมี “เด่น” หรือ “ศาลเจ้า” ขนาดใหญ่แม่น้ำโขง ที่ชี้ให้เห็นพิธีกรรมกับการเชื่อมคนที่ไปออกแบบทางการค้า ความสำคัญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหน้าที่ที่รักษาดินแดนของการค้า เป็นพื้นที่ที่รักษากฎเกณฑ์ ผู้คนจึงเครพตรงนั้นจึงไม่เกิดความขัดแย้ง และควบคุมเส้นทางได้ เทพคือการจัดการพื้นที่ชายแดน ดูแลผู้คน เป็นจุดร่วมทางวัฒนธรรม เป็นศาตร์ที่คนจีนสร้างขึ้นในดินแดนไต/ไท เพื่อจัดการความสัมพันธ์ทางการค้า อย่างไรก็ตาม เอกสารตื้อม้าฮายดาว หน้า13 ได้กล่าวถึงการตั้งค่ายที่แม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำโขง มีประเด็นเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างเวียดนามกับลาวค่อนข้างมาก แต่ที่สำคัญของเอกสารชิ้นนี้ได้อธิบายการเกิดขึ้นและมีอยู่ของตลาดในพื้นที่สูง

ประเด็นที่สอง ความไม่ไทของคนไท การเป็นไทของคนส่า คนเหมื่องและคนเวียด รวมทั้งการผสมผสานทางชาติพันธ์ (Ethnogenesis) อัจฉริยา ได้หยิบยกข้อมูลบันทึกหลายชิ้นมาอธิบายให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์ที่มีการตอบโต้กันอย่างเป็นปกติ และชี้ให้เห็นว่าบางครั้งผู้คนที่มาสร้างบ้านหรืออาศัยอยู่แถบนี้ก็มิได้เป็นคนไทเสมอไป แต่เป็นคนเหมือง คนเวียด ภายใต้ความเป็นไท ผสมร้อยพ่อพันแม่ผ่านการค้า ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าความเป็นไทมิได้อยู่ในสายเลือดตั้งแต่แรก

ข้อเสนอของอัจฉริยา คือการชี้ให้เห็นความหลายของคนผู้คนในดินแดนไต/ไท ตั้งแต่อดีตผ่านเอกสารโบราณ แม้กระทั่ง เสื้อผ้า ด้าย ไหม ที่ผสมปนเปกันจนแทบไม่มีความเป็นไทหลงเหลืออยู่

คุณูปการของหนังสือความไม่ไทยของคนไทย

ช่วงท้ายของการเสวนา ได้มีการกล่าวถึงคุณูปการของหนังสือเรื่องความไม่ไทยของคนไทย งานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพ้นทวีป แต่โครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ไทยปฏิเสธความหลากหลายของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ในส่วนของครึ่งหลังของหนังสือเล่มนี้อาจารย์นิธิจึงได้วางโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบใหม่เพื่อเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อหลุดจากอคติที่คับแคบที่รัฐไทยนั้นได้อธิบายประวัติศาสตร์ไว้[6] และวิทยากรทั้งสองท่านได้ให้แนวทางการศึกษาเกี่ยวกับคนไต/ไทไว้ว่า

หากจะเข้าใจคนอื่น ต้องเรียนรู้และเข้าใจในความเป็นเขาเสียก่อน ไม่ใช่เข้าใจความเป็นเขาผ่านสายตาของเราเพียงอย่างเดียว”


อ้างอิง

บางส่วนจากงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “โลกคนไต/ไทศึกษา”

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559).

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า13-31.

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559),หน้า40-42.

[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า38.

[5] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า55.

[6] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ความไม่ไทยของคนไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559).

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง