พฤษภาคม 8, 2024

    หมอกจาง ๆ หรือ ”ฝุ่น” ทบทวนอดีต การคาดการณ์ และความจริง PM2.5 ในภาคเหนือ

    Share

    เรื่อง: สุรยุทธ รุ่งเรือง

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    “หมอกจาง ๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้ อยากจะถามดู ว่าเธอเป็นหมอกหรือควัน”

    เข้าสู่ช่วงต้นปีทีไร เพลงของเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ก็วนเวียนเป็นวงกลมที่ไม่จบไม่สิ้น เพราะว่าแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าทีไรก็เกิดคำถามว่า ไออะลองจาง ๆ ที่เห็นอยู่ตรงหน้านี่มันคือหมอกหรือควันฝุ่นกันแน่? 

    มองดูผิวเผินอาจจะกลายเป็นมุกตลกประจำฤดูกาลไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังคู่กับคนไทยมานาน ที่เมื่อทศวรรษก่อน อาจจะเป็นแค่ปัญหากวนใจ ระดับเดียวกับการตากผ้าในฤดูฝน แต่ปัจจุบันนี้ ปัญหาฝุ่นและหมอกควันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นวิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    ย้อนความ ‘คาดการณ์’ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5

    เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้คาดการณ์สถาการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองในปี 2566 ไว้ว่า อาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และสำหรับภาคเหนือ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงจะหนีไม่พ้นปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการที่จุดความร้อนลดลงไปกว่า 80%

    ด้วยเหตุนี้ ความสำคัญของการควบคุมกิจกรรมการเผาต่างๆจึงเพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตามธรรมชาติในพื้นที่ป่า รวมไปถึงการกระจายความรู้ความเข้าใจแก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะโดยไม่ใช้วิธีเผาผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบของการเผา การแปรรูปเชื้อเพลิงเพื่อลดกิจกรรมการเผา รวมไปถึงการควบคุมปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของประเทศ ผ่านการส่งเอกสารไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ

    นอกจากนี้ สถานการณ์ครั้งนี้ยังมีอีกหลายตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน หน่วยงานราชการ รวมไปถึงสื่อมวลชนต่างๆ ที่จำและจำเป็นต้องมีหน้าที่ในการช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจนสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    สถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือในปัจจุบัน

    ถ้านับแค่เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษเผยว่าเชียงใหม่ยังตรวจพบฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน 3 บริเวณ คือ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว, ต.หางดง อ.ฮอด และต.ศรีภูมิ อ.เมือง โดยระดับ PM2.5 ในอากาศสูงสุดที่จุดตรวจอ.ฮอดที่สูงถึง 168 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

    สาเหตุส่วนใหญ่ก็ยังคงมาจากไฟป่าที่มีอุปสรรคในการเข้าควบคุม เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่มีความสูงชัน เข้าถึงได้ยาก อย่างเช่นสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ที่มีการรายงานผ่านสื่อต่าง ๆ ว่ามีการไหม้ต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว และเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งพบจุดเกิดไฟป่าในอำเภอฮอดถึง 35 จุดด้วยกัน

    นอกจากปัญหาไฟป่าที่สงผลให้หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาปริมาณละอองฝุ่นเกินมาตรฐาน จังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคเหนือก็ประสบปัญหาดังกล่าวไม่ต่างกัน โดยมีการเปิดเผยรายงานจากศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 พบว่ามี 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.แม่ฮ่องสอน, จ.น่าน, จ.ลำพูน, จ.ลำปาง, จ.สุโขทัย และจ. พิษณุโลก

    แล้วฝุ่นพากันมาจากไหนเยอะแยะ ?

