เชียงแสน Secret: ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมล้านนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เรียบเรียง: สุรยุทธ รุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีเสวนาพิเศษ Thailand Biennale Chiangrai 2023 : ความลับของเชียงแสน ณ พิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมี อ.ภูเดช แสนสา จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ (เพ็ญ ภัคตะ) และ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ศิลปิน ภัณฑารักษ์อิสระ และนักการศึกษา ร่วมการเสวนา

ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสน และมรดกที่ตกทอดไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ 

ภาพ: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ภูเดช แสนสา กล่าวถึงมรดกของเชียงแสนในด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นในอดีต ในรูปแบบของศิลปะเชียงแสน ก่อนจะถูกรวมเป็นศิลปะล้านนาอย่างในปัจจุบัน หรือศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในอดีตอย่างการฟ้อนเชียงแสน หรือในด้านอาหารการกิน เชียงแสนเองก็มีแกงฮังเลเชียงแสนที่แตกต่างไปจากแกงฮังเลอื่นๆ ภูเดช สรุปรวม “ความเป็นเชียงแสน” ไว้ว่าเป็นดั่งความดีความงาม และความเฉพาะตัวที่ถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นถือความลับเชียงแสนในแง่ที่ดีอีกด้วย

“ในบุคคลที่สนใจประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวทางศิลปะ ก็จะเห็นว่าพระพุทธรูปสวย ๆ เด่น ๆ ในช่วง 5-6 ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการใช้คำว่าศิลปะเชียงแสน ก่อนจะมีการเปลี่ยนเป็นคำว่าศิลปะล้านนาในภายหลัง เพราะงั้นความเป็นเชียงแสนจึงแทนความดีความงาม เป็นความลับที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เคยเอามาคุยกัน เป็นความลับที่ดี” ภูเดชกล่าว

ภูเดช บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองเชียงแสน โดยถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ.1871 โดยพญามังราย ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ เช่น ล้านช้าง และรัฐฉาน ทำให้เมืองเชียงแสนกลายเป็นจุดการค้าและการคมนาคมที่สำคัญ โดยมีพญาแสนภู หลานของพญามังรายเป็นผู้ปกครองดูแล และชื่อ “เชียงแสน” ก็เป็นการตั้งชื่อตามพญาแสนภู ผู้ที่เข้ามาปกครองนั่นเอง

พญาแสนภู (ภาพ: https://www.blockdit.com/posts/5f401e13336c170f317b451b)

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังเชียงแสนถูกสถาปนาให้กลายเป็นศูนย์กลางล้านนาตอนเหนือในช่วงปี พ.ศ.2101 โดยพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู ลากยาวมาจนถึงปีพ.ศ.2270 ในสมัยของพระเจ้ามังแรนร่า ซึ่งเกิดการก่อกบฏนำโดย เทพสิงห์ ที่ได้ทำการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจัดการประหารพระเจ้ามังแรนร่าได้

หลังขึ้นครองราชย์ได้เพียง 1 เดือน ทางเมียนมาได้ร่วมมือกับเจ้าองค์คำ เจ้านายเชื้อสายไทลื้อ-ล้านช้าง เพื่อเข้าขับไล่เทพสิงห์จากการครองราชย์ ก่อนจะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้เมืองเชียงใหม่กลับมามีอำนาจภายใต้การปกครองของไทลื้อและล้านช้าง โดยที่ภายหลัง เจ้าองค์คำได้ประกาศอิสรภาพจากเมียนมา ทำให้มีการตัดแบ่งพื้นที่ล้านนาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งมีเมืองเชียงใหม่ของเจ้าองค์คำเป็นศูนย์กลาง และอีกส่วนหนึ่งมีเมืองเชียงแสนเป็นศูนย์กลางซึ่งมี เจ้าฟ้าเชียงแสนเป็นผู้ปกครอง

เชียงแสน ภายใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์เมียนมา ถูกควบคุมดูแลอย่างแน่นหนา ภูเดชให้เหตุผลว่าเมืองเชียงแสน กลายเป็นเส้นทางการติดต่อกับเมืองอังวะซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ของเมียนมาหลังศูนย์กลางการปกครองถูกเปลี่ยนไปจากเดิมคือเมืองหงษาวดี ก่อนจะถูกเข้าตีครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.2347 จนทำให้วัฒนธรรมเชียงแสนกระจัดกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ

วัฒนธรรมเชียงแสนที่ถูกนำออกไปในช่วงปีพ.ศ.2347 นี้เอง กลายเป็นจุดตั้งต้นของมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันมาในพื้นที่อื่น ๆ นอกเมืองเชียงแสน โดยหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่ภูเดชนำเสนอคือในเรื่องของศิลปินอย่าง ท้าวสุนทรพจนกิจ หรือ ใหม่ บุญมา สุคันธกุล ศิลปินเชื้อสายลื้อ ชาวเชียงแสนที่บรรพบุรุษเดินทางไปยังบ้านฮ่อม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปินผู้แต่งค่าวฮ่ำต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดสวนดอก และครูบาศรีวิชัย รวมถึงบทละครน้อยไชยา นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมอื่น เช่น การทอผ้าตีนจกของชาวเชียงแสน การก่อสร้างของช่างชาวเชียงแสน ซึ่งจะมีผลงานให้เห็นตามคุ้ม หรือวัดวาอารามต่าง ๆ หรือความชำนาญด้านการโลหะ จากการที่เมืองเชียงแสนมีบ่อเหล็กขนาดใหญ่ ทำให้ชาวเชียงแสนมีความสามารถและความรู้เกี่ยวกับโลหะติดตัว เป็นต้น

วัดป่าสัก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่วัฒนธรรมต่างถิ่นมารวมตัวกัน

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ (เพ็ญ ภัคตะ)

ดร.เพ็ญสุภา กล่าวถึงประวัติศาสตร์ทางศิลปะของเชียงแสน โดยยกรูปทรงเจดีย์ป่าสักเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ประกอบไปด้วยส่วนฐานล่างเป็นซุ้มพระ ด้านละ 3 องค์ สลับกับเทวดากระหนาบข้าง ส่วนเรือนธาตุเป็นทรงปราสาท มีซุ้มจระนำและพระยืนด้านละองค์ ตกแต่งซุ้มเคล็ก ลายหน้ากาล มกร และส่วนยอดบนสุด เป็นทรงระฆัง 5 ยอด บัวปากระฆังและยอดเจดีย์เป็นบัวกลุ่ม

เจดีย์ป่าสัก มีความก้ำกึ่งในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะที่ถูกสร้างโดยพญาแสนภู โดยได้รับอิทธิพลจากเจดีย์กู่กุฎ วัดจามเทวี ในส่วนฐานชั้นล่าง เพ็ญสุภากล่าวเสริมว่าการสร้างเทวดาสลับกับซุ้มพระ เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างจากตรีกาย มหายาน โดยเทวดาที่ถูกสร้างยังมีลักษณะเครื่องแต่งกายคล้ายกลุ่มเทวดาบนเจดีย์เจ็ดแถวของศรีสัชนาลัยอีกด้วย

เจดีย์วัดป่าสัก (ภาพ: https://chiangrai.bethailand.com/travel/วัดป่าสัก-เชียงราย/#google_vignette)

อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่นักโบราณคดี ว่าแท้จริงแล้วพญาแสนภูไม่ใช่ผู้ที่ติดต่อกับอาณาจักรสุโขทัย แต่เป็นพญากือนา จึงเชื่อว่าเจดีย์ป่าสักไม่ได้ถูกสร้างโดยพญาแสนภู หรือไม่ก็มีการสร้างต่อเนื่องไปจนถึงยุคของพญากือนา หนึ่งในหลักฐานคือซุ้มพระในฐานชั้นล่างล้วนเป็นปางเปิดโลก แต่มีเพียงหนึ่งองค์ที่เป็นปางลีลา ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัย พระพุทธรูปปางดังกล่าวจึงไม่น่าจะถูกสร้างในยุคของพญาแสนภูได้ ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับผู้สร้างที่แท้จริงของเจดีย์ป่าสักยังคงเป็นปริศนา

ในส่วนยอดของเจดีย์ป่าสัก มีสถูปิกะ (เจดีย์จำลอง 4 มุม) เหมือนกับเจดีย์แม่ครัว (เชียงยัน) ของหริภุญไชย ส่วนเรือนธาตุของเจดีย์ป่าสัก มีการสร้างพระปางเปิดโลก 4 ด้านอยู่ใต้ซุ้มเคล็ก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะหริภุญไชย แต่นำมาปรับเปลี่ยนเพิ่มเป็น 2 ชั้น จากเดิมที่มีเพียงชั้นเดียว โดยซุ้มเคล็กนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในศิลปะแบบพุกามในประเทศเมียนมา หรือระกาในศิลปะขอม แตกต่างกันที่ซุ้มเคล็กของเมียนมาจะมีลักษณะสูงตรง และระกาในศิลปะขอมจะมีลักษณะโค้ง

เสากรอบซุ้มเคล็กและเสามุมผนังของเจดีย์ป่าสัก เป็นการผสมกันระหว่างบัวกลุ่มมีเกสรแบบหริภุญไชย และเสากรอบสามเหลี่ยมคว่ำ-หงาย แบบพุกาม เพ็ญสุภากล่าวเสริมว่า เสาลักษณะนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้กับเสาในศิลปะล้านนาที่พบในภายหลัง

ต่อมา เพ็ญสุภา กล่าวถึงส่วนที่มีหน้ากาลของวัดป่าสัก โดยมีอยู่ทั้งหมด 2 จุด จุดแรกอยู่ที่ปลายยอดเหนือกรอบซุ้มฝักเพกา มือยึดท่อนวงโค้ง และจุดที่สองอยู่ในตำแหน่งกาบบัวเชิงปิดฐานเสา โดยตำนานของตัวหน้ากาลกล่าวว่า ถูกสาปแช่งโดยพระศิวะและให้มาเฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้ภูตผีปีศาจเข้ามาในอาณาเขตได้ ซึ่งตัวหน้ากาลนี้เองเป็นรูปสถาปัตยกรรมที่ถูกพบได้ในงานสถาปัตยกรรมของหริภุญไชย เช่น วัดสองแคว เป็นต้น

ส่วนสุดท้ายที่ถูกกล่าวถึง คือส่วนที่มีมกรคายนาค สัตว์ผสมระหว่างจระเข้และช้าง โดยจะถูกประดับอยู่ในจุดปลายของท่อนวงโค้งของซุ้มเคล็กที่ถูกยึดไว้ด้วยมือของหน้ากาล โดย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตีความตัวมกรไว้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย ที่นำศาสนามาสู่สุวรรณภูมิ โดยที่เมืองต่าง ๆ ในพื้นที่สุวรรณภูมิลุ่มแม่น้ำโขง ใช้นาคเป็นสัญลักษณ์ เช่น ในพื้นที่ล้านนา ล้านช้าง หรือเขมร เป็นต้น ดังนั้นลักษณะของมกรคายนาค จึงเป็นเหมือนวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.เพ็ญสุภา สรุปความลับของวัดป่าสักเชียงแสนไว้ ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่รวบรวมสถูปหลากหลายรูปทรงไว้ในที่เดียว เป็นการหลอมรวมศิลปะสถาปัตยกรรมจากสกุลต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างแยบยลในลักษณะของการ “เลือกรับและปรับใช้” ไม่ได้ลอกเลียนมาทั้งหมด

ศึกษาหลักฐานจากอดีต เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในปัจจุบัน

จิตติ เกษมกิจวัฒนา เสนอคำถามเกี่ยวกับการสร้างวัดป่าสัก ว่าหากถูกสร้างในสมัยพญาแสนภูจริง ศิลปวัฒนธรรมจากดินแดนต่าง ๆ จะสามารถนำมาปรับใช้กับวัดป่าสักได้ภายในเวลา 3 รัชกาลจริงหรือ ประเด็นถัดมาคือที่มาที่ไปที่แท้จริงของพระพุทธรูปปางเปิดโลก และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับตัวหน้ากาล ที่จิตติมีความสนใจในเชิงปรัชญา โดยกล่าวเปรียบเทียบตัวหน้ากาลที่ถูกเรียกตามตำนานว่าเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา กับงานศิลปะตะวันตก “เทวฑูตแห่งประวัติศาสตร์” (Angel of History) ซึ่งมีการตีความโดย วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ว่าเป็นเทวฑูตซึ่งปีกถูกสายลมแห่งความก้าวหน้า (Progression) พัดถอยกลับไปในกาลเวลา ทำได้เพียงทอดมองความเป็นไปของโลกจากประวัติศาสตร์เท่านั้น 

จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ภาพ: https://www.thailandbiennale.org/artists/chitti-kasemkitvatana/)

ประวัติศาสตร์ของตัวหน้ากาล สามารถย้อนไปได้ถึงตำนานที่เชื่อมโยงกับพระศิวะของประเทศอินเดีย จิตติบอกเล่าถึงงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบย้อนประวัติศาสตร์ของตัวหน้ากาลกลับไปได้ไกลกว่าประเทศอินเดีย นั่นคือ “เทาเที่ย” ของประเทศจีน ที่เป็น 1 ใน 4 อสูรผู้คุมทางเข้านรกตามตำนานจีน 

จิตติ เล่าถึงความเชื่อของเทาเที่ย ที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมมายังประเทศอินเดีย จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามบริบทของพื้นที่ ก่อนจะกลายเป็นความเชื่อของตัวหน้ากาลซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่ล้านนา ส่วนในแง่ของความเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ นี่เป็นการเคลื่อนตัวของงานศิลปกรรมจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของศิลปะแล้ว ชื่อหน้ากาล เพิ่งถูกใช้เรียกในงานเขียนหลังจากที่ความเชื่อดังกล่าวเดินทางเข้ามาในพื้นที่แล้ว จิตติจึงมองว่านี่เป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง แต่ชื่อที่แท้จริงในตอนที่ความเชื่อของตัวหน้ากาลเข้ามาสู่อินเดียและล้านนาคืออะไรนั้น ก็ยังคงไม่ทราบได้ ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

“ถ้าเรามองในมิติของการศึกษาประวัติศาสตร์ มันก็ก้ำกึ่งว่านี่ไม่น่าจะเป็นจริงทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม แง่คิดของพวกเราในปัจจุบันคือต้องทำให้มันสืบต่อไป จนวันหนึ่งเราอาจจะเจอหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้น ก็จะสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นไปอีก” จิตติกล่าว

จิตติ กล่าวต่อถึงวัดป่าสัก ในแง่ของการเป็นตัวแทนของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการก่อตัวของวัฒนธรรม ว่าไม่ใช่เป็นการรวมวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้ในจุดจุดเดียว แต่เป็นการประกอบกันด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนและเคลื่อนที่ไปตามหน้าประวัติศาสตร์ โดยเสริมว่า งานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์มีนัยยะถึงภาพรวมของเชียงแสนและล้านนา ที่ดูผิวเผินอาจจะไม่มีแง่มุมอะไรมากนัก แต่เมื่อผู้ชมศึกษาและเข้าใจประเด็นต่าง ๆ เช่น ชาติพันธุ์ หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดเชียงแสน ก็จะทำให้เห็นมิติที่อยู่ลึกลงไปอีกได้ ซึ่งจิตติมองว่ามีความสำคัญ

กำแพงเมืองเชียงแสน หลักฐานการคงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมและธรรมชาติ

ในเวทีเสวนาถัดมา คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวเบอร์ลิน-ปารีส ได้กล่าวแนะนำงานศิลปะของตนที่นำมาจัดแสดง ณ พิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน โดยมีคอนเซ็ปต์ของการซ่อมแซม ที่ในทางตะวันตก หมายถึงการสร้างสิ่งที่เสียหายไปแล้วขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องมีร่องรอยของการซ่อมแซมตกค้างไว้ให้ได้พบเห็นกันอยู่ ต่างจากการซ่อมแซมในทางตะวันออก ที่คาแดร์ตีความว่าเป็นการซ่อมแซมที่ลบร่องรอยตกค้างออกไปจนหมด จนเหมือนของที่เคยเสียหายกลายเป็นของใหม่ 

คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวเบอร์ลิน-ปารีส (ภาพ: https://www.thailandbiennale.org/artists/kader-attia/)

คอนเซ็ปต์ทางศิลปะดังกล่าว สามารถนำมาตีความใหม่ได้ในบริบทของสังคมทุนนิยม ที่เมื่อสิ่งของต่าง ๆ มีการชำรุด แทนที่จะซ่อมแซมจนสิ่งของกลับมาใช้ได้ พร้อมกับร่องรอยความพยายามของการซ่อมแซมที่เป็นเหมือนเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งของชิ้นนั้นๆ ถูกซ่อมจนนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ผู้คนกลับเลือกที่จะซื้อของใหม่ทันทีหลังจากสิ่งของต่าง ๆ เกิดการชำรุดเสียหาย

คาแดร์ เปรียบเทียบพฤติกรรมการซื้อของใหม่เมื่อมีสิ่งของเสียหาย ว่าเป็นการลบประวัติศาสตร์ การซ่อมแซมจึงเป็นเหมือนกับการยอมรับว่ามีอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ รวมถึงในแง่ของวัฒนธรรมและธรรมชาติด้วย 

สิ่งที่ดึงดูด คาแดร์ ให้เข้ามาทำงานศิลปะเกี่ยวกับกำแพงเมืองเชียงแสน คือการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ตั้งตระหง่าอยู่ท่ามกลางพืชพันธุ์ที่เติบโตขึ้นแทรกตามกาลเวลา รวมทั้งยังมีความน่าสนใจในแง่ของการที่กำแพงเมืองเชียงแสน เป็นดั่งชั้น (Layer) ทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ได้ โดยคาแดร์เปรียบเทียบว่านี่เป็นการยอมรับทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ ว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้

นอกจากนั้น คาแดร์ยังได้เปรียบเทียบเชียงแสนกับนครวัด โดยกล่าวว่ามีความแตกต่างกันและเปรียบเทียบได้ยาก เชียงแสนมีความโดดเด่นของกำแพงเมืองและความเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง อีกทั้งการที่เชียงแสนเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยถูกปกครองโดยชาติอาณานิคม ทำให้เชียงแสนมีความผูกพันกับผู้คนในท้องถิ่น ที่ในปัจจุบันก็ยังคงมีร่องรอยของเชียงแสนในอดีตหลงเหลืออยู่

บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง