พฤษภาคม 19, 2024

    รื้อมรดกกฎหมายป่าไม้-ที่ดินคสช. ‘สกน.’ ยื่น 4 ข้อเรียกร้องถึงพิธา พร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์

    Share

    15 มิถุนายน 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวทีพรรคก้าวไกลพบภาคประชาสังคมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ยืนยันข้อเสนอจากเครือข่ายที่ดิน-ป่าไม้ชาติพันธุ์ 4 ข้อ กังวลนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้านของพรรคก้าวไกลไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล 

    ภาพ: อนุชา ตาดี

    หนังสือ สกน. ระบุว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 พรรคก้าวไกลได้เปิดตัวนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้าน ณ จังหวัดเชียงใหม่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำนโยบายดังกล่าวมาหาเสียงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามข้อห่วงกังวลของ สกน. คือ นโยบายด้านชาติพันธุ์ไม่ได้รับการบรรจุอยู่ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเกรงว่าอาจไม่มีการขับเคลื่อนต่อเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และมีข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกล ดังนี้

    1. ผลักดันให้มีกลไกการทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกการประสานงานร่วมมือกันของรัฐบาล หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ 

    2. รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงกลไกด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562, นโยบายทวงคืนผืนป่าและคดีความอันเกิดจากนโยบายดังกล่าง, มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561, คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ และผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

    3. รื้อถอนประวัติศาสตร์การกดขี่ชาติพันธุ์โดยรัฐและชนชั้นนำไทย โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลต้องแถลงต่อองค์การสหประชาชาติและสังคมไทยว่า “ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง” และประกาศขอโทษที่ประเทศไทยมีนโยบายละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และพร้อมที่จะฟื้นฟูสิทธิ คืนสิทธิและความเป็นธรรมให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เป็นก้าวแรกของการชำระประวัติศาสตร์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในทุกด้าน

    4. กรณีรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวัฒนธรรม ขอให้พรรคก้าวไกลจัดวางบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยเป็นคนที่มีความเข้าใจในปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีอคติต่อภาคประชาชน สามารถทำงานร่วมกันกับภาคประชาชนเพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือ โดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) พร้อมมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง

    ภาพ: อนุชา ตาดี

    จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านผาตืน ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ และนโยบายการจัดการที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงเรียกร้องให้รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่สร้างผลกระทบให้ชุมชนเหล่านั้น และผลักดันกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

    “ถ้าท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ท่านแก้ไขตรงนี้ และที่ผ่านมาในการทำ MOU ที่ผ่านมา เราไม่เห็นว่าจะมีประเด็นชาติพันธุ์อยู่ในนั้น อยากให้ท่านเอาให้ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะทำงานขึ้นมา พี่น้องบนดอยปากเสียงก็มีเท่านี้ คงต้องทำให้เป็นคณะทำงานที่มีรูปร่างชัดเจน ผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาชาติพันธุ์ให้ไปถึง” จรัสศรีกล่าว

    ด้าน ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ย้ำเรื่องการรื้อถอนนโยบายทวงคืนผืนป่า มรดกของ คสช. ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบ ต้องติดคุก ติดคดีกว่า 48,000 คดี เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนใน 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล

    “อยากให้พรรคก้าวไกลผลักดันการนิรโทษกรรมคดีทวงคืนผืนป่า ช่วยผลักดันกฎหมายที่ดิน-ป่าไม้ที่ต้องเป็นการร่างใหม่ ไม่ใช่แค่แก้ไขกฎหมาย โดยพวกเรายินดีที่จะเข้าไปร่วมมือและมีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันกฎหมายและนโยบายนี้ด้วย” ปราโมทย์ย้ำ

    ‘พิธา’ ย้ำ ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เคลื่อนสิทธิชาติพันธุ์ พร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์สู่สากล

    พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มอบนโยบายด้านชาติพันธุ์ โดยย้ำว่าอยากให้มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลพยายามทำความเข้าใจต่อประเด็นชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจเฉพาะของพรรค โดยตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ได้มีการตั้งคณะทำงานปีกชาติพันธุ์ขึ้นมาในพรรค ส่วนกรณีนโยบายชาติพันธุ์ที่ไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาลนั้น เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ผลักดันเรื่องนี้ และจะผลักดันต่อไป

    “เราใส่ใจมาก ไม่ว่าจะเรื่องทวงคืนผืนป่า พ.ร.บ. พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผ่านตั้งสภาร่างฯ และสภาบนแล้ว แต่ติดที่ พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ ทำให้เรื่องการแก้ปัญหาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ ชัยภูมิ ป่าแส ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ การส่งเสริมสิทธิชนเผ่า เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปี และจะทำไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือมาคุยกับทุกท่าน เพื่อให้ท่านกำหนดอนาคตของทุกท่านเอง” พิธากล่าว

    ภาพ: อนุชา ตาดี

    หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังย้ำว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 7 ล้านคน ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่คนชายขอบ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ต้องถามกลับว่าทำไมเขตเศรษฐกิจพิเศษมีเยอะ ทำไมจะมีเขตวัฒนธรรมพิเศษไม่ได้ เราต้องรุกกลับ ไม่ได้ตั้งรับให้เขาถล่มเราได้อย่างเดียว 

    “เราต้องเพิ่มเพดาน ด้วยการยึดกฎองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้แน่น UN เขามีกลไกที่ดูเรื่องสิทธิของชาติพันธุ์โดยเฉพาะ ตอนนี้มีมา 16 คน ของเอเชียมี 2 คน จากเมียนมาร์ และ อินเดีย จะหมดวาระปีหน้า ผมต้องการส่งพี่น้องชาติพันธุ์คนไทยสู่สหประชาชาติเพื่อผลักดันสิทธิชาติพันธุ์ให้ได้ ซึ่งเป็นโอกาสทั้งของชาติพันธุ์ และโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ” พิธาย้ำ

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...