    สาเหตุที่น่าจะเด่นชัดที่สุดอันหนึ่ง คงจะหนีไม่พ้นการเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ที่นอกจากจะเกิดโดยธรรมชาติผ่านเชื้อเพลิงที่มีอยู่ทั่วไปทั้งป่า เสริมด้วยสภาพอากาศที่มีความแห้งตามฤดูกาล ก็ไม่ยากนักที่จะทำให้เกิดไฟป่าได้ แต่นอกเหนือจากเหตุธรรมชาติแล้ว ไฟป่าหลายครั้งก็เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์เช่นกัน โดยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกรวบรวมโดยเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ เผยให้เห็นว่าที่อ.ฮอด มีลักษณะการเผาเป็นเส้นตรง ซ้ำที่จุดเดิมมาแล้ว 4-5 ปี อีกทั้งยังจำกัดอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานออบหลวง ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่คนอาศัยอยู่ รวมถึงไม่มีชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ความเป็นไปได้ที่เหลือจึงมีอยู่ไม่กี่อย่าง

    นอกจากนี้ เราคงจะปฏิเสธไม่ได้เต็มปากมากนัก ถ้าจะพูดว่าหนึ่งในสาเหตุของปริมาณฝุ่น PM 2.5 มาจากกิจกรรมการเผาต่างๆของคนในพื้นที่เอง อย่างเช่นการเผาขยะ ที่ก็มีให้เห็นกันจนชินตา อย่างเช่นในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย ที่ผู้คนมักจะเลือกกำจัดขยะของตนเองด้วยวิธีการเผา จนบ่อยครั้งถูกถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณเกินมาตรฐาน แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องนี้ก็มีที่มา

    จากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ตำบลท่าสุด ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สาเหตุหลักของการเลือกใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการเผา เนื่องมาจากเป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุนมากที่สุด จริงอยู่ที่เทศบาลมีบริการเก็บและนำขยะไปกำจัดให้ แต่ก็เป็นบริการที่เทศบาลใช้วิธี “จ้าง” หน่วยงานเอกชนเข้ามาจัดการดูแล นั่นทำให้ต้องมีการเก็บค่าบริการจากชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นำไปสู่การเลือกวิธีการกำจัดขยะที่ไม่เสียเงินในที่สุด จึงอาจจะพูดได้ว่า การทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเผาคงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ตรงจุดนัก

    อย่างไรก็ตาม การกำจัดขยะโดยผู้คนในพื้นที่ก็เป็นเพียงหนึ่งจากหลากหลายสาเหตุเท่านั้น ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ยังคงมีสาเหตุมาจากภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์กลายเป็นรูปแบบการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ นี่เองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผืนป่า เพื่อเป็นที่เพาะปลูกข้าวโพด และการสูญเสียพื้นที่ป่าไปก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษทางอากาศ กลายเป็นวิกฤตที่คุกคามทั้งสภาพแวดล้อมของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อีกทั้งยังกลายเป็นมลพิษข้ามแดมปกคลุมลุ่มแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผิน นี่คงเป็นผลกระทบที่มาจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ แต่นั่นก็คงเป็นการกล่าวโทษที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากนัก เพราะส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรครั้งนี้ก็มาจากการบริโภคของคนในสังคม อุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    บทเรียนที่ผ่านมา ผลกระทบที่ผู้คนต้องแบกรับ

    ที่ว่าเป็นอันตรายกับผู้คนนี่มันอันตรายขนาดไหนกันแน่ ? ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้มีรายงานปริมาณฝุ่น PM2.5 ณ โรงพยาบาลแม่สาย อยู่ที่ 758 ซึ่งถือเป็นค่าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงมากที่สุดในโลก โดยเยอะกว่าค่าที่เคยเกิดขึ้นในเชียงใหม่ในเวลานั้น ภาพที่ถูกบันทึก ณ จังหวัดเชียงรายในช่วงเวลานั้นไม่ต่างจากภาพถ่ายจากดาวอังคาร ที่ท้องฟ้ากลายเป็นสีส้มทั้งหมดจากฝุ่นควันที่มีมากเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆในพื้นที่ภาคเหนือในเวลานั้น ที่ทำการบันทึกค่าฝุ่น PM2.5 ที่มากกว่ามาตรฐานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. เกาะช้าง (678), สระว่ายน้ำ สนามกีฬา 700 ปี (657), ลานประตูท่าแพสอง (589), สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติแม่ริม จ. เชียงใหม่ (547) เป็นต้น

    อีกหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์แพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการพบว่าตนเองเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ “สู้ดิวะ” ที่ตนสร้างขึ้นเพื่อแบ่งปันเรื่องราวของตนโดยเฉพาะ ทั้งที่ดูแลสุขภาพดี เป็นนักกีฬา และไม่สูบบุหรี่ ทั้งหมดที่อาจารย์แพทย์คนนี้ทำ มีเพียงแค่ “ใช้ชีวิต” อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

    นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของ Rocket Media Lab ที่เผยให้เห็นว่าเมื่อปี 2564 ชาวจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้อากาศที่ปนเปื้อนฝุ่น PM2.5 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 1,379 มวนในการหายใจ ซึ่งในปีนั้น ชาวเชียงใหม่มีอากาศที่อยู่ในเกณฑ์ดีไว้ใช้หายใจเพียงแค่ 62 วัน หรือคิดเป็น 16.99% จากทั้งปีเท่านั้นเอง และนั่นไม่ใช่ปีที่เชียงใหม่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดด้วยซ้ำ เพราะเมื่อดูข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ของเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จะพบว่า ปืที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายมากที่สุดคือปี 2019 ซึ่งมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถึง 8 วัน โดยในวันที่ 23 มีนาคม 2019 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่เฉลี่ย 282 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่ง “ไฟป่า” ก็ยังคงถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหลักๆของปริมาณฝุ่นที่พุ่งสูงในปีนั้นเช่นกัน

    การต่อสู้ของภาคประชาชน เพื่ออากาศที่ใช้หายใจได้จริง

    ถึงแม้ว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะตอนบนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีส่วนมาจากกิจกรรมการเผาในพื้นที่ชายแดน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกขอบเขตการควบคุมของรัฐ แต่หน้าที่ในการบำบัดทุกข์-บำรุงสุขของประชาชนก็ยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่ การที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาประจำฤดูกาลและยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าภาครัฐยังไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เท่าที่ควรหรือไม่? ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวต่อสู้ของภาคประชาชนที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายเท่าไรนัก

    ตัวอย่างในประเด็นนี้มีให้เห็นชัดเจน หนึ่งในนั้นคือการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร โดยวิทยา ครองทรัพย์ ตัวแทนสภาลมหายใจภาคเหนือ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ผู้ว่าฯ ประกาศพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย หลังจากประสบกับเหตุไฟไหม้ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติออบหลวงตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

    วิทยา ครองทรัพย์ แถลงในนามตัวแทนสภาลมหายใจภาคเหนือ ว่าได้รวบรวมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเผยให้เห็นว่ามีกิจกรรมการเผาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงซ้ำๆมาเป็นเวลา 4 – 5 ปีแล้ว โดยที่พื้นที่ดังกล่าวไม่มีผู้อยู่อาศัยหรือชุมชนใกล้เคียงด้วยซ้ำ ซึ่งสภาพอากาศที่ อ.ฮอด ถือว่าค่อนข้างวิกฤตแล้วด้วยตัวเลขปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงถึง 400 กว่า นั่นทำให้สภาลมหายใจรู้สึกว่าการปฏิบัติงานของภาครัฐยังไม่ดีพอ ซึ่งก็จบลงที่แผนการดับไฟป่าโดย กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รวบรวมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่ทำหน้าที่ดับไฟป่าราว 120 นาย รวมทั้งอาสาสมัครดับไฟป่า และเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมบรรเทาสาธารณภัย เข้าไปทิ้งน้ำเพื่อที่จะดับไฟให้ได้

    ท่าทีของภาครัฐ ความตระหนักรู้ และความพยายามต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

    อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นั้นเป็นปัญหาที่อยู่เรื้อรังและเป็นปัญหาระดับประเทศมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าภาครัฐจะสามารถแก้ปัญหานี้ให้หายขาดได้ในเร็ววัน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐก็ยังคงสร้างแผนและนโยบายรับมือปัญหาเรื้อรังดังกล่าวต่อไป โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ก็ได้ส่งมอบและเผยแพร่นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยแผนและนโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่า “สถานการณ์ฝุ่นในปี 2566 จะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านๆมา”

    อาจจะด้วยความที่เป็นนโยบายการรับมือปัญหาระดับประเทศ “เมืองใหญ่” จึงกลายเป็นจุดแรกสุดที่ถูกให้ความสำคัญ การดูแลสภาพการจราจรในเมืองใหญ่อย่างเช่น กรุงเทพมหานครฯ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือปัญหาฝุ่นควันด้วยความเชื่อที่ว่าสาเหตุของปัญหามาจากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ที่มีการใช้รถใช้ถนนกันอย่างเต็มอัตรา มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าน้ำมัน สำหรับการนำน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาปกติ ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมไปถึงการร่วมมือกับบริษัทรถยนต์หลายบริษัทในการเปิดให้บริการดูแลรถยนต์ในราคาพิเศษ

    ในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด ไฟป่าในพื้นที่จำพวกป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่เกษตร ถือเป็นสาเหตุหลักสำหรับปัญหาฝุ่นควัน การรับมือปัญหาในจุดนี้จึงกลายเป็นการร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรด้วยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก หรือการแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้กิจกรรมการเผาโดยเกษตรกรสำหรับการเพาะปลูกลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การเผาอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ไปแล้ว จึงได้มีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชั่น “Burn Check” สำหรับการจองคิวเพื่อทำกิจกรรมการเผา รองรับวิถีชีวิตรูปแบบดังกล่าว

    นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศในการติดต่อกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อจับมือกันควบคุมดูแลปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวคนเดียว

    ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    นโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคการเมือง ความหวังในการกลับมาหายใจได้อย่างไร้กังวล

    อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองในช่วงนี้ก็คือ การเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูกาลการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับการที่แต่ละพรรคการเมืองผลัดกันออกมาเสนอนโยบายของพรรคตัวเอง เตรียมพร้อมการมาถึงของการเลือกตั้งในช่วงกลางปีที่จะถึงนี้ ซึ่งนี่กลายเป็นความคาดหวังที่ก่อตัวขึ้น ความคาดหวังที่ปัญหาฝุ่นควันจะถูกแก้ไขให้หายไป หรืออย่างน้อยที่สุด รับมือปัญหาฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ในความเป็นจริงนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคย่อมพูดถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และปัญหาฝุ่นควันเองก็ถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง อย่างเช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ชูโรงถึงความชัดเจนในการควบคุมจัดการมลพิษ เพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการบังคับใช้กฏหมายต่อผู้ก่อมลพิษอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งใช้วิธีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อร่วมกันออกแบบและปรับปรุงกฏหมายและข้อบังคับใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ พรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนเพื่อลดการใช้น้ำมัน พรรคก้าวไกล ที่เสนอนโยบายที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างอำนาจ เพื่อการเข้าถึงการควบคุมจัดการแหล่งผลิตมลพิษอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยการผ่านพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ หรือการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างธุรกิจสีเขียวหรือ “Green Economy” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดโยงนโยบายสิ่งแวดล้อมเข้ากับมิติทางสังคมและเศษรฐกิจ ให้ความสำคัญกับธุรกิจสีเขียวและคาร์บอนเครดิตเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับเศษรฐกิจที่ยั่งยืน หรือพรรคสร้างอนาคตไทย ที่เล็งแก้ปัญหามลพิษจากการเผาด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างประโยชน์ต่อยอด เป็นต้น

    ถึงแม้ว่าทุกพรรคการเมืองจะหยิบยกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาพูด รวมถึงออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากแหล่งการผลิตต่างๆออกมา แต่ปัญหาฝุ่นควันที่เรื้อรังมานานก็ได้ทวีความรุนแรงมาขึ้น จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งไปแล้ว ซึ่งการออกแบบนโยบายด้านต่างๆเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบอ้อมๆหรือเป็นผลพลอยได้อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นควันได้ขยายขอบเขตของการรับผิดชอบเพื่อแก้ไขออกไปไกลเกินกว่าจะเป็นปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยการขอให้ประชาชนหยุดเผา หรือหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแล้ว หากแต่จำเป็นต้องมีการทบทวนตรวจสอบอย่างรอบด้าน หรือแม้แต่การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนต่างๆเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึงและถูกจุด ซึ่งอาจจะดูยุ่งยาก แต่นี่อาจจะเป็นความหวังที่คนในสังคมมีต่อพรรคการเมืองพรรคต่างๆในการเลือกตั้งฤดูกาลนี้


    อ้างอิง

    https://www.springnews.co.th/keep-the-world/835002

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...