ไกล ศูนย์ กลาง: ไพร่ฟ้า อันความรักของเธอกับฉันมันต่างกัน

“เธอรักฉันไหม”

ประโยคขึ้นต้นของเรื่องสั้น ไพร่ฟ้า ซึ่งอยู่ในรวมเรื่องสั้นเรื่อง ฟ้าบ่กั้น เรื่องสั้นเรื่องนี้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2501 (ไอดา, 2564) วรรณกรรมชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกปีใน พ.ศ.2501 เป็นปีเดียวกับที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารกระชับอำนาจ และแน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ถูกจับตาว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อความเรียบร้อยของบ้านเมืองจนในที่สุดต้องเก็บออกจากแผง (ลาว, คำหอม, 2501, น.218) 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ใกล้เข้ามาทุกขณะ เดือนนี้ถูกนิยามว่าเป็นเดือนแห่งความรัก ผมตามอ่านดูบทความหลายชิ้นส่วนใหญ่ (ขออนุญาติไม่เอ่ยถึง) ที่เขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ซึ่งไม่รวมผลงานทางวิชาการ มักเป็นไปในทางความรักแบบโรแมนติก ความรักอันสดใสของวัยรุ่น และหาคำนิยามความรักที่แตกต่างกันไปต่าง ๆ นานา และจบลงประมาณว่าความรักคืออะไร 

ผมตั้งคำถามอย่างคนเขลาว่า ความรักแบบโรแมนติกมันมีได้ระหว่างชนชั้นกลางที่พอมีอันจะกินหรือเปล่า? แล้วชนชั้นแรงงานล่ะ? เราจะจัดวางความรักของพวกเขาเหล่านั้นไว้ตรงไหน? สิ่งที่จะตอบคำถามนี้ได้ ผมกลับนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ที่เขียนโดย “ลาว คำหอม” ที่เขียนถึงความรักอีกแบบ มันเป็นความรักที่ต่างกันสุดขั้ว และเต็มไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจ และผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้บอกเรื่องเกี่ยวกับความรักได้อย่างค่อนข้างดี

ก่อนจะเล่าถึงความรักเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รวบรวมเรื่องสั้นทั้งหมดเจ็ดเรื่องได้แก่ คนพันธุ์, นักกานเมือง, เขียดขาคำ, คนหมู (เรื่องสั้นเหล่านี้เผยแพร่มาก่อนแล้วในนิตยาสารปิยมิตร) หมอเถื่อน, ชาวไร่เบี้ย (อ้างถึงใน, ชูศักดิ์, 2558, น 108)  ซึ่งหลายเรื่องสะท้อนชีวิตมนุษย์ที่มิอาจลืมตาอ้าปาก ยากเกินจะพรรณนาถึงความเจ็บปวด และเรื่องที่จะพูดถึงในบทความนี้ก็คือเรื่อง “ไพร่ฟ้า” 

เรื่องนี้มีความแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ใน ฟ้าบ่กั้น ก็คือ ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้มักเป็นเรื่องราววิถีชีวิตของชนบทอีสานที่ค่อนข้างแร้นแค้นเป็นฉากเดินเรื่อง แต่เรื่อง ไพร่ฟ้า มีฉากสถานที่ต่างออกไป กล่าวคือ เป็นฉากสถานที่เป็นป่าแม่ก้อ จังหวัดลำพูน (อ้างถึงใน, ชูศักดิ์, 2558, น113)

ไพร่ฟ้า เป็นเรื่องเล่าของหนุ่มชาวขมุ ชื่อ อินถา ซึ่งเป็นแรงงานเลี้ยงช้างในจังหวัดลำพูนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีนายจ้างจากกรุงเทพฯ เป็นเจ้านายของเขา เรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในเรื่องของความรักระหว่าง อินถา และ บัวคำคนรักของเขา ที่ต้องสูญเสียมันไปในทันทีที่หม่อมราชวงศ์ปายปืน ราชพฤกษ์ หลานเจ้าของบริษัทป่าไม้พนาราชที่อินถาทำงานให้ ได้ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งติดตาต้องใจบัวคำและได้พรากความรักจากอินถาไป

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้วิเคราะห์ว่า การมาเที่ยวของ ม.ร.ว.ปายปืน ทำหน้าที่สัญลักษณ์แทนความเจริญจากเมืองหลวงที่แทรกซึมมาถึงกระทั่งหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางป่าลึก โศกนาฏกรรมของอินถาจึงเป็นเสมือนชะตากรรมที่จักต้องเกิดกับชนบททุกแห่งที่ความเจริญจากเมืองหลวงเข้ามาเยือน (เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) หากมองเรื่องโลกทัศน์ของความรักตามกรอบที่ชูศักดิ์ได้วิเคราะห์เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงทำให้เห็นความรักสองทั้งสองแบบ กล่าวคือ ความรักของอินถาเป็นความรักที่บริสุทธิ์ (ซึ่งเป็นภาพแทนของชนบทที่ใสชื่อ) กับความรักที่แปลกปลอม (ซึ่งเป็นภาพแทนของคนเมือง) ซึ่งทั้งสองสิ่งย่อมบ่งบอกถึงอำนาจในเรื่องของฟ้าสูงแผ่นดินต่ำก็อาจเป็นได้

ไอดา อรุณวงษ์ วิเคราะห์ว่า อินถาเป็นภาพของคนหนุ่มผู้กำลังมีความรักอันแรงกล้า และน่าจะได้พัฒนาไปเป็นความรักอันยาวนานที่วาดฝันไว้ กลายเป็นว่าถูกอำนาจล้นฟ้าได้ถูกกดทับลงให้จมหาย (ไอดา, 2565) อินถามาจากป่าลึกลุ่มแม่น้ำกก ส่วน ม.ร.ว ปายปืนมาจากมหานครลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ลาว คำหอม, 2522) ซึ่งเราจะเห็นว่า ในแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีวิธีการให้ความหมายต่อความรักในโลกทัศน์ที่ต่างกัน (นฤพนธ์, 2567)

ฉากสุดท้ายของเรื่องคือการพรากความรักไปจากอินถาก็คือการสนทนาหนึ่งของเนื้อเรื่องที่เจ้านายมาจากเมืองกรุงฯ แล้วสนทนากับอินถาเกี่ยวกับความรักก็คือ “คุณนะคุณ ป่าดอย เถือนถ้ำป่านนี้คุณยังอุส่าห์พูดถึงคำว่ารัก อยู่หรือ แต่ถ้าใครที่คุณว่ามันจะเอาจริง ๆ นั้น ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คุณละก้อช่วยบอกให้มันรอหน่อยสิ เดือนหน้าฉันก็กลับแล้ว” (ลาว คำหอม, 2523, น.44)

คำบอกเล่าเกี่ยวกับความรักในเรื่องสั้นเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นถึงมโนทัศน์ของความรักที่ไม่ใช่เป็นความรักแบบโรแมนติก แต่เป็นความรักในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และมีเงื่อนไขหลายประการ การทำความเข้าใจความรักแบบโรแมนติกจึงเป็นเพียงรูปลักษณ์แบบหนึ่งของความรัก เงื่อนไขและการใช้ชีวิตคู่ควรเป็นส่วนหนึ่งของหน้าตาและความรักที่หลากหลาย (อ้างถึงใน วิสุทธิ์, 2567) การพิจารณาความรักของเรื่องนี้ผ่านการนำเรื่องสั้นชิ้นเล็ก ๆ มาอ่านมันเสียใหม่ จึงเป็นการพิจารณาผ่านความรักที่ไกลออกไปจากความรักแบบโรแมนติก แต่เป็นความรักที่มาจากความเศร้าและแตกหักจากคนในสังคมเดียวกัน แต่มีมโนทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงพยายามบอกเล่าความรักที่ไม่ใช่ความรักแบบเดียว แต่เป็นการบอกเล่าความเป็นชนชั้น สถานะ และอำนาจ ผ่านการเล่าเรื่องความรักที่เจ็บปวดของคนด้อยอำนาจที่ผู้มีอำนาจไม่เคยคิดจะเข้าใจ ดังชื่อของบทความนี้หากจะมาขยายเพิ่มไปอีกที่ว่า อันความรักของเธอกับฉันมันช่างต่างกันเหลือเกิน 

รายการอ้างอิง

  • ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิช. อ่านใหม่ เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน. 2558
  • ลาว คำหอม. ฟ้าบ่กั้น: วรรณกรรมแห่งฤดูกาล รวมเรื่องสั้นว่าด้วยความยากไร้และคับแค้นของสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่23 กรุงเทพฯ: สมมติ. 2563.
  • ลาว คำหอม. ฟ้าบ่กั้น. พิมพ์ครั้งที่3 กรุงเทพฯ. 2522.
  • ไอดา อรุณวงศ์. แม่ง โคตรโฟนี่เลย: การเมือง วรรณกรรม ในยุคที่สนักไม่ใช่หมาเสมอไปแต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป. 2565.
  • วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. มันยากที่จะ “รัก” พินิจ “รัก” และ “การครองคู่”ในบริบททางสังคมวัฒนธรรม. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/569. เข้าถึงเมื่อ 11/02/2567
  • นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. สะท้อนย้อนคิดความรักโรแมนติก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/570. (เข้าถึงเมื่อ 10/2/2567)

ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง