เมษายน 30, 2024

    เชียงใหม่เมืองดนตรี กับเหตุผลที่ว่าทำไมยังไม่มี Live House

    Share

    เรื่อง: ธันยชนก อินทะรังษี

    ท่ามกลางแสงไฟสลัวและเสียงเพลงอันแผ่วเบา สะท้อนมาจากร้านอาหารหรือสถานบันเทิงอันเป็นที่นิยมของนักท่องราตรี “เชียงใหม่เมืองดนตรี” ในวันที่ทุกคนถามถึงพื้นที่เล่นดนตรีที่มีคุณค่า บ่อยครั้งเรากลับพบว่าการแสดงดนตรีสดในเมืองที่โรแมนติกตามคำใครนิยามไว้ กลายมาเป็นของแถม ซึ่งต่างจากในต่างประเทศ ที่จะมีสถานที่ที่ผู้คนไปรวมตัวกันเพื่อฟังดนตรีสด ไปค้นพบศิลปินใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อนได้ในชีวิตประจำวัน สถานที่นั้นเรียกว่า ‘Live House’ ตามมาด้วยคำถามที่ว่า ‘แล้วทำไมเชียงใหม่ยังไม่มี Live House’



    LIVE HOUSE คืออะไร

    Live House คือพื้นที่การแสดงดนตรีที่เป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ หรือคลับเล็ก ๆ ที่มีสถานที่และอุปกรณ์พร้อมสำหรับการแสดงดนตรี  โดยในประเทศญี่ปุ่น Live House เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุค 70s เป็นสถานที่ที่ดนตรีแนวร็อก แจ๊ส บลูส์ และโฟล์ค มักไปทำการแสดงโดย Live House ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นคือ Coffee House Jittoku ที่ก่อตั้ง ณ โกดังสาเกเก่า ในปี 1973 

    หลักจากนั้นวัฒนธรรมการฟังดนตรีใน Live House ก็เริ่มแพร่กระจายไปตามที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในต่างทวีป ลักษณะของ Live House ยังมีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่วงดนตรีต่าง ๆ โดยเฉพาะวงอินดี้ หรือวงใต้ดินมาใช้จัดแสดง โดยที่บางครั้งศิลปินอาจเป็นผู้เช่าสถานที่ เก็บค่าตั๋ว และดำเนินการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ศิลปินที่มีแฟนคลับจำกัด และยังเป็นพื้นที่ที่คนรักดนตรีสามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ รู้จักวงดนตรี หรือแนวเพลงใหม่ ๆ ได้ด้วย พื้นที่การแสดงในรูปแบบ Live House นั้นพอจะมีให้พบเห็นอยู่บ้างในประเทศไทย แต่อาจยังเป็นรูปแบบที่ไม่แพร่หลาย หรือได้รับความสนใจน้อยจนหลายที่ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

    ทำไม Live House เป็นทางเลือกที่ดีในการดูดนตรี ที่ยังขาดแคลนในบ้านเราอยู่

    ลิโด้ คอนเน็คท์ (Lido connect) หนึ่งในพื้นที่แสดงดนตรี Live House ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราอยู่ได้ เติบโตขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้จัด ค่าย และตัวศิลปินที่ผลักดันผลงานของตัวเองสู่คนฟังทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราเห็นสิ่งนี้มานานมากแล้วว่ามันคือการยืนด้วยขาของตัวเอง ในขณะที่วงการดนตรี ศิลปะได้รับการสนันสนุนจากรัฐน้อยมาก ๆ ยิ่งกับภาพธุรกิจดนตรีขนาดเล็กที่แทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย ซ้ำยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลากว่าจะสามารถขออนุญาตจัดงานหรือใช้พื้นที่ได้

    ทำให้ตอนนี้ความหลากหลายและสไตล์ดนตรีที่ผลิตออกมาเพื่อให้ตอบรับความต้องการคนฟังเลยคลอดออกมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ทุกคนจะสามารถฟังแล้วร้องตามได้ ตีความง่าย เข้าติ๊กต็อกได้ ไปอยู่ตามร้าน ผับ บาร์ทุกคนก็พร้อมจะเอ็นจอยกับเพลงได้ทันที มันก็ส่งผลให้เกิดวงจรแบบนี้ซ้ำเรื่อย ๆ สิ่งนี้ส่งผลอย่างไรกับฝั่งผู้ผลิตและศิลปิน ผู้ผลิตเองก็จะต้องพยายามทำเพลง ผลงานที่ขายได้ออกมา ศิลปินก็ต้องเลือกหยิบจับผลงานของตัวเองที่ทุกคนพร้อมรับฟังออกมา ไม่แปลกเลยที่การเสิร์ฟเพลงถึงหูคนฟังก็จะวนเวียนซ้ำเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนฟังส่วนใหญ่เหมือนเดิม



    ในส่วนของฝั่งผลิต ในเมื่อ Live House เกิดขึ้น การจ้างงานก็เกิดขึ้น คนทำงานโพรดักชันดนตรีก็มีรายได้ เกิดการหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นBackup staff, Sound engineer, Graphic, Content และ Visual effect ทำให้ซีนของอาชีพในวงการดนตรีเข้าสู่สายตาผู้บริโภคด้วย นี่อาจจะส่งผลไปถึงเรื่องการผลักดันสวัสดิการของคนทำงานดนตรีต่อไปด้วย ตอนนี้กำลังมี Live House ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในบ้านเราแล้ว เราดีใจมาก แต่มันยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองกรุงเทพ ฯ เท่านั้น และมันจะอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากวัฒนธรรมการเปิดใจรับฟังดนตรีที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ซึ่งมันคงต้องโตไปพร้อมกันระหว่างธรรมชาติของคนฟังที่จะเปลี่ยนไปเพื่อสนับสนุนศิลปินและการอยู่ของ Live House

    แล้วทำไมเมืองดนตรีอย่างเชียงใหม่ถึงยังไม่มี Live House

    เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ ผู้ก่อตั้ง TEMPO.wav และเฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล นักร้องนำและมือกีตาร์ Solitude Is Bliss และศิลปินเดี่ยว View From the Bus Tour สองผู้ขับเคลื่อนประเด็นทางดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลว่า ‘ทำไมเชียงใหม่ถึงยังไม่มี Live House’ โดยเฟนเดอร์กล่าวว่า คงเป็นเรื่องของทุนและโมเดลธุรกิจที่คนในพื้นที่ยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้มันไปรอด เพราะว่าเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่เช่าสถานที่ เรายังไม่มีนายทุนที่ลงมาทำและเป็นเจ้าของเอง ซึ่งทางนี้เราก็เห็นใจผู้ประกอบการที่พยายามที่พยายามจะผลักดัน ถึงแม้จะรู้ถึงข้อจำกัดบางอย่างก็ตาม และในส่วนของนายทุน แน่นอนว่าพวกเขาคำนึงในเชิงธุรกิจ เรื่องการสร้างเงินเสียมากกว่า นั่นจึงทำให้เรายังไม่ได้พบเห็นว่ามีใครมองไปทางลู่วัฒนธรรมสุดมากพอที่จะลงมาทำ อีกปัจจัยหนึ่งคือผู้บริโภค เอิงให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า วัฒนธรรมการเสพเพลงของคนไทยมันเป็นของแถมมากับการดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหาร ในร้านเหล้า คนเคยชินกับการที่ดนตรีเป็นเพียงส่วนประกอบ เหมือนกับว่า เวลาเราออกไปกินเหล้า ไปสังสรรค์ มันจะมีดนตรีสดสนุก ๆ



    เอิง ศุภกานต์เล่าเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นนักฟังเพลง วัฒนธรรม Live House  แน่นอนว่ามันจะส่งเสริมการเปิดอกเปิดใจของคนในการเสพ “กูก็ไม่รู้ว่ากูจะไปเสพอะไร แต่ว่ามันเป็นผลงาน” เหมือนเวลาเราเดินเข้าไปในแกลเลอรี (Gallery) แล้วมีผลงานศิลปะ แบบนี้มันก็เป็นแบบเดียวกันกับดนตรี คือเราไม่รู้มาก่อน เรารู้เพียงแค่กำหนดการว่าวันนี้มีศิลปินคนนี้นะ เราก็จะตัดสินใจออกจากบ้านว่าเราจะไปค้นพบสิ่งนี้ มันก็เป็นพื้นที่แบบว่าทำให้สังคมเปิดขึ้น ถ้าถามถึงคุณค่าที่เป็นวัฒนธรรม บางทีมันไม่ได้ถูกสื่อสารมาเป็นมูลค่า ก็อาจจะทำให้คนตัดสินใจเตรียมลงทุน หรือระดับเมือง เขายังไม่เห็นว่ามันมีมูลค่ายังไง เพราะว่ายังไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาตรง ๆ ที่เป็นตัวชี้วัด 



    ทางเฟนเดอร์ ธนพล แสดงความคิดเห็นว่าในยุคสมัยที่ผู้คนคุ้นชินกับโลกออนไลน์ จนบางครั้งเราอาจลืมไปว่า เราไม่เคยเห็นของจริงเลยสักครั้งหนึ่ง จากเรื่องที่พูดถึงแกลเลอรี (Gallery) เราอาจจะเห็นแค่งานศิลปะออนไลน์ แต่เราไม่เคยได้สัมผัสว่าภาพจริงเป็นอย่างไร มีเนื้อสัมผัส (Texture) แบบไหน ศิลปินใช้แปรง หรือมีเทคนิคยังไง เช่นเดียวกับการเข้าไปใน Live House ในฐานะศิลปินผู้เล่นดนตรีเอง จะได้ขัดเกลาด้านการแสดงสดบนเวที ส่วนคนฟังบางคนอาจจะโดนเพื่อนลากมา หรือเริ่มสนใจมาครั้งแรก เขาก็จะเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจในการเล่นดนตรี คนดูสามารถรับรู้ได้ถึงไดนามิก เมโลดี้ และพลังที่สื่อสารถึงคนดูได้อย่างแน่นอน

    “เราคิดว่าการมี Live House ก็คือเป็นเหมือนแกลเลอรี เป็นพื้นที่การแสดงต่อหน้าผู้ชม นอกจากตัวศิลปินได้สร้างงาน ตัวคนเสพก็ได้ Value”

    แต่เชียงใหม่มี Music Venue 

    ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มี Live House แต่หากถ้าอิงจากเชียงใหม่ เฟนเดอร์กล่าวว่า เราจะพบว่าในเชียงใหม่มีสถานที่จัดแสดงดนตรี (Music Venue) คือสถานที่ใดก็ตามที่ใช้สำหรับจัดคอนเสิร์ต หรือการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ  ขนาด และที่ตั้ง ตั้งแต่พื้นที่เล็ก ๆ อย่างร้านกาแฟ, เวทีกลางแจ้ง, ลานกว้างในพื้นที่สาธารณะ, ผับบาร์, ฮอลล์ขนาดใหญ่สำหรับแสดงคอนเสิร์ต ไปจนถึงสนามกีฬาในร่ม ฯลฯ หรืออย่าง Chiangmai OriginaLive ก็เป็นความพยายามที่สำคัญในการผลักดันเรื่องพื้นที่แสดงดนตรี ศิลปินสามารถแสดงศักยภาพและตัวตนได้อย่างเต็มที่

    โดยแบ่งสเปกตรัม ตั้งแต่การค้า (Commercial) ไปเลย เน้นยอดขายแอลกอฮอล์เครื่องดื่ม และดนตรีเป็นส่วนประกอบหรือของแถม ผับ บาร์ เลื่อนลงมาหน่อยเป็นร้านที่ผสมมีทั้งดนตรีโฟล์ค และการแสดงเต็มวง มีทั้งเล่นเพลงเฉพาะทาง เพลงป๊อบ สลับเป็นช่วง ๆ กันไป แต่สายเฉพาะทางก็จะมีสเปกตรัม ลดหลั่นสัดส่วนกันประมาณ แต่โดยรวมจะสามารถแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก โฟล์ค 1-2 คน ไม่เกินกว่านี้ ขนาดกลาง Full band แต่พื้นที่ก็เล็กลงไป แต่ไม่มีขนาดใหญ่ เขากล่าว

    คาแรคเตอร์ของสถานที่จัดแสดงดนตรีก็อาจแตกต่างกันไป Thairath Plus ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มตั้งแต่แนวดนตรีที่สอดคล้องกับสถานที่ โดยทั่วไปแล้วสถานที่แต่ละรูปแบบก็คล้ายว่ามีแนวดนตรีที่เป็นเจ้าภาพขาประจำ อย่างไม่เป็นทางการ ที่มักจะได้แสดงในพื้นที่รูปแบบนั้น ๆ อยู่บ่อย ๆ เช่น ดนตรีคลาสสิกเป็นขาประจำของโรงอุปรากร (Opera House) ขณะที่ร้านผับบาร์ก็มักจัดแสดงดนตรีร่วมสมัย เช่น ร็อค ป๊อป ป๊อปแดนซ์ หรือดนตรีแจ๊สที่มักแสดงในแจ๊สคลับ (Jazz Club)

    นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างด้านความถาวร หรือชั่วคราวของพื้นที่ สถานที่จัดแสดงบางแห่งอาจเป็นอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น สเตเดียม อารีนา สนามกีฬาและอัฒจันทร์ แต่บางแห่งก็อาจเป็นสถานที่ชั่วคราว เช่น เวทีในเทศกาลดนตรีที่มักเคลื่อนย้ายไปจัดตามที่ต่าง ๆ

    อีกหนึ่งคาแรกเตอร์สำคัญของสถานที่แสดงดนตรีคือศูนย์กลางความสนใจ สถานที่จัดแสดงบางแห่งอาจมีดนตรีเป็นพระเอก ทุกคนมาเพื่อฟังดนตรีเป็นหลักโดยปราศจากกิจกรรมอื่น บางแห่งอาจมีดนตรีเป็นหลักก็จริง แต่อาจให้บริการอาหารและเครื่องดื่มไปด้วย ในขณะที่สถานที่บางแห่งก็อาจเน้นกิจกรรมอื่น ๆ เป็นหลัก เช่น การกินดื่ม การเดินช็อปปิ้ง การตั้งแคมป์ โดยมีดนตรีเป็นหนึ่งในบรรยากาศของงานเท่านั้น โดยเฟนเดอร์ทิ้งท้ายว่า แท้จริงแล้วเราอาจจะไม่ต้องการ Live House จริง ๆ ในตอนนี้ เราเพียงต้องการสร้างวัฒนธรรมก่อนกับการโชว์เคส คอนเสิร์ตเวทีไม่ใหญ่มาก จำนวนคนดูพอประมาณโดยมีกลุ่มคนฟังที่ทุกเพศทุกวัย แต่สร้างคุณค่าทางด้านจิตใจ แล้ววันหนึ่งมันอาจจะเกิดเป็น Live House ได้จริง ๆ ก็ได้

    มุมมองจากคนดนตรีเชียงใหม่

    “My Hometown Project” ในทางเดียวกัน วิวฟรอมเดอะบัสทัวร์ (View From The Bus Tour) ได้แต่งเติมพื้นที่ให้ดนตรีเชียงใหม่มีสีสันอีกครั้ง ในการแสดงเต็มวง “Shows Around My Hometown” ในวันที่ 29 เมษายน – 16 พฤษภาคมนี้ ในพื้นที่ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อต้องการสื่อสารถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจในประเทศไทย ทั้งเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ผ่านมุมมองของนักสร้างสรรค์ โดยใช้เสียงดนตรี โดยการแสดงดังกล่าวจัดไว้ในช่วงกลางวัน เพื่อสำหรับคนที่ไม่นิยมออกบ้านไปร้านรวงยามราตรีแต่มีความรักในการชมการแสดงสด และสิ่งสำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ไม่จำกัดอายุ คงจะดีที่สุดหากพวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสและพัฒนาอัตลักษณ์ในการชื่นชมวัฒนธรรมได้ตั้งแต่เยาว์วัย


    ภาพจาก: View From The Bus Tour

    “แล้วความต้องการของศิลปินที่อยากจะพูดงานศิลปะของตัวเองนั้นคืออะไร

    มันคงจะดีหากเรามีพื้นที่ให้กับผู้ที่อยากพูด และผู้ที่พร้อมจะเปิดใจรับฟังต่อหน้า ต่อตา และต่อหู”

    แม้ว่าในพื้นที่ดนตรีระแวกบ้านของเราที่สนับสนุนแนวคิดนี้ และมีเงื่อนไขทางกายภาพพอเหมาะพอดีกับการนำเสนอเสียงของพวกเรา ทดลองและนำเสนอโมเดล ระบบนิเวศ (Ecosystem) ระหว่างศิลปิน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว นักฟังเพลง เหมือนที่มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ศิลปินใกล้ตัวที่นี่เคยทำกันมาแล้ว หากแต่ว่าครั้งนี้เราพยายามทำให้เสียงดังขึ้นกว่าเดิม วิวฟรอมเดอะบัสทัวร์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้อีกว่า พื้นที่การแสดงดนตรีในเชียงใหม่มีไม่น้อย ส่วนใหญ่นั้นมีขนาดเล็กและขนาดกลาง หากมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเป็นที่ที่เน้นกลุ่มลูกค้ากินดื่มสังสรรค์และซิงอะลอง ตามภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่แบกไว้ เราจึงเห็นนักดนตรีโฟล์คเดี่ยว หรือเซ็ตวงไม่เกิน 4 คนได้อยู่ทั่วไป ซึ่งมันก็ได้ตอบโจทย์ในการรองรับลูกค้านักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี 

    หากแต่ว่าอีกหนึ่งโอกาสก้าวกระโดดของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาจอยู่ที่นี่ การมีพื้นที่ให้กับนักดนตรีสร้างสรรค์ได้ทำการแสดงอย่างเต็มรูปแบบ คุณภาพเครื่องเสียงครบมาตรฐาน รูมทรีทเม้นท์ การตกแต่งแสง ขนาดของเวทีที่เพียงพอ ซาวด์เอ็นจิเนียร์ เวิร์คช็อปส่งต่อความรู้เรื่องการเสริมสร้างคุณภาพ เจ้าของพื้นที่ที่ต้องการให้ผู้คนได้พบกับดนตรีที่มาจากน้ำเสียงดั้งเดิมของศิลปินจริง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือตัวเหล่าศิลปินที่มีความกระตือรือร้นค้นหาโอกาสในการนำเสนอเรื่องราวและน้ำเสียงของตัวเอง เหล่านี้คงทำให้เมืองแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเข้าใกล้ความหมายที่แท้จริงของตัวมันได้อีกไม่น้อย เราจะมีนวัตกรรมทางดนตรีที่หลากหลายมากขึ้น คนรุ่นใหม่ก็มีใจกล้าจับปากกาคว้าเครื่องดนตรีมาตั้งวงใหม่ ๆ สร้างความตื่นเต้นและบรรยากาศการแข่งขันที่ดีต่อสุขภาพ ดึงดูดผู้ฟังหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก ได้ผลประโยชน์กันถ้วนหน้าจากการร่วมกันสร้าง “เมืองดนตรี” ที่แท้จริง



    ด้านศิลปินเชียงใหม่อีกวงอย่าง โลเวอร์แมนชั่น (Lower mansion) ที่มีเพลงฮิตติดหู ‘เพลงรักในวันลา’ ยอดวิวทะลุถึง 70 ล้านใน YouTube รวมถึงเพลงเพราะมากมาย เช่น วน กอดลาครั้งสุดท้าย เดินทางปลอดภัย และแค่ฝันก็พอ โดยสมาชิกวง Lower mansion สี่หนุ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นนักร้องนำ) ประกอบด้วย ฮาท-พีรพัฒน์ บุญศรี มือกีตาร์, ฟลุ้ค-อนุชัจ สุรวิชิตกร มือเบส, ท๊อป-อนาวิน นาเมืองรักษ์ มือกลอง และเมท- ทวิชากร อิงอาน ร้องนำ (เชียงราย) จากเด็กหนุ่มที่ช่วยกันแต่งเพลงแรกที่ใต้หอพัก จึงเป็นที่มาของชื่อวง Lower mansion

    “อยากเห็นวงเชียงใหม่ สามารถมีชื่อเสียง หาเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในกรุงเทพครับ” 

    Lower mansion ได้กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของวงก็มาจากการเป็นนักดนตรีกลางคืนในจังหวัดเชียงใหม่ เล่นดนตรีทุกอย่างตามใจลูกค้าและเจ้าของร้าน พวกเราจึงอยากมีเพลงเป็นของตัวเองบ้าง ให้ผู้คนชื่นชอบความเป็นตัวเรา โดยเป้าหมายหลักคือ อยากให้เพลงของพวกเราเดินทางไปถึงผู้ฟังในวงที่มันกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของวงดนตรีในเชียงใหม่ สำหรับผมรู้สึกว่า ถูกจำกัดกว่ากรุงเทพมาก ๆ ครับ น่าจะเป็นที่สถานที่โชว์ด้วย ที่น้อยกว่า รวมถึงเงินจ้างที่น้อยกว่า ในกรณีถ้าเป็นวงดนตรีที่เล่นเพลงตัวเองล้วนนะครับ” สำหรับคำถามที่ว่าถ้าเชียงใหม่มี Live House จะเป็นยังไง ถ้าเป็นเรื่องของสถานที่ไม่น่ามีอะไรต่าง แต่อาจจะต้องพูดไปถึงค่านิยมการฟังเพลง และทำอย่างไรให้คนเชียงใหม่หรือพื้นที่อื่นสนใจนักดนตรีเชียงใหม่ที่เล่นเพลงของตัวเอง เพราะหากมีแค่ Live House แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ขึ้นมา แน่นอนว่า Live House ก็ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ “มันยากมากจริง ๆ ครับ ที่วงดนตรีอิสระจากเชียงใหม่อย่างพวกเรา จะมาถึงตรงนี้ได้ถ้าไม่มีพวกคุณ ขอบคุณจริง ๆ ครับ” พวกเขากล่าวทิ้งท้าย

    ความหลากหลายและสไตล์ของดนตรีที่ผลิตออกมาเพื่อตอบรับกับคนฟังส่วนใหญ่ ผู้ผลิตเองก็จะต้องพยายามทำเพลงหรือผลงานที่ขายได้ออกมา ในขณะที่การจ้างงานของเจ้าของพื้นที่ ผู้จัดเองก็ต้องเน้นมองหาและเลือกศิลปินที่มีผลงานที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า Live House เป็นพื้นที่ทางเลือกในการเสพดนตรีที่ดีของคนดนตรีทุกคน ทั้งฝั่งศิลปินและคนฟัง ถึงแม้ปัจจุบันเมืองแห่งดนตรีและศิลปะอย่างเชียงใหม่ ยังมีหลายองค์ประกอบที่ไม่สามารถนำไปสู่ Live House ได้ แต่ยังมีพื้นที่สถานที่จัดแสดงดนตรี (Music Venue) ด้วยความพยายามของคนหลายกลุ่มหรือในศิลปินนักดนตรีเอง ที่ช่วยกันผลักดันวงการดนตรีเชียงใหม่ให้มีพื้นที่การแสดงดนตรี รายได้ และการสร้างสรรค์แนวดนตรีที่หลากหลายขึ้น


    ที่มา:

    https://metropolisjapan.com/rock-the-house/

    https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101346

    https://www.facebook.com/lidoconnect/photos/

    https://urbancreature.co/now-you-know-live-house/

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...