‘นกแล’ วงดนตรีเชียงใหม่รุ่นจิ๋วที่เหินฟ้าไปสร้างชื่อที่เมืองกรุง

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน คงไม่มีใครไม่มีรู้จักวง ‘นกแล’ วงดนตรีรุ่นจิ๋วที่ขับร้องบทเพลงในคอนเซ็ปต์ “ดนตรีปฐมวัยคือความบริสุทธิ์” พร้อมกับเสียงร้องอันสดใสในสำเนียงคำเมืองของเด็ก ๆ ดนตรีจังหวะโจ๊ะ ๆ บวกกับการแต่งกายในชุดชาติพันธุ์ม้ง และลีลาการแสดงที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องร้องต้องเต้นตาม ทำให้วงนกแลดังกระฉ่อนทั่วฟ้าเมืองไทย

(ภาพ: โครงการดนตรีเพื่อเยาวชนนกแล 2523)

วงนกแล ก่อตั้งในปี 2523 โดย อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช อดีตอาจารย์วิชาพละศึกษา ในโรงเรียนพุทธิโสภณ จังหวัดเชียงใหม่ สมเกียรติมีความสนใจด้านดนตรีเป็นทุนเดิม จึงริเริ่มก่อตั้งวงดุริยางค์ ด้วยการคัดตัวเด็ก ๆ จาก 20 ใน 100 คน ด้วยไอเดียที่อยากให้เด็ก ๆ ที่สนใจด้านดนตรีได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไปประกวดวงดุริยางค์เป็นแชมป์ของภาคเหนือ 3 ปีซ้อน ก่อนที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการขับร้องมาเป็นดนตรีแนวโฟร์คซอง ด้วยความสนิทสนมของสมเกียรติ และ จรัล มโนเพ็ชร ทำให้ในช่วงแรกที่วงได้ออกไปบรรเลงก็ใช้เพลงของ จรัล ในการขับร้อง อาทิ สาวเชียงใหม่ พี่สาวครับ เป็นต้น 

(ภาพ: โครงการดนตรีเพื่อเยาวชนนกแล 2523)

ชื่อ นกแลนั้น สมเกียรติ นั้นได้ไอเดียหลังจากได้ไปเจอกับกลุ่มเด็กชาติพันธ์ม้งที่นำ ‘นกแก้ว’ มาขายในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มเด็กชาติพันธ์ม้งเรียกแก้วว่า ‘นกแล’ จึงกลายเป็นชื่อวงนกแลมาตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งคำเรียกนกแก้วและสีสันอันสะดุดตาของชุดประจำชาติพันธุ์ม้งทำให้ทั้งชื่อและการแต่งกายของวง นกแล ออกมาดูน่ารักสดใสอย่างที่ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งใจหวัง

“ที่จริงเด็กของผมไม่ใช่เด็กชาติพันธุ์ม้ง เป็นเด็กพื้นบ้าน แต่ที่แต่งชุดชาติพันธุ์ม้งเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะอยากให้คนรู้ว่านี่เป็นเด็กเหนือ เคยให้เด็กใส่เสื้อม่อฮ่อม ใส่ผ้าถุงขึ้นเวทีแต่ภาพมันไม่สวย ถ่ายทีวีออกมาแล้วดูธรรมดา แต่พอใส่ชุดม้งแล้วดูมีสีสัน ผมมีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งคือจะไม่แต่งหน้าเด็ก จะไม่เสริมเติมแต่งอะไรให้เด็ก ก็คือชุดเขาเด่นอยู่แล้ว หน้าตาคือสิ่งที่บริสุทธิ์ สาเหตุที่ผมเลือกชุดนี้ก็เพราะว่า เวลาที่ไปเล่นที่ไหน เราไม่ต้องไปหาชุดอีกแล้ว นี่คือออริจินัลของวงนกแล”

ฟังวงนกแล ร้องเพลง พี่สาวครับ & สาวเชียงใหม่ & หนุ่ม เชียงใหม่ https://youtu.be/DNlSjRdILlI?si=x3zDKKGVsSaKvxWj

“สมัยเริ่มต้นนกแลนี่เราตั้งวงโฟล์คซองเล็ก ๆ มีกีต้าร์ตัวหนึ่ง มีบองโก้ ใช้ขลุ่ย ใช้เมโลเดียน ใช้เครื่องดนตรีของวงดุริยางค์มาเล่น พอตอนหลังเด็กพัฒนาฝีมือดีขึ้น ก็มีหน่วยงานมาขอให้ไปเล่นในงานการกุศล เพราะว่าสมัยนั้นเพลงของจรัล มโนเพชร เป็นเพลงที่คนค่อนข้างรู้จัก ผมก็เอาเพลงของคุณจรัลมาบรรเลง”  อาจารย์สมเกียรติ กล่าว

(ภาพ: โครงการดนตรีเพื่อเยาวชนนกแล 2523)

วงนกแลได้มีการออกอัลบั้มโฟล์คในชื่อ “ช่วยเด็กยาก” แต่ยังไมได้ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนสำคัญให้กับวงนกแล และในปี 2526 วงนกแลปรับเปลี่ยนรูปแบบการบรรเลงเพลงอีกครั้ง จากโฟร์คซองกลายมาเป็นวงสตริง ครั้งนี้มียกเครื่องดนตรีไฟฟ้า และนำผลงานอัลบั้มชุดแรกช่วยเด็กยากที่เป็นสไตล์โฟร์คซองมาบันทึกเสียงใหม่อีกครั้งในชื่อ “นกแลกับดอกทานตะวัน” โดยมี จรัล มโนเพ็ชร มาช่วยเหลือ ทำให้วงนกแลเริ่มเป็นที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่

แล้วนกแลก็บินเหินฟ้า

ในช่วงเวลานั้นรายการโลกดนตรี ของทีวีช่อง 5 เป็นทีวีส่วนภูมิภาคช่องแรกที่มาเปิดที่จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณ อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 ด้วยชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้นกแลได้มีโอกาสได้ไปเล่นในรายการนั้น แต่ด้วยการขัดข้องทางเทคนิค วงนกแลจึงได้เล่นเพลงแค่เพียงเดียว แต่ด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตของซุปเปอร์สตาร์ในวันนั้นเอง ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ อดีตนักมวยชื่อดังได้ขึ้นชกชิงแชมป์โลกครั้งแรก ซึ่งจะมีการฉายต่อจากรายการโลกดนตรี ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงที่วงนกแลเล่นพอดี ทำให้ประชาชนที่รอคอยดูเขาทรายขึ้นชกได้มีโอกาสเห็นเสียงร้องใส ๆ ของวงนกแล

(ภาพ: โครงการดนตรีเพื่อเยาวชนนกแล 2523)

หลังจากวันนั้นผู้บริหารของทีวีช่อง 5 ก็ได้เชิญชวน วงนกแล ไปเล่นในงาน ลานโลกดนตรี ของช่อง 5 สนามเป้า ที่สวนลุมพินี โดยมี เสกสรร ภู่ประดิษฐ์ เป็นโฆษกของเวทีดังกล่าว  แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาทำให้ วงนกแลได้แสดงดนตรีไปเพียงแค่ 3 เพลงเท่านั้น แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ อาจารย์สมเกียรติ ก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้ไปเล่นแบบเต็มวง ในช่อง 5 สนามเป้า และด้วยความบังเอิญวันนั้นเอง เรวัติ พุฒินันท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ก็ได้ไปรับชมการแสดงสดของวงนกแล จึงได้ชักชวน อาจารย์สมเกียรติ บันทึกอัลบั้มของวงนกแลอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายใต้ค่ายแกรมมี่ ในปี 2528 ในชื่อ ‘หนุ่มดอยเต่า’ ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศ

นกแลมีผลงานอัลบั้มเพลงในค่ายแกรมมี่ทั้งหมดจำนวน 5 ชุด คือ หนุ่มดอยเต่า (2528), อุ๊ย (2529), สิบล้อมาแล้ว (2530), ช้าง (2531) และ ทิงนองนอย (2532) และมีเพลงดังอย่าง 

ในช่วงเวลานั้นเอง วงนกแล มียอดขายติดดับต้น ๆ ของประเทศ มีรางวัลทางดนตรีมากมาย นอกจากวงนกแลจะมีชื่อเสียงดังกระฉูดในไทย วงนกแลก็ยังมีโอกาสไปแสดงสดที่ประเทศญี่ปุ่น 2 ครั้ง และประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ครั้ง

เมื่อเหล่าสมาชิกวงนกแลที่ได้ขับร้องเพลงในยุคที่นกแลดังกระฉูด ก็เติบโตขึ้น มีการงาน มีภาระที่ต้องร่ำเรียนและรับผิดชอบมากขึ้น เสียงที่เคยใสก็แตกหนุ่มสาวตามการเติบโต อย่าง ยัน-ทินกร ศรีวิชัย หนุ่มน้อยผู้ขับร้องเพลงสุดโจ๊ะ หนุ่มดอยเต่า ก็เรียนต่อในด้านสายช่าง และได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาตุ๊กตา ส่วน ตุ๊ดตู่-ศรัญญา อุปพันธ์ สาวน้อยในบทเพลงสุดซึ้ง อย่าลืมน้องสาว ก็ได้ไปสวยกับการทำงานผู้จัดการร้านอาหาร หลังจบจากทางด้านบัญชีมา ส่วนน้อย-นัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร สาวน้อยที่ขับกล่อมบทเพลง นกแล ก็ได้ไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีในด้านท่องเที่ยวและการโรงแรม และเป็นผู้จัดการ Hakone Cafe ร้านกาแฟและคาเฟ่

ถึงแม้ปัจจุบันวงนกแลจะจะได้รับความนิยมน้อยลงไปแต่หลายบทเพลงของวงนกแลก็ยังติดตราอยู่ในหัวใจของผู้คนทุกช่วงวัยตลอด 40 ปี และปัจจุบันวงนกแลก็ยังคงมีสมาชิกนกแล 20 กว่ารุ่น และยังคงร้องเพลงสร้างความบันเทิงเหมือนคอนเซ็ปต์เดิมที่อาจารย์สมเกียรติ ได้ยึดมั่นไว้นั้นก็คือ “ดนตรีปฐมวัยคือความบริสุทธิ์” ต่อไป

อ้างอิง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง