น้ำท่วมเชียงใหม่ ไรเดอร์ทำงานกันยังไง

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

วิดีโอคลิปไรเดอร์กำลังขับขี่มอเตอร์ไซต์ลุยไปบนถนนที่ระดับน้ำท่วมสูงมิดล้อและพยายามประคองรถเพื่อไปส่งอาหาร ในสถานการณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมในหลายอำเภอ เมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็เกิดการแสดงความคิดเห็นว่าไรเดอร์มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลาขณะทำงาน และยังทำให้คิดไปถึงสวัสดิการแรงงานในเรื่องต่างๆ ที่เหล่าแรงงานที่มี ‘ท้องถนน’ เป็น ‘โรงงาน’ ควรจะได้รับภายใต้สถานการณ์อุทกภัยที่ความเสี่ยงอยู่ในทุกเส้นทางที่เคลื่อนไป

เสียงของแรงงานไรเดอร์ในสถานการณ์น้ำท่วม

“ไรเดอร์เป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว” 

พิเชฐ (สงวนนามสกุล) ไรเดอร์รับส่งลูกค้า แพลตฟอร์ม Bolt และ InDriver เปิดเผยกับเราว่า ในสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมานั้นอุปสรรคที่ไรเดอร์ที่ออกมาวิ่งรับส่งลูกค้าต้องเผชิญคือการส่งลูกค้าในพื้นที่น้ำท่วมแต่ในแอพพลิเคชั่นไม่ได้มีการแจ้งเตือนว่าพื้นที่ดังกล่าวน้ำท่วมทำให้ตนต้องขับรถอ้อมเส้นทางและเป็นการเพิ่มระยะทางมากขึ้น หากมีการเจรจาต่อรองกับกับลูกค้าไม่ลงตัวก็จะมีความเสี่ยงที่จะได้ค่ารอบน้อยกว่าปกติหรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ขาดทุน’ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเสี่ยงในการขับรถเข้าพื้นที่น้ำท่วมนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าปกติ

“หากไรเดอร์วิ่งผิดเส้นทางและเจอน้ำท่วมก็ต้องเผชิญหน้าอุปสรรคด้วยตนเอง”

ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้น พิเชฐ เล่าว่าในขณะที่ตนต้องไปส่งผู้โดยสารรถมอเตอร์ไซต์ของตนเกิดยางรั่วเนื่องจากต้องขับมอเตอร์ไซต์ในพื้นที่น้ำท่วม ทำให้ต้องหยุดกะการทำงานของตนต้องและขาดรายได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถมอเตอร์ไซต์ตนต้องเป็นคนรับผิดชอบแทบทั้งสิ้นเนื่องจากการเคลมกับทางแพลตฟอร์มมีความล่าช้าและไม่ทันต่อการใช้รถมอเตอร์ไซต์ในวันถัดไป

พิเชฐ เผยอีกว่าในสถานการณ์ความเสี่ยงในช่วงน้ำท่วมเช่นนี้แพลตฟอร์มที่ตนสังกัดอยู่ไม่ได้มีการช่วยเหลือที่มากพอแถมยังไม่มีการเพิ่มค่ารอบในช่วงน้ำท่วม การเพิ่มค่ารอบขึ้นของแพลตฟอร์มของตนนั้นจะเพิ่มขึ้นช่วงที่ไรเดอร์ในพื้นที่ดั่งกล่าวมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนลูกค้าซึ่งยังไม่ตอบโจทย์กับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสวัสดิการการซ่อมรถมอเตอร์ไซต์ก็ยังไม่มีเป็นสิ่งที่ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ถึงแม้มอเตอร์ไซต์จะเกิดความเสียหายในขณะการรับส่งลูกค้าก็ตาม

“ฝากถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ไรเดอร์เป็นคนที่หารายได้ให้แก่บริษัท ฉะนั้นเวลาที่เกิดอุทกภัยหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ แพลตฟอร์มควรจะมีการซัพพอร์ตไรเดอร์ทำให้เห็นว่าพวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว”

ด้าน มีนา (นามสมมุติ) ไรเดอร์ส่งอาหารแพลตฟอร์ม Grab ระบุว่าในสถานการณ์น้ำท่วมไรเดอร์ส่วนใหญ่จะออกมารับงานน้อยกว่าปกติซึ่งมีสาเหตุคล้ายกับที่พิเชฐ กล่าวไปคือ มีความเสียงที่รถจะเสียหาย มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาด้านแอพพลิเคชั่นที่แจ้งเตือนน้ำท่วมที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีไรเดอร์หลายคนที่ออกมาทำงานภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงแบบนี้เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ

“ก็มีไรเดอร์บางส่วนที่ออกมารับงานเนื่องจากมีภาระ มีค่าใช้จ่ายที่แบกรับอยู่ก็ต้องออกมาวิ่ง”

จากการทำงานในช่วงน้ำท่วม มีนา มองเห็นว่าระบบการสื่อสารระหว่างไรเดอร์และ Call Center ของแพลตฟอร์มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความยุ่งยากมากขึ้นจากในอดีตที่สามารถสื่อสารได้โดยตรงสามารถส่งรูปภาพสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับส่งอาหารได้โดยง่าย แต่ในปัจจุบันการติดต่อกับ Call Center นั้นต้องใช้วิธีการสื่อสารเป็นการโทรแทนการสื่อสารที่เห็นภาพส่งผลให้ทำให้การสื่อสารนั้นไม่ครบถ้วน 

ในด้านการช่วยเหลือในช่วงอุทกภัยนั้นแพลตฟอร์ม Grab นั้นไม่มีการ Support ไรเดอร์เท่าที่ควรมีเพียงการเพิ่มค่ารอบในช่วงที่ฝนนั้นตกหนัก 5-8 บาทต่อรอบและสวัสดิการการผ่อนสินค้าและผ่อนเงินกู้แก่ไรเดอร์ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมมากพอ ซึ่งในส่วนความช่วยที่จำเป็นอย่างสวัสดิการการซ่อมรถมอเตอร์ไซต์กลับยังไม่มีในส่วนนี้

“ช่วงน้ำท่วมถ้ารถไรเดอร์มีปัญหา ไม่มีความช่วยเหลือเลย”

ในฐานะไรเดอร์ส่งอาหาร มีนาต้องการความคุ้มครองที่มากกว่าที่เป็นอยู่การบำรุงรักษารถมอเตอร์ไซต์เป็นเรื่องที่จำเป็นเนื่องจากเป็นสิ่งที่สร้างผลกำไรให้แก่แพลตฟอร์มหากรถเกิดความเสียหายทางแพลตฟอร์มควรจะมีการคุ้มครองไรเดอร์ในส่วนนี้ ควรจะมีการติดต่อและเคลมที่ง่ายมากขึ้น รวมไปถึงมีสวัสดิการการรักษาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

“คุณลองดูข่าวสิ ไรเดอร์รถล้มขาขาด ไม่เห็นจะมีบริษัทไปให้ความช่วยเหลืออะไรเลยนอกจากไรเดอร์ช่วยกันเอง”

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ที่ทำการสำรวจไรเดอร์ส่งอาหาร 1,136 คน ระหว่างเดือน มีนาคม-กรกฎาคม 2564  ผ่านชุดข้อมูล ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง เปิดเผยว่า สวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการเป็นอันดับหนึ่งพบว่าต้องการ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ 26.06%, เป็นลูกจ้างแทนการเป็นพาร์ทเนอร์ 16.19% และประกันสุขภาพ 13.38% นอกจากนี้ยังมีการสำรวจว่าอยากให้มีกฎหมายในการกำกับแพลตฟอร์มถึง 66.22% ถึงแม้ข้อมูลดังกล่าวจะมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2564 แต่หากนำมาเทียบกับคำพูดของพิเชฐและมีนาถึงปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเผชิญในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาอาจจะชี้ให้เห็นว่าสิทธิและสวัสดิการที่ไรเดอร์ได้รับนั้นอาจจะยังไม่มีความคืบหน้าถึงแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 3 ปีก็ตาม…

คุ้มครองไรเดอร์อย่างไร? ถึงจะเป็น ‘บริษัทที่ดี’

จากกรณีดังกล่าว Lanner ได้พูดคุยกับ วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ ด้านเศรษฐกิจสังคมและแรงงาน ที่เผยว่าการทำงานของไรเดอร์ในช่วงอุทกภัยหรือภัยพิบัติอื่นๆ พบว่าไม่ได้รับสวัสดิการจากบริษัทแพลตฟอร์มอย่างมีมาตรฐาน ไม่มีมาตรการการช่วยเหลือที่เป็นระบบและชัดเจน หากเปรียบเทียบกับแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานที่เป็นลูกจ้างประจำจะพบว่าถึงแม้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่ก็ยังมีการจ่ายค่าจ้างชดเชยให้ 75% ของเงินเดือนเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมบริเวณโรงงาน 

วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ ด้านเศรษฐกิจสังคมและแรงงาน

แต่หากมองที่ ‘ไรเดอร์’ ที่ถูกทำให้เป็น พาร์ทเนอร์ หรือ คู่สัญญาอิสระ (ผ่านการส่งให้ไรเดอร์ที่จะเข้ามาทำงานกับบริษัทเซ็นรับรอง) ทั้งที่ไรเดอร์มีลักษณะการทำงานแบบลูกจ้าง ซึ่งการไรเดอร์ถูกทำให้เป็นพาร์ทเนอร์ส่งผลให้ไรเดอร์ขาดการคุ้มครองต่างๆ อย่างน้อยกฎหมาย 3 ฉบับ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายเงินทดแทน ซึ่งทำให้การลาป่วย ลากิจ ไม่สามารถทำได้ 

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้นพบว่า ไรเดอร์หลายคนต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมที่อยู่ส่งผลให้ไม่สามารถออกไปทำงานหรือส่งอาหารได้ ซึ่งแพลตฟอร์มนั้นมีข้อบังคับคือหากไม่ได้เปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อรับงาน บริษัทก็จะมีมาตรการลงโทษในรูปแบบต่างๆ เช่น การพักงาน ซึ่งในช่วงนี้ก็มีหลายบริษัทผ่อนปรนเรื่องนี้ในช่วงนี้อยู่ แต่วรดุลย์มองว่าในระยะยาวมอเตอร์ไซต์ที่เป็นเครื่องมือในการทำงานของไรเดอร์มีความเสียหายและต้องมีการซ่อมขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไรเดอร์ต้องรับผิดชอบเพียงผู้เดียว ซึ่งต่างจากลูกจ้างทั่วไปที่อุปกรณ์ในการทำงานบริษัทมีการจัดหาให้ วรดุลย์ยกตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ที่บริษัทไรเดอร์บางบริษัทมีการจัดเตรียมจักรยานให้แก่ไรเดอร์

วรดุลย์ มีข้อเสนอทั้งหมด 2 ข้อ คือ 1.บริษัทควรจะผ่อนปรนในการลงโทษ หากไรเดอร์ไม่ได้รับงานบ่อยๆ จะถูกพักงาน หรือ โบนัสน้อยลง หากเกิดกรณีภัยพิบัติควรมีการผ่อนปรนในเรื่องนี้ และ 2.ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมไรเดอร์หลายคนต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วม วรดุลย์ระบุว่าบริษัทที่ดี ควรจะมีมาตรการในการช่วยเหลือในส่วนของค่าใช้จ่ายบางส่วนในการซ่อมอุปกรณ์การทำงานอย่างมอเตอร์ไซต์ ซึ่งไม่ควรจะผลักภาระในการช่วยเหลือให้เป็นของแค่หน่วยงานราชการ วรดุลย์ได้ยกรูปแบบการทำงานแบบพาร์ทเนอร์ที่ไม่ได้มีความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานแต่ในยามวิกฤตคู่สัญญาที่ดีนั้นก็มีการผ่อนปรน ยกตัวอย่างน้ำท่วมในปี 2554 หลายบริษัทที่เป็นคู่สัญญาด้วยกันนั้นก็มีการผ่อนปรนเรื่องของระยะเวลาในการผลิต หรือบางบริษัทก็มีการส่งพนักงานไปช่วยเก็บของทำความสะอาดบริษัทคู่สัญญา ซึ่งมันเป็นขั้นต่ำที่สุดของบริษัทกับคนทำงาน

วรดุลย์ ส่งท้ายว่า ในปัจจุบันบริษัทแพลตฟอร์มถือว่าเป็นบริษัทสมัยใหม่ที่มีความท้าทายใหม่ๆ อย่างเรื่อง ESG ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ซึ่งเรื่องของแรงงานที่เป็นแนวโน้มของโลกก็ควรเข้าไปอยู่ในแนวคิดดังกล่าว บริษัทสมัยใหม่ควรจะพัฒนาตามแนวทางนี้ อาจจะยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแต่ใช้แนวทางนี้ในการเข้าไปช่วยเหลือ อาทิ การลาป่วยหรือลากิจของไรเดอร์ก็ควรจะได้รับค่าจ้าง การจ่ายค่ารักษาบางส่วนในการรักษาไรเดอร์ หรือการวางเส้นทางในการคุ้มครองไรเดอร์ที่ทำงานกับบริษัทมาหลายปี อาทิ สิทธิการลาคลอด หากสามารถปฎิบัติได้ตามแนวทางนี้ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร

“ถ้าน้ำท่วมแล้วบริษัทไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย แต่กลับไปพักงานจะเป็นความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของบริษัท”

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง