พฤษภาคม 4, 2024

    “เราอาจจะรู้จักสงครามเย็นไม่มากพอ”

    Share

    13 กันยายน 2565

    รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวเปิดและเสริมด้วยการยกตัวอย่างตอนที่ตนถามนักศึกษาในรายวิชาของตัวเองเกี่ยวกับกลุ่มเขมรแดง แต่ไม่มีใครรู้จักหรือทราบรายละเอียดของกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในยุคสงครามเย็น และมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในตอนนั้น แม้ว่าจะกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกก็ตาม ซึ่งตนย้ำว่านี่แสดงให้เห็น ว่าเรารู้จักตัวตน และประวัติของความเป็นชาติน้อยเหลือเกิน รศ.ดร.พวงทองเชื่อว่า นี่เป็นเพราะตำราที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวยังมีไม่มากพอ รวมถึงระบบการศึกษาก็แทบจะไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้ผู้คนไม่ได้รับรู้ว่าเหตุการณ์ในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น เกี่ยวข้องกับสงครามเย็นอย่างไร ก่อนตนจะโยงเข้าสู่แง่มุมของศิลปะด้วยคำถามว่า “แล้วในประเทศไทย มีงานศิลปะที่เกี่ยวกับยุคสงครามเย็นบ้างหรือไม่ ?

    “งานศิลปะของไทยในยุคสงครามเย็น คิดว่าเราน่าจะเติบโตมากับมัน เพราะมันก็ยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน งานศิลปะที่พูดถึงแต่ความยิ่งใหญ่ของสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่มีแต่สร้างความร่มเย็น ความเป็นสุข ความยิ่งใหญ่ ปกป้องเอกราชให้ประเทศไทย”

    งานศิลปะเพื่อสังคม และเพื่อชีวิตในยุคสงครามเย็น ที่เกิดขึ้นในช่วงการต่อสู้ของนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มักจะกล่าวถึงการต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมอเมริกา ปัญหาของพี่น้องชาวนา กรรมกร และผู้ยากจน ก่อนจะหายไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก่อนที่งานศิลปะจะกลายเป็นสิ่งที่ชาติไทยใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “นี่คือชาติไทยที่ควรจะเป็น” ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแค่สิ่งที่รัฐต้องการให้ประชาชนเห็น แต่ก็มีการซุกซ่อนโศกอนาถกรรมมากมายไว้ภายใต้งานศิลปะเหล่านี้ เช่นบทบาทของประเทศไทยในสงครามเวียดนาม ที่ไทยกลายเป็นฐานที่มั่นให้สหรัฐอเมริกา เพื่อสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว และกัมพูชา บทบาทของประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มเขมรแดง หรือบทบาทของรัฐเผด็จการทหารที่กวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ถูกแสดงออกมาผ่านงานศิลปะในยุคนั้น

    “มันเหมือนความเป็นชาติ ที่เขาอยากให้เราเห็นเท่านั้น แต่มันยังมีอีกหลายด้านที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้”

    เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ต้องการจะสื่อผ่านงานศิลปะ ที่ถูกจัดแสดงภายในนิทรรศการ Cold War : the mysterious อีกทั้งยังเผยว่าเหมือนได้เจอ “เพื่อนคู่คิด” ในประเด็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไทยเข้าไปมีบทบาท ซึ่งผู้คนไม่ได้รับรู้มันมากเท่าไหร่ เมื่อได้ชมผลงานศิลปะของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี เท่าที่ตนรู้ ไม่เคยเห็นงานศิลปะที่มีมิติความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สงครามเย็นเท่านี้มาก่อน แต่ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี มองเห็นถึงความเกี่ยวโยงกันของเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

    “งานของอาจารย์ทัศนัย พูดถึงบทบาทของมหาอำนาจ ทั้งโซเวียตรัสเซีย ทั้งสหรัฐอเมริกา พูดถึงสงครามเวียดนาม สงครามในกัมพูชา มีทั้งสัญลักษณ์ มีทั้งข้อมูล มีเทคนิคการสร้างสรรค์ ที่กลมกลืนไปกับเนื้อหาประวัติศาสตร์สงครามเย็น ที่ด้านหนึ่งถูกปิดบังซ่อนเร้นไว้ ด้วยความงาม และสีสันของสังคมไทย ที่เมื่อพูดถึง โดยที่ไม่ได้รู้จักกับสังคมไทยมากนัก ก็จะนึกถึงแค่ความงดงาม การท่องเที่ยว หรืออาหาร ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างถูกซ่อนไว้ ภายใต้ความตระการตาเหล่านี้ ความเป็นชาติ ที่ถูกตีความมาจากผลงานของ ผศ.ดร.ทัศนัย เป็นชาติที่โศกอนาถกรรม เลือดเนื้อ และน้ำตาของคนในชาติ ถูกปิดบังไว้ภายใต้ความสวยสดงดงาม รวมถึงยังเป็นชาติที่เกิดขึ้นมาจากโศกนาฏกรรมในประเทศเพื่อนบ้านในยุคนั้นด้วยเช่นกัน”

    ส่วนหนึ่งจากเสวนา“ทัศนาสงครามเย็น ปริศนา และการปิดบังอำพราง” ภายในงานรับเรือนสหายทางศิลปะและนิทรรศการ “Cold War : the mysterious” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่

    Related

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...