เมษายน 19, 2024

    We Watch รับสมัครอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566

    Share

    13 มกราคม 2566


    เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย We Watch เครือข่ายของคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศไทยให้แข็งแรง ผ่านกลไกการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เปิดรับสมัครอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 โดยมีรูปแบบดังต่อไปนี้

    1.อาสาสมัครระยะ 1 เดือน (จำนวนจำกัด)

    2.อาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (1 วัน)

    3.อาสาสมัครถ่ายรูปบอร์ดนับคะแนน

    สามารถสมัครได้ไม่จำกัดอายุ และทุกเพศทุกวัย สามารถกดลิ้งค์เพื่อเข้าร่วม line oa We Watch : https://lin.ee/f2vj106

    โดย We Watch มีความเชื่อมั่นว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของประชาชนในปกป้องเสียงของประชาชนเพื่อประชาชนได้

    จากเสวนา “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” ภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งร่วมแลกเปลี่ยนอย่างพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (WeWatch) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

    พงษ์ศักดิ์ระบุว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในต่างประเทศและติดตามการเลือกตั้งในไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “เราพูดได้ว่า รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงของเรื่องการเลือกตั้ง นั้นแบ่งเป็นสองระดับคือ หนึ่งคือประเด็นเรื่องโครงสร้าง เรื่องพวกกฎหมายและเกณฑ์ที่สร้างหายนะกับประเทศไทย สองคือแนวคิดกับวิธีคิด วัฒนธรรมทางความคิดของคนในสังคม ซึ่งสะท้อนจากคนที่ทำงานในองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ นี่ผมพูดรวมถึง กกต.” การตัดสินหรือการวินิจฉัยที่เป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้คนมองว่า การเลือกตั้งไม่โปร่งใสและเป็นธรรม การลงชื่อเพื่อปลดกกต. ของประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจ หลายคนในที่นี้คงไม่มั่นใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ประเด็นความกังวล เช่น การที่มีกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งร่วมกับกกต. ก่อนการรัฐประหารไม่มีกฎหมายนี้

    ประเด็นต่อมาคือ กกต.ไม่สนับสนุนการสังเกตการณ์และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ในระเบียบของกกต.ก่อนการรัฐประหาร 2557 แต่ถูกนำออก “ผมถามว่า เอาออกทำไม ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มันเป็นคอมมอนเซนส์เลยว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนทำได้” และการไม่ประกาศผลคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งจากกกต. สวนทางหลักการความโปร่งใสและตรวจสอบได้  ในเรื่องของการรายงานผลเรียลไทม์ที่เขาตั้งคำถามและรู้สึกว่า สังคมไทยไม่ได้ตั้งคำถามเรื่องนี้มากนัก ปกติแล้วการรายงานผลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับผลคะแนนจะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ยกตัวอย่างที่ฟิลิปปินส์ที่ต้องมีการตรวจสอบก่อน มิเช่นนั้นประชาชนจะไม่ยอมรับ

    การเลือกตั้งในระดับอาเซียนที่ผ่านมา ที่ฟิลิปปินส์มีองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งสามารถระดมอาสาสมัครได้ 550,000 คน ใน 70,000 หน่วยเลือกตั้ง สามารถสังเกตการณ์และเทียบคะแนนได้ทุกหน่วยเลือกตั้งสามารถอ้างอิงและขอให้ตรวจสอบได้ “ไม่ว่าประเทศใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ จะสร้างเครื่องมือหรือกลไกอะไรก็ตาม เพื่อจะตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจก็แล้วแต่ แต่ถ้าปราศจากการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ วางใจ ละเลย เชื่อมั่นในกลไกนั้นโดยไม่มีส่วนร่วม คุณเชื่อไหมว่า หายนะจะมาเยือนประชาชนหรือสังคมนั้น เพราะว่า ท้ายที่สุดคนที่มีอำนาจก็ต้องใช้กลไกหรือเครื่องมือนั้นเพื่อหาประโยชน์หรือสืบทอดอำนาจของตนเอง”

    ด้านยิ่งชีพระบุว่า การเลือกตั้งปี 2562 อยู่ภายใต้กติกาของคสช. ปูทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี มีกลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ เอารัดเอาเปรียบผู้แข่งขัน ไม่ว่าจะการตั้งชื่อพรรคการเมืองให้เหมือนนโยบายคสช. และการแบ่งเขตใหม่ ในการเปิดตัววันที่ 9 มกราคม 2566 ทำให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังตั้งมั่นในทางการเมือง อย่างไรก็ตามสี่ปีที่ผ่านมาอำนาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างการจำกัดเสรีภาพสื่อ ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาและ New Voter อีกจำนวนมากขึ้นอันเป็นคะแนนที่ควบคุมไม่ได้ ใช้การควบคุมแบบเก่า อิทธิพลบ้านใหญ่แบบเดิมยิ่งน้อยลง การอยู่ต่อของพล.อ.ประยุทธ์ในปี 2566 ยากขึ้นมาก แต่ยังมีกลไกบางอย่างที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคสช. อยู่

    เขาเล่าย้อนปัญหาในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า หลังการเลือกตั้งประธานกกต. แถลงข่าวตอนสามทุ่มบอกว่า ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65 เปอร์เซ็นต์ แต่กว่าคะแนนจะครบร้อยเปอร์เซ็นต์คืออีกหลายวันถัดมา โดยเปลี่ยนตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเป็น 75 เปอร์เซ็นต์จำนวนห่างกันหลักล้านคน และประเด็นที่กกต.มีการรายงานผลเรียลไทม์หน้าหน่วยเมื่อนับเสร็จและรายงานตอนนั้น ซึ่งการรายงานคะแนนมีปัญหาตามมามากมาย และครั้งนี้กกต.อาจไม่มีการรายงานผลเรียลไทม์แล้ว ยิ่งชีพตั้งคำถามว่า เราจะรอผลคะแนนจากกกต.เท่านั้นหรือ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอาสาสมัครการเลือกตั้งปี 2566 ไม่มีทางเลือกเลย หากประชาชนลงสังเกตการณ์การเลือกตั้งจำนวนมากจะเป็นชัยชนะที่มองไม่เห็น มันอาจจะไม่มีกรณีที่นับต่างกันจนต้องโต้แย้ง แต่เมื่อประชาชนออกมาสังเกตการณ์จำนวนมาก ผู้จัดการการเลือกตั้งจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสไปเอง

    อ่านต่อได้ที่ https://www.lannernews.com/12012566-01/

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...