พฤษภาคม 19, 2024

    คนเหนือเดือนตุลา: ‘ใบไม้ไหว’ เพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” บาดแผลในความทรงจำในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516

    Share

    เราอาจจะรู้จัก “จรัล มโนเพ็ชร” ในฐานะของศิลปินชาวเชียงใหม่ ผู้ยกระดับให้เพลงภาษาคำเมือง จนพัฒนาแนวเพลงที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “โฟล์คซองคำเมือง” ที่ส่งผ่านความทรงจำผ่านเสียงเพลงมาร่วม 4 ทศวรรษ

    แม้บทเพลงส่วนใหญ่ของจรัลจะมุ่งสื่อสารไปที่สภาพแวดล้อม วิถีและบริบทในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นของคนในพื้นที่ล้านนา แต่ก็มีอยู่ 1 บทเพลงที่จรัลส่งผ่านสำนึกและความรู้สึกที่ท่วมท้นต่อเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารเข้าใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยถนนราชดำเนิน ในเวลาก่อนเที่ยงวันของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

    แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว จะถูกบันทึกว่าเป็นชัยชนะของประชาชนที่สามารถขับไล่เผด็จการ “3 ทรราช” จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร (บุตรชายของจอมพลถนอมและเป็นบุตรเขยของจอมพลประภาส) แต่อีก 3 ปีให้หลัง ประเทศไทยก็กลับคืนสู่การเป็นประเทศเผด็จการอีกครั้งหลังการมาเยือนของเหตุการณ์ความรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม

    จรัล มโนเพ็ชร ได้แต่งเพลงที่ชื่อ “ใบไม้ไหว” เพื่ออธิบายความรู้สึกข้างในจิตใจที่ฝังลึกมาร่วม 10 ปีเต็ม โดยเพลงใบไม้ไหวถูกแต่งขึ้นในปี 2526 ในหนังสือ “อื่อ…จา…จา” (เพื่อนเดินทาง กันยายน 2527) จรัลได้สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์ไว้ว่าในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงนั้น (2516) มีการจัดการชุมนุมโดยนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง และตนก็มีโอกาสได้เข้าร่วมก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจนมีความคิดที่เอนเอียงมาในฟากฝั่งนักศึกษา

    “สภาพทั่วไปที่เชียงใหม่ มีการชุมนุมที่สวนสาธารณะ ประตูท่าแพ มีการอธิบายโจมตีรัฐบาลชุดนั้น ประชาชนต่างก็สนับสนุนกันมาก…ผมอยู่ปี 5 พอดี เริ่มศึกษาด้านการเมืองเพราะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้ ผมเองอยากจะรู้เรื่องราวของการเมืองว่าเป็นอย่างไร เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับลัทธิการปกครอง การเมือง พออ่านแล้วก็เกิดความเห็นด้วย คิดว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข อะไรต่อมิอะไรได้แล้ว แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็เกี่ยวกับความรุนแรง ผมไม่ชอบความรุนแรงอย่างเด็ดขาด ทางด้านกิจกรรมที่ผมสามารถช่วยได้ ก็มีเพลง และเขียนรูป เขียนโปสเตอร์…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ช่วงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516) การประชาสัมพันธ์ที่ออกข่าว ไม่ตรงความเป็นจริง ผมรู้สึกเสียใจมาก โดยส่วนตัวแล้ว หากตัวเองสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ก็จะร่วมทำทันที เพียงรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายรัฐบาลเขาทำไม่ถูก…ส่วนตัวผมเสียใจมากกับการฆ่ากันครั้งนั้น ผมนอนร้องไห้กับเพื่อน ๆ เมื่อได้ข่าวร้ายนั้น…”

    เพลงใบไม้ไหว จึงถูกเขียนขึ้นด้วยภาพจำที่ยังติดตาแม้จะผ่านเวลาหม่นเศร้ามาแล้วก็ตาม

    “พี่คอยก็คงจะคอยหาย คนไม่ควรตายก็ตายไป 

    คนที่ควรเจริญวัยสดใส เลยพลอยตายไปเพราะคำสั่ง 

    ทั้งประสบภัย ทั้งยังไร้ที่กลบฝั่ง งวนระงมร้องคราง 

    เลือนรางร้ายแรง แห่งมหาภัย รบกันอีกแล้ว

    เพียงแค่มือไม่ยอมจับต้องปืน คงมีทางคืนดีกันได้

    เพียงแค่ยอมยับยั้ง ชั่งจิตใจ โดยไม่หลงใหลอำนาจตน

    แล้วจะโทษใคร แล้วสิ่งไหนคือเหตุผล

    ตายไปทีละคน เพียงคนสองคน

    ฆ่าหลายคน ฆ่ากันอีกแล้ว

    หรือไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว ไม่ผวา

    ควรหรือทำเฉยชา หรือคิดว่าเพียงแค่ใบไม้ไหว

    ใกล้เข้ามาแล้ว รบกันอีกแล้ว ฆ่ากันอีกแล้ว”

    ฟังเพลง ‘ใบไม้ไหว’ ได้ที่ https://youtu.be/ojr5LF3HfFQ?si=ftG4zEpd3Op6CENS

    อ้างอิง

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...